‘ธปท.’ ประกาศมาตรการลดแรงกดดัน ‘ค่าบาท’ เปิดเสรีคนไทยฝากเงินตราตปท.-เพิ่มวงเงินรายย่อยลงทุนนอกเป็น 5 ล้านดอลล์/ปี พร้อมกำหนดให้นักลงทุนต่างชาติลงทะเบียน 'แสดงตัวตน' ก่อนซื้อขาย ‘ตราสารหนี้’
....................
เมื่อวันที่ 20 พ.ย. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศมาตรการเพื่อช่วยลดแรงกดดันที่มีต่อค่าเงินบาท และแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างให้กับตลาดอัตราแลกเปลี่ยนไทย ซึ่งจะช่วยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีความสมดุลมากขึ้น หลังจากในช่วงที่ผ่านมาค่าเงินบาทมีความผันผวนและแข็งค่าเร็ว
น.ส.วชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท. กล่าวว่า ผลกระทบจากปัจจัยภายนอก ทั้งผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ และความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ทำให้นักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจโลกมากขึ้น จึงกลับมาลงทุนในสินทรัพย์ของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งไทย ส่งผลค่าเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นเร็ว ซึ่งอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังเปราะบางได้
ทั้งนี้ ธปท.ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเข้าดูแลตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความผันผวนของเงินบาท แต่เพื่อให้เงินทุนเคลื่อนย้ายสมดุลมีความขึ้น ธปท.ได้ร่วมกับกระทรวงการคลัง และสำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดมาตรการที่จะช่วยลดแรงกกดันต่อความเงินบาท โดยมีเป้าหมายเพื่อให้คนไทยหรือนักลงทุนไทยลงทุนในต่างประเทศได้ง่ายขึ้น พร้อมทั้งมีกลไกการติดตามการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศในตลาดตราสารหนี้ ประกอบด้วย 3 มาตรการ
1.เปิดให้คนไทยฝากเงินตราต่างประเทศได้เสรี (Foreign Currency Deposit : FCD) และโอนเงินระหว่างบัญชี FCD ของคนไทยได้เสรี จะช่วยให้ผู้ส่งออกบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศและบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้คล่องตัวมากขึ้น สามารถทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ช่วยลดต้นทุนการโอนเงินและชำระเงิน ตลอดจนทำให้คนไทยสามารถกระจายความเสี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์สกุลเงินตราต่างประเทศได้สะดวกขึ้น เช่น การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ และการซื้อขายทองคำเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ
2.ปรับกฎเกณฑ์และกระบวนการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ทั้งในมิติของวงเงินและผลิตภัณฑ์ที่ลงทุนได้ เพื่อเพิ่มทางเลือกการลงทุนให้กับคนไทยและสนับสนุนให้มีการกระจายความเสี่ยงการลงทุนได้มากขึ้น ได้แก่
-เพิ่มวงเงินลงทุนให้นักลงทุนรายย่อยลงทุนโดยตรงได้เป็น 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี จากเดิม 200,000 ดอลลาร์ สหรัฐต่อปี และไม่จำกัดวงเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศที่ลงทุนผ่านตัวกลางในประเทศ เช่น บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน
-ไม่จำกัดวงเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ สำหรับนักลงทุนภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
-เปิดให้มีการนำหลักทรัพย์ต่างประเทศมาซื้อขายในไทยได้โดยไม่จำกัดวงเงิน เช่น กองทุนรวมดัชนี (ETF) ที่อ้างอิงหลักทรัพย์ต่างประเทศได้
3.การลงทะเบียนแสดงตัวตนเพื่อซื้อขายตราสารหนี้ (Bond Pre-trade Registration) ผู้ลงทุนในตราสารหนี้ไทยต้องลงทะเบียนแสดงตัวตนก่อนการซื้อขาย ทำให้ ธปท. ระบุตัวตนและติดตามพฤติกรรมของนักลงทุนได้อย่างใกล้ชิด เป็นการยกระดับการติดตามข้อมูลและเอื้อให้ ธปท.สามารถดำเนินนโยบายได้อย่างตรงจุดและทันการณ์ ขณะที่แนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับการดำเนินการของหลายประเทศ เช่น เกาเหลีใต้ มาเลเซีย และไต้หวัน
“มาตรการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนการผลักดันให้เกิดระบบนิเวศของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนใหม่ (FX ecosystem) ที่กระทรวงการคลัง สำนักงานก.ล.ต. และ ธปท. ผลักดันร่วมกันแบบองค์รวม เพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนไทยอย่างยั่งยืน” น.ส.วชิรากล่าว
น.ส.วชิรา กล่าวว่า สำหรับมาตรการเปิดให้คนไทยฝากเงินตราต่างประเทศได้เสรี และการปรับกฎเกณฑ์และกระบวนการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ จะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนนี้ โดยในช่วงเย็นวันนี้ (20 พ.ย.) จะมีการเผยแพร่ประกาศกระทรวงการคลังเกี่ยวกับมาตรการบางส่วนในราชกิจจานุเบกษา ส่วนมาตรการที่เหลือ ทางธปท.และสำนักงาน ก.ล.ต.จะทยอยออกประกาศที่เกี่ยวข้องภายในเดือนนี้
ส่วนมาตรการให้นักลงทุนหรือ ‘ผู้ร่วมตลาด’ ลงทะเบียนแสดงตัวตนเพื่อซื้อขายตราสารหนี้นั้น จะพยายามทำให้เร็วที่สุด แต่ทั้งนี้ ต้องให้เวลาผู้เกี่ยวข้องในการปรับตัวด้วย จึงคาดว่ามาตการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในปีหน้า
อ่านประกอบ :
ศก.ไทยเสี่ยง! 'ผู้ว่าธปท.' จับตาสหรัฐยุค 'ไบเดน' ยกประเด็น 'สิทธิมนุษยชน-ไอยูยู' อีกรอบ
บาทแข็งเร็วกระทบศก.ฟื้นตัว! กนง.กำชับ 'ธปท.' ทบทวนมาตรการ-มติเอกฉันท์คงดอกเบี้ย 0.5%
จีดีพีไตรมาส 3 ลบ 6.4%! สภาพัฒน์ฯคาดทั้งปีหดตัวร้อยละ 6 จับตา 'โควิดรอบ 2-การเมือง'
ไฟเขียวแบงก์ปันผล! ‘ธปท.’ ให้จ่ายได้ไม่เกิน 50% ของกำไร-ต้องไม่มากกว่าปี 62
สร้างกันชน-รักษาภูมิคุ้มกันศก.! 'วิรไท' แจงเหตุขอแบงก์ 'งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล-ซื้อหุ้นคืน'
ช่วยลูกหนี้ระยะสอง! ธปท.ประกาศลดดบ. ‘บัตรเครดิต-พีโลน’ 2-4% พ่วงขยายวงเงินเป็น 2 เท่า
งดจ่ายปันผลระหว่างกาล-ซื้อหุ้นคืน! ธปท.ให้แบงก์ รักษา 'เงินกองทุน' รองรับความเสี่ยง 1-3 ปี
ห่วงธุรกิจไปไม่รอด-เมินปล่อยกู้! 2 สมาคมฯท้วงธปท.ลดเพดานดบ. ‘พีโลน-จำนำทะเบียนรถ’
รับรู้รายได้ ดบ.ปกติ! เผยวิธีบันทึกงบฯ‘สถาบันการเงิน’ช่วงพักชำระหนี้-ทำให้ฐานะอ่อนแอ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/