‘เศรษฐพุฒิ’ ชี้ความไม่แน่นอนของโควิด-19 ซ้ำเติมปัญหาหนี้สินครัวเรือนไทยให้รุนแรงขึ้น ฉุดรั้งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ กระตุ้นภาคการเงินร่วมช่วยเหลือธุรกิจและภาคครัวเรือน ให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตโควิด
................
เมื่อวันที่ 22 ต.ค. ที่ศูนย์ประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวเปิดงาน ‘Money Expo 2020’ โดยระบุตอนหนึ่งว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในช่วงต้นปีนี้ ได้ซ้ำเติมความเปราะบางทางเศรษฐกิจของประเทศไทย และมีผลกระทบโดยเฉพาะต่อรายย่อย ทำให้ครัวเรือนประสบปัญหาการขาดรายได้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง
“สถานการณ์โควิด 19 ยังมีความไม่แน่นอนสูงว่าจะจบลงอย่างไรและเมื่อใด โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี ในการกลับสู่ระดับก่อนโควิด 19 และความไม่แน่นอนนี้จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในหลายปีที่ผ่านมา” นายเศรษฐพุฒิกล่าว
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันคนไทย 1 ใน 3 มีภาระหนี้สูง จนกลายเป็นปัจจัยฉุดรั้งการอุปโภคบริโภคและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งผลการศึกษาของธปท.และสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่า คนไทยเป็นหนี้เร็ว เริ่มเป็นหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย และครึ่งหนึ่งของคนอายุ 30-40 ปี เป็นหนี้ โดยส่วนมากเกิดจากหนี้ส่วนบุคคลหรือหนี้บัตรเครดิต และคนไทยยังเป็นหนี้นาน
ขณะเดียวกัน 80% ของหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นในระยะเวลา 9 ปี มาจากผู้กู้รายเดิม และ 1 ใน 5 ของคนหลังเกษียณยังเป็นหนี้ โดยคนช่วงอายุ 61-65 ปีมีหนี้เฉลี่ยสูงกว่าแสนบาท
“สถานการณ์โควิด-19 ทำให้สุขภาพการเงินของคนไทยอ่อนแอมากขึ้น จากการถูกลดชั่วโมงการทำงานจนถึงการถูกเลิกจ้าง ทำให้ขาดสภาพคล่องของรายได้ ซึ่งหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 80% ต่อ GDP เมื่อสิ้นปี 2562 มาอยู่ที่ 83.8% ต่อ GDP ในไตรมาส 2 ของปีนี้ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นดังล่าว ธปท.จึงได้ร่วมมือกับสถาบันการเงินดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบ เพื่อให้ภาคครัวเรือนผ่านพ้นวิกฤตโควิด 19 ไปได้” นายเศรษฐพุฒิกล่าว
ทั้งนี้ ธปท.ได้มีมาตรากรช่วยเหลือลูกหนี้ โดยพิจารณาตามสถานะของลูกหนี้ที่แตกต่างกัน ได้แก่ ลูกหนี้ที่มีปัญหาระยะสั้นที่ต้องการสภาพคล่องเป็นการชั่วคราวนั้น มาตรการที่เหมาะสมกับลูกหนี้กลุ่มนี้ เช่น การพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 3 เดือน สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลที่ผ่อนชำระเป็นงวด และการลดอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำจาก 10% เหลือ 5% สำหรับสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีวงเงินหมุนเวียน
ส่วนลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบระยะยาว ธปท.ส่งเสริมให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ เปลี่ยนสินเชื่อส่วนบุคคลซึ่งเป็นสินเชื่อระยะสั้นเป็นสินเชื่อระยะยาว (term loan) รวมถึงโครงการคลินิกแก้หนี้ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว ช่วยบรรเทาภาระหนี้ให้แก่กลุ่มครัวเรือนที่รายได้ลดลงเมื่อกลับมาทำงานภายหลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์
“การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินที่แข็งแกร่ง ผ่านการเสริมสร้างความรู้ทางการเงินควบคู่กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการออม และการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน เพื่อเป็นรากฐานทางการเงินที่มั่นคง และขอขอบคุณภาคการเงินที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการให้ความช่วยเหลือธุรกิจและภาคครัวเรือนให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤต ตลอดจนสนับสนุนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการออมของภาคครัวเรือน” นายเศรษฐพุฒิระบุ
อ่านประกอบ :
นโยบายการเงินแค่กองหลัง! ผู้ว่าธปท.คนใหม่ กาง 5 โจทย์ฟื้นเศรษฐกิจ-เกาะติดม็อบ
ดร.เศรษฐพุฒิ : สาดกระสุนไปโดยขาดความแม่นยำ...อาจกลายเป็นผลลบ
ต่อพักหนี้อีก 6 เดือนเป็นรายๆ! ธปท.ขีดเส้น ‘แบงก์-SME’ เจรจาปรับเงื่อนไขชำระหนี้ถึงสิ้นปี
หนี้ครัวเรือนพุ่ง 83.8% ! แบงก์ชาติชี้เหตุ ‘จีดีพีหดตัว-พักชำระหนี้’
ว่างงานยังสูง-เศรษฐกิจส.ค.ฟื้นตัวช้าลง! ธปท.มองจีดีพีพลิกบวกไตรมาส 2 ปีหน้า
ก่อหนี้ใหม่ 1.46 ล้านล้าน! ครม.เคาะแผนบริหารหนี้สาธารณะปีงบ 64
หนุนรัฐกระตุ้นศก.! ‘วิรไท’ ชี้ขยายกรอบหนี้สาธารณะได้หากจำเป็น-'คลัง' โต้ ‘ถังแตก’
หนี้สาธารณะพุ่ง 51.64% ต่อจีดีพี! ครม.ไฟเขียวแผนบริหารใหม่-6 ปี 'บิ๊กตู่' เพิ่ม 2.68 ล้านล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/