‘เศรษฐพุฒิ’ ผู้ว่าธปท.คนใหม่ ชี้นโยบายการคลังยังคงเป็นพระเอกในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ส่วน ‘นโยบายการเงิน’ ต้องเป็น ‘กองหลัง’ และต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัว หนุนเอกชนลงทุนต่างประเทศ ลดแรงกดดัน ‘บาทแข็ง’ พร้อมเกาะติดการชุมนุมฯ-ความไม่แน่นอนทางการเมืองลากยาวหรือไม่ กาง 5 โจทย์แก้พิษโควิด หลังเศรษฐกิจไทยป่วยหนักเข้าห้อง ‘ไอซียู’
..................
เมื่อวันที่ 20 ต.ค. นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงาน ‘ Meet the Press’ โดยระบุถึงแนวทางการบริหารนโยบายการเงินของธปท.ว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ในระดับต่ำสุดในภูมิภาค และต่ำสุดเป็นประวัติการณ์แล้ว ส่งผลให้ความสามารถในการลดอัตราดอกเบี้ยมีจำกัด ดังนั้น นโยบายการคลังจะต้องมีบทบาทเป็นพระเอก ขณะที่นโยบายการเงินจะต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
“สิ่งที่กังวลและต้องทำให้มั่นใจ โจทย์ของเรา คือว่า จะทำอย่างไรให้เรื่องการเงิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดอกเบี้ย เรื่องสภาพคล่องโดยรวม เรื่องสภาวะตลาดเงินโดยรวม ไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เพราะถ้าจะให้การเงินเป็นตัวขับเคลื่อน เป็นตัวไดร์ฟ (เศรษฐกิจ) ในความเป็นจริง เป็นไปไม่ได้ เพราะปัญหาของเรา คือ การช็อก เอาง่ายๆเลยการท่องเที่ยวเราหายไป 30 กว่าล้านคน นั่นคือดีมานด์หรืออุปสงค์ที่หายไปประเทศไทย
ดังนั้น การจะให้ฝั่งนโยบายการเงินออกดีมานด์มาทดแทน คงไม่ใช่ แต่ต้องอาศัยเครื่องมืออื่นๆ เช่น นโยบายการคลัง แต่ฝั่งของนโยบายการเงินต้องเป็นตัวที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวอะไรต่างๆ และสำหรับผมแล้ว หากเทียบกับทีมบอล นโยบายการเงิน โดยธรรมชาติของมันนั้น ไม่ใช่กองหน้า แต่เป็นกองหลัง ซึ่งกองหลังสำคัญมาก แต่มีข้อกำจัด เหมือนกับทีมบอล ถ้ากองหลังไม่แข็ง เตะเก่งอย่างไรก็แพ้ เราต้องทำให้มั่นใจว่าเสถียรภาพมีครบ” นายเศรษฐพุฒิระบุ
ส่วนแนวนโยบายการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนนั้น นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติที่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจะเสียงดัง อย่างไรก็ตาม ในการตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งจะต้องชั่งน้ำหนัก โดยเฉพาะปัจจัยที่มีผลกระทบต่อค่าเงินบาทนั้น ส่วนใหญ่มาจากปัจจัยต่างประเทศ เช่น เงินดอลลาร์สหรัฐและค่าเงินในภูมิภาค ขณะที่ไทยเองจะต้องมีการรีไซเคิลเงินที่ได้จากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด โดยนำเงินเหล่านั้นไปลงทุนในต่างประเทศให้มากกว่านี้
“เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนในแง่ของภาพรวม…บางอย่างเรา Influence (มีอิทธิพล) ได้ บางอย่างเราก็ Influence ไม่ได้ ดังนั้น การออกข้อนโยบายต่างๆ เราชั่งน้ำหนัก…และเรื่องค่าเงิน fact (ข้อเท็จจริง) คือ การเคลื่อนไหวของค่าเงิน หลักๆไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรา แต่ขึ้นอยู่กับเรื่องต่างประเทศ โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของเงินสกุลหลัก คือ ดอลลาร์สหรัฐ และการเคลื่อนไหวของเงินในภูมิภาค แล้วถึงจะมาขึ้นอยู่กับเรา
และจากที่เขาวิเคราะห์ 5 ปีที่ผ่านมา ประมาณ 85% ของการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท มาเงินดอลลาร์สหรัฐและค่าเงินในภูมิภาค มีแค่ 15% เป็นปัจจัยที่เกี่ยวกับเรา ตรงนี้ก็สะท้อนว่า ความสามารถของเราที่จะไป Influence มันมีจำกัด แต่ส่วนที่กระทบเรา และต้องขึ้นอยู่กับเรา คือ เราเป็นประเทศที่เกินดุลการค้ามหาศาลมานานมากแล้ว เราเกินดุล 30 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นหรืออ่อนน้อยกว่าชาวบ้านในสภาวะต่างๆ
แล้วถ้าถามว่าประเทศอื่นเขาเจอปัญหาอย่างนี้หรือเปล่า ก็มี อย่างเกาหลีใต้ ไต้หวัน การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเขาเยอะ และใหญ่ แต่ค่าเงินเขาไม่แข็งกว่าเรา ถามว่าทำไม เพราะเขามีวิธีที่จะรีไซเคิลเงินที่ได้จากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่เยอะมาก ให้กลับออกไปต่างประเทศ ซึ่งตรงนี้เป็นตัว Key (กุญแจ) ถ้าเราอยากจะทำให้ประเด็นเรื่องค่าเงินเป็นไปอย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง เราต้องหาวิธีการรีไซเคิล Flow (เงินทุน) เหล่านี้ออกไปข้างนอก
ซึ่งรวมถึงการทำให้บริษัทไทยไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น นักลงทุนไทยทั้งสถาบันและรายย่อยสามารถเอาเงินไปต่างประเทศได้สะดวกมากขึ้น เพราะถ้าเทียบกับที่อื่นแล้ว การรีไซเคิลของเราต่ำแบบสุดๆเมื่อเทียบกับประเทศอื่น และการลงทุนของเรา อย่างพอร์ตใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นบลจ. (บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมจำกัด) หรือสถาบันการเงิน นักลงทุนสถาบันใหญ่ๆ เช่น กบข. ประกันสังคม พบว่ามีสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศน้อยมาก” นายเศรษฐพุฒิกล่าว
นายเศรษฐพุฒิ ระบุว่า ขณะนี้ธปท.อยู่ระหว่างทำแผนการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นการพิจารณาแบบภาพรวม โดยจะนำเสนอแนวทางจัดการในเร็วๆนี้
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวถึงการชุมนุมทางการเมืองว่า การชุมนุมฯและความไม่แน่นอนทางการเมืองดังกล่าว เป็นเรื่องที่ธปท.ติดตามอย่างใกล้ชิด ส่วนผลจะเป็นอย่างไรก็ต้องติดตามว่าจะลากยาวหรือไม่ และแน่นอนว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น การบริโภค การลงทุน และการท่องเที่ยว รวมถึงกระทบต่อการจัดการ อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับประเทศอื่นๆแล้ว จะพบว่าไทยมีความสามารถในการรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆที่มากระทบได้
“บ้านเราชอบพูดเรื่องนโยบายเยอะ พูดเรื่องมาตรการเยอะ แต่โจทย์ที่เราเจอบ่อยๆ คือ เรื่องการจัดการ เพราะเมื่อมีเหตุการณ์สไตล์นี้ พบว่าจะกระทบความสามารถในการจัดการ และด้วยความไม่แน่นอนต่างๆเหล่านี้ สิ่งที่เราอาจใช้เป็นที่พึ่งทางใจได้ ก็คือ ความสามารถของเราในการรับมือช็อกต่างๆเมื่อเทียบกับที่อื่น ของเรามีสูง ไม่ว่ามิติเสถียรภาพต่างประเทศ มิติการเงินต่างๆ แต่เราก็ต้องติดตามใกล้ชิด” นายเศรษฐพุฒิกล่าว
นายเศรษฐพุฒิ ยังกล่าวว่า วิกฤตโควิด 19 เป็นวิกฤตสาธารณสุขที่ลุกลามและส่งผลกระทบเชื่อมโยงกันทั่วโลก ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักพร้อมๆ กันในทุกประเทศ รวมทั้งประเทศไทยที่ต้องล็อกดาวน์จนมีผลกระทบถึงผู้ประกอบการและประชาชนจำนวนมาก โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีจะเหลือเพียง 6.7 ล้านคน จากเดิมที่ประเทศไทยเคยมีนักท่องเที่ยวเกือบ 40 ล้านคน คิดเป็นรายรับที่หายไปถึงประมาณ 10 % ของจีดีพี
ขณะที่การส่งออกสินค้าในไตรมาส 2 มีอัตราการหดตัวหนักที่สุดในรอบ 11 ปี เปรียบเสมือนอาการของผู้ป่วยหนักที่รักษาตัวอยู่ในห้องไอซียู
อย่างไรก็ตาม หลังจากผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ หรือเมื่อผู้ป่วยออกมาพักฟื้นจากไอซียูแล้ว บริบทประเทศได้เปลี่ยนไปอย่างน้อย 3 ด้าน คือ 1.การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจแตกต่างกันมาก (Uneven) ทั้งในมิติของสาขาเศรษฐกิจ มิติเชิงพื้นที่ และขนาดของธุรกิจ 2.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจคาดว่าจะใช้เวลานาน (Long) ไม่น้อยกว่า 2 ปี ในการกลับสู่ระดับก่อนโควิด ส่วนหนึ่งเพราะโครงสร้างสินค้าและตลาดส่งออกของไทยกระจุกอยู่ในกลุ่มสินค้าและตลาดที่ฟื้นตัวช้า
และ3.ยังมีความไม่แน่นอน (Uncertain) ว่าวัคซีนจะทดลองสำเร็จเมื่อไร ภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นได้ระดับไหน จึงเกิดคำถามว่า ทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน
“เมื่อบริบทเปลี่ยน ธปท. จึงประเมินว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาต้องปรับจากการใช้มาตรการที่ปูพรมการให้ความช่วยเหลือเป็นการทั่วไป เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเร่งด่วน มาเป็นการช่วยเหลือแบบตรงจุด (targeted) ครบวงจร (comprehensive) และยืดหยุ่น (flexible) โดยพิจารณาถึงผลข้างเคียง เพราะมีทรัพยากรจำกัดจึงต้องใช้ให้ถูกจุดเพื่อช่วยคนที่จำเป็นให้ได้รับความช่วยเหลืออย่างเต็มที่
ตัวอย่างที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น การพักชำระหนี้ จากการปูพรมช่วยช่วงล็อกดาวน์ที่ธุรกิจต้องหยุดดำเนินการ พนักงานต้องหันมาทำงานจากที่บ้าน (work from home) หรือถูกลดชั่วโมงการทำงาน ทำให้ขาดสภาพคล่องของรายได้ มาเป็นการส่งเสริมให้สถาบันการเงินมีเวลาปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสมตามความสามารถของลูกหนี้ ซึ่งเป็นการช่วยแบบตรงจุดกว่า เช่นเดียวกับหมอที่รักษาคนไข้ตามความหนักเบาของอาการที่ป่วย” นายเศรษฐพุฒิระบุ
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นครั้งนี้สามารถแก้ไขได้ แต่ต้องอาศัยเวลาและการใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดอย่างคุ้มค่า และธปท.เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งพอที่จะก้าวพ้นวิกฤตในครั้งนี้ เพราะไทยสามารถคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดได้ดี เสถียรภาพการเงินอยู่ในเกณฑ์ดี เสถียรภาพต่างประเทศเข้มแข็ง หนี้สาธารณะยังอยู่ต่ำกว่าเพดานหนี้สาธารณะและยังสามารถบริหารจัดการหนี้ได้ และตลาดแรงงานมีความยืดหยุ่น
ทั้งนี้ ธปท.มองว่ามี 5 โจทย์ใหญ่ที่จะต้องดำเนินการในช่วงเวลาต่อจากนี้ ได้แก่ 1.แก้วิกฤตหนี้อย่างยั่งยืน เพื่อให้ภาคครัวเรือนและธุรกิจผ่านพ้นวิกฤตโควิด 19 และฟื้นตัวได้ 2.รักษาเสถียรภาพระบบการเงิน เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ 3.รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาค ให้โครงสร้างเศรษฐกิจการเงินไทยสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงภายใต้สถานการณ์โควิด 19 และระยะต่อไปได้ดี
4.สร้างความเชื่อมั่นของสาธารณชน ให้ ธปท. เป็นหนึ่งในองค์กรที่ประชาชนเชื่อมั่นที่สุด และ5.พัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงาน ให้ ธปท. เป็นองค์กรที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ และสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจและสังคมไทย
อ่านประกอบ :
ดร.เศรษฐพุฒิ : สาดกระสุนไปโดยขาดความแม่นยำ...อาจกลายเป็นผลลบ
ต่อพักหนี้อีก 6 เดือนเป็นรายๆ! ธปท.ขีดเส้น ‘แบงก์-SME’ เจรจาปรับเงื่อนไขชำระหนี้ถึงสิ้นปี
หนี้ครัวเรือนพุ่ง 83.8% ! แบงก์ชาติชี้เหตุ ‘จีดีพีหดตัว-พักชำระหนี้’
ว่างงานยังสูง-เศรษฐกิจส.ค.ฟื้นตัวช้าลง! ธปท.มองจีดีพีพลิกบวกไตรมาส 2 ปีหน้า
ก่อหนี้ใหม่ 1.46 ล้านล้าน! ครม.เคาะแผนบริหารหนี้สาธารณะปีงบ 64
หนุนรัฐกระตุ้นศก.! ‘วิรไท’ ชี้ขยายกรอบหนี้สาธารณะได้หากจำเป็น-'คลัง' โต้ ‘ถังแตก’
หนี้สาธารณะพุ่ง 51.64% ต่อจีดีพี! ครม.ไฟเขียวแผนบริหารใหม่-6 ปี 'บิ๊กตู่' เพิ่ม 2.68 ล้านล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/