ธปท.ร่วมกับสถาบันการเงิน เดินหน้ามาตรการช่วยเหลือ ‘เอสเอ็มอี’ แบบเฉพาะเจาะจง หลังสิ้นสุดมาตรการพักหนี้เป็นการทั่วไป ให้เวลา ‘เจ้าหนี้-ลูกหนี้’ เจรจาปรับเงื่อนไขการชำระหนี้จนถึงสิ้นปี 63 แต่หากลูกหนี้ยังไปไม่ไหวให้ขยายเวลาพักหนี้ต่อไปได้อีก 6 เดือน พร้อมระบุล่าสุดมีลูกหนี้ 94% เจรจาปรับเงื่อนไขการชำระหนี้แล้ว ส่วนลูกหนี้อีก 6% รอการติดต่อ
..............
เมื่อวันที่ 16 ต.ค. นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายเสถียรภาพระบบการเงินและยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยในงาน Media Briefing มาตรการช่วยเหลือ SMEs โดยระบุว่า หลังสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท ในวันที่ 22 ต.ค.2563 แล้ว ธปท.ได้ร่วมกับสถาบันการเงินในการเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มนี้แบบเฉพาะเจาะจง แทนการพักชำระหนี้อัตโนมัติเป็นการทั่วไป เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาจะพบว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคธุรกิจต่างๆส่วนใหญ่มีการฟื้นตัวแล้ว
“หลังจากผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ประเทศ การฟื้นตัวของธุรกิจในแต่ละสาขาไม่เท่ากัน เช่น ธุรกิจเครื่องดื่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า และการค้า ฟื้นตัวกลับเข้าใกล้ระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิด 19 แล้ว ขณะที่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวยังพื้นตัวช้า โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมที่การฟื้นตัวยังอยู่เพียง 26% ของช่วงก่อนโควิด 19 ดังนั้น ธปท. จึงปรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จากการให้สถาบันการเงินช่วยเหลือเป็นการทั่วไป เป็นการให้ความช่วยเหลือเชิงรุกและตรงจุดที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกหนี้แต่ละราย (Targeted)” นางรุ่งกล่าว
ก่อนหน้านี้ มีการประกาศใช้พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ซึ่งกำหนดมาตรการผ่อนมาตรการผ่อนผันให้ลูกหนี้เอสเอ็มอีที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท ได้รับการพักหนี้ 6 เดือน ซึ่งครอบคลุมกลุ่มลูกหนี้เอสเอ็มอี 1.05 ล้านบัญชี ยอดหนี้รวม 1.35 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นลูกหนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) 7.8 แสนบัญชี ยอดหนี้ 4 แสนล้านบาท และลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์ 2.7 แสนบัญชี ยอดหนี้ 9.5 แสนล้านบาท
สำหรับมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เอสเอ็มอีดังกล่าว ธปท.ได้ออกประกาศให้สถาบันการเงินคงสถานการณ์จัดชั้นลูกหนี้ (stand still) ตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค.ถึงสิ้นปี 2563 และในระหว่างนี้ให้เจ้าหนี้และลูกหนี้เจรจาปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ เช่น หากค่างวดแบบเดิมผ่อนไม่ไหวก็เปลี่ยนเป็นอัตราใหม่ การลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล การพักชำระค่างวด การปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้รายย่อยด้วยวิธีการรวมหนี้ และการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้หลายราย เป็นต้น เพื่อช่วยไม่ให้ลูกหนี้กลายเป็นหนี้เสีย (NPL)
อย่างไรก็ตาม หากเป็นลูกหนี้ที่ยังมีปัญหาและไม่สามารถชำระหนี้ได้ จะให้พักชำระหนี้ได้อีกไม่เกิน 6 เดือนหรือสิ้นสุดในวันที่ 30 มิ.ย.2564 นอกจากนี้ ธปท. อยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อให้ทราบว่ามีภาคธุรกิจไหนที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ
“เราจะให้เจ้าหนี้และลูกหนี้ตกลงเงื่อนไขกัน เช่น ถ้าผ่อนแบบเดิมไม่ไหว ก็ให้เปลี่ยนเงื่อนไขไปผ่อนแบบใหม่ แต่ระหว่างที่คุยนี้ ซึ่งมีระยะเวลา 2 เดือนเศษหรือจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2563 เราจะใช้มาตรการคงสถานะลูกหนี้ หรือ stand still ไว้ก่อน และในช่วงนั้นห้ามคิดดอกเบี้ยผิดนัด ดังนั้น หากลูกหนี้ต้องยกมือแล้วบอกว่าไปไหวหรือไม่ไหว ถ้าไม่ไหวก็ให้ไปพบเจ้าหนี้เพื่อปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ใหม่ ขณะที่ลูกหนี้ที่ยังประสบปัญหาอยู่ จะให้พักชำระหนี้ในกลุ่มนี้ได้ แต่จะพักการชำระหนี้ออกไปไม่เกิน 6 เดือน หรือไม่เกินวันที่ 30 มิ.ย.นี้” นางรุ่งกล่าว
นางรุ่ง ย้ำว่า หลังสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ลูกหนี้เอสเอ็มอีในวันที่ 22 ต.ค.2563 จะไม่เกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้จำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว (cliff effect) เนื่องจากลูกหนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ 7.8 แสนบัญชี ยอดหนี้ 4 แสนล้านบาท ได้รับการขยายระยะเวลาการพักหนี้ไปอีก 3-6 เดือนแล้ว ส่วนลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์ พบว่า 94% หรือ 2.54 แสนบัญชี ยอดหนี้รวม 8.93 แสนล้านบาท ได้รับการช่วยเหลือแล้ว ทั้งการพักหนี้ การยืดหนี้ หรือปรับเงื่อนไขจ่ายค่างวด เหลือเพียง 6% หรือ 1.6 หมื่นบัญชี ยอดหนี้ 5.7 หมื่นล้านบาท ที่อยู่ระหว่างติดต่อหรือยังติดต่อไม่ได้
ทั้งนี้ ธปท.ขอความร่วมมือจากสถาบันการเงินให้ติดต่อลูกหนี้ที่ยังติดต่อไม่ได้ทั้ง 6% ให้ได้ทั้งหมด และเจรจาเงื่อนไขการชำระหนี้ แต่หากตกลงกันไม่ได้ หรือลูกหนี้กลุ่มนี้ไม่มาติดต่อ หรือสถาบันการเงินติดต่อไม่ได้ภายในวันที่ 31 ธ.ค.2563 สถาบันการเงินจะต้องตั้งสำรองตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ต่อไป
นางรุ่ง ยังระบุด้วยว่า สาเหตุที่มาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีต้องเป็นมาตรการแบบเฉพาะเจาะจง ก็เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบทางลบในระยะยาว เพราะลูกหนี้ที่พักหนี้อยู่จะยังคงมีภาระดอกเบี้ยในแต่ละเดือนตลอดช่วงการพักหนี้ ซึ่งเป็นภาระแก่ลูกหนี้ในระยะยาว ไม่เป็นการส่งเสริมให้เกิดวินัยทางการเงิน (moral hazard) เพราะลูกหนี้ที่ไม่ได้รับผลกระทบหรือได้รับผลกระทบไม่มาก อาจอาศัยเป็นช่องทางเพื่อประวิงเวลาการชำระหนี้ และไม่ส่งผลเสียต่อเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน เพราะการพักหนี้เป็นการทั่วไปเป็นระยะเวลานานคาดว่าจะทำให้สภาพคล่องในระบบจากการชำระคืนหนี้และดอกเบี้ยหายไปประมาณ 2 แสนล้านบาทต่อปี
รายงานว่าแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ ธปท.ร่วมกับสถาบันการเงินดำเนินมาตรการพักหนี้เป็นการทั่วไปให้กับลูกหนี้ทุกกลุ่ม ยอดสินเชื่อรวม 6.89 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มลูกหนี้เอสเอ็มอีทีมีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท 1.05 ล้านบัญชี ยอดหนี้รวม 1.35 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่มีปัญหาการติดต่อสถาบันการเงิน หรือยังไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันกับสถาบันการเงินได้ ท่านสามารถแจ้งความต้องการที่จะปรับโครงสร้างหนี้ไปยังสถาบันการเงินผ่าน "ทางด่วนแก้หนี้" เว็บไซต์ https://www.1213.or.th/App/DebtCase ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
อ่านประกอบ :
หนี้ครัวเรือนพุ่ง 83.8% ! แบงก์ชาติชี้เหตุ ‘จีดีพีหดตัว-พักชำระหนี้’
ว่างงานยังสูง-เศรษฐกิจส.ค.ฟื้นตัวช้าลง! ธปท.มองจีดีพีพลิกบวกไตรมาส 2 ปีหน้า
ก่อหนี้ใหม่ 1.46 ล้านล้าน! ครม.เคาะแผนบริหารหนี้สาธารณะปีงบ 64
หนุนรัฐกระตุ้นศก.! ‘วิรไท’ ชี้ขยายกรอบหนี้สาธารณะได้หากจำเป็น-'คลัง' โต้ ‘ถังแตก’
หนี้สาธารณะพุ่ง 51.64% ต่อจีดีพี! ครม.ไฟเขียวแผนบริหารใหม่-6 ปี 'บิ๊กตู่' เพิ่ม 2.68 ล้านล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/