ธปท.เผยเศรษฐกิจไทยเดือนก.ย.ฟื้นตัวชัดเจน จากกิจกรรมเศรษฐกิจที่กลับมาเกือบปกติ การส่งออกหดตัวน้อยลงต่อเนื่อง ห่วงความไม่แน่นอนทางการเมืองฉุดความเชื่อมั่น-แรงงาน 3.3 ล้านคนขาดรายได้ เชื่อเศรษฐกิจไตรมาส 4 ยังมีแรงส่ง
..................
เมื่อวันที่ 30 ต.ค. น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือนก.ย.2563 โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยเดือนก.ย.ปรับตัวดีขึ้นชัดเจน เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเกือบจะเป็นปกติในหลายภาคส่วน การส่งออกหดตัวลดลงต่อเนื่อง การฟื้นตัวของตลาดรถยนต์ และเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่กลับมาทรงตัว ขณะที่ปัจจัยถ่วงรั้งเศรษฐกิจยังคงเป็นภาคการท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มฟื้นตัวเนื่อง แต่มี 5 ปัจจัยเสี่ยงที่ธปท.ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ 1.การเปิดรับนักท่องเที่ยวชาติของประเทศไทยว่าจะทำได้เต็มที่เมื่อไหร่ เพราะการท่องเที่ยวเป็นรายได้สำคัญของเศรษฐกิจไทย 2.การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในต่างประเทศว่าจะมีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด และแต่ละประเทศจะมีมาตรการจัดการอย่างไร เนื่องจากจะมีผลกระทบต่อกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าและการส่งออกของไทย
3.การฟื้นตัวของตลาดแรงงาน เพราะหากตลาดแรงงานยังไม่ฟื้นตัว ก็จะมีผลกระทบต่อรายได้ของแรงงานและกำลังซื้อภายในประเทศ ซึ่งจากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าในเดือนส.ค.2563 มีแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ประมาณ 3.3 ล้านคน แบ่งเป็น แรงงานที่ทำงานต่ำกว่า 4 ชั่วโมงที่มี 2.6 ล้านคน และแรงงานที่ว่างงาน 7 แสนคน ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคมพบว่าในเดือนส.ค.2563 มีผู้ขอรับประโยชน์ชดเชยกรณีว่างงาน 4.4 แสนคน
4.ความยั่งยืนของการฟื้นตัวของภาคยานยนต์ เพราะแม้ว่าแนวโน้มความต้องการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์จะเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ฟื้นตัว ประกอบกับจะมีการจัดงานมอเตอร์โชว์ในช่วงไตรมาส 4 แต่จะพบว่าสถาบันการเงินยังระมัดระวังการปล่อยกู้ เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับรายได้ของผู้กู้ โดยเฉพาะหลังสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้เป็นการทั่วไปในเดือนต.ค. ขณะที่อุปสงค์ต่างประเทศยังมีความไม่แน่นอน เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
5.ความไม่แน่นอนทางการเมือง เนื่องจากจะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน ซึ่งเดิมไม่ค่อยดีอยู่แล้วจากผลกระทบของโควิด-19 แต่ก็ยังยากที่จะบอกได้ว่าความเชื่อมั่นฯที่ค่อยฟื้นตัวต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้านี้จะสะดุดในช่วงต่อไปหรือไม่ เพราะต้องติดตามว่าพัฒนาการทางการเมืองจะเป็นอย่างไร
น.ส.ชญาวดี ยังระบุว่า จากทิศทางเศรษฐกิจในเดือนก.ย.และไตรมาส 3 ปี 2563 ที่ฟื้นตัวต่อเนื่องชัดเจน จะทำให้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ดีกว่าไตรมาสที่ 2 แน่นอน แต่ต้องรอตัวอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ส่วนทิศทางเศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ คาดว่าน่าจะยังมีแรงส่งจากไตรมาส 3 อยู่
สำหรับรายละเอียดภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนก.ย.2563 และไตรมาส 3/2563 มีดังนี้
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอน ขยายตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อน ทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน ส่วนหนึ่งจากการเร่งเบิกจ่ายในช่วงปลายปีงบประมาณ โดยรายจ่ายประจำกลับมาขยายตัวตามการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการหลังจากหดตัวต่อเนื่องในช่วง 2 เดือนก่อน ขณะที่ทั้งรัฐบาลกลางและรัฐวิสาหกิจมีรายจ่ายลงทุนที่ขยายตัวสูงขึ้น
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน กลับมาทรงตัวได้เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน หลังจากหดตัวต่อเนื่อง 6 เดือนติดต่อกัน โดยได้รับผลดีจากการประกาศวันหยุดยาวพิเศษชดเชยวันสงกรานต์ที่เลื่อนมาจากเดือนเมษายน และปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อที่ทยอยปรับดีขึ้นตามรายได้ของครัวเรือนทั้งในและนอกภาคการเกษตร โดยในเดือนนี้การใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนกลับมาขยายตัวได้ ขณะที่การใช้จ่ายในหมวดอื่นๆ หดตัวน้อยลง โดยเฉพาะสินค้าคงทนที่ส่วนหนึ่งมีผลของฐานต่ำในระยะเดียวกันปีก่อน
มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวร้อยละ 4.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการส่งออกทองคำ มูลค่าการส่งออกหดตัวที่ร้อยละ 3.7 ปรับดีขึ้นมากจากที่หดตัวถึงร้อยละ 13.6 ในเดือนก่อน ตามการส่งออกในเกือบทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่กลับมาขยายตัวได้ ขณะที่ยานยนต์และชิ้นส่วนหดตัวน้อยลง
ทั้งนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลงตามการผลิตที่ปรับดีขึ้นในเกือบทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับทิศทางการส่งออกและการใช้จ่ายภายในประเทศ และมีผลของฐานต่ำในปีก่อนในหมวดการผลิตยานยนต์และปิโตรเลียม
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวน้อยลงจากเดือนก่อน ตามการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ปรับดีขึ้น สอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ทยอยฟื้นตัว รวมทั้งทิศทางความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การลงทุนหมวดก่อสร้างขยายตัวในอัตราที่ลดลงตามยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง
มูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัวร้อยละ 8.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการนำเข้าทองคำ มูลค่าการนำเข้าหดตัวที่ร้อยละ 6.7 โดยเป็นการหดตัวน้อยลงจากเดือนก่อนในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง และสินค้าอุปโภคบริโภค สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมที่มีทิศทางปรับดีขึ้น
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวสูงต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังมีอยู่ ส่งผลให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบมากขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงานจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ลดลงเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลงเล็กน้อย
ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นบ้างแต่ยังเปราะบาง ส่วนหนึ่งสะท้อนจากจำนวนผู้หยุดงานชั่วคราวตามมาตรา 75 ที่ลดลง แต่สัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานในระบบประกันสังคมยังอยู่ในระดับสูง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงจากเดือนก่อนตามมูลค่าการส่งออกทองคำที่น้อยลงเป็นสำคัญ
สำหรับเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2563 ปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน ตามการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการได้มากขึ้น โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับระยะเวลาเดียวกันปีก่อน หลังจากหดตัวสูงในไตรมาสก่อน ส่วนหนึ่งจากการประกาศวันหยุดยาวพิเศษชดเชยวันสงกรานต์ และปัจจัยรายได้และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ทยอยปรับดีขึ้น
ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำ เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน และการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลง ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวต่อเนื่องและมีบทบาทสำคัญในการพยุงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังคงหดตัวสูงจากผลของมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงตามอัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงานเป็นสำคัญ ตลาดแรงงานปรับดีขึ้นบ้าง แต่ยังคงเปราะบาง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากการส่งออกทองคำเป็นสำคัญ
วันเดียวกัน ธปท.เผยผลสำรวจเรื่องผลกระทบจากไวรัส COVID-19 ต่อภาคธุรกิจไทยในเดือนต.ค.2563 โดยพบว่าภาคการค้าฟื้นตัวดีขึ้น จากความเชื่อมั่นในมาตรการกระตุ้นการบริโภคช่วงปลายปีของภาครัฐ ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวแย่ลง โดยการฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยวส่วนใหญ่อยู่ต่ำกว่าร้อยละ 50 สะท้อนว่ารายได้จากนักท่องเที่ยวไทยไม่สามารถชดเชยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ ด้านภาคธุรกิจอื่นๆ ยังทรงตัวจากเดือนก่อน
ส่วนจำนวนการจ้างงานกลับมามากกว่าการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยของแรงงานยังคงต่ำกว่าช่วงก่อน COVID-19 โดยธุรกิจถึง 40% ยังคงมีการใช้นโยบายอื่นๆ อาทิ การให้สลับกันมาทำงานและการลดชั่วโมงการทำงาน เป็นต้น เพื่อลดการจ้างงานอยู่อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งธุรกิจในภาคการผลิตมีการใช้นโยบายเหล่านี้เพิ่มขึ้นในเดือนนี้
"รายได้ของแรงงานจึงยังอยู่ในระดับต่ำ และจะเป็นปัจจัยกดดันกำลังซื้อเพิ่มเติม หลังหมดมาตรการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐ สอดคล้องกับที่ภาคธุรกิจมองว่ากำลังซื้ออ่อนแอเป็นอุปสรรคที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ธุรกิจยังไม่กลับสู่ระดับช่วงก่อน COVID-19" ผลสำรวจ ธปท.ระบุ
อ่านประกอบ :
โควิดซ้ำเติมหนี้ครัวเรือนพุ่ง! ‘ผู้ว่าฯธปท.’ ห่วงฉุดการฟื้นตัวศก.-เร่งสร้างภูมิคุ้มกันการเงิน
นโยบายการเงินแค่กองหลัง! ผู้ว่าธปท.คนใหม่ กาง 5 โจทย์ฟื้นเศรษฐกิจ-เกาะติดม็อบ
ดร.เศรษฐพุฒิ : สาดกระสุนไปโดยขาดความแม่นยำ...อาจกลายเป็นผลลบ
ต่อพักหนี้อีก 6 เดือนเป็นรายๆ! ธปท.ขีดเส้น ‘แบงก์-SME’ เจรจาปรับเงื่อนไขชำระหนี้ถึงสิ้นปี
หนี้ครัวเรือนพุ่ง 83.8% ! แบงก์ชาติชี้เหตุ ‘จีดีพีหดตัว-พักชำระหนี้’
ว่างงานยังสูง-เศรษฐกิจส.ค.ฟื้นตัวช้าลง! ธปท.มองจีดีพีพลิกบวกไตรมาส 2 ปีหน้า
ก่อหนี้ใหม่ 1.46 ล้านล้าน! ครม.เคาะแผนบริหารหนี้สาธารณะปีงบ 64
หนุนรัฐกระตุ้นศก.! ‘วิรไท’ ชี้ขยายกรอบหนี้สาธารณะได้หากจำเป็น-'คลัง' โต้ ‘ถังแตก’
หนี้สาธารณะพุ่ง 51.64% ต่อจีดีพี! ครม.ไฟเขียวแผนบริหารใหม่-6 ปี 'บิ๊กตู่' เพิ่ม 2.68 ล้านล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/