ธปท.เผยสถิติหนี้สินครัวเรือนไตรมาส 2/63 แตะระดับ 13.58 ล้านล้านบาท คิดเป็น 83.8% ต่อจีดีพี พบหนี้เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.2 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.84% ด้านธปท.แจงสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีพุ่ง มีสาเหตุจากจีดีพีหดตัว-มาตรการพักชำระหนี้ของธปท.
...................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่สถิติเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน หรือหนี้สินครัวเรือน ณ ไตรมาส 2/2563 โดยพบว่าหนี้สินครัวเรือนอยู่ที่ 13.58 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 83.8% ต่อจีดีพี เพิ่มขึ้น 9.2 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.68% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2563 ที่หนี้สินครัวเรือนอยู่ที่ 13.49 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 80.2% ต่อจีดีพี
อย่างไรก็ตาม หากเทียบหนี้สินครัวเรือน ณ ไตรมาส 2/2563 กับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือไตรมาส 2/2562 ที่หนี้สินครัวเรือนอยู่ที่ 13.08 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 78.4% ต่อจีดีพี พบว่าหนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้น 5.02 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.84%
ทั้งนี้ หากแยกหนี้สินครัวเรือนเป็นกลุ่มต่างๆ พบว่า หนี้สินครัวเรือนกลุ่มสถาบันรับฝากเงินอยู่ที่ 11.74 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ธนาคารพาณิชย์ 5.79 ล้านล้านบาท หนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รับฝากเงิน 3.83 ล้านล้านบาท หนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ 2.08 ล้านล้านบาท และหนี้สถาบันรับฝากเงินอื่นๆ 2.08 หมื่นล้านบาท
ส่วนหนี้ครัวเรือนกลุ่มสถาบันการเงินอื่นอยู่ที่ 1.85 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นหนี้บริษัทบัตรเครดิต ลิสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคล 1.40 ล้านล้านบาท หนี้บริษัทประกันภัยและประกันชีวิต 1.73 แสนล้านบาท หนี้บริษัทหลักทรัพย์ 5.32 หมื่นล้านบาท หนี้ธุรกิจบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน 9.54 หมื่นล้านบาท หนี้โรงรับจำนำ 7.74 หมื่นล้านบาท และหนี้สถาบันการเงินอื่นๆ 4.87 หมื่นล้านบาท
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในไตรมาส 2/2563 เพิ่มขึ้นมาก มาจากจีดีพีที่หดตัวสูงเป็นสำคัญ สำหรับยอดเงินต้นแม้ว่าจะเพิ่มขึ้น แต่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเล็กน้อย โดยยอดเงินต้นที่ยังไม่ลดลงส่วนหนึ่งมาจากมาตรการพักชำระหนี้ของธปท.
“ธปท. ประเมินว่าในช่วงครึ่งปีหลังในไตรมาส 3-4 ปีนี้ เศรษฐกิจจะยังขยายตัวติดลบอยู่ แต่น้อยกว่าไตรมาส 2/2563 จึงต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป”นายดอนกล่าว
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า เมื่อวันที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติแผนบริหารหนี้สาธารณะปีงบ 2564 โดยแผนดังกล่าวกำหนดให้มีแผนก่อหนี้ใหม่ 1.46 ล้านล้านบาท โดยกระทรวงการคลังคาดว่า ณ สิ้นเดือนก.ย.2564 ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะอยู่ที่ 57.23% ซึ่งยังไม่เกินกรอบวินัยการคลังที่ตั้งไว้ที่ 60% ของจีดีพี พร้อมทั้งประมาณการหนี้สาธารณะต่อจีดีพีในช่วงปีงบ 2565-68 ว่าจะอยู่ระหว่าง 58.13-59.07% ของจีดีพี
อ่านประกอบ :
ว่างงานยังสูง-เศรษฐกิจส.ค.ฟื้นตัวช้าลง! ธปท.มองจีดีพีพลิกบวกไตรมาส 2 ปีหน้า
ก่อหนี้ใหม่ 1.46 ล้านล้าน! ครม.เคาะแผนบริหารหนี้สาธารณะปีงบ 64
หนุนรัฐกระตุ้นศก.! ‘วิรไท’ ชี้ขยายกรอบหนี้สาธารณะได้หากจำเป็น-'คลัง' โต้ ‘ถังแตก’
หนี้สาธารณะพุ่ง 51.64% ต่อจีดีพี! ครม.ไฟเขียวแผนบริหารใหม่-6 ปี 'บิ๊กตู่' เพิ่ม 2.68 ล้านล.
เปิดรายงานกนง. : ความไม่แน่นอนทางการเมืองกระทบค่าเงิน-หนุนนโยบายการคลังกระตุ้นศก.
'ขุนคลัง' ปรีดี ดาวฉาย : เอาวิกฤติให้รอดก่อน-รักษาหนี้สาธารณะที่ระดับ 60% ของจีดีพี
สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ : โชว์นโยบายพลังงานกระตุ้นศก. ดันไทย 'ฮับขายไฟฟ้า-รื้อราคาโซลาร์ปชช.'
ครม.เห็นชอบ 'อนุชา บูรพชัยศรี' นั่งโฆษก รบ.คนใหม่ พร้อมตั้ง 11 ขรก.ดำรงตำแหน่ง 5 กระทรวง
วิกฤติยังไม่คลี่คลาย! เตือนอีก 3 เดือนตกงานเพิ่ม 6 แสนคน-ต่อคิวสมัครงานล้น 'รร.มิราเคิล'
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/