‘แบงก์ชาติ’ เผยเศรษฐกิจไทยเดือนส.ค.63 ฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ไม่แรงเท่าเดือนก่อน ห่วงอัตราว่างงานยังสูงถึง 2% ขณะที่จำนวนผู้ขอรับสิทธิ์ชดเชยว่างงานเพิ่มเป็น 4.4 แสนคน พร้อมประเมินจีดีพีไทยพลิกบวกได้ไตรมาส 2 ปีหน้า แต่ช่วงครึ่งหลังของปี 63 คาดว่าเศรษฐกิจจะติดลบ 8%
................
เมื่อวันที่ 30 ก.ย. นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยเดือนส.ค.2563 โดยระบุว่า เศรษฐกิจเดือนส.ค.ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบเดือนก่อน และมีอัตราการหดตัวที่ลดลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม อัตราการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในเดือนส.ค.ไม่ได้เร่งตัวเท่ากับช่วงก่อนหน้านี้ เพราะปัจจุบันการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะหลังที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว
“เราเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเดือนส.ค.ไม่แรงเท่าก่อนหน้า และยังต้องติดตามตลาดแรงงานที่ยังเปราะบางอยู่ เห็นได้จากอัตราว่างงานในเดือนส.ค.ที่อยู่ที่ 2% หรือคิดเป็นผู้ว่างงาน 7-8 แสนคน และมีผู้ขอรับสิทธิชดเชยกรณีว่างงานสูงถึง 4.4 แสนคน จากเดือนก่อนที่อยู่ที่ 4.1 แสนคน อีกทั้งมีคนที่ทำงานไม่เต็มเวลาอีกมาก ทำให้รายได้แรงงานลดลง แต่มองว่าโครงการ ‘ไทยมีงานทำ’ ที่มีการจ้างงาน 7.5 แสนตำแหน่ง จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น” นายดอนกล่าว
นายดอน ยังระบุว่า แม้ว่ารัฐบาลจะเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติบางกลุ่มเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยตั้งแต่เดือนต.ค.2563 แต่ด้วยนักท่องเที่ยวที่เปิดรับ 1,200 คนนั้น หากเทียบกับแต่ละเดือนที่มีนักท่องเที่ยว 3 ล้านคนแล้ว จะกระตุ้นการใช้จ่ายได้น้อยมาก แต่เชื่อว่ารัฐบาลจะค่อยๆเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มขึ้นในอนาคต ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น โครงการคนละครึ่ง และการเพิ่มเงินบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย จะเป็นปัจจัยบวกในช่วงที่เหลือของปีนี้
นายดอน กล่าวด้วยว่า เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังมีโอกาสติดลบที่ระดับ -8% ส่งผลให้ตัวเลขจีดีพีทั้งปี 2563 ติดลบ -7.8% และคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะพลิกกลับมาเป็นบวกได้ในไตรมาส 2/2564 เนื่องจากไตรมาส 2/2563 จีพีดีลงไปลึกที่ระดับ -12.2% หลังจากนั้นคาดว่าจะจีดีพีจะขยายตัวเป็นบวกด้วยตัวเลขหลักเดียวในช่วงไตรมาสที่ 3/2564 และ 4/2564 โดยมีการลงทุนภาครัฐ การเร่งรัดเบิกจ่ายเงินกู้พ.ร.ก.โควิด-19 และการบริโภคเอกชน เป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ
สำหรับรายละเอียดภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนส.ค.2563 มีดังนี้
มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัว -8.2% จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการส่งออกทองคำในเดือนนี้ที่มีมูลค่าสูงเป็นประวัติการณ์ มูลค่าการส่งออกหดตัวที่ -13.6% ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่หดตัว -14.3% ตามการส่งออกสินค้าหมวดที่มูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมัน หมวดยานยนต์และชิ้นส่วน และหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ปรับดีขึ้น สอดคล้องกับการทยอยฟื้นตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้า
อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าเกษตรหดตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้ไปจีนหลังจากเร่งไปมากแล้วในช่วงก่อนหน้า ทั้งนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลงต่อเนื่องในเกือบทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับทิศทางการส่งออกสินค้าและการใช้จ่ายภายในประเทศที่ทยอยฟื้นตัว
“การส่งออกสินค้าเดือนส.ค.ที่มีมูลค่าแตะระดับ 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าดีที่สุดในรอบหลายเดือน และทำให้การส่งออกไทยหดตัวเป็นตัวเลขหลักเดียว อย่างไรก็ตาม หากหักมูลค่าส่งออกทองคำที่สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 2,800 ล้านดอลลาร์แล้ว จะพบว่าการส่งออกดีขึ้นไม่ค่อยมากนัก ทั้งนี้ การส่งออกจะต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวพอสมควร แม้ว่าล่าสุดผลสำรวจคำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศจะโผล่เหนือเส้น 50 แล้ว” นายดอนกล่าว
ส่วนเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวน้อยลงจากเดือนก่อน ตามการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์เป็นสำคัญ จากการนำเข้าสินค้าทุนและยอดจดทะเบียนรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ทยอยฟื้นตัว และความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง แม้ยังอยู่ในระดับต่ำ สำหรับการลงทุนหมวดก่อสร้างขยายตัวลดลงเล็กน้อย ตามยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่ชะลอลง
มูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัว -19.1% จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการหดตัวน้อยลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนในทุกหมวดสินค้า ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าทุน และวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมที่มีทิศทางปรับตัวดีขึ้น
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนยังอยู่ในทิศทางของการฟื้นตัว สอดคล้องกับปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อที่ทยอยปรับดีขึ้น ทั้งการจ้างงาน รายได้ของครัวเรือน และความเชื่อมั่นของผู้บริโภค แม้ในเดือนนี้เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนโดยรวมจะหดตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อน ตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนและหมวดบริการ หลังจากปัจจัยพิเศษวันหยุดยาวในเดือนก่อนหมดลง
ขณะที่การใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนหดตัวน้อยลงต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งจากการซื้อรถยนต์รุ่นใหม่หลังจากที่เริ่มมีการเปิดตัวในเดือนก่อน ส่วนรายได้ของเกษตรกรพบว่าขยายตัวในอัตรา 9% ซึ่งมีสาเหตุจากราคายางที่เป็นปรับเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการส่งออกถุงมือยางที่ขยายตัวได้ดี และการปริมาณการใช้ยางรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น จึงคาดว่าราคายางพาราในช่วงที่เหลือของปีนี้จะทรงตัวในระดับปัจจุบันไปจนถึงสิ้นปี ส่วนแนวโน้มราคาข้าวยังไม่ค่อยดีนัก
“แม้ว่าการบริโภคเอกชนในเดือนส.ค.จะหดตัวมากขึ้นมากกว่าเดือนที่แล้ว โดยหดตัว -1.1% จากเดือนก.ค.2563 ที่หดตัว -0.1% ไม่ใช่ว่าเศรษฐกิจเสียโมเมนตัม แต่เป็นเพราะในเดือนก.ค.มีวันหยุดพิเศษเพิ่มขึ้น ต่างจากเดือนส.ค.ไม่มี ทำให้ ธปท.มองว่าการบริโภคเอกชนยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยส่วนหนึ่งมาจากมาตรการภาครัฐ” นายดอนกล่าว
ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวสูงต่อเนื่องที่ -100% จากระยะเดียวกันปีก่อนจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังคงมีอยู่ ส่งผลให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และเดือนก.ย.2563 นักท่องเที่ยวต่างชาติจะหดตัวที่ -100% เช่นเดิม ขณะที่การเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศในเดือนต.ค.นี้ จะกระตุ้นการใช้จ่ายได้ไม่มากนัก
สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวสูงขึ้น ตามรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางที่ยังคงขยายตัวสูง ขณะที่รายจ่ายประจำหดตัวเล็กน้อยตามการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ ทั้งนี้ รายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัวตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านคมนาคม
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลง จากราคาอาหารสดและราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเล็กน้อย ด้านตลาดแรงงาน อัตราการว่างงานปรับลดลงเล็กน้อย แต่จำนวนผู้ขอรับสิทธิว่างงานยังอยู่ในระดับสูง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากการส่งออกทองคำเป็นสำคัญ
ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิเล็กน้อยจากด้านหนี้สิน ตามการขายสุทธิตราสารทุนไทยของนักลงทุนต่างชาติ และการชำระคืนเงินกู้ต่างประเทศของสถาบันการเงินที่รับฝากเงินของไทย
“การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือนส.ค.ที่ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนใหญ่มาจากการส่งออกทองคำที่มีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และภาพนี้น่าอยู่ไปจนถึงสิ้นปี ส่วนดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายพบว่านักลงทุนต่างชาติยังคงขายตราสารทุนต่อเนื่อง และในเดือนส.ค.เราเริ่มเห็นนักลงทุนในประเทศเอาเงินไปลงทุนในต่างประเทศ เพราะมองสถานการณ์ในต่างประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้น จากไตรมาส 2 ที่นักลงทุนไทยเอาเงินกลับประเทศค่อนข้างเยอะ”นายดอนกล่าว
อ่านประกอบ :
ก่อหนี้ใหม่ 1.46 ล้านล้าน! ครม.เคาะแผนบริหารหนี้สาธารณะปีงบ 64
หนุนรัฐกระตุ้นศก.! ‘วิรไท’ ชี้ขยายกรอบหนี้สาธารณะได้หากจำเป็น-'คลัง' โต้ ‘ถังแตก’
หนี้สาธารณะพุ่ง 51.64% ต่อจีดีพี! ครม.ไฟเขียวแผนบริหารใหม่-6 ปี 'บิ๊กตู่' เพิ่ม 2.68 ล้านล.
เปิดรายงานกนง. : ความไม่แน่นอนทางการเมืองกระทบค่าเงิน-หนุนนโยบายการคลังกระตุ้นศก.
'ขุนคลัง' ปรีดี ดาวฉาย : เอาวิกฤติให้รอดก่อน-รักษาหนี้สาธารณะที่ระดับ 60% ของจีดีพี
สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ : โชว์นโยบายพลังงานกระตุ้นศก. ดันไทย 'ฮับขายไฟฟ้า-รื้อราคาโซลาร์ปชช.'
ครม.เห็นชอบ 'อนุชา บูรพชัยศรี' นั่งโฆษก รบ.คนใหม่ พร้อมตั้ง 11 ขรก.ดำรงตำแหน่ง 5 กระทรวง
วิกฤติยังไม่คลี่คลาย! เตือนอีก 3 เดือนตกงานเพิ่ม 6 แสนคน-ต่อคิวสมัครงานล้น 'รร.มิราเคิล'
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/