"...ระยะยาวเราต้องระบายกำลังผลิตไฟฟ้าส่วนเกิน 40% ไม่ได้หมายความว่านโยบายผิด แต่เพราะดีมานด์ลดลง เรื่องการสร้างโครงข่าย Regional Hub จึงน่าสนใจ และเราไม่จำเป็นต้องชะลอโรงไฟฟ้าใหม่ เพราะถ้าเราไปตกใจกับตัวเลขไตรมาส 2/63 ที่ติดลบ 12% แล้วบอกว่าดีมานด์จะลงไปเยอะ เลยแก้กันใหญ่ คงไม่ได้ เพราะที่เขาบอกทั้งปีจะติดลบ 7.5% อาจไม่ใช่ก็ได้ ส่วนโรงไฟฟ้าเก่า เราไม่อยากทำอะไรจะกระทบกับภาคเอกชนในช่วงนี้ ถ้าเรามีข้อตกลงซื้อไฟฟ้าอยู่แล้ว..."
หมายเหตุ : สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน แถลงนโยบายด้านพลังงาน เมื่อวันที่ 20 ส.ค. ที่กระทรวงพลังงาน
แนวนโยบายพลังงาน เรามี 3 เรื่อง คือ 1.พลังงานกระตุ้นเศรษฐกิจ 2.พลังงานสร้างงานสร้างรายได้ และ3.พลังงานสร้างรากฐานเพื่ออนาคต ซึ่งหลายคนบอกว่าคุ้นๆ แต่ทำอย่างไรให้ปฏิบัติให้ได้ และมีผลเกิดขึ้น โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติโควิด การเร่งรัดให้เกิดผลเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเป็นสิ่งที่มีผลกระทบเชิงบวกต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยหลังโควิด
"เรื่องที่ 1 เป็นนโยบายของกระทรวงพลังงานที่ยืนมาโดยตลอด ทำมาต่อเนื่อง เรื่องที่ 2 เป็นนโยบายของกระทรวงที่จะเข้าไปดูแล แก้ไขปัญหา ฟื้นฟูและเยียวยาเศรษฐกิจไทยในช่วงโควิด และเรื่องที่ 3 เป็นเรื่องที่เราพูดถึงอนาคต"
@พลังงานกระตุ้นเศรษฐกิจ
เรื่องแรก การลดค่าใช้จ่ายพลังงาน มีหลายมาตรการที่ได้ดำเนินการไปแล้ว แต่จะมีการทบทวนว่ามีรายการใดบ้างที่เป็นประโยชน์กับภาคประชาชน เช่น การลดค่าใช้จ่ายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน โดยจะพิจารณาให้เหมาะสม เพราะวันนี้บรรยากาศการดำเนินธุรกิจในประเทศคลี่คลายไปพอสมควร อย่างไรก็ตาม หากมีรายการใดที่ประชาชนยังเดือดร้อนอยู่จากมาตรการผ่อนคลายที่ยังไม่สมบูรณ์ จะไปดูว่าจะมีมาตรการใดที่จะทำต่อเนื่องต่อไป
ส่วนเรื่องไฟฟ้า ยังคงเป็นเรื่องการเปิดให้มีการแข่งขันในกิจการไฟฟ้า พร้อมทั้งเร่งรัดการผลิตและยกระดับโครงข่ายไฟฟ้า ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเรามีกำลังสำรองเกินอยู่จำนวนมาก จึงมีความเป็นได้ที่กระทรวงพลังงานจะผลักดันให้ผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้า เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรือเอกชนที่สนใจ ยกระดับโครงข่ายไฟฟ้าให้เป็นระดับภูมิภาค (Regional Hub) นำไฟฟ้าที่เรามีเหลืออยู่ไปขายให้ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา เมียนมาร์
อย่างไรก็ตาม โครงการนี้เป็นโครงการระยะยาว แต่จะสร้างความชัดเจนให้ได้ภายใน 1 ปี และเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะเรื่องนี้ต้องใช้เงินลงทุนสูง และต้องมีการปรับกฎระเบียบพอสมควร
"ระยะยาวเราต้องระบายกำลังผลิตไฟฟ้าส่วนเกิน 40% ไม่ได้หมายความว่านโยบายผิด แต่เพราะดีมานด์ลดลง เรื่องการสร้างโครงข่าย Regional Hub จึงน่าสนใจ และเราไม่จำเป็นต้องชะลอโรงไฟฟ้าใหม่ เพราะถ้าเราไปตกใจกับตัวเลขไตรมาส 2/63 ที่ติดลบ 12% แล้วบอกว่าดีมานด์จะลงไปเยอะ เลยแก้กันใหญ่ คงไม่ได้ เพราะที่เขาบอกทั้งปีจะติดลบ 7.5% อาจไม่ใช่ก็ได้ ส่วนโรงไฟฟ้าเก่า เราไม่อยากทำอะไรจะกระทบกับภาคเอกชนในช่วงนี้ ถ้าเรามีข้อตกลงซื้อไฟฟ้าอยู่แล้ว"
เรื่องน้ำมันดีเซลบี 10 และน้ำมันแก๊สโซฮอล์อี 20 เรายังมีนโยบายยืนเหมือนเดิม แต่จะมีนโยบายลึกขึ้น เพราะการประกาศบี 10 หรืออี 20 คงไม่ใช่ประกาศไปเพื่อให้มีการใช้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องทำให้มั่นใจว่าวัตถุประสงค์ของการมีน้ำมันชนิดดังกล่าวเพื่ออะไร คือ เพื่อให้เกษตรกรยกระดับรายได้ของตัวเองให้ดีขึ้นกว่าการปลูกเศรษฐกิจตัวอื่นได้หรือไม่ จึงต้องไปดูว่ามีซัพพลายเอทานอลมีแน่นอนหรือไม่ พื้นที่เพาะปลูกมีเพียงพอหรือไม่
"เราจะไปตรวจสอบและทำให้เกิดความมั่นใจว่านโยบายเหล่านี้ ไปถึงเกษตรกรจริงๆ มีความเพียงพอ และสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทย ไม่ใช่เอาอ้อยจากประเทศอื่นมาทำ เราต้องพิสูจน์ทราบกันให้ชัดเจน"
ด้านต้นทุนและการขยายท่อส่งน้ำมัน โดยเฉพาะการยกระดับมาตรการน้ำมันยูโร 5 (Euro 5) จะทำต่อไป แต่ต้องพิจารณาในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะผลกระทบจากโควิดอาจมีผลกระทบต่อการใช้พลังงานของประเทศไทย
เรื่องก๊าซธรรมชาติ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จะพิจารณาว่ามีความจำเป็นต้องเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่หรือไม่ และเรื่องที่สำคัญ คือ การรื้อถอนแท่นขุดเจาะในแหล่งสัมปทานที่หมดอายุ การเชื่อมต่อระหว่างผู้ประกอบการสัมปทานเดิมและรายใหม่ การสร้าง LNG Terminal เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยมีหลักประกันด้านพลังงานอย่างครบถ้วนและยั่งยืน
นอกจากนี้ เรื่องที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ในยามนี้ คือ การหาความชัดเจนพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนไทย-กัมพูชา เพื่อประโยชน์กับสองประเทศ โดยเรื่องเรื่องการพัฒนาปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา (Overlapping Claims Area : OCA) จะกลับมาทำให้เกิดความชัดเจน ซึ่งต้องใช้เวลาบ้าง
"เรื่องการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ ได้ให้เขาไปพิจารณาดูว่ามีคนสนใจมากน้อยแค่ไหน ดูศักยภาพของแต่ละแปลง แปลงใหม่ที่จะมีขึ้นมาจะคุ้มค่าหรือไม่ เพราะราคาพลังงานวันนี้ไม่สูงมากนัก ส่วนเรื่องเจรจาพื้นที่ทับซ้อน ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด เพราะทั้งไทยและกัมพูชาประสบปัญหาเศรษฐกิจอยู่ ถ้ามีกิจกรรมใดที่จะสร้างประโยชน์ให้กับสองประเทศ ซึ่งไม่เกี่ยวกับความมั่นคง น่าจะเป็นเรื่องที่ดี"
@พลังงานสร้างงาน สร้างรายได้
จะเน้นประเด็นเร่งด่วน ระยะสั้น ที่ตอบสนองปัญหาความเดือดร้อนจากวิกฤติโควิด เช่น กองทุนส่งเสริมและอนุรักษ์พลังงาน จะมีการทบทวนวัตถุประสงค์การใช้เงินในปีงบ 64 โดยเน้นไปที่การสร้างงาน สร้างรายได้ เข้าสู่พื้นที่ เพื่อลดผลกระทบเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด ทั้งการว่างงาน ซึ่งจะมีการจ้างนักศึกษาใหม่ และการช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อยต่างๆ โดยเราจะทำให้เกิดการเคลื่อนตัวและการหมุนเวียนทางธุรกิจผ่านกองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ
เรื่องไฟฟ้าภาคประชาชน โรงไฟฟ้าชุมชน นโยบายเดิมมีอยู่แล้ว แต่เรากำลังศึกษาว่าจะทำอย่างไรให้โรงไฟฟ้าชุมชนเกิดผลประโยชน์ตามวัตถุุประสงค์ คือ ประโยชน์ได้กับเกษตรกรอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ใช่ประโยชน์ของโรงไฟฟ้า โรงไฟฟ้าเป็นทางผ่านที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกร ยกตัวอย่างเช่น จะทำโรงไฟฟ้าที่เป็นพืชพลังงาน ต้องมีพื้นที่เพาะปลูกที่มั่นใจว่าจะปลูกได้อย่างยั่งยืน เป็นพื้นที่ที่คุ้มค่าและทดแทนพืชเศรษฐกิจเดิม จะต้องทำให้เกษตรกรดีขึ้นกว่าเดิม
ส่วนปริมาณการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชนจะ 100 MW หรือ 200 MW นั้น ขอเวลา 30 วัน หลังจากชัดเจนแล้วจะประกาศให้ผู้สนใจเข้ามาทำข้อเสนอ ซึ่งตั้งใจว่าจะเปิดรับข้อเสนอได้ในปีนี้ แต่ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับข้อเสนอของผู้ประกอบการว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่เราอยากเห็นหรือไม่ คือ 1.ต้องมีการปลูกพืชหมุนเวียนจริง เมื่อปลูกแล้วต้องนำไปใช้และปลูกใหม่ 2.มีสัญญาหรือข้อตกลงที่ชัดเจน มีหลักประกันการรับซื้อที่แน่นอน เป็นต้น
"เรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน ผมให้นโยบายไปแล้ว ทำให้เร็วที่สุด ภายใน 30 วันจากนี้ ต้องเห็นกรอบและสิ่งที่จะดำเนินต่อไป แต่หลักการเป็นการนำร่อง และจะต้องมีกติกาที่ต้องพิสูจน์ได้ว่า ทำแล้วเกษตรกรได้อะไร และเนื่องจากแผนพีดีพี (แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย) ฉบับปรับปรุง ทำตอนก่อนโควิด ผมจึงถือโอกาสนี้ ให้คงแผนเดิมไปก่อน ส่วนโรงไฟฟ้าชุมชนจะทำเป็นบทแทรกเข้าไปได้ในแผนฯได้ ซึ่งทางเทคนิคแล้วทำได้"
สำหรับโซล่าร์ฯภาคประชาชน ให้ทางทีมงานไปดูว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะปรับราคา เพื่อสร้างแรงจูงใจให้มีการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับภาคธุรกิจขนาดเล็ก ให้ผู้ประกอบการรายย่อยทำเรื่องโซล่าร์ประชาชนได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่ได้ให้กรอบเวลาที่เร่งรัดแต่อย่างใด และต้องระมัดระวัง อย่างเรื่องราคา ถ้าราคาไม่เหมาะสม จะมีความเป็นห่วงกันอีกว่าเดี๋ยวค่าไฟฟ้าจะแพงขึ้น เพราะตอนนี้กำลังการผลิตไฟฟ้าส่วนเกินก็สูงอยู่แล้ว
@พลังงานสร้างรากฐานเพื่ออนาคต
เมื่อพูดถึงอนาคตธุรกิจพลังงาน จะต้องมีความชัดเจนเรื่องการขับเคลื่อนพลังงานชนิดใหม่ๆ เช่น แบตเตอรี่ และรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง โดยเรื่องนี้จะทำต่อ ส่วนการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการ เป็นเรื่องที่เราทำอยู่แล้ว เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการเปิดเสรีให้มากที่สุด จะมีนโยบายการพัฒนานวัตกรรมพลังงานใหม่ๆ ลดการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ นำระบบอัจฉริยะมาใช้ในระบบการจ่ายไฟฟ้า และสร้างธุรกิจใหม่ๆ เพื่อรองรับอนาคตของประเทศไทย
@การทำงานและวิธีการทำงาน
กระทรวงพลังงานจะเน้นเรื่องความรวดเร็ว สถานการณ์ตอนนี้ต้องเร็ว ต้องมีข้อมูลครบถ้วน และต้องร่วมไม้ร่วมมือกัน ไม่ใช่แค่กระทรวงพลังงานอย่างเดียว โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานภายใต้กำกับดูแล และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง จะต้องต้องร่วมระดมทรัพยากรมาแก้ปัญหาของประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้สอดคล้องกับทิศทางที่นายกฯ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้ให้ไว้ เป็น New Normal รวมไทย สร้างชาติ พร้อมทั้งได้ขอให้บริษัทพลังงานและเอกชนลงทุนอย่างต่อเนื่อง
"วันนี้เราได้หารือกับกลุ่มธุรกิจพลังงาน มาทำเวิร์กช้อปกัน ให้เข้าใจปัญหาของประเทศและปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น แล้วดูว่าบริษัทพลังงานไทยและบริษัทที่เกี่ยวข้องจะสร้างสิ่งที่จดจำของตนเองในช่วงเวลานี้ได้อย่างไร ว่าเขาได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือประเทศชาติในยามยากนี้อย่างไร เช่น ช่วยเรื่องจ้างงานทั้งนักศึกษาใหม่และกลุ่มเปราะบาง โดยให้เขาคิด 2 สัปดาห์ และเราจะทำลักษณะอย่างนี้เรื่อยไป จนกว่าวิกฤติระยะสั้นที่เกิดขึ้นจะพ้นไป แล้วเราจะกลับมาแข็งแรงและเติบโตได้เช่นเดิม"
เรื่องนโยบายการปรับเปลี่ยนบอร์ดชุดต่างๆ โดยเฉพาะบริษัทพลังงานในกำกับดูแลของกระทรวงพลังงานนั้น ก็ดูความเหมาะสม แต่เขาก็มีกรรมการสรรหาฯอยู่แล้ว ไม่ใช่บริษัทที่สั่งเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาได้ เพราะเป็นบริษัทมหาชน ต้องมีคณะกรรมการสรรหาฯ ต้องพิจารณาคุณสมบัติ คณะกรรมการย่อยดูแล้ว คณะกรรมการใหญ่ต้องดูอีก ดังนั้น ด้วยระบบที่มีอยู่ก็เหมาะสมอยู่แล้ว ก็ขอให้เป็นไปตามนี้
ส่วนการแต่งตั้งนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ อดีตรมว.พลังงาน เป็นที่ปรึกษารมว.พลังงาน เพราะท่านมีความรู้เรื่องปิโตรเลียมเป็นอย่างดี โดยจะให้เข้ามาช่วยงานเป็นกรณีๆไป
อ่านประกอบ :
ประเดิมเคาะงบ! ชง ‘สุพัฒนพงษ์’ ไฟเขียวจัดสรรเงินกองทุนอนุรักษ์พลังงาน 5.6 พันล้าน
'ขุนคลัง' ปรีดี ดาวฉาย : เอาวิกฤติให้รอดก่อน-รักษาหนี้สาธารณะที่ระดับ 60% ของจีดีพี
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/