“...เราจะเน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับการรักษาหนี้สาธารณะที่ระดับ 60% ต่อจีดีพี โดยเราจะพยายามรักษาหนี้ให้อยู่ตรงนี้ แต่ตอบไม่ได้ว่าจะต้องไปกู้เพิ่มหรือเปล่า เพราะถ้าเกิดการระบาดเฟส 2 เฟส 3 เฟส 4 ก็เลี่ยงไม่ได้เหมือนกัน แต่ถ้าอยู่แบบนี้ ควบคุมได้แบบนี้ และมีมาตรการสร้างรายได้ให้ภาคธุรกิจต่างๆ เช่น เปิดให้กลุ่มนั้นกลุ่มนี้เข้ามา รายได้จะเกิดขึ้น ก็จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้คนได้...”
หมายเหตุ : สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน และปรีดี ดาวฉาย รมว.คลัง แถลงนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ เมื่อวันที่ 17 ส.ค.63 ที่กระทรวงการคลัง
ปรีดี ดาวฉาย
ตัวเลขเศรษฐกิจเวลาพูดไป เหมือนกับว่าเรากำลังหาตัวมาเปรียบเทียบว่าจะดีหรือแย่กว่ากัน แต่สำหรับผมแล้วไม่มีความหมายอะไร เพราะเป็นเหตุการณ์ในอดีต อย่างเช่นวันนี้ เราเห็นตัวเลขจีดีพีออกมาแล้วดีกว่าปี 1997 แต่ในที่นี้ไม่มีใครรู้ว่าปี 1997 มีความยากลำบากอย่างไร และแม้ว่าตัวเลขที่ออกมาต่ำกว่านั้น จะทำให้เรามีความรู้สึกดี มีกำลังต่อสู้ต่อไป แต่ถ้านั่งอยู่เฉยๆการจะทำให้ต่ำกว่านั้น ไม่มีทางเป็นไปได้
“ความท้าทายระยะสั้น และเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ วันนี้เศรษฐกิจทุกประเทศหดตัวไปหมด ซึ่งประเทศไทยเองได้รับผลกระทบมากที่สุด จะบอกว่าน้อยก็ไม่ได้ เพราะโครงสร้างระบบเศรษฐกิจแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน เราพึ่งพาการท่องเที่ยว เราพึ่งพาการส่งออก เมื่อมีปัญหาเกิดตรงนี้ คนไม่สามารถเดินทางได้ เราจึงได้รับผลกระทบมากที่สุด ซึ่งเป็นเหตุและผลในตัวเอง แต่คำถาม คือ แก้ได้หรือไม่ ก็ตอบได้ว่าต้องใช้เวลา”
ทุกคนถามว่าเมื่อไหร่จะกลับมาที่เดิม ทุกคนบอกว่า 3 ปี 2 ปี ซึ่งเป็นความคาดหวัง และเป็นความคาดหวังในเชิงของการสร้างกำลังใจ แต่มีปัจจัยว่าการจะกลับไปสู่ตรงนั้น หากวัคซีนไม่มา ทุกอย่างจะกลับมาหรือไม่ แม้ว่าทุกคนจะคาดหวังว่าวัคซีนจะมาในอีก 12 ถึง 18 เดือนข้างหน้า แต่ยังเป็นเรื่องไม่แน่นอน ดังนั้น ถ้าเรารู้ชัดเจนว่าความเสี่ยงอยู่ตรงไหน เราสามารถประเมินได้เลยว่า จะต้องการเงินมากน้อยเท่าไหร่ในการแก้ปัญหา
“ความไม่แน่นอนยังมีอยู่ ถามว่าจะแก้ปัญหากัน 1 เดือน 2 เดือน หรือว่าแก้ปัญหากันไปจนกว่าวัคซีนมา และทุกคนกลับมามีชีวิตปกติ เราต้องเลือกอันหลัง เพราะบางเรื่องไม่สามารถตอบได้ชัดเจนว่าต้องเท่านั้น เท่านี้”
ตอนนี้เศรษฐกิจไทยหดตัว การใช้จ่ายลดลง และทุกอย่างมีปัญหาแทรกซ้อน ทั้งการค้าโลก ภาวะความตึงเครียดระหว่างประเทศต่างๆประดังเข้ามา คนที่มีหน้าที่ต้องจัดการต้องทำให้มีผลกระทบกับประเทศและประชาชนน้อยที่สุด แต่เนื่องจากทุกอย่างซับซ้อนมาก แล้วจะไปบอกว่าเท่านั้น เท่านี้ คงเป็นเรื่องยาก มันเกิดขึ้นทุกวัน และสมมติเราจัดการตรงนี้เสร็จแล้ว พรุ่งนี้ก็จะมีปัญหาใหม่เพิ่มขึ้นมาอีก โดยเข้ามากระทบในรูปแบบต่างๆ แต่เราหวังว่าจะเป็นไปในทางบวก
“หลังจากเศรษฐกิจหดตัว ก็หนีไม่พ้นว่าการว่างงานจะเพิ่มขึ้น ทุกคนรู้ว่าจะมีเหตุนี้เกิดขึ้น และพยายามแก้ไข แต่นายกฯเล็งเห็นแล้วว่า ถ้าจะปล่อยให้แต่ละคนวิ่งไปแก้ปัญหาของตัวเอง คำว่าบูรณาการจะไม่มีความหมาย นี่จึงเป็นเหตุที่ทำให้มีการตั้ง ศบศ. (ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) ขึ้นมา ซึ่งผมมีความหวังเป็นอย่างมากว่า จะทำให้การแก้ปัญหามีประสิทธิภาพ
แต่นั่นไม่ได้บอกว่าปัญหาหายไป เพราะเรายังเอานักท่องเที่ยว 40 ล้านคนกลับมาไม่ได้ ดังนั้น จะทำอย่างไรให้กระทบกระเทือนประชาชนน้อยที่สุด และต้องยอมรับว่าอย่างไรก็ตามปัญหาว่างงานจะยังมีอยู่ เพราะตั้งแต่เดือนมี.ค.นักท่องเที่ยวหายไปเท่าไหร่ โรงแรมบางแห่งยังไม่เปิด ผลกระทบมีมาแน่ แต่เราต้องประคับประคองให้ทุกคนผ่านวิกฤตินี้ไปได้ แต่วิกฤติจะจบเมื่อไหร่ ผมถามไป คงไม่มีใครตอบได้”
พวกเราต้องช่วยกันนำข้อมูลมาประเมิน อย่างตัวสำคัญที่สุด คือ ถ้าสามารถคิดค้นวัคซีนขึ้นมาได้ แล้วประเทศไทยมีความสามารถที่จะนำวัคซีนมาใช้กับประชาชนคนไทยจะเป็นตัวช่วยอันหนึ่งได้ หรือถ้ามีต่างชาติเข้ามา แล้วเราสามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวได้ แต่ก็มีคนตั้งคำถามว่า ถ้ารายได้ท่องเที่ยวไม่มา ก็ให้ไปทำอย่างอื่น ซึ่งถ้าทำได้อย่างนั้นได้ เราคงไม่ต้องมานั่งคุยกันในวันนี้
(ปรีดี ดาวฉาย)
“รายได้ 2 ล้านล้าน โรงแรมที่คุณสร้างมาไม่รู้กี่สิบปี คนที่ถนัดในภาคบริการจะกลับไปปลูกข้าวคงไม่ได้ แล้วที่ถามว่าเราจะปรับโครงสร้างหรือไม่ ผมว่าเอาวิกฤติให้รอดก่อน ส่วนการปรับโครงสร้างเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าเรามีข้อจำกัดในแง่เม็ดเงิน และอีกด้านหนึ่งเราต้องไปหารายได้ ซึ่งอย่างที่ทราบวันนี้ทุกคนลำบาก ก็ต้องประคับประคองกันไป ส่วนเม็ดเงินที่มีจำกัดก็แปลว่า การที่เราอยากทำอะไร ก็จะทำไม่ได้อย่างที่คิด
เราจะต้องใช้ทุกบาททุกสตางค์ให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุด ส่วนการจะเป็นหนี้นั้น ถามว่าเครดิตรัฐบาลตอนนี้ จะเป็นหนี้ตามที่ภาคเอกชนเสนอมาได้หรือไม่ ตอบเลยว่าได้สบาย แต่ผมถามว่าสมควรจะเป็นหนี้หรือไม่ ผมมานั่งเป็นรมว.คลัง ผมจะไม่ตอบอะไรที่ไม่มีความชัดเจน และพอเป็นหนี้ คำถามง่าย คือ เป็นหนี้ก็ต้องใช้คืน คนที่ให้กู้เขารอเงินคืนอยู่ เมื่อเป็นหนี้เมื่อไหร่ก็ต้องมีการคืน และต้องโยงไปถึงแหล่งรายได้ แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องเป็นหนี้ รัฐบาลเป็นแน่นอน
พวกเรารู้ว่ามีความคาดหวังว่า มีคนใหม่เข้ามาทำงานแล้วจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ซึ่งผมเองมีโอกาสทำงานร่วมทำงานกับรมว.คลังท่านก่อนอย่างใกล้ชิด มาตรการต่างๆก็ร่วมกัน”
สำหรับนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงการคลัง จะเห็นว่าเราเผชิญปัญหาเฉพาะหน้า ปัญหารายได้ ปัญหาการมีงานทำ ค้าขายลำบาก นักท่องเที่ยวไม่มา ซึ่งนโยบายของเราอันแรก คือ ถ้าเรามองประชาชนส่วนหนึ่ง และธุรกิจส่วนหนึ่ง รัฐบาลยืนยันว่าจะดูแลประชาชนให้ทุกคนมีกิน แม้จะยังตอบไม่ได้ว่าการแพร่ระบาดโควิดเฟส 2 จะเกิดในเมืองไทยหรือไม่ แต่หวังว่าการร่วมมือของประชาชนจะทำให้ไม่มีเฟส 2 และปัญหาของเราจะง่ายขึ้นมาก
“ถ้ามีเฟส 2 จะเป็นคนละภาพกันเลย การแก้ปัญหาจะยากขึ้น เงินก็ต้องใช้มากขึ้น คนลำบากมากขึ้น นี่เป็นเหตุและผลในตัวเอง ซึ่งกระทรวงการคลังจะเฝ้าดูอย่างใกล้ชิดทุกๆวัน จนกว่าปัญหาวิกฤติจะหมด ไม่ใช่ว่าดูไป 2 วันแล้วบอกว่าเงินหมดแล้ว ทำอย่างนั้นไม่ได้ โดยในแต่ละวันจะมีเรื่องใหม่เข้ามา แล้วถามว่าจะทำอย่างนั้นอย่างนี้หรือไม่ มันทำทุกวัน ประเมินทุกวัน ถามว่าอยากให้จบหรือไม่ ไม่มีใครไม่อยากจบ”
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะมุ่งช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะประชาชนผู้มีรายได้น้อย โดยจะดูแลตรงนี้อย่างดีที่สุดบนกำลังความสามารถที่รัฐบาลมีอยู่ จึงอยากให้ทุกคนสบายใจ
ส่วนการดูแลภาคธุรกิจนั้น ธุรกิจประสบปัญหามากเช่นเดียวกัน เพราะรายได้ขาดไป เช่น ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกัน ซึ่งในภาคธุรกิจเองเราพยายามแยกแยะ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กๆ และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เราดูแลมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมาตรการที่เคยออกมานั้น ยอมรับว่าติดกฎติดระเบียบอยู่บ้าง แต่เราพยายามแก้ไข และในอีก 2-3 วัน เราจะรายงานนายกฯก่อนที่จะมีมาตรการออกมา
“เราจะดูแลเอสเอ็มอีให้มีวงเงินเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาต่างๆได้ตลอดเวลา แต่ไม่ใช่ว่าเงิน 5 แสนล้านบาทที่ออกไป 3 เดือนหมด แล้วเดือนที่ 4 จะเอาอะไร อย่าไปคิดว่าเมื่อออกมาแล้ว 2 เดือนหมด สมมติว่ากำลังความสามารถในการให้สินเชื่อประคับประคองเอสเอ็มอี ทำได้เดือนละ 3 หมื่นล้านบาท ถ้า 10 เดือนก็ 3 แสนล้านบาท เงิน 5 แสนล้านก็ยังเหลืออยู่ แต่ถ้าบอกว่าทำเดือน 2 แสนล้าน 2 เดือนครึ่ง 5 แสนล้าน
แล้วเดือนต่อไปก็กู้เพิ่ม แต่จะมีคนมาบอกว่าอย่ากู้เลย ช่วยกันใช้เงินให้ประหยัดดีกว่า เพราะการกู้เงิน ต้องกู้เมื่อจำเป็น ลองนึกถึงตัวเราเป็นที่ตั้ง ตัวเราเองอยากเป็นหนี้หรือไม่ กลับไปบ้านเราอาจมีหนี้ผ่านชำระบ้าน ผ่อนชำระรถ แต่เราอยากเป็นหนี้หรือเป็นคนใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายหรือเปล่า ไม่มีนะ ผมมาดูแลกระเป๋าสตางค์ของประเทศ ผมจะเป็นอย่างนั้น เพราะการมีหนี้ คือ เราจะต้องไปตามเก็บภาษีมาชำระหนี้ เราอยากจ่ายภาษีเพิ่มหรือไม่”
อย่างไรก็ตาม ถ้าเรามีความจำเป็นต้องเป็นหนี้ เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในการดูแลประชาชน อันนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ถ้าจัดการเรื่องต่างๆให้มีประสิทธิภาพ เงินใช้จ่ายตรงเป้าหมาย ไม่ทำในสิ่งที่ไม่สมควร เราก็ไม่มีหนี้เพิ่ม และฐานะการคลังของเราจะแข็งแกร่งในวันข้างหน้า การกระตุ้นเศรษฐกิจเราพยายามคิด ซึ่งในประชุม ศบศ. ในวันที่ 19 ส.ค.นี้ เราจะมีมาตรการและวิธีการต่างๆ ที่จะดูแลในระหว่างนี้ไปจนถึงวันที่มีวัคซีน โควิดหายไป และเรากลับมาทำมาค้าขายได้ปกติ
ส่วนการลงทุนต่างๆ ทั้งระยะกลางและระยะยาว เรายังทำต่อเนื่อง ทำตามแผนที่วางไว้อย่างต่อเนื่อง อย่าไปกังวลว่า ถ้ามาโฟกัสตรงนี้แล้วจะไม่นำเงินในอนาคตมาสร้างอนาคตไว้ ขอยืนยันว่าทุกคนคิดกันมาตลอด โดยเราพยายามจะสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กรเอกชน และหน่วยธุรกิจต่างๆให้มีความแข็งแกร่งและยั่งยืน โดยเฉพาะการลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ต่างๆ ซึ่งนี่เป็นความหวัง แต่ไม่สามารถทำได้ในวันเดียว
“เราจะเน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับการรักษาหนี้สาธารณะที่ระดับ 60% ต่อจีดีพี โดยเราจะพยายามรักษาหนี้ให้อยู่ตรงนี้ แต่ตอบไม่ได้ว่าจะต้องไปกู้เพิ่มหรือเปล่า เพราะถ้าเกิดการระบาดเฟส 2 เฟส 3 เฟส 4 ก็เลี่ยงไม่ได้เหมือนกัน แต่ถ้าอยู่แบบนี้ ควบคุมได้แบบนี้ และมีมาตรการสร้างรายได้ให้ภาคธุรกิจต่างๆ เช่น เปิดให้กลุ่มนั้นกลุ่มนี้เข้ามา รายได้จะเกิดขึ้น ก็จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้คนได้”
นอกจากนี้ เราจะเร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะการใช้จ่ายลงทุน ซึ่งท่านรองนายกฯ (สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) จะติดตามการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพื่อให้มีเม็ดเงินลงไปสู่ระบบ เราจะได้ทำมาหากินได้ปกติในขณะที่ยังไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา ส่วนการจัดเก็บรายได้ เราจะทำอย่างระมัดระวัง เพราะเข้าใจดีว่าในช่วงนี้คนลำบาก รวมทั้งจะพัฒนากลไกกำกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ให้ดำเนินการตามพันธกิจที่ตั้งไว้
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพการคลัง เสถียรภาพของระบบการเงิน และเสถียรภาพสถาบันการเงินให้เป็นหลักของประเทศ ตัวนี้เป็นหลักสำคัญ เพราะถ้าทุกคนไม่เชื่อถือแล้ว มันยืนไม่อยู่ ดังนั้น ขอให้มั่นใจว่าเราจะทำอย่างระวัง ซึ่งผมจะทำงานร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยเราหวังว่าเราจะประคับประคองภาคธุรกิจ ภาคประชาชน ไปทุกๆวัน จนกว่าเราจะกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ มีรายได้ และผู้คนกระทบกระเทือนน้อยที่สุด
“ถามว่าจะทำสำเร็จหรือไม่ สำหรับผม มันไม่มีคำว่าสำเร็จ วันนี้บอกว่าทำได้แค่นี้ พรุ่งนี้ก็มีมาทำอีก มะรืนมีมาทำอีก เดือนนี้ เดือนหน้า ปีนี้ ปีหน้าต้องทำกันทุกวัน ถ้ากลับไปเทียบตัวเลขที่ออกมาอย่างน้อยเราก็มีความรู้สึกดีระดับหนึ่งว่า ที่เราทำมันดีขึ้นกว่าเดิม ส่วนความเดือดร้อนของคน เราต้องไปดูจุดเหล่านั้นให้ชัดเจน”
ส่วนที่ถามว่ารัฐบาลจะถังแตกหรือไม่ ถ้าเกิดโควิดเฟส 2 เฟส 3 สำหรับผม ถังไม่มีแตก ผมอยู่ธนาคารพาณิชย์มายังไม่มีถังแตกเลย อย่าไปคิดอย่างนั้น อย่างตัวเราเองในจังหวะที่เรามีค่าใช้จ่ายสูง และรายได้ตกต่ำ ก็ต้องบริหาร ถ้ามองภาพเก่า รายได้ของรัฐบาลจะเป็นไปตามช่วงฤดู ถ้าช่วงที่รับชำระภาษีบุคคลธรรมดา และภาษีนิติบุคคล เงินก็จะมา เงินเหลือเฟือไปหมด ส่วนรายจ่ายจะมาเดือนต.ค. การจัดการตรงนี้บางครั้งมีเงินเหลือเยอะ บางครั้งเงินลด เป็นเรื่องปกติ
สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์
แถลงการณ์ของท่านนายก (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม) เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ท่านให้นโยบาย หรือแนวทางที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานที่ผมดูแลรับผิดชอบ 5 ข้อ ได้แก่ 1.การดูแลเอสเอ็มอีและประชาชนภาคส่วนต่างๆที่ได้รับความเดือดร้อน 2.มาตรการที่จะออกมาใหม่ ซึ่งต้องเป็นมาตรการที่ยั่งยืน และกระตุ้นเศรษฐกิจ 3.จะต้องจูงใจให้ธุรกิจต่างๆมีการจ้างงานอย่างมีประสิทธิภาพ
4.เน้นเรื่องการจ้างแรงงานใหม่ โดยเฉพาะนักศึกษาจบใหม่ที่เข้าสู่ตลาดแรงงาน และ5.ทำงานอย่างซื่อสัตย์ โปร่งใส รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วน
“นี่คือแนวทางที่นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจได้ให้ไว้กับภาคส่วนต่างๆ และเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับทางกระทรวงการคลัง และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)”
(สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์)
ขอบคุณภาพ : กระทรวงการคลัง
อ่านประกอบ :
ธปท.ตรึงหนี้เสีย! กำชับแบงก์ช่วยลูกหนี้จนกว่าโควิดจะคลี่คลาย-สิ้นไตรมาสสอง NPLs แตะ 3.09%
จีดีพีไตรมาสสองหด 12.2%! สศช.หั่นเป้าทั้งปีเป็นติดลบ 7.5%-หนี้เสียภาคบริโภคพุ่ง 23%
วิกฤติยังไม่คลี่คลาย! เตือนอีก 3 เดือนตกงานเพิ่ม 6 แสนคน-ต่อคิวสมัครงานล้น 'รร.มิราเคิล'
สั่งแก้คนว่างงาน -จี้ ขรก.อย่าเกียร์ว่าง! ‘บิ๊กตู่’มอบนโยบายครม.ใหม่-ตั้งศูนย์บริหาร ศก.
ว่างงานแตะ 2.7 ล้านคนยาว 3 ปี! ‘ทีดีอาร์ไอ’ แนะรัฐเร่งใช้งบฟื้นฟูฯ-พัฒนาภาคเกษตรรองรับ
เปิดรายงานกนง. ห่วงจ้างงานอ่อนแอ-จีดีพีทรุดกว่าที่คาด หนุนรัฐปรับโครงสร้างศก. 5 ด้าน
วิจัยกรุงศรีหั่นจีดีพี! คาดปีนี้หดตัว 10.3%-หวั่น 'หนี้เสีย' พุ่ง หลังสิ้นสุดมาตรการพักหนี้
มติเอกฉันท์! กนง.คงดอกเบี้ยที่ระดับ 0.5%-หั่นคาดการณ์จีดีพีปีนี้ติดลบ 8.1%
เหมือนสงครามโลกครั้งที่ 3! ไทยว่างงาน 7 ล้านคน หลังโควิด จีนประเทศเดียวฉุด ศก.ไม่ไหว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/