อสส.ตั้งข้อไม่สมบูรณ์สำนวนคดีฮั้วจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ชี้มูล 'สุขุมพันธ์-คีรี-พวก 10 ราย ส่งเรื่องคืนตั้งคณะทำงานร่วม 2 ฝ่าย หากไม่ได้ข้อยุติ ป.ป.ช.มีอำนาจฟ้องคดีเองได้
แหล่งข่าวจากสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ อัยการสูงสุด (อสส.) ได้ตั้งข้อไม่สมบูรณ์สำนวนคดีกรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่าจ้างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ไปจนถึงปี 2585 ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลความผิดผู้ถูกกล่าวหารวมทั้งสิ้น 12 ราย และส่งสำนวนการไต่สวนมาให้พิจารณาฟ้องร้องดำเนินคดีตามขั้นตอนทางกฎหมาย
"ทั้งนี้ อสส.ได้ส่งเรื่องกลับมาให้ ป.ป.ช. เพื่อตั้งคณะทำงานร่วมฝ่ายอัยการ และ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ในสำนวนคดี แต่หากไม่สามารถหาข้อยุติได้ ป.ป.ช. ก็มีอำนาจที่จะฟ้องร้องคดีนี้เอง" แหล่งข่าวระบุ
เกี่ยวกับคดีนี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2566 มีการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยที่ประชุมฯได้นำสำนวนขององค์คณะไต่สวนชุดใหญ่ ในคดีที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่าจ้างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ไปจนถึงปี 2585
ซึ่งเป็นการหลีกเลี่ยงและไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 และพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 และเอื้อประโยชน์ให้แก่ BTSC เพียงรายเดียว มาพิจารณา และที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเห็นชอบให้ชี้มูลความผิดผู้ถูกกล่าวหารวมทั้งสิ้น 12 ราย จากทั้งหมด 13 ราย ตามความเห็นขององค์คณะไต่สวนชุดใหญ่ เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหา 1 ราย ได้เสียชีวิตไปแล้ว
สำหรับผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกชี้มูลความผิด 12 ราย ได้แก่
1.ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเพมหานคร
2.นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ ตำแหน่งรองผู้ว่ารายการกรุงเทพมหานคร
3.นายประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ ตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด
4.นายอมร กิจเขวงกุล ตำแหน่งกรรมการบริษัท กรุงเทพอนาคม จำกัด
5.นายเจริญรัตน์ ชูติกาญจน์ ตำแหน่งปลัดกรุงเทพมหานคร
6.นางนินนาท ซลิตานนท์ ตำแหน่งรองปลัดกรุงเทพมหานคร
7.นายจุมพล สำเภาพล ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง
8.นายธนา วิชัยสาร ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง
9.นายคีรี กาญจนพาสน์ ตำแหน่งกรรมการบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
10.นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา ตำแหน่งกรรมการบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
11.บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ผู้รับจ้างในโครงการบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ตามสัญญาเลขที่ 1/2555 ลงวันที่ 6 พ.ค.2555 และผู้บริหารระบบในสัญญาการให้บริการเดินรถและช่อมบำรุงโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร เลขที่ กร.ส. 006/2555 ลงวันที่ 3 พ.ค.2555
12.บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการในสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร เลขที่ กร.ส.6/2555 ลงวันที่ 3 พ.ค.55
ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่เสียชีวิตไปแล้ว 1 ราย คือ นายกฤษณ์ เกียรติพนชาติ ตำแหน่งผู้อำนวยการกองการขนส่ง
สำหรับขั้นตอนต่อไป ป.ป.ช. จะส่งสำนวนการไต่สวนให้กับอัยการสูงสุด เพื่อพิจารณาดำเนินคดีอาญา ส่วนการลงโทษทางวินัยกับผู้เกี่ยวข้องนั้น จะส่งให้ผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนพิจารณาต่อไป
อย่างไรก็ดี การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือว่าเป็นที่สุด โดยผู้ถูกกล่าวหายังมีสิทธิ์ต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลได้
ขณะที่ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 11 ก.ย.2567 องค์คณะไต่สวนชุดใหญ่ ซึ่งประกอบไปด้วยกรรมการ ป.ป.ช.ทุกคน ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนฯกรณี กทม. ว่าจ้าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ได้แก่ ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท (สถานีอ่อนนุช-แบริ่ง) 2.สายสีลม (สถานีสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่)
และ 3.เส้นทางสถานีหมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ซึ่งจะสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 2572 ออกไปอีก 13 ปี หรือให้ไปสิ้นสุดสัญญาพร้อมกันใน 2585 ว่า เป็นการหลีกเลี่ยงและไม่ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 และพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 และเอื้อประโยชน์ให้แก่ BTSC เพียงรายเดียว หรือไม่ หลังจากก่อนหน้านี้ ป.ป.ช.ได้แจ้งข้อกล่าวหาบุคคลและนิติบุคคลที่เกี่ยวข้อง 13 ราย ไปแล้ว
โดยองค์คณะไต่สวนพิจารณาสำนวนฯแล้ว และมีมติว่า ผู้ถูกกล่าวหามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 ,157,83 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดในการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือ พ.ร.บ.ฮั้ว ไปด้วยเสียง 3 ต่อ 3 เสียง เพราะแม้ว่าเสียงจะเท่ากัน แต่ถือว่าเข้าข่ายความผิด เพราะตามมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต บัญญัติว่า การลงมติว่าผู้ถูกกล่าวหามีความผิดหรือไม่นั้น ต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดที่มีอยู่
ส่วนในประเด็นที่ว่า ผู้ถูกกล่าวหามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เพียงข้อหาเดียวหรือไม่นั้น องค์คณะไต่สวนมีมติ 5 ต่อ 1 เสียง เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหามีความผิด
ทั้งนี้ เมื่อผลการลงมติขององค์คณะไต่สวนใน 2 ประเด็นดังกล่าวออกมาในลักษณะเช่นนี้ จึงเท่ากับว่าองค์คณะไต่สวนมีความเห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาน่าจะเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151,157 ,83 และพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542
สำหรับคดีนี้ เมื่อวันที่ 8 พ.ค.2555 กทม. โดยบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด วิสาหกิจของ กทม. ได้ทำสัญญาจ้างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC (ในเครือ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ BTS) ในการให้บริการเดินรถ และซ่อมบำรุงโครงการขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร (รถไฟฟ้าสายสีเขียว) รวม 3 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท (สถานีอ่อนนุช-แบริ่ง) 2.สายสีลม (สถานีสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่)
และ 3.เส้นทางสถานีหมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2572 ออกไปอีก 13 ปี หรือเป็นสิ้นสุดสัญญาพร้อมกันในปี 2585 โดยมีวงเงินค่าจ้าง 1.9 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ดี มีผู้ยื่นคำร้องไปยัง ป.ป.ช. เพื่อขอให้ไต่สวนและดำเนินคดี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. และพวกรวม 13 คน ว่า การที่ กทม. ได้ดำเนินการว่าจ้าง BTSC ในการให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวดังกล่าว เป็นการหลีกเลี่ยงและไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 และพ.ร.บ.ฮั้ว และเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ BTSC หรือไม่
ต่อมาในช่วงต้นปี 2566 ป.ป.ช. มีมติแจ้งข้อกล่าวหา ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กับพวกรวม 13 คน และในวันที่ 11 ก.ย.2566 องค์คณะไต่สวนชุดใหญ่ มีมติว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 13 ราย กระทำผิดประมวลกฎหมายอาญา ม.151 ,ม.157 และ ม.83 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 หรือ พ.ร.บ.ฮั้ว และในการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 12 ก.ย.2566 ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดผู้ถูกกล่าวหา 12 ราย
ขณะที่ ผู้บริหารของ BTSC ได้ส่งหนังสือขอความเป็นธรรรมที่พนักงานอัยการ เพราะเคยร้องขอและให้การกับ ป.ป.ช.ไป แต่ทางป.ป.ช.ไม่ได้เอาสิ่งที่ให้การไปรวมในสำนวนคดี ทางผู้บริหาร BTSC เพียงแต่ต้องการทราบว่า สิ่งที่กล่าวหานั้น ผู้บริหารทำผิดอะไร ทำผิดกับใคร ทำผิดที่ไหน ทำผิดเมื่อไหร่ และทำผิดอย่างไร แต่ไม่มีคำตอบ จึงร้องขอความเป็นไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด
- BTSC ยื่นขอความเป็นธรรม 'อัยการฯ' สู้ข้อกล่าวหา ป.ป.ช.คดีสายสีเขียว
- ศาลรธน.ยกคำร้อง BTSC กล่าวหา ป.ป.ช.ชี้มูลสายสีเขียว ขัดรัฐธรรมนูญ
อ่านประกอบ
- ป.ป.ช.ให้ BTS ทำหนังสือชี้แจงปมจ้างเดินรถสายสีเขียว ก่อนส่งสำนวนให้อัยการฯ
- กรุงเทพธนาคม’ ขอ ป.ป.ช. กันเป็นพยาน คดีฮั้วจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว
- ‘คีรี’ เปิดใจ ป.ป.ช.แจ้งข้อหา BTS เหมือนถูกแกล้ง
- 'วัชรพล' สั่งสอบเอกสารแจ้งข้อกล่าวหาคดีรถไฟฟ้าสีเขียวหลุด-พนง.BTSC ยกพลจี้ถาม
- ‘บีทีเอส’แจงคดีสายสีเขียว! อ้างขอนัดหมายชี้แจงข้อกล่าวหา แต่กลับถูก'ป.ป.ช.'ชี้มูลฯก่อน
- เลขาฯป.ป.ช.คอนเฟิร์ม! ชี้มูลคดีรถไฟฟ้า'สายสีเขียว' ยังไม่รู้ผู้ถูกกล่าวหา 12 ราย ใครบ้าง
- 'สุขุมพันธ์-คีรี-พวก 10 ราย'โดนยกก๊วน! 'ป.ป.ช.'ชี้มูลฯคดีรถไฟฟ้า'สายสีเขียว'แล้ว
- ‘องค์คณะไต่สวน’ชง‘ป.ป.ช.’ชี้มูล‘สุขุมพันธ์-คีรี-BTSC’ คดีรถไฟฟ้า‘สายสีเขียว’
- ป.ป.ช.ตั้ง 7 ประเด็น สอบเพิ่ม คดี ‘สุขุมพันธุ์' จ้าง BTS เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ปี 55