‘ศาลอาญา’ พิพากษายกฟ้อง คดี 'หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนฯ' ดีเอสไอ ฟ้อง ‘แกนนำกลุ่มปฏิรูปทรัพยากรและทองคำฯ’ ข้อหาหมิ่นประมาท-ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน หลังโพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์การทำงาน ปม ‘บ.อัคราฯ’ ทำเหมืองนอก 'พื้นที่ประทานบัตร'
.....................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ ศาลจังหวัดนนทบุรี ได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ 662/2565 คดีหมายเลขแดงที่ อ 128/2567 ซึ่งเป็นคดีที่นายพิเชฏฐ์ ทองศรีนุ่น ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ (ตำแหน่งขณะนั้น) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน คดีพิเศษที่ 17/2559 (กรณีกล่าวหา บมจ.อัครารีซอร์สเซส ดำเนินกิจการเหมืองแร่โดยเข้ายึดถือครอบครองพื้นที่ป่าและรุกล้ำเขตทางหลวง) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นางวันเพ็ญ พรมรังสรรค์ แกนนำกลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ ในข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ,หมิ่นประมาท
กรณีนางวันเพ็ญ (จำเลย) โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ในลักษณะที่ทำให้บุคคลทั่วไปซึ่งไม่ทราบความจริงเข้าใจว่า โจทก์ (นายพิเชฏฐ์) เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทุจริตต่อหน้าที่ราชการ เป็นคนไม่ดี ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต ก่อให้เกิดความเสียหายต่อตัวโจทก์ ครอบครัว วงศ์ตระกูลของโจทก์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 , 91, 136 ,328 และให้จำเลยนำข้อความตามคำฟ้องออกจากเฟซบุ๊กของจำเลย กับให้จำเลยลงข้อความขอขมาที่โจทก์เป็นผู้กำหนดผ่านทางเฟซบุ๊กของจำเลยเป็นเวลา 15 วัน
โดยศาลฯพิพากษายกฟ้องจำเลย เนื่องจากเห็นว่าการโพสต์ข้อความของจำเลย เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต เพื่อป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ติชม ด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 (1) (3) ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาและดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามที่โจทก์ฟ้อง
“…เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยกับพวก เป็นผู้ร้องเรียนต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษเมื่อปี 2558 เพื่อให้สอบสวนการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ต่อมากรมสอบสวนคดีพิเศษรับเป็นคดีพิเศษที่ 17/2559 ซึ่งมีโจทก์เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน
ข้อความดังกล่าว จึงเป็นการแสดงความคิดเห็นและห่วงใยในปัญหาผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรของชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดให้ครบถ้วน ซึ่งนอกจากจำเลยจะเป็นผู้ร้องเรียนและได้รับผลกระทบโดยตรงแล้ว ยังมีประชาชนได้รับความเดือดร้อน เจ็บป่วยไม่สบายด้วยสาเหตุเกิดมาจากสารพิษหรือมลภาวะที่เกิดจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัทดังกล่าว และยังเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ
จำเลยจึงมีความชอบธรรมที่จะเปิดเผยให้ประชาชนทราบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว เพื่อป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ตลอดจนติชม ด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ แม้ข้อความดังกล่าวจะมีลักษณะกล่าวหาโจทก์ในทำนองว่า โจทก์ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
และโจทก์ได้เบิกความว่า การสรุปประเด็นทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เป็นมติที่ประชุมร่วมของคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ พนักงานอัยการร่วมสอบสวนและที่ปรึกษาคดีพิเศษ แล้วจึงจัดทำรายงานการสอบสวนเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น จากนั้นก็นำเสนออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตามกฎหมาย มีความเห็นเสนอไปยังพนักงานอัยการหรือหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย มิใช่เป็นการกระทำของโจทก์เพียงลำพัง
และที่จำเลยได้ร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่หน้าที่ของโจทก์ จนกระทั่งได้มีคำสั่งปลัดกระทรวงยุติธรรม ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ผลการสอบสวนคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงพิจารณาและเห็นว่า ไม่มีมูลควรกล่าวหาทางวินัยหรือควรยุติ เรื่องการตรวจสอบข้อเท็จจริง ตามเอกสารหมาย จ.24 ก็ตาม
แต่เมื่อได้ความจากโจทก์ตอบจำเลยถามค้านในชั้นไต่สวนมูลฟ้องว่า โจทก์ได้เคยให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวตามเอกสารหมาย ล.2 ซึ่งระบุว่า โจทก์พบข้อเท็จจริงว่า เส้นทางสาธารณะกลายเป็นขุมเหมือง ซึ่งต่อมาอธิบดีกรมสอบสวนพิเศษได้มีหนังสือส่งไปถึงจำเลย ตามเอกสารหมาย ล.12 เป็นการชี้แจงความคืบหน้าคดีเหมืองทองคำ โดยไม่ปรากฏว่า มีการดำเนินคดีในข้อหาการทำเหมืองนอกเขตประทานบัตร
นอกจากนั้น ยังได้ความจากหนังสือเรื่องแจ้งผลคดีและผลการสอบสวนข้อเท็จจริง เอกสารหมาย ล.29 ซึ่งเป็นหนังสือที่อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 ส่งถึงจำเลย สืบเนื่องมาจากจำเลยกับพวกยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดให้ดำเนินคดีกับ บริษัท อัครารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เพิ่มเติมในข้อหาทำเหมืองทองคำนอกเขตประทานบัตร โดยชี้แจงว่า คณะทำงานได้มีหนังสือสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมในประเด็นการทำเหมืองแร่นอกประทานบัตร เนื่องจากพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ ยังไม่ได้ทำการสอบสวนไว้
ซึ่งต่อมาโจทก์ได้เรียกให้จำเลยไปให้การเพิ่ม ตามเอกสารหมาย ล.27 ซึ่งจากการยื่นหนังสือร้องเรียนของจำเลยมีผลให้พนักงานอัยการสั่งให้โจทก์ทำการสอบสวนเพิ่มเติม และยังได้ความจากโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านจำเลยว่า ข้อหาที่บริษัท อัครารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน ) ทำเหมืองนอกเขตประทานบัตร ปัจจุบันคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาในชั้นพนักงานอัยการแล้ว
กรณีจึงมีมูลให้จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่า โจทก์ซึ่งเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับบริษัทเหมืองทองไม่ครบถ้วนทุกข้อหา มิได้มีเจตนากลั่นแกล้งใส่ร้ายโจทก์ และเป็นการเชื่อโดยมีมูลอันควรเชื่อว่าเป็นความจริง การกล่าวข้อความตามฟ้องโจทก์เป็นการกระทำโดยสุจริต อันเป็นการแสดงความคิดเห็นติชมการทำงานของโจทก์ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ
ข้อความตามเอกสารหมาย จ.16 ถึง จ.23 จึงเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต เพื่อป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ติชม ด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 (1) (3) ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาและดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามที่โจทก์ฟ้อง
เมื่อคดีอาญาภาระการพิสูจน์เป็นหน้าที่ของฝ่ายโจทก์ แต่โจทก์นำสืบไม่ได้ว่า การกระทำของจำเลยไม่เข้าข้อยกเว้นความรับผิด กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยพยานหลักฐานของฝ่ายจำเลย เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง พิพากษายกฟ้อง” ส่วนหนึ่งคำพิพากษาศาลจังหวัดนนทุบรี คดีหมายเลขดำที่ อ 662/2565 คดีหมายเลขแดงที่ อ 128/2567 ลงวันที่ 31 ม.ค.2567 ระบุ
นางวันเพ็ญ กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า คำพิพากษาของศาลจังหวัดนนทบุรีดังกล่าว เป็นคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ซึ่งล่าสุดตนยังไม่ได้รับหมายแจ้งว่านายพิเชฏฐ์ ได้มีการยื่นอุทธรณ์ในคดีนี้หรือไม่
อ่านประกอบ :
'กลุ่มปฏิรูปเหมืองทองฯ'ร้อง'อสส.' ข้องใจ'อัยการ'ไม่ฟ้อง'บ.อัคราฯ'ข้อหาลักลอบขุดถนนหลวง
อัยการสั่งฟ้อง 4 ผู้ต้องหา คดีเหมืองทองอัครา ข้อหายึดที่ดินรัฐ-ครอบครองป่า
DSI แถลงผลคดีพิเศษ 4 ด้าน ยกความสำเร็จปมโรงพัก สตช.-ป.ป.ช.ชี้มูลเหมืองทองอัครา
มีรั้วกั้นเขตแต่ไม่ตรวจสอบ! พลิกคดีออกโฉนด‘บ.อัคราฯ’มิชอบ-ป.ป.ช.มีมติเอกฉันท์ชี้มูลฯ
‘ป.ป.ช.’ชี้มูลความผิด‘จนท.รัฐ-บ.อัคราฯ’ คดีออกโฉนดรุกพื้นที่ป่าไม้-ส่งสำนวน‘อัยการ’แล้ว
‘ดีเอสไอ’ตั้งเรื่องสืบสวนฯ กรณีร้องเรียน‘บ.อัคราฯ’ทำสารพิษรั่วไหลออกนอกเหมืองทองคำปี 60
ไม่มีเหตุอันควร! แพร่คำสั่ง‘อัยการสูงสุด’ไม่อุทธรณ์ คดีเปลี่ยนแปลงแผนผังเหมืองทองอัคราฯ
ยกฟ้อง! อดีตอธิบดีกรมอุตฯ-พวก ไฟเขียว บ.อัคราฯ เปลี่ยนผังเหมืองทอง- ป.ป.ช.ค้าน อสส.
DSI สั่งฟ้อง‘บ.อัคราฯ’ข้อหานอมินี-เครือข่ายปชช.จี้‘อัยการ’สาง 4 คดี ชี้ 4 ปีไม่คืบหน้า
ร้อง‘นายกฯ’ตรวจสอบ กรณี‘เจ้าหน้าที่รัฐ’ผลักดันชาวบ้านออกจากพื้นที่รอบเหมืองทอง‘อัคราฯ’
ครม.รับทราบคืบหน้าเจรจา 'คิงส์เกต' ชี้สัญญาณดี ปมเหมืองทองอัครา
อภิปรายไม่ไว้วางใจ :‘จิราพร’ ย้ำปมเหมืองทองอัครา เตือน 9 ครั้ง ไม่ฟังทำชาติเสียหาย
กพร.แพร่งานวิจัยบ่อเก็กกากแร่ที่ 1 เหมืองทองอัครารั่ว กระทบแหล่งน้ำใต้ดินโดยรอบ