‘กลุ่มปฏิรูปเหมืองทองฯ’ ร้อง ‘อัยการสูงสุด’ ตรวจสอบข้อเท็จจริง ปม ‘อัยการ’ สั่งฟ้องคดีเหมืองทอง ‘บ.อัคราฯ’ ไม่ครบถ้วนตามข้อเท็จจริง หลังไม่พบว่ามีการสั่งฟ้องในข้อหาขุด ‘ถนนหลวง’ โดยไม่ได้รับอนุญาต หวั่นเอาผิดบริษัทฯไม่ได้
......................................
จากกรณีที่พนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ มีความเห็นควรสั่งฟ้อง บมจ.อัครา รีซอร์สเซส กับพวกรวม 4 คน เป็นผู้ต้องหาในความผิดฐาน 1.ร่วมกันยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิด ตามมาตรา 9 ประกอบมาตรา 108 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน, ร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สินที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณะประโยชน์ อันเป็นความผิดตามมาตรา 360, 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
2.ร่วมกันยึดถือครอบครองพื้นที่ป่าไม้ถาวรโดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นความผิดตามมาตรา 54, 55, 72ตรี แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484
และ 3.ร่วมกันก่อสร้างตะแกรงรุกล้ำเข้าไปในเขตทางหลวงโดยไม่ได้รับอนุญาติอันเป็นความผิดตามมาตรา 47วรรคหนึ่งประกอบมาตรา 72 แห่งพ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 และร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สินที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณะประโยชน์ อันเป็นความผิดตามมาตรา 360, 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา นั้น (อ่านประกอบ : อัยการสั่งฟ้อง 4 ผู้ต้องหา คดีเหมืองทองอัครา ข้อหายึดที่ดินรัฐ-ครอบครองป่า)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 5 ม.ค. กลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ นำโดยนางอารมณ์ คำจริง และนางวันเพ็ญ พรมรังสรรค์ แกนนำกลุ่มฯ เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงนายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุด (อสส.) โดยขอให้อัยการสูงสุดเร่งรัดตรวจสอบ กำกับดูแล คดีเหมืองทองคำ เพื่อดำเนินคดีเอาผิดกับ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ให้ครบถ้วนตามกฎหมาย
ทั้งนี้ เนื่องจากความเห็นควรสั่งฟ้องคดีของอัยการในคดีนี้ รวม 3 ข้อหานั้น ไม่ได้มีการสั่งฟ้องในข้อหาขุดทำเหมืองทองคำในถนนทางหลวงแผ่นดินและทางสาธารณะ โดยไม่ได้ขอประทานบัตร อันเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.251 มาตรา 43 และเป็นกระทำความผิดตามกฎหมายที่ดินมาตรา 12 แต่อย่างใด ทำให้การดำเนินการเอาผิดกับบริษัท อัคราฯ ไม่ครบถ้วนตามข้อเท็จจริง
“การที่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 17/2559 ซึ่งมีพนักงานอัยการร่วมสอบสวนด้วย สอบสวนพบว่ามีการกระทำความผิดกรณีทำเหมืองทองคำโดยไม่ได้ขอประทานบัตร และไม่ได้ขออนุญาตตามมาตรา 12 จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
แต่กลับไม่เอาผิดกับบริษัท อัคราฯ ในข้อหาขุดถนนทางหลวงแผ่นดินและทางสาธารณะ ทำเหมืองทองคำโดยไม่ได้ขอประทานบัตร แต่เอาผิดเพียงแค่ปิดกั้นรุกล้ำ ทำให้เสื่อมค่าซึ่งถนนฯ กรณีดังกล่าว จึงอาจจะเป็นการเปิดช่องให้ บริษัท อัคราฯ สามารถต่อสู้ในชั้นศาลได้ว่า ได้รับอนุญาตให้ปิดกั้นทำลายให้เสื่อมค่า ในถนน มาแล้วโดยชอบ
กรณีดังกล่าวนี้ข้าพเจ้ากับพวก ได้ขอความเป็นธรรม และได้ยื่นเรื่องพร้อมพยานหลักฐานเอกสาร หลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต่ออัยการสูงสุด อัยการจังหวัดเพรชบูรณ์ อัยการจังหวัดพิจิตร เพื่อขอให้ดำเนินคดีเอาผิดกับบริษัท อัคราฯ ให้ครบถ้วนมาแล้วหลายครั้ง
แต่เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ท่านวิรุษห์ ฉันท์ธนนันท์ อธิบดีอัยการคดีพิเศษ เปิดเผยผ่านสื่อว่า มีคำสั่งฟ้อง 4 ผู้ต้องหาคดีเหมืองทองอัคราฯ คือ 1 ข้อหายึดหรือครอบครองที่ดินของรัฐ 2 ร่วมกันยึดถือครอบครองพื้นที่ป่าไม้ถาวรโดยไม่ได้รับอนุญาต 3 ร่วมกันก่อสร้างตะแกรงรุกล้ำเข้าไปในเขตทางหลวงโดยไม่ได้รับอนุญาต
เมื่อข้าพเจ้ากับพวกตรวจสอบแล้วกลับยังไม่ปรากฏว่าอัยการมีคำสั่งฟ้องบริษัท อัคราฯ ในข้อหาขุดทำเหมืองทองคำในถนนทางหลวงแผ่นดินและทางสาธารณะ โดยไม่ได้ขอประทานบัตร อันเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.251 มาตรา 43 และเป็นกระทำความผิดตามกฎหมายที่ดินมาตรา 12 แต่อย่างใด” หนังสือฯระบุ
นางวันเพ็ญ พรมรังสรรค์ แกนนำกลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ กล่าวว่า การที่อัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง บมจ.อัครา รีซอร์สเซส เพียง 3 ข้อหา โดยไม่ได้สั่งฟ้องในข้อหาขุดถนนทางหลวงแผ่นดินและทางสาธารณะ ทำเหมืองทองคำโดยไม่ได้ขอประทานบัตรนั้น ทำให้กลุ่มฯ ในฐานะพยานผู้ร้อง และผู้นำพาลงสอบสวนคดีนี้ มีความกังวลว่า การสั่งฟ้องคดีที่ไม่ครบถ้วนดังกล่าว อาจทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อรูปคดี และเอาผิดบริษัทเหมืองทองคำไม่ได้
“การสั่งฟ้องคดีไม่ครบถ้วน อาจทำให้เกิดผลเสียร้ายแรงต่อรูปคดี เพราะหากเอาผิดบริษัทเหมืองทองคำไม่ได้ ก็อาจจะกลายเป็นการฟอก โดยผ่านกระบวนการศาลฯ เพื่อให้บริษัทนั้นหลุดรอดจากการถูกดำเนินคดี เราจึงเดินทางมาที่นี่เพื่อขอให้อัยการสูงสุด ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้” นางวันเพ็ญกล่าว
วันเดียวกัน กลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ ได้เดินทางยื่นหนังสือในเรื่องดังกล่าวถึงนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงยุติธรรม ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111 ทำเนียบรัฐบาล รวมถึงกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในคดีนี้ด้วย
อ่านประกอบ :
อัยการสั่งฟ้อง 4 ผู้ต้องหา คดีเหมืองทองอัครา ข้อหายึดที่ดินรัฐ-ครอบครองป่า
DSI แถลงผลคดีพิเศษ 4 ด้าน ยกความสำเร็จปมโรงพัก สตช.-ป.ป.ช.ชี้มูลเหมืองทองอัครา
มีรั้วกั้นเขตแต่ไม่ตรวจสอบ! พลิกคดีออกโฉนด‘บ.อัคราฯ’มิชอบ-ป.ป.ช.มีมติเอกฉันท์ชี้มูลฯ
‘ป.ป.ช.’ชี้มูลความผิด‘จนท.รัฐ-บ.อัคราฯ’ คดีออกโฉนดรุกพื้นที่ป่าไม้-ส่งสำนวน‘อัยการ’แล้ว
‘ดีเอสไอ’ตั้งเรื่องสืบสวนฯ กรณีร้องเรียน‘บ.อัคราฯ’ทำสารพิษรั่วไหลออกนอกเหมืองทองคำปี 60
ไม่มีเหตุอันควร! แพร่คำสั่ง‘อัยการสูงสุด’ไม่อุทธรณ์ คดีเปลี่ยนแปลงแผนผังเหมืองทองอัคราฯ
ยกฟ้อง! อดีตอธิบดีกรมอุตฯ-พวก ไฟเขียว บ.อัคราฯ เปลี่ยนผังเหมืองทอง- ป.ป.ช.ค้าน อสส.
DSI สั่งฟ้อง‘บ.อัคราฯ’ข้อหานอมินี-เครือข่ายปชช.จี้‘อัยการ’สาง 4 คดี ชี้ 4 ปีไม่คืบหน้า
ร้อง‘นายกฯ’ตรวจสอบ กรณี‘เจ้าหน้าที่รัฐ’ผลักดันชาวบ้านออกจากพื้นที่รอบเหมืองทอง‘อัคราฯ’
ครม.รับทราบคืบหน้าเจรจา 'คิงส์เกต' ชี้สัญญาณดี ปมเหมืองทองอัครา
อภิปรายไม่ไว้วางใจ :‘จิราพร’ ย้ำปมเหมืองทองอัครา เตือน 9 ครั้ง ไม่ฟังทำชาติเสียหาย
กพร.แพร่งานวิจัยบ่อเก็กกากแร่ที่ 1 เหมืองทองอัครารั่ว กระทบแหล่งน้ำใต้ดินโดยรอบ