‘บอร์ดแก้หนี้ฯ’ เคาะแนวทางคำนวณยอดหนี้ลูกหนี้ 'กยศ.' ใหม่ นำร่องกลุ่มลูกหนี้ถูกบังคับคดี ก่อนขยายให้ครอบคลุมลูกหนี้ปัจจุบัน 3.5 ล้านราย
...................................
เมื่อวันที่ 14 พ.ย. นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินฯ ได้หารือแนวทางการคำนวณยอดหนี้ของลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ใหม่ หลัง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.2566 ซึ่งการคำนวณหนี้ใหม่ดังกล่าว จะมีผลทำให้หนี้ของลูกหนี้ กยศ. ลดลงอย่างมาก
“ลูกหนี้ กยศ. ที่ยังไม่ปิดบัญชี ทั้งรายที่จ่ายหนี้ปกติ หรือรายผิดที่ชำระหนี้บ้าง แล้วเจอเบี้ยปรับสูง ทำให้เมื่อคำนวณยอดหนี้ตามกฎหมายเดิมแล้ว ท่านเหมือนมีหนี้ค้างอยู่เยอะ ตัดเท่าไหร่ไม่ถึงเงินต้นซักที เมื่อมีกฎหมายใหม่แล้ว ยอดหนี้ของท่านที่คำนวณตามกฎหมายใหม่ จะลดลงมากๆ และถ้าชำระหนี้ กยศ. ไปเป็นจำนวนสูงเกินกว่ายอดหนี้ที่คำนวณใหม่แล้ว กยศ.จะคืนเงินให้ท่านเหล่านั้น” นายกิตติรัตน์ กล่าว
นายกิตติรัตน์ ระบุว่า การคำนวณยอดหนี้ กยศ. ใหม่ในครั้งนี้ ยังครอบคลุมถึงลูกหนี้ กยศ. ที่ปิดบัญชีไปแล้ว ทั้งการปิดบัญชีทั้งก้อนหรือชำระหนี้ครบตามกำหนดเวลา ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.2566 เป็นต้นไปด้วย
นายกิตติรัตน์ ยกตัวอย่างว่า ในกรณีลูกหนี้ กยศ. กู้เงินต้นไป 1 แสนบาท และในอดีตได้ผ่อนชำระหนี้ไปแล้ว 150% ของเงินต้น หรือประมาณ 1.5 แสนล้านบาท หรือกรณีลูกหนี้กู้เงินไป 2 แสนบาท และได้ผ่อนชำระหนี้ไปรวมแล้ว 3 แสนบาท แม้ว่าลูกหนี้รายนั้นจะผิดนัดชำระหนี้บ้าง แต่ขอให้ลูกหนี้ กยศ. มั่นใจว่า ได้ชำระคืนหนี้ กยศ.ครบแล้ว เนื่องจากกฎหมายใหม่ได้ปรับลดเบี้ยปรับเหลือ 0.5% จากเดิม 18% และมีการกำหนดลำดับการตัดหนี้ใหม่
นายกิตติรัตน์ กล่าวต่อว่า ในส่วนลูกหนี้ กยศ.ที่ผิดนัดชำระหนี้ และคดีกำลังจะขาดอายุความนั้น ขอให้ลูกหนี้กลุ่มนี้ ติดต่อมายัง กยศ. และเข้ามาลงนามยินยอมขยายอายุความด้วยตัวเอง ไม่เช่นนั้น กยศ. จำเป็นต้องฟ้องดำเนินคดี เพราะหากไม่ฟ้อง คดีจะขาดอายุความ และเมื่อเข้ามาลงนามยินยอมแล้ว กยศ. จะคำนวณยอดหนี้คงค้างตามกฎหมายใหม่ และจะมีการปรับโครงสร้างหนี้ต่อไป
“กยศ. ไม่ต้องการค้าความกับผู้กู้ แต่เป็นหน้าที่ที่ต้องทำ ไม่เช่นนั้นจะขาดอายุความ ทั้งนี้ กยศ. พร้อมจะขยายอายุความให้ผู้กู้ แต่ผู้กู้ต้องให้ความยินยอม และผู้กู้ต้องมายินยอมด้วยตัวเองด้วย ซึ่งที่ผ่านมามีคนเข้ามาลงนามยินยอมไม่มาก ไม่ถึง 3-4% ด้วยซ้ำ เพราะกว่า 90% ไม่กล้าแม้แต่จะแกะซองจดหมาย จึงอยากให้สื่อถึงเขาว่า ขอให้เข้ามาลงนามยินยอม จึงจะขยายเวลาแก้ปัญหาให้ได้ ในขณะที่การขยายอายุความสามารถทำได้เป็น 10 ปี” นายกิตติรัตน์ กล่าว
นายกิตติรัตน์ ระบุว่า ในระหว่างที่ กยศ. อยู่ระหว่างดำเนินการคำนวณยอดหนี้ของลูกหนี้ กยศ. ใหม่ นั้น ประธาน กยศ. ได้ขอให้กรมบังคับคดีชะลอการบังคับคดี และชะลอการยึดทรัพย์ลูกหนี้ขายทอดตลาด เพื่อรอผลการคำนวณยอดหนี้ใหม่ก่อน ซึ่งในบางกรณีเมื่อคำนวณยอดหนี้ใหม่แล้ว ลูกหนี้อาจไม่มีความจำเป็นต้องนำทรัพย์สินไปขายทอดตลาดเลย เพราะหนี้ที่คำนวณใหม่ลดลงมาก
ด้าน นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธาน กยศ. กล่าวว่า หลังจาก พ.ร.บ.กยศ.ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้แล้ว กยศ.ได้ดำเนินการออกระเบียบลำดับรองที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.กยศ.ฉบับใหม่ ครบถ้วนแล้ว และพร้อมดำเนินการคำนวณหนี้ของลูกหนี้ กยศ. ใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะการปรับลำดับการชำระหนี้ เป็นตัดหนี้เงินต้นก่อน แล้วจึงจะนำไปตัดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ ซึ่งจะทำให้ยอดหนี้ของลูกหนี้ กยศ.ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
“สิ่งที่เปลี่ยนไป คือ ถ้าลูกหนี้จ่ายหนี้เข้ามา จะตัดที่เงินต้นก่อน ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ เงินต้นจะลดลงอย่างรวดเร็วมากและมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ การคำนวณใหม่จะเกิดขึ้นกับลูกหนี้ทุกรายที่ยังเป็นลูกหนี้ นับตั้งแต่กฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้” นายลวรณกล่าว และว่า “ลูกหนี้ที่ผ่อนมาแล้ว จะคำนวณใหม่ตั้งแต่วันแรก ซึ่งจะทำให้ภาระหนี้ลดลง ส่วนลูกหนี้บางกลุ่มที่ยังผ่อนไม่หมด แต่หนี้ไม่สูงมากนัก ถ้าคำนวณใหม่แล้ว ปิดยอดหนี้ได้ ก็จะปิดหนี้ได้เลย”
นายลวรณ ระบุว่า ในการคำนวณยอดหนี้ใหม่ของลูกหนี้ กยศ. ที่ยังไม่ได้ปิดบัญชี 3.5 ล้านคนนั้น จะต้องพัฒนาระบบของ กยศ. ซึ่งใช้เวลาประมาณ 5 เดือน แต่ กยศ.เห็นว่า ระยะเวลาดังกล่าวนานเกินไป จึงจะมีการสร้างซอฟแวร์สำเร็จรูปขึ้นมาคำนวณยอดหนี้ของกลุ่มลูกหนี้ที่มีความเร่งด่วนก่อน โดยเริ่มจากกลุ่มลูกหนี้ที่อยู่ในชั้นการบังคับคดี คาดว่าแล้วเสร็จในเดือน ธ.ค.นี้ จากนั้นจะไปคำนวณยอดหนี้ในกลุ่มลูกหนี้ที่คดีกำลังจะขาดอายุความ ซึ่งมีประมาณ 40,000 ราย
นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการ กยศ. กล่าวว่า กยศ.ยืนยันว่า ลูกหนี้ทุกรายจะได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายใหม่ เช่น การลดเบี้ยปรับเหลือ 0.5% จากเดิม 18% และการปรับลำดับการตัดชำระหนี้ใหม่ เป็นต้น นอกจากนี้ กยศ.จะเปิดให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ โดยเมื่อมีการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ผู้ค้ำประกันเดิมทุกคนที่มีภาระอยู่จะหลุดพ้นจากภาระค้ำประกัน โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือน ม.ค.2567 เป็นต้นไป
อ่านประกอบ :
แจ้งข่าวดีลูกหนี้ กยศ. 4 หมื่นราย เร่งเซ็นยินยอมงดบังคับคดี
‘เศรษฐา’เซ็นคำสั่งตั้ง‘บอร์ดแก้หนี้ประชาชนฯ’-‘กิตติรัตน์’นั่งประธาน
กยศ.คาดทำสัญญา‘ระงับข้อพิพาท-ปรับโครงสร้างฯ’ลูกหนี้‘ก่อนฟ้อง-หลังฟ้อง’ตามกม.ใหม่ ปลายปี
Quick Win แก้หนี้ กยศ. ประเดิมงดบังคับคดี ลุยปรับโครงสร้างหนี้-ลดดอก
มีผลบังคับใช้แล้ว!แพร่‘พ.ร.บ.กยศ.’ฉบับใหม่ เลิกผู้ค้ำฯ-คิดดบ. 1%-เบี้ยปรับ 0.5%
ขจร ธนะแพสย์ : กฎหมาย กยศ. ที่แก้ไข จะช่วยผู้กู้ได้อย่างไร?
มติ 224 ต่อ 11 ! สภาฯผ่าน‘ร่าง พ.ร.บ.กยศ.’ฉบับวุฒิสภาแก้ไข ฟื้นเก็บดบ.1%-เบี้ยปรับ 0.5%
กลับไปเก็บดบ. 1%! ‘วุฒิสภา’มีมติ 143 ต่อ 1 เสียง ผ่าน‘ร่าง พ.ร.บ.กยศ.’ฉบับ กมธ.วิสามัญฯ
สหภาพลูกหนี้ฯเสนอ'กมธ.วิสามัญ'วุฒิฯ คง‘ดอกเบี้ย-เบี้ยปรับ’เงินกู้ กยศ.-ชงปลอดหนี้ 5 ปี
'วุฒิสภาฯ' นัดถก 'ร่าง พ.ร.บ.กยศ.' 1 พ.ย.นี้-เปิด 4 ฉากทัศน์ ลด 'ดอกเบี้ย-เบี้ยปรับ'
ห่วงกองทุน‘กยศ.’ล้ม! วงเสวนาฯค้านยกเลิก‘ดบ.-เบี้ยปรับ’ ฝ่ายหนุนโต้รัฐต้องลงทุน‘การศึกษา’
นิด้าโพลเผย ปชช.เห็นด้วยกับการยกเลิกเก็บดอกเบี้ย-ไม่มีเบี้ยปรับ ของ กยศ.
มติสภาเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กองทุน กยศ. กู้ยืมเงินไม่มีดอกเบี้ย-เบี้ยปรับ
เปิดงบ'กยศ.'ล่าสุด! ปี 64 รายได้ 6.89 พันล้าน ก่อน'กมธ.วิสามัญฯ'หั่น'ดบ.-เบี้ยปรับ'
‘กยศ.’แจงกรณีลูกหนี้ถูกเรียกเก็บ‘เบี้ยปรับ’สูง เหตุ‘ผิดนัดฯ-ค้างชำระ’เป็นเวลานาน
รัฐบาลรุกแก้หนี้ กยศ.ไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องกลุ่มผิดนัดชำระ-ถูกเลิกสัญญา 1.7 แสนคน
เปิดละเอียด!ร่าง พ.ร.บ.กยศ. ลด ดบ.เหลือ 2%-ปรับโครงสร้างหนี้ได้ 'บิ๊กตู่'ช่วยผู้กู้ 5 ล.คน
ครม.เคาะแก้กฎหมาย กยศ.ปลดล็อกกู้ยืมเงินไม่ต้องมีผู้ค้ำ