ราชกิจจานุเบกษาแพร่ ‘พ.ร.บ.กยศ.’ ฉบับใหม่ ลดดอกเบี้ยกู้เหลือไม่เกิน 1% 'เบี้ยปรับ' ไม่เกิน 0.5% ยกเลิกไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน พร้อมเปิดทางลูกหนี้ตามคำพิพากษา 'แปลงหนี้ใหม่'
.....................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 19 มี.ค. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 และให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.2566 เป็นต้นไป โดย พ.ร.บ.ดังกล่าว กำหนดให้การกู้ยืมเงินจากกองทุน กยศ. ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันทุกกรณี ,กำหนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ กยศ. ไม่เกิน 1% ต่อปี และห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยทบต้น และในกรณีผิดนัดชำระหนี้ให้เรียกเบี้ยปรับได้ไม่เกิน 0.5% ต่อปี เป็นต้น
สำหรับเนื้อหาของ พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 เช่น
มาตรา 14 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 38/1 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560
“มาตรา 38/1 เพื่อเป็นข้อมูลให้แก่นักเรียนหรือนักศึกษาใช้ประกอบการพิจารณาขอกู้ยืมเงินให้สำนักงานรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลสถิติที่สำนักงานมีอยู่ เกี่ยวกับการมีงานทำ และประเภทของงานที่ทำของผู้กู้ยืมเงินภายหลังที่สำเร็จการศึกษาแล้ว รวมทั้งคาดการณ์งานที่จะเป็นที่ต้องการในอนาคต โดยให้เผยแพร่ข้อมูลที่เป็นปัจจุบันเป็นระยะ ๆ อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง”
มาตรา 15 ให้ยกเลิกความในมาตรา 40 และมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 40 นักเรียนหรือนักศึกษาผู้ใดจะขอกู้ยืมเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ให้ยื่นคำขอต่อสำนักงานตามวิธีการที่กองทุนกำหนด
มาตรา 41 นักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งที่ได้รับอนุมัติให้กู้ยืมเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ต้องทำสัญญากู้ยืมเงินกับกองทุนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กองทุนกำหนด
ทั้งนี้ ในการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาห้ามมิให้กองทุนเรียกให้มีผู้ค้ำประกันทุกกรณี”
มาตรา 18 ให้ยกเลิกความในมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 44 เมื่อสำเร็จการศึกษา เลิกการศึกษา หรือพ้นสภาพการศึกษาแล้ว ให้ผู้กู้ยืมเงินมีหน้าที่ต้องชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ได้รับไปตามสัญญากู้ยืมเงินคืนให้กองทุนโดยจะชำระเงินคืนกองทุนทั้งจำนวนหรือผ่อนชำระก็ได้ ทั้งนี้ ตามจำนวน ระยะเวลา และวิธีการที่กองทุนกำหนด
คณะกรรมการจะกำหนดให้เริ่มคิดดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้กู้ยืมเงินนับแต่เวลาใดภายหลังที่สำเร็จการศึกษา เลิกการศึกษา หรือพ้นสภาพการศึกษาแล้วก็ได้ แต่อัตราดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่นใดที่คิด ณ วันที่ทำสัญญา ต้องไม่เกินอัตราร้อยละหนึ่งต่อปี และห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยทบต้น หรือจะยกเว้นหรือลดหย่อนดอกเบี้ยให้แก่ผู้กู้ยืมเงินที่ชำระเงินคืนกองทุนครบถ้วน หรือมีประวัติชำระเงินคืนกองทุนดีต่อเนื่อง หรือกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควร ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
ในการชำระเงินคืนกองทุนตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้กู้ยืมเงินมีสิทธิได้รับประโยชน์จากระยะเวลาปลอดหนี้เป็นเวลาสองปีนับแต่วันที่สำเร็จการศึกษา เลิกการศึกษา หรือพ้นสภาพการศึกษา ทั้งนี้ คณะกรรมการจะขยายระยะเวลาปลอดหนี้ให้อีกไม่เกินสองปีก็ได้ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควร เพื่อบรรเทาภาระของผู้กู้ยืมเงินให้สามารถชำระเงินคืนกองทุนได้ กองทุนอาจผ่อนผัน
ให้ผู้กู้ยืมเงินชำระเงินคืนกองทุนแตกต่างไปจากจำนวน ระยะเวลา หรือวิธีการที่กำหนดไว้ตามวรรคหนึ่ง หรือลดหย่อนหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ แปลงหนี้ใหม่ หรือระงับการชำระเงินคืนกองทุนตามที่ผู้กู้ยืมเงินร้องขอเป็นรายบุคคลหรือเป็นการทั่วไปก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
การดำเนินการตามวรรคสี่ ให้กระทำได้แม้จะอยู่ในระหว่างการดำเนินคดี หรือมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว หรืออยู่ในระหว่างการบังคับคดี
ในกรณีที่มีการทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ภายหลังมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้วหรือในระหว่างการบังคับคดี หากผู้กู้ยืมเงินผิดนัดไม่ชำระเงินคืนกองทุนตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ ถ้าระยะเวลาการบังคับคดีได้สิ้นสุดลงก่อนแล้วหรือเหลือไม่ถึงสามปี ให้ดำเนินการบังคับคดีได้ภายในสามปีนับแต่วันที่ผิดนัดชำระเงินคืนกองทุนตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้
ในกรณีที่มีการทำสัญญาแปลงหนี้ใหม่ภายหลังมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้วหรือในระหว่างการบังคับคดี ให้ถือว่าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นอันระงับไป หากมีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้ให้ถอนการยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้น และให้ผู้กู้ยืมเงินมีหน้าที่ชำระเงินคืนกองทุนตามที่ระบุไว้ในสัญญาแปลงหนี้ใหม่
ในกรณีที่ผู้กู้ยืมเงินผู้ใดผิดนัดการชำระเงินคืนกองทุน และไม่ได้รับอนุญาตให้ผ่อนผันตามวรรคสี่ ผู้กู้ยืมเงินต้องเสียเงินเพิ่มอีกไม่เกินร้อยละศูนย์จุดห้าต่อปี เว้นแต่คณะกรรมการจะยกเว้นหรือลดหย่อนให้ตามที่เห็นสมควร ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด”
อ่านเพิ่มเติม : พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566
อ่านประกอบ :
ขจร ธนะแพสย์ : กฎหมาย กยศ. ที่แก้ไข จะช่วยผู้กู้ได้อย่างไร?
มติ 224 ต่อ 11 ! สภาฯผ่าน‘ร่าง พ.ร.บ.กยศ.’ฉบับวุฒิสภาแก้ไข ฟื้นเก็บดบ.1%-เบี้ยปรับ 0.5%
กลับไปเก็บดบ. 1%! ‘วุฒิสภา’มีมติ 143 ต่อ 1 เสียง ผ่าน‘ร่าง พ.ร.บ.กยศ.’ฉบับ กมธ.วิสามัญฯ
สหภาพลูกหนี้ฯเสนอ'กมธ.วิสามัญ'วุฒิฯ คง‘ดอกเบี้ย-เบี้ยปรับ’เงินกู้ กยศ.-ชงปลอดหนี้ 5 ปี
'วุฒิสภาฯ' นัดถก 'ร่าง พ.ร.บ.กยศ.' 1 พ.ย.นี้-เปิด 4 ฉากทัศน์ ลด 'ดอกเบี้ย-เบี้ยปรับ'
ห่วงกองทุน‘กยศ.’ล้ม! วงเสวนาฯค้านยกเลิก‘ดบ.-เบี้ยปรับ’ ฝ่ายหนุนโต้รัฐต้องลงทุน‘การศึกษา’
นิด้าโพลเผย ปชช.เห็นด้วยกับการยกเลิกเก็บดอกเบี้ย-ไม่มีเบี้ยปรับ ของ กยศ.
มติสภาเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กองทุน กยศ. กู้ยืมเงินไม่มีดอกเบี้ย-เบี้ยปรับ
เปิดงบ'กยศ.'ล่าสุด! ปี 64 รายได้ 6.89 พันล้าน ก่อน'กมธ.วิสามัญฯ'หั่น'ดบ.-เบี้ยปรับ'
‘กยศ.’แจงกรณีลูกหนี้ถูกเรียกเก็บ‘เบี้ยปรับ’สูง เหตุ‘ผิดนัดฯ-ค้างชำระ’เป็นเวลานาน
รัฐบาลรุกแก้หนี้ กยศ.ไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องกลุ่มผิดนัดชำระ-ถูกเลิกสัญญา 1.7 แสนคน
เปิดละเอียด!ร่าง พ.ร.บ.กยศ. ลด ดบ.เหลือ 2%-ปรับโครงสร้างหนี้ได้ 'บิ๊กตู่'ช่วยผู้กู้ 5 ล.คน