“…ผู้กู้ กยศ. ที่เคยถูกเอาเปรียบและไม่ได้รับความเป็นธรรมจากอัตราดอกเบี้ยผิดนัดหรือ “เบี้ยปรับ” ที่ถูกกำหนดไว้สูงลิ่วไม่สมเหตุสมผลถึง 18% ต่อปี หรือ ผู้กู้ กยศ. ที่เจอปัญหา “จ่ายแต่ดอกเบี้ย” ที่แม้เพียรชำระหนี้มาโดยตลอด แต่เงินที่ชำระหนี้ถูกนำไปตัดจ่ายดอกเบี้ยแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นผลจากลำดับการตัดชำระหนี้ที่ถูกกำหนดไว้อย่างไม่เป็นธรรม เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ ผู้กู้ กยศ. เหล่านี้ที่ยังมีหนี้ค้างชำระอยู่ จะได้รับประโยชน์จากการคำนวณยอดหนี้ใหม่ที่เป็นธรรม…”
..............................
หมายเหตุ : ขจร ธนะแพสย์ กรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนรายย่อย เขียนบทความเรื่อง ‘กฎหมาย กยศ. ที่แก้ไข จะช่วยผู้กู้ได้อย่างไร?’
การแก้ไขปัญหาหนี้ของผู้กู้ กยศ.
“ปัญหาหนี้ กยศ.” เป็น 1 ใน 8 วาระการแก้ไขหนี้ที่คณะกรรมการกำกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนรายย่อย* ซึ่ง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แต่งตั้งโดยมีท่านรองนายกรัฐมนตรี สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ เป็นประธาน คณะกรรมการฯ ให้ความสำคัญและผลักดันต่อเนื่อง จนนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายที่เพิ่งผ่านการพิจารณาของรัฐสภา
เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับประชาชนจำนวนมาก ผู้กู้ 3.6 ล้านราย และผู้ค้ำประกัน 2.8 ล้านราย รวม 6.4 ล้านราย ปัญหาหนี้ กยศ. เป็นตัวอย่างการแก้ไขปัญหาหนี้สินที่ผู้สนใจเรื่องหนี้น่าจะศึกษา หลายประเด็นสะท้อนปัญหาความท้าทายที่ทำให้การแก้ปัญหาหนี้สินมีอุปสรรค หนี้ กยศ. ถือเป็นหนี้ที่ไม่มีผู้กำกับดูแล ไม่มีเจ้าภาพ และเช่นเดียวกับปัญหาหนี้อื่นๆ ที่คนทั่วไปมักคิดว่าเกิดจากลูกหนี้นิสัยไม่ดี เบี้ยวหนี้เท่านั้น จึงทำให้แม้ประชาชนจะเดือดร้อนมาก แต่ปัญหาถูกปิดทับอยู่นาน
มองย้อนกลับไปในช่วง 25 ปีของประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย หนี้ กยศ. เป็นหนี้ที่มีอัตราหนี้เสียสูงสุด (NPLs) กว่า 60-70% ท่านที่ผ่านช่วงต้มยำกุ้งอาจจะจำได้ ตอนนั้น NPLs สูงสุดอยู่ที่ 47% เท่านั้น ผู้กู้เหนียวหนี้ขนาดนั้นหรือ?
จริงๆ แล้วหนี้เสียที่สูงมาก สะท้อนความไม่ปกติและปัญหาเชิงโครงสร้างก่อนจะถูกแก้ไข
ปัญหาหนี้ กยศ. เปรียบเหมือนภูเขาน้ำแข็ง ที่คนทั่วไปมักจะเห็นเฉพาะส่วนที่พ้นน้ำ เช่นเดียวกับที่คนทั่วไปเดิมเข้าใจว่าผู้กู้ 2.4 ล้านคนจ่ายหนี้ไม่ได้ เพราะยากจน ขาดวินัย และอยากเบี้ยวหนี้
แต่แท้จริงแล้วต้นตอของปัญหาส่วนที่อยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็งคือ รูปแบบเงินกู้ กยศ. ที่เดิมถูกกำหนดให้จ่ายปีละครั้งเพิ่มจำนวนสูงขึ้นทุกปี บางปีผู้กู้ต้องจ่าย 4-5 หมื่นบาท ผู้กู้ที่ฐานะไม่ดีจึงมีปัญหาชำระหนี้ไม่ได้ และมาเจอเบี้ยปรับ 18% ต่อปี ทั้งๆ ที่ดอกเบี้ยเงินกู้ 1% ต่อปี และผนวกกับลำดับการตัดจ่ายหนี้ที่เมื่อชำระหนี้เข้ามาจะถูกนำไปตัดค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยก่อน ดอกเบี้ยปรับที่สูงมาก ทำให้ผู้กู้บางรายไม่ว่าจะจ่ายเท่าไร ก็จะไม่เหลือที่จะชำระเงินต้น บางรายติดอยู่ในวังวนหนี้ กยศ. ตราบนิรันดร์
รูปแบบของเงินกู้ยืมที่ไม่ได้อยู่ในวิสัยที่วิญญูชนจะจ่ายได้ ดอกเบี้ยปรับที่สูงลิ่วแบบไร้เหตุผล รวมทั้งการผูกขาดว่าเป็นสิทธิของเจ้าหนี้ที่จะจัดลำดับการตัดจ่ายหนี้โดยเอาเงินต้นไว้ท้ายสุด ถือเป็นสามปัจจัยที่เมื่อสอดประสานกันที่ทำให้คนไทย ไม่ใช่เฉพาะผู้กู้ กยศ. ถ้าไปดูลูกหนี้ SME ที่อยู่ใน บสย. ลูกหนี้เกษตรกร ข้าราชการครู ทหารตำรวจ ล้วนแต่เจอปัญหาในลักษณะเดียวกัน
กฎหมาย กยศ. ที่แก้ไขจะช่วยผู้กู้ กยศ. อย่างไร?
(1) การแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้จะทำให้เกิดการปฏิรูปเงินกู้ กยศ. ในหลายมิติ ในอนาคตผู้กู้ กยศ. จะมีรูปแบบการกู้ยืมที่จะไม่สร้างปัญหาดังเช่นที่ผ่านมา การผิดนัดชำระหนี้จะน้อยลง กยศ.จะคำนึงถึงศักยภาพของผู้กู้ โจทย์เรื่องความสามารถที่จะชำระคืนถูกตั้งไว้ที่กลางใจ ดอกเบี้ยและเบี้ยปรับถูกปรับปรุงให้มีความเหมาะสม เบี้ยปรับเดิม 18% ต่อปีถูกปรับลดเหลือ 0.5% ต่อปี งวดการจ่ายหนี้ที่เดิมมีรูปแบบเดียวสำหรับผู้กู้หลายล้านคนจะถูกแก้ไข เดิมผู้กู้ไม่มีทางเลือกต้องจ่าย “ปีละครั้ง” จะสามารถเลือกจ่ายทุกเดือน
และที่สำคัญมากคือการปรับปรุงลำดับการตัดชำระหนี้เดิมให้ตัด “เงินต้น” ลำดับสุดท้าย จึงเกิดปัญหาการจ่ายแต่ดอกเบี้ย การปรับปรุงลำดับการตัดชำระหนี้ให้ตัดเงินต้นก่อนเป็นลำดับแรก ช่วยให้ลูกหนี้มีวินัยมากขึ้น
ผู้กู้ถ้าทราบว่าเงินที่จ่ายชำระหนี้จะช่วยให้เงินต้นที่กู้ยืมมาลดลง เค้าจะจ่ายชำระหนี้อย่างต่อเนื่องตรงเวลา ไม่ใช่จ่ายชำระหนี้แต่ถูกนำไปตัดจ่ายแต่ดอกเบี้ย เงินต้นไม่ลดลง หลายปีเข้าปุถุชนธรรมดาก็หยุดจ่าย เป็นใครก็ต้องทำอย่างนั้น
การปฏิรูปสินเชื่อ กยศ. ครั้งนี้ถือเป็นการ set standard สำหรับการกำหนดข้อตกลงการกู้ยืมที่เป็นธรรม ที่ต้องคำนึงถึงภาระที่จะเกิดกับผู้กู้ ตลอดจนความสามารถอย่างรอบด้าน เรื่องนี้จะส่งผลดีไปถึงการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนในส่วนอื่นด้วย โดยเฉพาะประเด็นเจ้าหนี้ผูกขาดการกำหนดลำดับการตัดจ่ายหนี้ที่เงินต้นอยู่ลำดับสุดท้าย
(2) ความเป็นธรรมนั้นจะต้อง “อกาลิโก” กล่าวคือ จะต้องไม่จำกัดกาลเวลา ไม่ใช่เฉพาะวันนี้หรือวันข้างหน้า การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้นอกจากจะมีคุณต่อผู้ที่กำลังกู้ กยศ. อยู่ในปัจจุบัน และผู้กู้รายใหม่ในอนาคตแล้ว กฎหมายฉบับนี้ยังมีผลย้อนหลังให้คุณกลุ่มผู้กู้ที่กำลังถูกฟ้องและมีคำพิพากษาแล้ว และผู้กู้อื่นที่ยังมีภาระหนี้กับ กยศ. แต่จะไม่มีผลย้อนหลังไปสำหรับผู้กู้รายที่ได้ปิดหนี้ไปแล้วก่อนหน้ากฎหมายมีผลบังคับใช้
ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นความพิเศษอีกข้อหนึ่งของร่างกฎหมายฉบับนี้ ผู้กู้ กยศ. ที่เคยถูกเอาเปรียบและไม่ได้รับความเป็นธรรมจากอัตราดอกเบี้ยผิดนัดหรือ “เบี้ยปรับ” ที่ถูกกำหนดไว้สูงลิ่วไม่สมเหตุสมผลถึง 18% ต่อปี หรือ ผู้กู้ กยศ. ที่เจอปัญหา “จ่ายแต่ดอกเบี้ย” ที่แม้เพียรชำระหนี้มาโดยตลอด แต่เงินที่ชำระหนี้ถูกนำไปตัดจ่ายดอกเบี้ยแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นผลจากลำดับการตัดชำระหนี้ที่ถูกกำหนดไว้อย่างไม่เป็นธรรม เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ ผู้กู้ กยศ. เหล่านี้ที่ยังมีหนี้ค้างชำระอยู่ จะได้รับประโยชน์จากการคำนวณยอดหนี้ใหม่ที่เป็นธรรม
กยศ. จะต้องคำนวณ “ยอดหนี้ที่เป็นธรรม” เช่น เดิมที่เคยถูกคิดเบี้ยปรับ 18% ต่อปี ส่วนนี้จะถูกปรับลดลงเหลือไม่เกิน 0.5% ต่อปี รวมทั้ง กยศ. จะจัดลำดับการชำระหนี้ใหม่ที่ให้ตัดเงินต้นก่อนเป็นลำดับแรก “การคำนวณยอดหนี้ที่เป็นธรรม” ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก และถือเป็นก้าวแรกที่เป็นรูปธรรมของการแก้หนี้ กยศ. เรื่องนี้จะสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้กู้ กยศ. จะช่วยปรับลดภาระหนี้ที่ต้องจ่ายคืนให้สมเหตุสมผลอยู่ในวิสัยที่ผู้กู้จะชำระคืนได้
ตัวอย่างจริงของผู้กู้ กยศ. รายหนึ่ง ที่ ณ ปี 2545 กู้เงิน 216,758 บาท ระหว่างนั้นเกิดผิดนัดชำระหนี้ทำให้เบี้ยปรับสูงมาก ปี 2561 กยศ. ฟ้องดำเนินคดี ศาลมีคำพิพากษา ลูกหนี้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยมียอดหนี้เงินต้น 216,758 บาท เมื่อรวมดอกเบี้ยและเบี้ยปรับที่สูงถึง 230,578 บาท ทำให้มียอดหนี้รวม 480,421 บาท จะเห็นว่าดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่สูงถึง 230,578 บาทเป็นผลจากอัตราดอกเบี้ยผิดนัดที่สูง 18% ต่อปี
อีกทั้งเมื่อผนวกกับลำดับการตัดชำระหนี้ที่กำหนดไว้อย่างไม่เป็นธรรมให้ตัดเงินต้นท้ายสุด กล่าวคือ เมื่อชำระหนี้เข้ามาให้นำตัดชำระส่วนของดอกเบี้ยและเบี้ยปรับก่อน ดังนั้นถ้าผู้กู้ยังไม่สามารถจ่ายส่วนนี้หมด เงินที่จ่ายชำระหนี้จะไม่ถูกหักหรือตัดชำระหนี้ในส่วนของเงินต้นเลย
ผู้กู้รายนี้ต่อมาช่วง ปี 2561-2564 ได้ไปทำข้อตกลงไกล่เกลี่ยโดยจ่ายเดือนละ 5,000 บาท ผู้กู้ผ่อนชำระจำนวน 35 งวด รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 175,000 บาท แต่เงินทั้งหมดถูกนำไปหักดอกเบี้ยตามสัญญาและเบี้ยปรับจนหมด ทำให้ดอกเบี้ยคงค้างลดลงเหลือ 99,299 บาท แต่เงินต้นคงค้างยังเท่าเดิมที่ 216,758 บาท ไม่ลดลงแม้สักบาทเดียว
จากตัวอย่างข้างต้นนี้ ถ้ากฎหมายที่แก้ไขใหม่เริ่มมีผลบังคับใช้ ผู้กู้ กยศ. รายนี้จะได้รับอานิสงส์จากประเด็นที่ถูกแก้ไขให้เกิดความเป็นธรรมขึ้น อาทิ การจัดลำดับการตัดชำระหนี้ใหม่ที่ให้ตัด “เงินต้น” ก่อน ตามด้วยดอกเบี้ยในสัญญา และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ หรือ “เบี้ยปรับ” ลงจาก 18% เหลือ 0.5% ต่อปี กยศ. จะคำนวณยอดหนี้ที่เป็นธรรมใหม่ โดยเม็ดเงินที่เดิมได้จ่ายชำระหนี้ก่อนถูกฟ้องปี 2545 เป็นเงิน 5,500 บาท และจ่ายตามคำพิพากษาเดือนละ 5,000 บาท จำนวน 35 เดือนรวมเป็นเงิน 180,500 บาท
ซึ่งที่ผ่านมาถูกนำไปจ่ายดอกเบี้ยทั้งจำนวน แต่ในการคำนวณยอดหนี้ใหม่ที่เป็นธรรมเงินจำนวนนี้จะถูกนำไปตัด (1) เงินต้น และ (2) ดอกเบี้ยตามสัญญา ไล่เรียงไปตามลำดับ ส่วนดอกเบี้ยผิดนัดหรือเบี้ยปรับจะถูกคำนวณใหม่จาก 18% เหลือ 0.5% ต่อปี และนำมาพักแขวนไว้ก่อนจนผู้กู้จ่ายค่างวดตามสัญญาเสร็จแล้วถึงจะนำมาหักส่วนนี้
ทั้งนี้ การคำนวณยอดหนี้ที่เป็นธรรมตามขั้นตอนที่อธิบายข้างต้น จะส่งผลทำให้ยอดหนี้เงินต้นคงค้างของผู้กู้ กยศ. รายนี้ลดลงจาก 216,758 บาท เหลือเพียง 51,964 บาท เพราะแต่เดิมนั้นเงินจำนวน 180,500 บาทที่จ่ายชำระหนี้ กยศ. นำไปหักตัดจ่ายดอกเบี้ยทั้งจำนวน ซึ่งถ้าคำนวณใหม่อย่างเป็นธรรม จะเห็นว่าเรื่องนี้จะช่วยลดภาระผู้กู้ให้ยอดหนี้มีความสมเหตุสมผลมากขึ้น และถือเป็น step แรกของการแก้ไขปัญหาหนี้ กยศ. อย่างแท้จริง
(3) กฎหมาย กยศ ที่แก้ไขใหม่ จะเอื้อให้ กยศ. สามารถดำเนินภารกิจได้คล่องตัว ยืดหยุ่น หลากหลาย และมีความหมายมากขึ้น ให้สอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไม่หยุดนิ่ง กยศ. จะสามารถปล่อยกู้ให้คนได้หลากหลายขึ้น จากในกรณีเดิมที่จะสามารถปล่อยกู้ให้กับผู้กู้ที่เรียนหลักสูตรปริญญา 4 ปี ในชั้นอุดมศึกษาเท่านั้น
แต่ในบริบทโลกใหม่ ผู้กู้ กยศ. อาจจะต้องการเรียนหลักสูตรฝึกอาชีพสั้นๆ หรือหลักสูตร reskill ที่ตรงกับความต้องการมากกว่า หางานง่ายกว่า รวมทั้งประหยัดค่าใช้จ่าย ไม่ต้องเสียเวลาเรียนนาน 4-5 ปี อีกทั้งได้ปรับคุณสมบัติผู้กู้ที่เดิมจะต้องมีรายได้ในครอบครัวรวมต่อปี 360,000 บาทมาเป็นการพิจารณา residual income คงเหลือเพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้กู้ที่แม้ครอบครัวจะมีรายได้สูงกว่าเดิม แต่ถ้าหักรายจ่ายที่มีอยู่จะทำให้เงินในครอบครัวเหลือไม่เพียงพอ ให้สามารถที่จะขอกู้ กยศ. ได้
นอกจากนั้น เจตนารมณ์ของการแก้กฎหมายอีกประการที่สำคัญในครั้งนี้ คือ กยศ. มีหน้าที่จะต้องจัดเตรียมและจัดหาข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกที่จะศึกษาต่อของผู้กู้ “การกู้ยืมเพื่อการศึกษา” เป็นสิ่งที่ “สร้างภาระ” ให้แก่ผู้กู้ ไม่ใช่ “ของฟรี” ก่อนที่จะตัดสินใจกู้ยืมครั้งใหญ่ ผู้กู้ควรจะได้รับข้อมูลที่เพียงพอ อย่างน้อยควรจะทราบว่า ที่ๆตนจะไปศึกษาต่อจะช่วยให้ตนมีโอกาสที่จะได้งานทำหรือไม่ ถ้าไปเรียนแล้วตกงาน หรือไม่ช่วยให้เก่งขึ้น ไม่กู้ไปเรียนจะดีกว่า เรื่องนี้จะช่วยให้การกู้ยืมของผู้กู้ กยศ. ในระยะต่อไปมีความคุ้มค่า และมีความหมายมากขึ้น
โดยสรุปแล้ว การแก้ไขกฎหมายของ กยศ. ครั้งนี้จะช่วยให้ กยศ. มีความคล่องตัว สามารถที่จะทำภารกิจได้กว้าง หลากหลาย และมีความหมายมากขึ้น ซึ่งในอีกด้านหมายความว่าจะช่วยให้ตอบโจทย์ประชาชนได้ตรงจุด ในวงที่กว้างขึ้น และมีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น
อ่านประกอบ :
มติ 224 ต่อ 11 ! สภาฯผ่าน‘ร่าง พ.ร.บ.กยศ.’ฉบับวุฒิสภาแก้ไข ฟื้นเก็บดบ.1%-เบี้ยปรับ 0.5%
กลับไปเก็บดบ. 1%! ‘วุฒิสภา’มีมติ 143 ต่อ 1 เสียง ผ่าน‘ร่าง พ.ร.บ.กยศ.’ฉบับ กมธ.วิสามัญฯ
สหภาพลูกหนี้ฯเสนอ'กมธ.วิสามัญ'วุฒิฯ คง‘ดอกเบี้ย-เบี้ยปรับ’เงินกู้ กยศ.-ชงปลอดหนี้ 5 ปี
'วุฒิสภาฯ' นัดถก 'ร่าง พ.ร.บ.กยศ.' 1 พ.ย.นี้-เปิด 4 ฉากทัศน์ ลด 'ดอกเบี้ย-เบี้ยปรับ'
ห่วงกองทุน‘กยศ.’ล้ม! วงเสวนาฯค้านยกเลิก‘ดบ.-เบี้ยปรับ’ ฝ่ายหนุนโต้รัฐต้องลงทุน‘การศึกษา’
นิด้าโพลเผย ปชช.เห็นด้วยกับการยกเลิกเก็บดอกเบี้ย-ไม่มีเบี้ยปรับ ของ กยศ.
มติสภาเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กองทุน กยศ. กู้ยืมเงินไม่มีดอกเบี้ย-เบี้ยปรับ
เปิดงบ'กยศ.'ล่าสุด! ปี 64 รายได้ 6.89 พันล้าน ก่อน'กมธ.วิสามัญฯ'หั่น'ดบ.-เบี้ยปรับ'
‘กยศ.’แจงกรณีลูกหนี้ถูกเรียกเก็บ‘เบี้ยปรับ’สูง เหตุ‘ผิดนัดฯ-ค้างชำระ’เป็นเวลานาน
รัฐบาลรุกแก้หนี้ กยศ.ไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องกลุ่มผิดนัดชำระ-ถูกเลิกสัญญา 1.7 แสนคน
เปิดละเอียด!ร่าง พ.ร.บ.กยศ. ลด ดบ.เหลือ 2%-ปรับโครงสร้างหนี้ได้ 'บิ๊กตู่'ช่วยผู้กู้ 5 ล.คน
ครม.เคาะแก้กฎหมาย กยศ.ปลดล็อกกู้ยืมเงินไม่ต้องมีผู้ค้ำ