‘นายทะเบียน’ เผยเตรียมประกาศใช้ระเบียบฯฉบับใหม่ 'ห้าม' บุคคลที่ถูก 'สหกรณ์' ฟ้องดำเนินคดี แต่ศาลได้ประทับรับฟ้องแล้ว เป็น ‘กรรมการ-ผู้จัดการสหกรณ์’ หวั่นใช้อำนาจปกป้องการกระทำผิดของตัวเอง
....................................
จากกรณีที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาร่างระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ว่าด้วยลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่เป็นหรือทำหน้าที่เป็นกรรมการหรือผู้จัดการของสหกรณ์ พ.ศ. ... โดยปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่ทำหน้าที่เป็นกรรมการหรือผู้จัดการของสหกรณ์ นั้น (อ่านประกอบ : เปิดฟังความเห็นรื้อระเบียบฯ กำหนดลักษณะบุคคล 4 กลุ่ม ห้ามเป็น‘กรรมการ-ผู้จัดการ’สหกรณ์)
ล่าสุดนายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะนายทะเบียนสหกรณ์ เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า หลังจากกรมฯได้ปิดการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างระเบียบฯดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมาแล้ว ขณะนี้คณะทำงานฯอยู่ระหว่างนำข้อคิดเห็นต่างๆ ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมาประมวล เพื่อปรับปรุงแก้ไขร่างระเบียบฯ ก่อนจะมีการประกาศใช้ต่อไป และเป็นอำนาจของนายทะเบียนสหกรณ์ที่จะประกาศใช้ระเบียบฯดังกล่าวได้เลย
ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญของร่างระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ว่าด้วยลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่เป็นหรือทำหน้าที่เป็นกรรมการหรือผู้จัดการของสหกรณ์ พ.ศ. ... ฉบับใหม่ มีสาระสำคัญ อาทิ
“ข้อ 4 ห้ามมิให้บุคคลซึ่งมีลักษณะดังต่อไปนี้เป็นหรือทำหน้าที่กรรมการหรือผู้จัดการของสหกรณ์
(1) เป็นผู้ที่นายทะเบียนสหกรณ์ รองนายทะเบียนสหกรณ์ หรือสหกรณ์ ฟ้องดำเนินคดีในทางแพ่งหรือทางอาญาในข้อกล่าวหาที่กระทำให้สหกรณ์เสียหาย ซึ่งศาลได้ประทับรับฟ้องแล้ว หรือเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่สหกรณ์ในการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสหกรณ์
(2) มีหรือเคยมีส่วนร่วมในการประกอบธุรกิจหรือการดำเนินกิจการใดๆ อันผิดกฎหมายที่มีลักษณะเป็นการหลอกลวงผู้อื่นหรือฉ้อโกงประชาชนหรือเกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด
(3) เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย
(4) เป็นผู้ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินประกาศรายชื่อให้เป็นบุคคลที่ถูกกำหนดตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. 2559”
“ข้อ 5 ให้อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์รักษาการตามระเบียบนี้ และให้มีอำนาจตีความและวินิจฉัยปัญหาอันเกิดจากการปฏิบัติตามระเบียบนี้”
“ข้อ 6 นับแต่วันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ ให้กรรมการและผู้จัดการของสหกรณ์ที่มีลักษณะต้องห้ามตามระเบียบนี้ ที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ ให้อยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ไม่เกินวันประชุมใหญ่สามัญประจำปีครั้งถัดไป
ในกรณีที่กรรมการหรือผู้จัดการที่เข้าลักษณะต้องห้ามตามข้อ 4 และยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ตามวรรคแรก ห้ามมิให้เข้าร่วมพิจารณาในเรื่องที่ตนมีส่วนได้เสีย”
“ข้อ 7 บรรดาระเบียบ ประกาศ คำสั่ง และคำแนะนำอื่นใด ซึ่งขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้แทน”
นายวิศิษฐ์ กล่าวด้วยว่า สาเหตุที่ร่างระเบียบฯฉบับใหม่ ต้องกำหนดลักษณะต้องห้ามของกรรมการหรือผู้จัดการของสหกรณ์ เช่น ต้องไม่เป็นผู้ที่นายทะเบียนสหกรณ์ รองนายทะเบียนสหกรณ์ หรือสหกรณ์ ฟ้องดำเนินคดีในทางแพ่งหรือทางอาญาในข้อกล่าวหาที่กระทำให้สหกรณ์เสียหาย ซึ่งศาลได้ประทับรับฟ้องแล้ว หรือเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่สหกรณ์ในการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสหกรณ์ นั้น
เนื่องจากที่ผ่านมา มีกรรมการบางคนของสหกรณ์บางแห่ง ที่ถูกสหกรณ์ฯที่ตัวเองสังกัด ฟ้องร้องดำเนินคดีในฐานความผิดต่างๆ และคดียังไม่ถึงที่สุด แต่ปรากฏว่าบุคคลเหล่านั้นยังคงทำหน้าที่เป็นกรรมการของสหกรณ์ฯอยู่ เพราะไม่มีข้อบังคับของสหกรณ์ห้ามในส่วนนี้ไว้ ขณะที่บุคคลเหล่านี้อ้างว่า เมื่อยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด พวกเขายังคงทำหน้าที่เป็นกรรมการสหกรณ์หรือมีอำนาจในสหกรณ์ฯได้ แต่กรมฯเห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักธรรมาภิบาล
“กรรมการฯ (สหกรณ์) บางคนมีประเด็นว่า ถูกฟ้องคดีจากสหกรณ์ที่ตัวเองสังกัด เป็นกรณีกระทำผิดอะไรต่างๆ แล้วคดียังไม่ถึงที่สุด แต่ก็ยังเข้ามาเป็นกรรมการฯ โดยที่ข้อบังคับไม่ได้ห้ามเอาไว้ และเขาก็อ้างว่าเมื่อยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด เขาก็มีอำนาจเข้ามาได้ ซึ่งโดยหลักธรรมภิบาลแล้ว คนเหล่านี้ต้องเว้นไป ไม่สามารถเข้ามาทำงานได้ แต่เขาก็ยังดื้อว่าเขายังมีอำนาจ และได้รับเลือกมาเป็นกรรมการฯ ซึ่งเรามองว่าเป็นการเข้ามาเพื่อปกป้องบางเรื่องที่ตัวเองกระทำผิดเอาไว้ เราจึงปรับปรุงระเบียบฯว่า หากศาลได้ประทับรับฟ้องแล้ว จะไม่สามารถเป็นกรรมการฯได้” นายวิศิษฐ์ กล่าว
นายวิศิษฐ์ ย้ำว่า หลักการของร่างระเบียบฯที่ว่า บุคคลที่ถูกสหกรณ์ฟ้องดำเนินคดี และศาลได้ประทับรับฟ้องแล้ว จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงและคงหลักไว้เหมือนเดิม แม้ว่าในการเปิดรับฟังความคิดเห็นฯจะมีผู้ไม่เห็นด้วยก็ตาม เพราะเป็นเรื่องของธรรมาภิบาลของสหกรณ์
นายวิศิษฐ์ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าในการปฏิบัติตามระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ว่าด้วยการกำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการพ้นจากตำแหน่งของผู้จัดการสหกรณ์ พ.ศ.2565 ซึ่งกำหนดให้ผู้จัดการสหกรณ์ต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ ว่า เนื่องจากมีผู้ได้รับผลกระทบจากระเบียบดังกล่าว เช่น สหกรณ์บางแห่งที่กำหนดให้ผู้จัดการสหกรณ์มีอายุเกิน 60 ปีได้ ไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้เพิกถอนระเบียบฯดังกล่าว จึงต้องรอว่าศาลปกครองจะมีคำพิพากษาออกมาเป็นอย่างไร
อ่านประกอบ :
เปิดฟังความเห็นรื้อระเบียบฯ กำหนดลักษณะบุคคล 4 กลุ่ม ห้ามเป็น‘กรรมการ-ผู้จัดการ’สหกรณ์
สั่งคณะกรรมการ‘สอ.จฬ.’แก้ไขบกพร่อง หลังใช้เงินลงทุนเกินกรอบที่ได้รับอนุมัติเกือบ 5 พันล.
ฉบับเต็ม! เปิดคำสั่ง ‘นายทะเบียนสหกรณ์’ ให้ 5 กรรมการ ‘สอ.จฬ.’ หยุดปฏิบัติหน้าที่
'รองนายทะเบียนสหกรณ์' สั่งยับยั้ง'มติบอร์ด สอ.จฬ.' ระดมเงิน 3 พันล.ซื้อ'ตึกยูทาวเวอร์'
ร้อง‘นายทะเบียน’เร่งรัดสอบคุณสมบัติกก.‘สอ.จฬ.’-ท้วงซื้อตึกยูทาวเวอร์ 3.5 พันล.ส่อขัดกม.
ประเสริฐ บุญสมบูรณ์สกุล : แจงปมร้อน ‘สอ.จฬ.’ ระดมเงินฝาก ซื้อ ‘ที่ดิน-ตึกยูทาวเวอร์’
'สอ.จฬ.'โชว์ราคาประเมินตึกยูทาวเวอร์พุ่ง 3.5 พันล.-บอร์ดฯรับลูกสอบ'ลักษณะต้องห้าม'กก.
เปิดบันทึก‘นายทะเบียน’ ชี้ ปธ.-4 กรรมการ‘สอ.จฬ.’พ้นตำแหน่ง ก่อนเคาะซื้อตึกยูทาวเวอร์
ร้อง'นายทะเบียน' ลงโทษกก.'สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ' ปมอนุมัติซื้อตึกยูทาวเวอร์ 2.5 พันล.