‘วงเสวนาฯ’ ตอกย้ำรัฐมี ‘ปริมาณสำรองไฟฟ้า’ สูงเกินจำเป็น ทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้น พร้อมเผยมีการจ่ายค่า ‘Take or Pay’ ปีละหลายหมื่นล้าน ขณะที่ 'กกพ.' ลุ้นค่าไฟฟ้างวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.66 ลดลง 23-50 สต./หน่วย
............................................
เมื่อวันที่ 11 พ.ค. ผศ.ประสาท มีแต้ม ประธานคณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวบนเวทีเสวนา ‘ไฟฟ้าสำรองล้นระบบ ทำค่าไฟแพง ใครรับผิดชอบ’ ตอนหนึ่งว่า มีรายงานชิ้นหนึ่งที่กระทรวงพลังงานเคยทำวิจัยร่วมกับองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ซึ่งได้สรุปว่า ระบบพลังงานของไทยต้องมีความยืดหยุ่นทั้งในแง่สัญญาและการใช้เชื้อเพลิง และต้องเพิ่มการผลิตพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น
แต่ปรากฏว่าสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของประเทศไทยในปัจจุบันยังคงเป็นแบบ ‘ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย’ หรือ Take or Pay เมื่อเศรษฐกิจเปลี่ยน และมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ จึงกลายมาเป็นภาระที่บังคับให้คนไทยต้องจ่าย โดยแต่ละปีพบว่ามีการจ่ายฟรีในส่วนนี้ เป็นเงินหลายหมื่นล้านบาท และกระทรวงพลังงานไม่ได้ทำอะไรกับสัญญาตรงนี้เลย ส่วนที่งานวิจัยฯ บอกว่า ไทยสามารถเพิ่มกำลังผลิตพลังงานหมุนเวียนได้ 2 เท่าในทันทีนั้น ตอนนี้ถูกเก็บเข้าหิ้งไปแล้ว
“สัญญาฯตอนนี้ เราไปใช้แบบ ‘ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย’ พอเศรษฐกิจเปลี่ยน โควิดมา ก็เป็นภาระที่พวกเราต้องถูกบังคับให้ต้องจ่าย ปีหนึ่งจ่ายไฟฟรีๆหลายหมื่นล้าน แต่ปรากฏว่ากระทรวงพลังงานไม่ทำอะไร” ผศ.ประสาท กล่าว
ผศ.ประสาท ยังระบุว่า ในขณะที่ประเทศมาเลเซียมีระบบ ‘หักลบกลบหน่วยไฟฟ้า’ โดยให้ประชาชนนำไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์บนหลังคา มาแลกหน่วยไฟฟ้าได้แบบหน่วยต่อหน่วย ได้มาตั้งแต่ปี 2559 แล้ว แต่ของประเทศไทย แม้ว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 27 ก.ย.2565 ให้นำระบบ ‘หักลบกลบหน่วยไฟฟ้า’ มาใช้ และส่งหนังสือไปให้ 6 หน่วยงานทำให้เป็นจริง แต่ปรากฏว่าเวลาผ่านมากว่า 8 เดือนแล้ว กลับมีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อย
น.ส.รสนา โตสิตระกูล คณะอนุกรรมด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า แม้ว่าปัจจุบันการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไม่ถูกแปรรูปฯ แต่ กฟผ.ถูกล้วงไส้มาตลอด คือ มีการถ่ายโอนกำลังผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.ไปให้เอกชน ทำให้ตอนนี้ กฟผ. อาจต้องเปลี่ยนชื่อไปเป็น กฟซ. หรือ การไฟฟ้าเพื่อการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชน
น.ส.รสนา ระบุว่า ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา การผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) เติบโตสูงมาก จากระดับ 4,926 MW ในปี 2544 เป็น 15,499 MW ในปี 2564 หรือเพิ่มขึ้น 10,573 MW ในขณะที่ กฟผ. มีกำลังการผลิต 16,082 MW เพิ่มขึ้นจากเมื่อปี 2544 เพียง 1,082 MW เท่านั้น ส่วนการผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) นั้น พบว่า หลังการรัฐประหารฯ กำลังผลิตไฟฟ้า SPP ทะยานขึ้นสูงสุด จนมีกำลังการผลิตที่ 7,613 MW ในปี 2564 จากปี 2544 ที่มีกำลังการผลิต 1,768 MW
“กฟผ. เป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งภารกิจหรือเจตนารมณ์ของรัฐวิสาหกิจ คือ การจัดสาธารณูปโภค สาธารณูปการให้ประชาชนในราคาถูกที่สุด แต่พอการผ่องถ่ายการผลิตไฟฟ้าไปให้เอกชน ปรากฏว่าเอกชนผลิตราคาแพงทั้งนั้นเลย สูงมาก แล้วก็ผ่องถ่ายมาให้ กฟผ. และประชาชน” น.ส.รสนา ระบุ
น.ส.รสนา กล่าวต่อว่า จากข้อมูลกำลังการผลิตไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2544-2565 พบว่า ปริมาณสำรองกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยสูงเกิน 15% มาโดยตลอด โดยในปี 2565 กำลังผลิตไฟฟ้าทั้งระบบของไทยอยู่ที่ 53,335 MW แต่ความต้องการสูงสุดที่อยู่ที่ 32,255 MW หรือมีปริมาณไฟฟ้าสำรองส่วนเกินกว่า 20,000 MW ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้อัตราค่าไฟฟ้าสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการส่งผ่านต้นทุนที่เรียกว่า ‘ค่าพร้อมจ่าย’ (Availability Payment) ไปให้กับประชาชนด้วย
“ที่รัฐบาลพยายามมาบอก และมาโต้แย้งว่า จะไปคิดกำลังผลิตที่ล้นเกินไปที่ 5.3 หมื่นเมกะวัตต์ แล้วทำให้กำลังสำรองไฟฟ้าสูงเกิน 60% นั้น ไม่ได้ แต่ต้องใช้ตัวเลขอัตราการพึ่งพาได้ ไม่ใช่กำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญา ปรากฎว่าเวลาคิดราคาจากพวกเรา คิดราคาค่าพร้อมจ่าย (Availability Payment) จากเรา เขาไม่ได้คิดจากปริมาณสำรองที่พึ่งพาได้ แต่คิดจากกำลังผลิตตามสัญญา” น.ส.รสนา กล่าว
ขณะที่ ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 8 ก.พ.2566 ที่ผ่านมา คณะกรรมการบริหารพลังงาน (กบง.) รับทราบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของเอกชน ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำแนะนำว่า ให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต้องกำหนดเพดานการผลิตไฟฟ้าของเอกชนและกำหนดปริมาณไฟฟ้าสำรอง
อย่างไรก็ตาม ในการประชุม กบง. ดังกล่าว กบง.มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกการใช้กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) และให้เปลี่ยนมาใช้ดัชนีโอกาสเกิดไฟฟ้าดับ (Loss of Load Expectation หรือ LOLE) เป็นเกณฑ์วัดความมั่นคงของระบบไฟฟ้า โดยมติ กบง. ครั้งดังกล่าว ถือว่าขัดแย้งกับคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญที่มีสถานะเป็นเหมือนคำเตือน เพื่อป้องกันการกระทำที่เป็นความผิดตามมาตรา 56 วรรคท้ายของรัฐธรรมนูญปี 2560
“เขา (ศาลรัฐธรรมนูญ) เตือน แต่ กบง. บอกว่าไร้ความหมาย ซึ่งมีนัยยะ คือ มติดังกล่าวอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนในการเข้ามาผลิตไฟฟ้าสำรองที่อาจจะไปสู่การกระทบต่อประโยชน์สาธารณะและผลประโยชน์ของประชาชน และมติดังกล่าวอาจกระทบต่อสถานะของ กฟผ. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ
ดังนั้น การที่ กบง. มีมติยกเลิกการใช้ไฟฟ้าสำรอง จึงเป็นบันไดขั้นแรกที่จะนำไปสู่การเข้าเงื่อนไขของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่า “หากกำหนดกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองสูงเกินสมควร และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์สาธารณะอาจถูกดำเนินการโดยองค์กรอื่นหรือศาลอื่นได้” ซึ่งเข้าองค์ประกอบที่หลายรัฐบาลเคยโดนตรวจสอบมาแล้วในเรื่องการเอื้อประโยชน์ หรือทำให้รัฐเสียหาย” ศ.ดร.บรรเจิด กล่าว
@สภาผู้บริโภคฯชี้สัญญา'Take or Pay' จุดด่างในบิลค่าไฟฟ้า
วันเดียวกัน สภาองค์กรของผู้บริโภค เผยแพร่บทความเรื่อง ‘ค่าไฟ “ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย” (Take or Pay) จุดด่างในบิลค่าไฟฟ้า’ โดยมีเนื้อหาว่า ทุกๆ เดือนของการชำระบิลค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่าย มีเงินจำนวนหนึ่งที่ถูกแบ่งออกไปจ่ายให้กับโรงงานไฟฟ้าเอกชนบางแห่งที่ไม่ได้ผลิตไฟฟ้าแต่ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องจ่ายเงินที่เรียกว่า “ค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า” (Availability Payment) ภายใต้ลักษณะสัญญาแบบ Take or Pay
หรือ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย” ซึ่งประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าต้องมีส่วนรับผิดชอบกับสัญญาผูกมัดลักษณะนี้โดยไม่รู้ตัว เพราะเป็นส่วนหนึ่งที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำมาชำระให้กับโรงไฟฟ้าเอกชนเหล่านี้ตามข้อผูกมัดในสัญญาที่ต้องจ่ายแม้ไม่ได้ผลิตไฟฟ้าก็ตาม หากเปรียบเทียบก็เหมือนกับการที่องค์กรของรัฐ จ้างเอกชนทำสวนกล้วยยี่สิบแปลงเพราะคาดว่าประชากรจะมีมากพอที่จะรับประทานได้หมด
โดยสัญญาว่าจะจ่ายค่าผลผลิตทั้งหมดทุกแปลง แม้ว่าท้ายที่สุดจะมีกล้วยที่ถูกนำไปรับประทานเพียงครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งต้องปล่อยให้ผลผลิตเน่าเสียก็ตาม สัญญาแบบ “ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย” (Take or Pay) จึงสามารถดึงดูดเอกชนเข้ามาร่วมโครงการได้จำนวนมาก
ต้นเหตุการทำสัญญา “ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย”
ปัญหาจากการที่รัฐบาลเปิดให้เอกชนสร้างโรงงานไฟฟ้ามากจนเกิดปัญหาปริมาณสำรองไฟฟ้าเกินมาตรฐานนั้น เป็นเพราะมีการวางแผนการผลิตพลังงานไฟฟ้าของประเทศที่คำนึงถึงความมั่นคงทางด้านพลังงานเกินความจำเป็น โดยไปกำหนดให้ประเทศมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 ของความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุด ทำให้มีการสนับสนุนเอกชนลงทุนธุรกิจพลังงานไฟฟ้าเกินสมควร และในการอุดหนุนให้เอกชนเปิดโรงงานไฟฟ้านั้น
โดย กฟผ. ก็ได้ทำสัญญาให้มี “ค่าพร้อมจ่ายไฟฟ้า” เพื่อสร้างความมั่นใจต่อนักลงทุนว่า ผลผลิตด้านไฟฟ้าว่าเอกชนจะได้รับเงินค่าผลิตไฟฟ้าไม่ว่าจะมีการนำไฟฟ้านั้นออกมาใช้หรือไม่ก็ตาม
แม้ต่อมา สถานการณ์ได้ชี้ชัดว่ามีโรงงานไฟฟ้าเอกชนมากเกินความจำเป็น แต่รัฐบาลยังมีการทำสัญญาให้เอกชนเปิดโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนได้รับประกันการลงทุน แต่ไม่ปกป้องผลประโยชน์สาธารณะเมื่อประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าต้องรับภาระ “ค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า” หรือ “ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย” ที่รวมอยู่ในบิลค่าไฟฟ้าที่ผู้ใช้ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าในแต่ละรอบบิล มูลค่า “ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย” มีประมาณกี่เปอร์เซนต์ของค่าไฟฟ้า
ผลผลิตล้นตลาด แต่รายรับไม่เคยตก
ตัวเลขการผลิตไฟฟ้า ณ เดือนมกราคม 2566 ประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 53,384 เมกะวัตต์ แต่มียอดใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่เกิดขึ้นในแต่ละปีนับแต่ปี 2562-2565 เพียงปีละประมาณ 30,000 เมกะวัตต์ เท่านั้น ทำให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าเกินไปปีละ 10,000 เมกะวัตต์ หรือมีปริมาณไฟฟ้าสำรองสูงถึงร้อยละ 50 ขณะที่ปริมาณสำรองไฟฟ้าตามมาตรฐานสากลของ IEA หรือทบวงพลังงานระหว่างประเทศอยู่ที่ร้อยละ 10-15 เท่านั้น ก่อให้เกิดปัญหามีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPPs) ไม่ต้องเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า แต่ยังได้รับเงิน “ค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า”
เรื่องที่หัวเราะไม่ออก เมื่อบิลมาพร้อมราคาค่าไฟที่ไม่ได้ใช้
ค่าซื้อไฟฟ้าและค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้าที่ กฟผ. จ่ายให้กับโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ซึ่งในขณะนี้มีอยู่ทั้งหมด 13 โรง ค่าใช้จ่ายทั้งหมดถูกนำมาคำนวณในค่าเอฟที งวดเดือนมกราคม - เมษายน 2566 และงวดเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2566 พบข้อมูลดังนี้
การประมาณค่าซื้อไฟฟ้าของ กฟผ. ของค่าเอฟที งวดเดือนมกราคม-เมษายน 2566 ซื้อไฟฟ้าทั้งหมด 18,436.19 ล้านหน่วย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 84,800 ล้านบาท โดยมีอัตราค่าซื้อไฟเฉลี่ยต่ำสุด 1.54 บาทต่อหน่วย และสูงสุด 9.85 บาทต่อหน่วย ในค่าใช้จ่ายนี้เป็นเงินที่จ่ายค่าความพร้อมจ่ายให้กับโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้ผลิตไฟจำนวน 2 โรงไฟฟ้า คือ โรงไฟฟ้าของบริษัทอีสเทิร์น เพาเวอร์ แอนด์ อิเลคทริค จำกัด (EPEC) และ โรงไฟฟ้าของบริษัทราชบุรีพาวเวอร์ จำกัด(RPCL) รวมเป็นเงิน 1,415 ล้านบาท
ในการประมาณการซื้อไฟฟ้าของ กฟผ. ของค่าเอฟที งวดเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2566 ซื้อไฟฟ้าทั้งหมด 18,336.88 ล้านหน่วย รวมเป็นค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 66,696 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดือนมกราคม-เมษายน เป็นเงิน 18,104.37 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 27 โดยมีอัตราค่าซื้อไฟฟ้าเฉลี่ยต่ำสุด 1.4690 บาทต่อหน่วย และสูงสุดอยู่ที่ 12.0627 บาทต่อหน่วย
ในค่าใช้จ่ายนี้เป็นค่าความพร้อมจ่ายที่จ่ายให้กับโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าจำนวน 6 โรง คือ โรงไฟฟ้าโกลบอล พาวเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) โรงไฟฟ้าโกลว์ ไอพีพี (GLOE IPP) โรงไฟฟ้าอีสเทิร์น เพาเวอร์ แอนด์ อิลคทริค (EPEC) โรงไฟฟ้ากัลฟ์ เพาเวอร์ (GPG) โรงไฟฟ้าราชบุรีพาวเวอร์ (RPCL) และโรงไฟฟ้า กัลฟ์ เจพี อุทัย (GSRC) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 6,187.47 ล้านบาท
หยุดจ้าง หยุดสร้าง หยุดบิลที่ไม่เป็นธรรม
สภาผู้บริโภคฯเสนอให้รัฐบาลยับยั้งการเพิ่มโรงไฟฟ้าเอกชน และทบทวนสัญญา “ค่าความพร้อมจ่าย” กับโรงไฟฟ้าเอกชนที่ไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเนื่องจากไฟฟ้าล้นตลาด และให้ทบทวนการคิดค่าเอฟที โดยให้ลดการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็กและขนาดใหญ่ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งทำให้มีค่าซื้อไฟฟ้าสูงถึง 4-10 บาทต่อหน่วยในปัจจุบัน พร้อมกับปรับลดเงินประกันกำไรของโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็กที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ
@'กกพ.'เผยค่าไฟฟ้างวด ก.ย.-ธ.ค. อาจลดลง 23-50 สต./หน่วย
ด้าน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้เผยแพร่เอกสารข่าวเมื่อวันที่ 11 พ.ค. โดยระบุว่า จากสถานการณ์ความผันผวน ของราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) นำเข้าที่ส่งผลต่อค่าเอฟที (Ft) ในช่วงที่ผ่านมา สำนักงาน กกพ. จึงศึกษาแนวโน้มราคาค่าไฟฟ้าที่แปรผันไปตามราคา LNG ของงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2566 โดยกำหนดให้ปัจจัยการผลิตอื่นเป็นตัวแปรคงที่ ซึ่งได้ตัวเลขค่า Ft ดังนี้
1. ราคา LNG เฉลี่ย 14 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู (MMbtu) จะลดค่า Ft ได้ 30 สตางค์ต่อหน่วย
2. ราคา LNG เฉลี่ย 15 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู (MMbtu) จะลดค่า Ft ได้ 26 สตางค์ต่อหน่วย
3. ราคา LNG เฉลี่ย 16 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู (MMbtu) จะลดค่า Ft ได้ 23 สตางค์ต่อหน่วย
ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ. ใช้ตัวเลขจากปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยในเวลาปัจจุบัน
นอกจากนี้ หาก ปตท.สผ. สามารถผลิตก๊าซในอ่าวไทยได้เพิ่มขึ้นจากหลุม G1 ตามแผน ก็จะทำให้อัตราค่า Ft ลดลงได้มากกว่านี้ อาจลดลงได้ถึง 50 สตางค์ต่อหน่วย เนื่องจากราคาก๊าซในอ่าวไทยที่ผลิตได้มีราคาถูกกว่า LNG นำเข้า 2-3 เท่าตัว ซึ่งสามารถนำมาลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม สำนักงาน กกพ. จะติดตามสถานการณ์ ราคาก๊าซ LNG นำเข้า เนื่องจากราคาก๊าซ LNG ในตลาดโลกที่ปรากฏให้เห็นในวันนี้ จะเป็นต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในอีก 45 วันข้างหน้า เพราะกระบวนการสั่งซื้อก๊าซ LNG และขนส่งจากต้นทางมายังคลังก๊าซในประเทศไทยจะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 45 วัน พร้อมกันนั้น สำนักงาน กกพ.จะดำเนินการมาตราการลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าด้านอื่นอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้า เพื่อให้มีไฟฟ้าใช้ตลอดเวลา สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนและประชาชน
"สำนักงาน กกพ. ยังคงขอความร่วมมือผู้ใช้ไฟฟ้าร่วมกันประหยัดพลังงานอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากโครงสร้างค่าไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยของไทยเป็นแบบอัตราก้าวหน้า หากท่านยิ่งใช้ไฟฟ้าจำนวนหน่วยมาก ก็จะถูกเรียกเก็บค่าไฟในอัตราที่สูงขึ้นและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ดังนั้นหากท่านลดการใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นลงนอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของท่านเองแล้ว ยังเป็นการลดต้นทุนโดยรวมด้านพลังงานของประเทศด้วย" สำนักงาน กกพ. ระบุ
อ่านประกอบ :
‘ศาลคดีทุจริตฯ’เลื่อนตัดสิน คดีฟ้อง‘กกพ.-พวก’ปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯเป็นเหตุให้ค่าไฟฟ้าแพง
ครม.ไฟเขียวจัดสรรงบกลาง 1.04 หมื่นล.อุ้มค่าไฟฟ้า 4 เดือน-‘บิ๊กตู่’เชื่อ‘กกต.’อนุมัติเร็ว
จ่ายค่าก๊าซเดือนละ 6 หมื่นล.! ‘คลัง’ห่วง‘กฟผ.’มีปัญหา‘สภาพคล่อง’หลังแบกหนี้ Ft ต่อเนื่อง
ครม.เคาะ 1.1 หมื่นล้าน อุ้มค่าไฟฟ้างวดเดือน พ.ค.-ส.ค.66 เสนอ'กกต.'ไฟเขียวใช้งบกลางฯ
วงเสวนาฯชำแหละ รัฐเอื้อ ‘ทุนใหญ่’ กินรวบโรงไฟฟ้า ส่อขัดรธน.-ปชช.รับเคราะห์จ่ายค่าไฟแพง
ศาล รธน.’ ขอความเห็น ‘นักวิชาการ มธ.-ทีดีอาร์ไอ’ ปมลดสัดส่วนไฟฟ้าภาครัฐต่ำกว่า 51%
‘ศาล รธน.’สั่ง‘ก.พลังงาน-กกพ.-กฤษฎีกา’ส่งความเห็น ปมลดสัดส่วนไฟฟ้าภาครัฐต่ำกว่า 51%
‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ รับคำร้องปมลดสัดส่วนผลิตไฟฟ้าของรัฐต่ำกว่า 51% ขัด รธน.หรือไม่
รัฐหักมติ‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ ปมลดสัดส่วนไฟฟ้าเอกชน ยันกำลังผลิต‘กฟผ.’ 37% ไม่ขัด รธน.
2 ปี ไม่ได้ข้อยุติ! ปมลดสัดส่วนไฟฟ้าเอกชน 'ก.พลังงาน' หลังพิง 'ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี'
‘พลังงาน’ งัด ‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ ปมลดสัดส่วนไฟฟ้าเอกชน-'บิ๊กตู่' ชี้ชะตาธุรกิจแสนล.
ศาล รธน.ไม่รับวินิจฉัยรัฐผลิตไฟฟ้าน้อยกว่า 51% ละเมิดสิทธิ ปชช.ชี้ทำตาม กม.ถูกต้อง