‘ศาลอาญาคดีทุจริตฯ’ เลื่อนตัดสิน คดีฟ้อง ‘ประธาน กกพ.-พวก’ ปมปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯเป็นเหตุให้ 'ค่าไฟฟ้าแพง' เป็น 20 มิ.ย.นี้ พร้อมให้ ‘โจกท์’ ยื่นแก้ฟ้อง 10 ประเด็น ด้าน 'สำนักงาน กกพ.' เผย 6 พ.ค. ไฟพีค 3.48 หมื่นเมกะวัตต์
..............................
เมื่อวันที่ 8 พ.ค. ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษา คดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 65/2566 ระหว่าง นายปริเยศ อังกูรกิตติ โจทก์ และนายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กับพวก และผู้บริหารการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวม 4 คน จำเลย ข้อหาเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นเหตุให้ค่าไฟฟ้าแพง
อย่างไรก็ตาม ศาลฯให้เลื่อนไปนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาวันที่ 20 มิ.ย.2566 เวลา 9.30 นาฬิกา เนื่องจากศาลได้ตรวจคำฟ้องและเอกสารท้ายฟ้องของโจทก์และรายงานเจ้าพนักงานคดีชั้นตรวจฟ้องฉบับลงวันที่ 3 พ.ค.2566 แล้ว เห็นว่า เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง
แต่คำฟ้องยังไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงรายละเอียดและพฤติการณ์ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสี่ พร้อมทั้งชี้ช่องพยานหลักฐานให้ชัดเจนเพียงพอที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไปได้ ตามมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 จึงมีคำสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องโดยระบุข้อเท็จจริงและรายละเอียดตัวบุคคล เอกสาร หรือวัตถุตามที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสี่กระทำผิดตามฟ้อง
พร้อมเสนอหรือชี้ช่องพยานหลักฐานที่จะสนับสนุนข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์ รวมถึงพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้
1.โจทก์ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำของจำเลยทั้งสี่อย่างไร
2.การกระทำของจำเลยแต่ละคนว่า มีการกระทำใดที่โจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสี่ได้กระทำผิดข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาซึ่งเกิดการกระทำนั้นๆ อีกทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยทั้งสี่เข้าใจข้อหาได้ดี
3.จำเลยแต่ละคนมีการกระทำร่วมกันหรือสนับสนุนการกระทำความผิดอย่างไร
4.การกำหนดปริมาณไฟฟ้าสำรอง เป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรใดหรือคณะกรรมการชุดใด โดยอาศัยอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ มติ หรือข้อบังคับใด และการกำหนดปริมาณไฟฟ้าสำรองที่ถูกต้องเหมาะสม ควรกำหนดอย่างไร ปริมาณเท่าใด หรือในสัดส่วนอย่างไร เพราะเหตุใด และอ้างอิงจากอะไร
5.เพราะเหตุใดการกำหนดปริมาณไฟฟ้าสำรองที่สูงเกินจำเป็น หรือเกินความต้องการในการใช้ไฟฟ้า ทำให้โจทก์หรือประชาชนต้องรับภาระค่าใช้จ่ายสูงเกินจำเป็น และภาระนี้ถูกผลักมาให้โจทก์หรือประชาชนอย่างไร และในรูปแบบใด
6.องค์กรใดหรือคณะกรรมการชุดใดเป็นผู้กำหนดและคิดคำนวณค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) โดยอาศัยอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ มติ หรือข้อบังคับใด และค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ที่เรียกเก็บจากโจทก์และประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้ามีการคิดคำนวณโดยถูกต้องเหมาะสม หรือไม่ อย่างไร และที่ถูกต้องควรคิดคำนวณอย่างไร อ้างอิงจากอะไร
7.การกำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าระหว่างรัฐกับเอกชน เป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรใดหรือคณะกรรมการชุดใด โดยอาศัยอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ มติ หรือข้อบังคับใดและสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าระหว่างรัฐกับเอกชนที่ถูกต้องเหมาะสม ควรมีสัดส่วนอย่างไร อ้างอิงจากอะไร การที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของรัฐเหลือประมาณร้อยละ 30 และทำสัญญามอบการผลิตให้เอกชนจำนวนร้อยละประมาณ 65 เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ มติ หรือข้อบังคับใด
8.ระบุการกระทำหรือพฤติการณ์ของจำเลยแต่ละคนว่า มีมูลเหตุจูงใจหรือมีเจตนากระทำความผิดเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้ใดหรือไม่ อย่างไร
9.ชี้ช่องพยานหลักฐานให้ชัดเจนว่า คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ มีมติเห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 (PDP2018) เมื่อใด และได้มีมติเห็นชอบให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานดำเนินการตามแนวทางของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานแห่งชาติ และเสนอผลการดำเนินการต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเมื่อใด อย่างไร
และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ปฏิบัติตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเมื่อใด อย่างไร ตามรายงานการประชุมฉบับใด เมื่อใด ทั้งนี้ หากมีพยานหลักฐานใดที่สนับสนุนหรือแสดงให้เห็นถึงการกระทำหรือพฤติการณ์ในการกระทำความผิดเช่นว่านั้นของจำเลยแต่ละคน ให้โจทก์ชี้ช่องพยานหลักฐานให้ชัดเจนเพียงพอที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้
10.จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำขัดต่อ พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มาตราใด อย่างไร
“ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางเห็นสมควรให้โจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องและจัดทำคำฟ้องฉบับสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 ที่แก้ไขแล้วมายื่นใหม่ เพื่อใช้แทนคำฟ้องฉบับเดิมด้วย โดยให้เลื่อนไปนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาวันที่ 20 มิ.ย.2566 เวลา 9.30 น.” เอกสารข่าวของศาลอาญาคดีทุจริตฯ ลงวันที่ 8 พ.ค.ระบุ
วันเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เผยแพร่เอกสารข่าว โดยระบุว่า จากสภาวะอากาศร้อนมากในช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมาทำให้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง และเมื่อวันที่ 6 พ.ค.2566 ช่วงเวลา 21.41 น. ได้เกิดสถิติความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของระบบไฟฟ้า หรือ ค่าพีค (Peak) ใหม่ อยู่ที่ 34,826.50 เมกะวัตต์ สูงกว่า Peak เดิม เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2565 เวลา 14.30 น. ที่อยู่ที่ 33,177.30 เมกะวัตต์
“จากสภาพอากาศร้อนจัดในช่วงวันหยุดยาวต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 4-7 พ.ค.2566 ส่งผลประชาชน มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพื่อคลายร้อน อีกทั้งเครื่องทำความเย็นประเภทต่างๆ ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น พัดลม มีความต้องการใช้ปริมาณไฟฟ้ามากขึ้นเพื่อทำความเย็นให้มากขึ้นตามภาวะอากาศร้อนจัดเช่นกัน” สำนักงาน กกพ. ระบุ
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า จากเอกสารรายงานประจำปี 2565 ของ กฟผ. ระบุว่า ในปี 2565 โรงไฟฟ้าในระบบของ กฟผ. มีกำลังผลิตตามสัญญารวม 49,098.80 เมกะวัตต์ โดยแบ่งเป็นโรงไฟฟ้า ของ กฟผ. มีกำลังผลิตตามสัญญา 16,920.32 เมกะวัตต์ คิดเป็นร้อยละ 34.46 รับซื้้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) กำลังผลิตรวม 16,748.50 เมกะวัตต์์ คิดเป็นร้อยละ 34.11 รับซื้้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) 9,195.08 เมกะวัตต์ คิดเป็นร้อยละ 18.73 และรับซื้้อไฟฟ้าจากต่างประเทศอีก 6,234.90 เมกะวัตต์ คิดเป็นร้อยละ 12.70
อ่านประกอบ :
ครม.ไฟเขียวจัดสรรงบกลาง 1.04 หมื่นล.อุ้มค่าไฟฟ้า 4 เดือน-‘บิ๊กตู่’เชื่อ‘กกต.’อนุมัติเร็ว
จ่ายค่าก๊าซเดือนละ 6 หมื่นล.! ‘คลัง’ห่วง‘กฟผ.’มีปัญหา‘สภาพคล่อง’หลังแบกหนี้ Ft ต่อเนื่อง
ครม.เคาะ 1.1 หมื่นล้าน อุ้มค่าไฟฟ้างวดเดือน พ.ค.-ส.ค.66 เสนอ'กกต.'ไฟเขียวใช้งบกลางฯ
วงเสวนาฯชำแหละ รัฐเอื้อ ‘ทุนใหญ่’ กินรวบโรงไฟฟ้า ส่อขัดรธน.-ปชช.รับเคราะห์จ่ายค่าไฟแพง
ศาล รธน.’ ขอความเห็น ‘นักวิชาการ มธ.-ทีดีอาร์ไอ’ ปมลดสัดส่วนไฟฟ้าภาครัฐต่ำกว่า 51%
‘ศาล รธน.’สั่ง‘ก.พลังงาน-กกพ.-กฤษฎีกา’ส่งความเห็น ปมลดสัดส่วนไฟฟ้าภาครัฐต่ำกว่า 51%
‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ รับคำร้องปมลดสัดส่วนผลิตไฟฟ้าของรัฐต่ำกว่า 51% ขัด รธน.หรือไม่
รัฐหักมติ‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ ปมลดสัดส่วนไฟฟ้าเอกชน ยันกำลังผลิต‘กฟผ.’ 37% ไม่ขัด รธน.
2 ปี ไม่ได้ข้อยุติ! ปมลดสัดส่วนไฟฟ้าเอกชน 'ก.พลังงาน' หลังพิง 'ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี'
‘พลังงาน’ งัด ‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ ปมลดสัดส่วนไฟฟ้าเอกชน-'บิ๊กตู่' ชี้ชะตาธุรกิจแสนล.
ศาล รธน.ไม่รับวินิจฉัยรัฐผลิตไฟฟ้าน้อยกว่า 51% ละเมิดสิทธิ ปชช.ชี้ทำตาม กม.ถูกต้อง