“...นักการเมืองที่ทำสัญญาซื้อไฟจากเอกชนไปเรื่อยๆ โดยไม่มีที่สิ้นสุด เพราะโง่เหรอ เพราะคิดไม่เป็นเหรอ หรือว่ามันมีผลประโยชน์หรือเปล่า ซึ่งสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังมา แต่ไม่มีใบเสร็จ คือ เมกะวัตต์ละ 1 ล้านบาท ถ้านักการเมืองเซ็นสัญญาซื้อไฟ 6-8 บาท/หน่วย แพงกว่าราคาที่ กฟผ.ขาย แล้วมีค่าพร้อมจ่ายให้ 25% ไม่ว่าจะผลิตหรือไม่ผลิตก็ตาม ตลอดอายุสัญญาฯ 25 ปี อยากรู้ว่าเขาได้ตรงนี้มาฟรีหรือไม่ และนี่เป็นวงจรการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ใหญ่ที่สุดใช่หรือไม่...”
.........................................
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์รับคำร้องของ สุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล ซึ่งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า กระทรวงพลังงานกำหนดยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงาน (พ.ศ.2559-2563) และแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 (PDP 2018) ทำให้สัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าของรัฐลดลงต่ำกว่าร้อยละ 51 เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง หรือไม่ นั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) จัดงานเสวนาวิชาการ เรื่อง ‘รัฐผิดพลาด เอื้อทุนใหญ่ ทำค่าไฟแพง ขัดรัฐธรรมนูญ?’ โดยวิทยากรที่เข้าร่วมงานเสวนาฯต่างก็เห็นพ้องกันว่า การที่ภาครัฐละเลย หรือมีการกระทำใดๆที่ทำให้สัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าของรัฐลดลงต่ำกว่า 51% นั้น เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 และเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใหญ่
@นักกฎหมายชี้รัฐต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ‘ระบบผลิตไฟฟ้า’
ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ อ.ประจำคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวในงานเสวนาฯ ตอนหนึ่งว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 56 ที่บัญญัติว่า “รัฐต้องจัดหรือดำเนินให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จําเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึงตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน
โครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐอันจําเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ รัฐจะกระทำด้วยประการใดให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนหรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ด (51) มิได้
การจัดหรือดำเนินการให้มีสาธารณูปโภคตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง รัฐต้องดูแลมิให้มีการเรียกเก็บค่าบริการจนเป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร
การนําสาธารณูปโภคของรัฐไปให้เอกชนดำเนินการทางธุรกิจไม่ว่าด้วยประการใดๆ รัฐต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนอย่างเป็นธรรม โดยคำนึงถึงการลงทุนของรัฐ ประโยชน์ที่รัฐและเอกชนจะได้รับและค่าบริการที่จะเรียกเก็บจากประชาชนประกอบกัน” นั้น มีจุดมุ่งหมาย 4 ประการ ได้แก่
ประการแรก รัฐต้องจัดให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึง คือ รัฐมีหน้าที่ต้องจัดหาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา ให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างเป็นธรรม เสมอภาค และต่อเนื่อง
ประการที่สอง เพื่อเป็นการสร้าง ‘หลักประกัน’ ที่ทำให้มั่นใจว่า รัฐจะจัดให้มีบริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานฯ ให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างเป็นธรรม เสมอภาค และต่อเนื่อง นั้น ความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเหล่านั้น ต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ
ประการที่สาม การเรียกเก็บค่าบริการจากกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานฯดังกล่าว จะกระทำให้เป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควรไม่ได้ ดังนั้น กิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็น จึงต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ เพื่อไม่ให้มีการเรียกเก็บค่าบริการฯ จนสร้างภาระแก่ประชาชนเกินสมควร
ประการที่สี่ การนําสาธารณูปโภคของรัฐไปให้เอกชนดำเนินการทางธุรกิจ รัฐต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนอย่างเป็นธรรม โดยคำนึงถึงการลงทุนของรัฐ ประโยชน์ที่รัฐและเอกชนจะได้รับ และค่าบริการที่จะเรียกเก็บจากประชาชนประกอบกัน
ศ.ดร.บรรเจิด กล่าวต่อว่า เมื่อรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 56 ได้วางหลักการให้รัฐต้องจัดทำบริการสาธารณะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ,หลักความเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ ,หลักการไม่สร้างภาระให้แก่ประชาชนเกินสมควร และหลักการคำนึงประโยชน์ของรัฐ เอกชน และค่าบริการฯ เพื่อเป็นหลักประกันขั้นพื้นฐานให้ประชาชน และความมั่นคงของรัฐเอาไว้
ดังนั้น การที่ภาครัฐให้เอกชนมีกรรมสิทธิ์ในระบบการผลิตไฟฟ้าเกิน 51% นั้น จะส่งผลกระทบต่อหลักประกันในกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐ ซึ่งตามมาตรา 56 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ระบุว่า มิอาจกระทำได้ และเมื่อพิจารณาจากสัญญาซื้อไฟฟ้าที่รัฐทำกับเอกชนนั้น จะเห็นได้ว่าขัดต่อมาตรา 56 วรรคท้าย อย่างชัดเจน
อีกทั้งเมื่อพิจารณาบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญกับกิจการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะเห็นได้ว่า การที่รัฐทำให้ระบบการผลิตไฟฟ้าตกเป็นกรรมสิทธิ์เอกชน หรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่า 51% นั้น ย่อมจะส่งผลกระทบต่อหลักประกันขั้นพื้นฐานของประชาชน และนำไปสู่การผลักภาระให้ประชาชนเกินสมควรได้
“การดำเนินการของ กฟผ. จึงเป็นการกระทำที่กระทบต่อหลักประกันในกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐ ตามมาตรา 56 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 การกระทำจึงเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า ไม้ซีกจะไปงัดไม้ซุงได้หรือไม่เท่านั้น ถ้าไม่ซีกงัดไม่ซุงไม่ได้ ประเทศไทยจะถูกทุนใหญ่กินรวบ” ศ.ดร.บรรเจิด กล่าว
ศ.ดร.บรรเจิด ระบุด้วยว่า การที่มาตรา 56 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2560 ถูกกำหนดไว้ในหมวด ‘หน้าที่ของรัฐ’ ก็หมายความว่า เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องทำ จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ และเป็นสิทธิของประชาชนและชุมชนโดยตรงที่จะติดตาม และเร่งรัดให้รัฐดำเนินการ ตลอดจนฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดให้ประชาชน ชุมชน ได้รับประโยชน์ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ
(ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ)
@‘กกพ.’ ละเลยหน้าที่-ไม่กำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของรัฐ
ด้าน พงษ์ดิษฐ พจนา อดีตรองผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และอดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ระบุว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 56 บัญญัติว่า รัฐต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในกิจการสาธารณูปโภคพื้นฐาน โครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของสาธารณูปโภคไม่น้อยกว่า 51%
แต่ในกิจการไฟฟ้า รัฐกลับปล่อยปละละเลยจนส่งผลให้ ณ เดือน ม.ค.2565 กฟผ.มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าเหลือเพียง 32% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งระบบ และปีหน้าคาดว่าอาจจะมีสัดส่วนลดเหลือ 25% เท่านั้น ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 56 อย่างชัดเจน
อย่างไรก็ดี แม้ว่าที่ผ่านมาผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีคำวินิจฉัยว่า การกระทำดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อรายงานไปที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) กระทรวงพลังงานกลับบอกว่า ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ โดยอ้างความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่า ระบบผลิตไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐาน ต้องแยกเป็นคนละกรณีกัน และกระทรวงพลังงานก็ไม่มีนโยบายจำหน่าย จ่ายแจก โครงสร้างพื้นฐานไปให้เอกชน
“ในมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 กำหนดนิยามของ ‘กิจการไฟฟ้า’ ว่า หมายถึง การผลิต การจัดให้ได้มา การจัดส่ง การจําหน่ายไฟฟ้า หรือการควบคุมระบบไฟฟ้า ซึ่งในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานนั้น รัฐไม่เคยคิดที่จะแปรรูปสายส่ง และระบบจำหน่ายอยู่แล้ว แต่การที่รัฐได้กระทำใดๆที่ให้ระบบผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นโครงสร้างหนึ่งของกิจการไฟฟ้า ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนเกิน 51% นั้น ผมเห็นว่าเป็นการขัดรัฐธรรมนูญแน่นอน” พงษ์ดิษฐ ระบุ
พงษ์ดิษฐ ยังระบุว่า ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 มาตรา 8 (5) ซึ่งว่าด้วยแนวนโยบายพื้นว่าด้วยกิจการพลังงาน นั้น กำหนดให้รัฐพึงสนับสนุนกิจการไฟฟ้าเพื่อสาธารณูปโภคพื้นฐาน การรักษาความมั่นคงและเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า
โดยรัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการในกิจการโครงข่ายไฟฟ้า ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ซึ่ง กฟผ. เป็นผู้ประกอบกิจการระบบส่งไฟฟ้า การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าสายภูมิภาค (กฟภ.) เป็นผู้ประกอบกิจการระบบจำหน่ายไฟฟ้า รวมทั้งการรักษาสัดส่วนไฟฟ้าที่เหมาะสมของกิจการไฟฟ้าของรัฐ นั้น
แต่ปรากฏว่าที่ผ่านมาภาครัฐ และหน่วยงานกำกับดูแลกิจการพลังงาน หรือ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไม่เคยมีการกำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าที่เหมาะสมในกิจการไฟฟ้าของรัฐแม้แต่ครั้งเดียว ซึ่งเป็นการละเลยในเรื่องที่เป็นนัยสำคัญ และถือว่าเป็นการกระทำที่โปร่งใสหรือไม่
(พงษ์ดิษฐ พจนา)
@รัฐทำสัญญา ‘เสียเปรียบทุกประตู’ เอื้อโรงไฟฟ้าเอกชน
รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาถึงความเป็นเจ้าของในกิจการสาธารณูปโภค โดยเฉพาะความเป็นเจ้าของในกิจการไฟฟ้าของรัฐนั้น จะต้องดูกิจการไฟฟ้าทั้ง 6 ระบบ คือ ระบบผลิต ระบบส่งไฟฟ้า ระบบจำหน่าย ระบบ Smart Grid ระบบสื่อสารเพื่อควบคุมสั่งการ และมีระบบบริหารจัดการ นั้น รัฐเป็นเจ้าของทั้ง 6 ระบบเกิน 50% หรือไม่
และต้องไม่ใช่ดูเพียงบางระบบเท่านั้น หรือเอาทุกระบบมารวมกันแล้วหารและบอกว่ารัฐเป็นเจ้าของเกิน 50% นั้น ก็คงไม่ใช่ เพราะการทำให้ระบบพลังงานมีความมั่นคงนั้น รัฐต้องเป็นเจ้าของทั้ง 6 ระบบ เกินกว่า 50% โดยเฉพาะการเป็นเจ้าของระบบการผลิตไฟฟ้าเกิน 50% เนื่องจากระบบการผลิตไฟฟ้าเป็นหัวใจของกิจการไฟฟ้า
“รัฐธรรมนูญ มาตรา 56 วรรคสอง ระบุว่า โครงสร้างหรือโครงข่ายพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐ อันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ...ซึ่งคำว่าของรัฐนั้น แปลว่า จะทำให้เอกชนเป็นเจ้าของเกิน 51% ไม่ได้” รศ.ดร.ชาลี กล่าว
รศ.ดร.ชาลี กล่าวด้วยว่า แม้ว่าที่เอกชนจะบอกว่าไม่ได้เข้าไปยึดกิจการโรงไฟฟ้าของ กฟผ. หรือไม่ได้มีการแปรรูป กฟผ. แต่อย่างใด โดยเอกชนใช้วิธีการสร้างโรงไฟฟ้าของตัวเองเพิ่มขึ้นมานั้น ต้องไม่ลืมว่า เดิมทีสิทธิในการผลิตไฟฟ้าดังกล่าวเป็นของรัฐเกือบ 100% และเมื่อสิทธิการผลิตไฟฟ้าตกไปอยู่กับเอกชน สุดท้ายแล้ว กฟผ. ก็จะเหลือแต่โครง
รศ.ดร.ชาลี กล่าวต่อว่า โมเดลของภาครัฐที่ค่อยๆให้เอกชนเข้ามาผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆนั้น เป็นสาเหตุที่ทำให้คนไทยต้องใช้ไฟฟ้าในราคาสูงเกินสมควร เนื่องจากในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ที่รัฐทำกับเอกชนนั้น เป็นสัญญาที่ภาครัฐเสียเปรียบ คือ หากโรงไฟฟ้าเอกชนหยุดนิ่งๆ ไม่เดินเครื่อง รัฐก็ต้องจ่ายค่าพร้อมจ่าย หรือ take or pay ให้กับโรงไฟฟ้าเอกชน และต้นทุนเหล่านั้นก็ย้อนกลับมาเป็นสร้างภาระให้กับผู้บริโภคเกินสมควร
“เวลาพูดถึงการร่วมทุนกับเอกชน รัฐต้องทำให้ได้ประโยชน์ตอบแทนอย่างเป็นธรรม แต่ดูเหมือนว่าสัญญา PPA ที่รัฐทำกับเอกชนนั้น ดูเหมือนว่ารัฐจะเสียเปรียบทุกประตู เพราะไม่ว่าเอกชนจะผลิตหรือไม่ผลิตไฟฟ้า รัฐก็ต้องจ่ายค่า take or pay เพื่อทำให้เอกชนมีกำไรตามที่เขาคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการหมิ่นเหม่ว่า เป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่” รศ.ดร.ชาลี กล่าว
(รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์)
รศ.ดร.ชาลี ย้ำว่า ที่หลายๆคนบอกว่าค่าไฟฟ้าแพงขึ้น เป็นเพราะก๊าซแพงนั้น นั่นเป็นปรากฎการณ์ที่อยู่บนยอดภูเขาเท่านั้น โดยต้นตอที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพง มาจากการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าภายใต้แผน PDP ให้สูงเกินจริง เพื่อนำไปสู่การลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้น ในขณะที่คนพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าที่สูงเกินจริงเหล่านั้น ไม่มีใครต้องรับผิดชอบอะไรเลย
และเมื่อมีโรงไฟฟ้าใหม่ แทนที่รัฐจะให้ กฟผ.เป็นคนสร้าง กลับเปิดให้เอกชนเข้ามาประมูลโรงไฟฟ้า ทั้งๆที่ไม่มีความเสี่ยงอะไรเลย และยังการันตีกำไรให้เอกชน โดยการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแบบ take or pay ซึ่งทำให้เอกชนไม่มีความเสี่ยงในการขาดทุน แต่ภาระผูกพันจากค่า take or pay เหล่านั้น ประชาชนต้องจ่าย ซึ่งมีมูลค่าปีละหลักหมื่นล้าน
“สัญญาซื้อขายไฟฟ้าแบบ take or pay แบบนี้ คนสร้างโรงไฟฟ้าได้กำไรแน่นอน แต่คนที่รับความเสี่ยงสุดท้าย คือ ประชาชน และยิ่งผ่านไปจะพบว่าเกิดปรากฏการณ์ที่ผ่องถ่ายโรงไฟฟ้าไปยังเอกชนเกิดขึ้นอย่างไม่รู้จบ” รศ.ดร.ชาลี ระบุ
รศ.ดร.ชาลี ให้ข้อมูลว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา กฟผ. ซึ่งเคยมีกำลังผลิตไฟฟ้า 1.5 หมื่นเมกะวัตต์ หรือคิดเป็นสัดส่วน 60-70% ของกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งระบบ แต่ปัจจุบันกำลังผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ยังคงอยู่ 1.5-1.6 หมื่นเมกะวัตต์ และสัดส่วนลดลงเหลือเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น
ในขณะที่ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ซึ่งเมื่อ 20 ปีที่แล้ว มีกำลังผลิตไฟฟ้า 4,000 เมกะวัตต์ ปัจจุบันกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น 1.5 หมื่นเมกะวัตต์ ส่วนผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) เดิมมีกำลังผลิตไฟฟ้า 1,000 เมกะวัตต์ แต่ปัจจุบันกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มมาอยู่ที่ 9,000 เมกะวัตต์
“การค่อยๆเปลี่ยนกำลังการผลิตไฟฟ้าไปอยู่ในมือเอกชน หลายๆคนอาจคิดว่า เราจะได้โรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รัฐไม่ต้องเป็นหนี้ และประเทศมีความมั่นคง มีไฟฟ้าเหลือใช้ แต่แท้จริงแล้ว สัญญาซื้อไฟฟ้า หรือ PPA รัฐทำกับเอกชนนั้น รัฐค่อนข้างเสียเปรียบ” รศ.ดร.ชาลี ระบุ
@โรงไฟฟ้าเอกชนฟันรายได้ค่าไฟฟ้า 5.2 แสนล้าน/ปี
รสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะพลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์การของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า แม้ว่าการแปรรูป กฟผ. จะล้มเลิกไปในปี 2548 แต่หลังจากนั้นภาครัฐทยอยเปิดให้เอกชนเข้ามาผลิตไฟฟ้าแทน กฟผ. หรือเป็นกระบวนการล้วงไส้ จนทำให้ปัจจุบัน กฟผ. มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าเหลือเพียง 28.7% เท่านั้น
“ปัจจุบัน กฟผ. มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าเหลือประมาณ 30% ส่วนที่เหลืออีก 65% เป็นของเอกชน ซึ่งเท่ากับว่าค่าใช้จ่ายไฟฟ้าทั้งประเทศที่ได้จ่ายไป 8 แสนล้านบาท/ปี ณ ปี 2565 นั้น เงิน 5.2 แสนล้านบาทอยู่ในมือเอกชน ส่วนที่เหลือ 2.8 แสนล้านบาท เป็นของกิจการผลิตไฟฟ้าของรัฐ ซึ่งขนาดของเอกชนที่มากินตรงนี้ มันมากขนาดไหน จึงอยากถามว่ารัฐผิดพลาดหรือเปล่า มีการเอื้อเอกชนหรือไม่” น.ส.รสนา กล่าว
รสนา ยังระบุว่า ที่ผ่านมาประชาชนบ่นเรื่องค่าไฟฟ้าแพง แต่อาจไม่ทราบถึงสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพง ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงเกินจริงมาจากอย่างน้อย 3 ประเด็น คือ
1.รัฐทำสัญญาซื้อไฟฟ้าจากเอกชนในลักษณะเสียเปรียบ คือ รัฐประกันกำไรที่เรียกว่า ‘ค่าพร้อมจ่าย’ ในอัตรา 25% ให้กับโรงไฟฟ้าเอกชน ซึ่งไม่ว่าเอกชนจะผลิตหรือไม่ผลิตไฟฟ้า รัฐจะจ่ายเงินตรงนี้ให้เอกชน คิดเป็นเงินประมาณไตรมาสละ 7,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นเงินประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท ที่รัฐจ่ายให้โรงไฟฟ้าเอกชน และภาระเหล่านี้ตกมาเป็นภาระของประชาชน
2.นโยบายสนับสนุนพลังงานทดแทนของรัฐ เช่น ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และไฟฟ้าพลังงานลม ซึ่งแม้ปัจจุบัน กฟผ.กำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนลงมาอยู่ที่ 3-6 บาท/หน่วย จากเดิม 11-12 บาท/หน่วย แต่ราคารับซื้อไฟฟ้าที่สูงกว่าราคาที่ กฟผ. ขายให้กับ กฟน.และกฟภ. ในอัตรา 2.8 บาท/หน่วยนั้น ทำให้มีภาระปีละ 1 แสนล้านบาท
“การที่ กฟผ. ซื้อไฟฟ้าจากเอกชนในราคาแพงกว่าราคาที่ขายไปนั้น จะถูกผลักเข้ามาเป็นรายจ่ายของประชาชน ผ่านค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft) เป็นเงินรวมแล้ว 1.28 แสนล้านบาท/ปี แบ่งเป็นค่าความพร้อมจ่าย 2.8 หมื่น และค่าชดเชยซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนในราคาแพงอีก 1 แสนล้าน ซึ่งถามว่าเป็นการเอื้อทุนใหญ่ใช่หรือไม่” รสนา กล่าว
3.การที่รัฐให้สิทธิเอกชนรายใหญ่นำก๊าซปิโตรเลียมในอ่าวไทย ซึ่งถือว่าเป็นก๊าซคุณภาพดี มาเป็นวัตถุดิบในธุรกิจปิโตรเคมีเป็นหลัก และลดสัดส่วนก๊าซที่จะเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าลดลง จนต้องนำเข้าก๊าซ LNG ในราคาแพงมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้ามากขึ้น เอื้อทุนใหญ่ใช่หรือไม่
(รสนา โตสิตระกูล)
รสนา ตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงที่ผ่านมาสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี จนมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองเกินความต้องการสูงถึง 53-54% เป็นเพราะมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่
“นักการเมืองที่ทำสัญญาซื้อไฟจากเอกชนไปเรื่อยๆ โดยไม่มีที่สิ้นสุด เพราะโง่เหรอ เพราะคิดไม่เป็นเหรอ หรือว่ามันมีผลประโยชน์หรือเปล่า ซึ่งสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังมา แต่ไม่มีใบเสร็จ คือ เมกะวัตต์ละ 1 ล้านบาท ถ้านักการเมืองเซ็นสัญญาซื้อไฟ 6-8 บาท/หน่วย แพงกว่าราคาที่ กฟผ.ขาย แล้วมีค่าพร้อมจ่ายให้ 25% ไม่ว่าจะผลิตหรือไม่ผลิตก็ตาม ตลอดอายุสัญญาฯ 25 ปี อยากรู้ว่าเขาได้ตรงนี้มาฟรีหรือไม่ และนี่เป็นวงจรการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ใหญ่ที่สุดใช่หรือไม่” รสนา กล่าว
@ไฟฟ้าสำรองพุ่ง 54% ทำค่าไฟฟ้าเพิ่ม-เอื้อเอกชนหรือไม่
ขณะที่ นายปรีชา กรปรีชา รองประธานสหภาพแรงงานด้านยุทธศาสตร์ แผนงาน และวิชาการ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) กล่าวว่า ในการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคต กฟผ. นั้น กฟผ.จะดูว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าแต่ละปีจะอยู่ที่เท่าไหร่ และมีการตั้งค่าไฟฟ้าสำรองไว้ที่ 15% ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่พบว่ามีปัญหาไฟดับ แต่ปัจจุบันกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองกลับสูงถึง 54% และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพง
“ค่าไฟแพงไม่แพง มันอยู่ที่ไฟฟ้าสำรอง เพราะไฟฟ้าสำรองเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนการผลิต ซึ่งในสมัยก่อนๆที่ กฟผ.ทำ เราจะมีสำรองไฟฟ้าไว้ที่ 15% คือ เผื่อไว้สำหรับโรงไฟฟ้าซ่อมแซม เพื่อไว้ว่าการพยากรณ์ผิดพลาดไป เผื่อไว้ว่าประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าเสื่อม และการส่งจำหน่ายไม่ดีหรือมีความผิดพลาด เป็นต้น แม้แต่ตอนไฟพีคสุดในเดือน เม.ย. ไฟก็ไม่ดับ แต่ตอนนี้เรามีไฟสำรอง 54% ซึ่งทำให้ค่าไฟแพง” นายปรีชา กล่าว
นายปรีชา ระบุด้วยว่า การที่รัฐทำสัญญาซื้อไฟฟ้าจากเอกชน โดยกำหนดให้มีค่าพร้อมจ่าย โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการดึงดูดให้เอกชนมาลงทุนนั้น แต่ในความจริงแล้วเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนมากกว่า และสัญญาที่รัฐทำกันเอกชนอย่างนี้ทำให้เอกชนสามารถนำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ไปกู้เงินจากที่ไหนก็ได้
(ปรีชา กรปรีชา)
อ่านประกอบ :
ศาล รธน.’ ขอความเห็น ‘นักวิชาการ มธ.-ทีดีอาร์ไอ’ ปมลดสัดส่วนไฟฟ้าภาครัฐต่ำกว่า 51%
‘ศาล รธน.’สั่ง‘ก.พลังงาน-กกพ.-กฤษฎีกา’ส่งความเห็น ปมลดสัดส่วนไฟฟ้าภาครัฐต่ำกว่า 51%
‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ รับคำร้องปมลดสัดส่วนผลิตไฟฟ้าของรัฐต่ำกว่า 51% ขัด รธน.หรือไม่
รัฐหักมติ‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ ปมลดสัดส่วนไฟฟ้าเอกชน ยันกำลังผลิต‘กฟผ.’ 37% ไม่ขัด รธน.
2 ปี ไม่ได้ข้อยุติ! ปมลดสัดส่วนไฟฟ้าเอกชน 'ก.พลังงาน' หลังพิง 'ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี'
‘พลังงาน’ งัด ‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ ปมลดสัดส่วนไฟฟ้าเอกชน-'บิ๊กตู่' ชี้ชะตาธุรกิจแสนล.
ศาล รธน.ไม่รับวินิจฉัยรัฐผลิตไฟฟ้าน้อยกว่า 51% ละเมิดสิทธิ ปชช.ชี้ทำตาม กม.ถูกต้อง