“…โครงสร้างและโครงข่ายของรัฐยังคงเป็นของรัฐ ในส่วนการดำเนินการของเอกชน ก็เป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนอยู่แล้ว เพียงแต่เอกชนเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าและรัฐเป็นผู้ซื้อไฟฟ้าหรือซื้อบริการจากเอกชนเท่านั้น รัฐไม่ได้จำหน่ายโครงสร้างหรือสิ่งปลูกสร้างใดๆ…”
..............................
สืบเนื่องจากกรณีที่เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.2562 ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้มีคำวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนที่ 2143/2560 เรื่องร้องเรียนเลขแดงที่ 1030/2562 ว่า กระทรวงพลังงานปฏิบัติไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 56 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า
“โครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐอันจําเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ รัฐจะกระทำด้วยประการใดให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนหรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ด (51) มิได้”
เนื่องจากปราฎข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ปัจจุบันรัฐได้ส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีสัดส่วนในการผลิตไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น ส่งผลให้กำลังการผลิตของรัฐ ซึ่งดำเนินการโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีเพียง 37% และลดลงเรื่อยๆ
อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงาน และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2558-2579 (PDP 2015) ซึ่งได้ปรับปรุงใหม่เป็นแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 (PDP 2018) (อ่านประกอบ : ‘พลังงาน’ งัด ‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ ปมลดสัดส่วนไฟฟ้าเอกชน-'บิ๊กตู่' ชี้ชะตาธุรกิจแสนล.)
ต่อมาเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2564 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้รายงานการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน (กรณีกระทรวงพลังงานกำหนดนโยบายและแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า ตามมาตรา 56 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560) ให้ที่ ครม. รับทราบ
โดยระบุว่า กระทรวงพลังงานยังไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินในการดำเนินการให้รัฐมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 51% ภายในกำหนด 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2562
และครม.มีมติมอบหมายให้ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และรมว.พลังงาน เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาข้อยุติในเรื่องดังกล่าว นั้น (อ่านประกอบ : 2 ปี ไม่ได้ข้อยุติ! ปมลดสัดส่วนไฟฟ้าเอกชน 'ก.พลังงาน' หลังพิง 'ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี')
ล่าสุด เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2565 ครม. มีมติเห็นชอบให้กระทรวงพลังงานดำเนินการตามยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงานและแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2558-2579 (PDP 2015) ซึ่งได้ปรับปรุงใหม่เป็นแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 (PDP 2018) และฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ต่อไป
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รายงานให้ ครม.รับทราบ ก่อนที่ ครม.จะมีมติดังกล่าว ซึ่งเป็นมติที่ไม่สอดคล้องกับ ‘คำวินิจฉัย’ ของผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งได้วินิจฉัยว่า การให้รัฐมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าน้อยกว่า 51% นั้น เป็นการปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 ดังนี้
@‘พลังงาน’ ตั้ง 3 ประเด็น พิจารณาคำวินิจฉัย ‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’
เมื่อวันที่ 28 ต.ค.2564 กระทรวงพลังงานได้จัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
โดยที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาใน 3 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่ 1 ผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำวินิจฉัยว่า การกำหนดนโยบายและแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของกระทรวงพลังงาน โดยการลดสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ทำให้สัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าของรัฐ ต่ำกว่าร้อยละ 51 ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 56 วรรคสอง
ประเด็นที่ 2 ผู้ตรวจการแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้กระทรวงพลังงานทบทวนแก้ไขยุทธศาสตร์และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) โดยมีสาระสำคัญ คือ ให้กระทรวงพลังงานพิจารณาทบทวนยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงานและแผน PDP เพื่อกำหนดแนวทางให้รัฐมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าที่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 51
ประเด็นที่ 3 ผู้ตรวจการแผ่นดินมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับผลกระทบต่อความมั่นคงและค่าไฟฟ้า
โดยมีสาระสำคัญคือ เมื่อรัฐมิได้เป็นเจ้าของระบบการผลิตย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าและส่งผลต่อสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของรัฐ ให้มีน้อยกว่าร้อยละ 51 และอาจจะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากการใช้ไฟฟ้าในราคาที่สูงเกินจริงจากต้นทุนและปริมาณการผลิต
หน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องมีความเห็นในประเด็นดังกล่าวข้างต้น โดยสรุปได้ดังนี้
@ชี้การสั่งการเป็นอำนาจ‘ครม.’-แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ร้องยื่น‘ศาลรัฐธรรมนูญ’
สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน
มีความเห็นว่า เรื่องนี้สืบเนื่องมาจากมีผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับสัดส่วนการบริหารจัดการการผลิตไฟฟ้าว่า สอดคล้องกับมาตรา 56 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 หรือไม่
สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้สอบสวนแสวงหาข้อเท็จจริง โดยเชิญผู้ร้องเรียน ผู้ที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมชี้แจง และได้มีคำวินิจฉัยออกมา โดยมีสาระสำคัญว่า การที่รัฐเป็นเจ้าของไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ตามที่รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 56 กำหนดไว้ นั้น
จะต้องพิจารณาแยกส่วนกัน ทั้งระบบการผลิต ระบบการส่ง และระบบการจำหน่าย โดยรัฐจะต้องเป็นเจ้าของแต่ละส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ไม่ใช่การนำทั้งสามส่วนมารวมกันให้เกินร้อยละ 51 หรือนำเอาสัดส่วนที่ถือหุ้นมารวมกัน แล้วนำมาเฉลี่ยให้เกินร้อยละ 51
เพราะคำว่ารัฐเป็นเจ้าของนั้น ต้องมีอำนาจเข้าไปควบคุมและบริหารจัดการด้วย
และได้มีข้อเสนอแนะให้กระทรวงพลังงานพิจารณาทบทวนปรับปรุงยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงานให้สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญฯ ที่กำหนดไว้ และเมื่อได้มีคำวินิจฉัยแล้ว ก็ได้เชิญกระทรวงพลังงานมาหารือร่วมกันในเรื่องดังกล่าวว่าสามารถปฏิบัติตามคำวินิจฉัยได้หรือไม่ ซึ่งปรากฎว่ายังมีความเห็นไม่ตรงกัน
สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2560 โดยส่งเรื่องไปยัง ครม. เพื่อพิจารณาสั่งการต่อไป โดยสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอยืนยันตามคำวินิจฉัยเดิม แต่ในส่วนที่จะดำเนินการต่อไปนั้น เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารที่จะพิจารณาดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ กระบวนการของผู้ตรวจการแผ่นดินเสร็จสิ้นแล้วตั้งแต่ได้ส่งเรื่องไปให้ คณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ
การดำเนินการต่อจากนี้ จะเป็นไปตามผลการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ซึ่งคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้แล้ว และการดำเนินการของผู้ตรวจการแผ่นดินสิ้นสุดแล้ว แต่ไม่ได้เป็นการตัดสิทธิของผู้ร้องที่จะนำเรื่องดังกล่าวขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยต่อไป
@ชี้ ‘รธน.’ มาตรา 56 เป็นเรื่องโครงสร้าง ไม่ใช่ ‘สัดส่วนผลิตไฟฟ้า’
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
มีความเห็นว่า เมื่อพิจารณาข้อร้องเรียนของผู้ร้องเรียนเห็นว่า เป็นการร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องสัดส่วนการผลิตพลังงาน ไม่ใช่โครงสร้าง แต่มาตรา 56 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 กล่าวถึงโครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐาน ไม่ใช่สัดส่วนการผลิตพลังงาน
ดังนั้น การดำเนินการของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นการดำเนินงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือโรงไฟฟ้าอื่น ไม่ขัดกับบทบัญญัติดังกล่าว แต่เป็นการเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า และส่งไฟฟ้ามาให้รัฐรวบรวมและจัดให้ประชาชนอย่างทั่วถึง
เพราะฉะนั้น โครงสร้างและโครงข่ายของรัฐยังคงเป็นของรัฐ ในส่วนการดำเนินการของเอกชน ก็เป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนอยู่แล้ว เพียงแต่เอกชนเป็นผู้ผลิตไฟฟ้า และรัฐเป็นผู้ซื้อไฟฟ้าหรือซื้อบริการจากเอกชนเท่านั้น รัฐไม่ได้จำหน่ายโครงสร้างหรือสิ่งปลูกสร้างใดๆ ยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงานและแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ไม่ได้กระทบโครงสร้างหรือโครงข่ายพื้นฐานใดๆ
การพิจารณาคำร้องของผู้ร้องเรียนในเรื่องสัดส่วนการผลิตไฟฟ้า ว่า เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานตามมาตรา 56 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ จึงนอกเหนือวัตถุประสงค์ของบทบัญญัติดังกล่าว เนื่องจากเป็นเรื่องที่เอกชนดำเนินการผลิตไฟฟ้าและนำไฟฟ้ามาขาย โดยรัฐไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเองทั้งหมด
การผลิตกับโครงสร้างหรือโครงข่ายพื้นฐานเป็นคนละกรณีกัน โดยนโยบายของกระทรวงพลังงาน ไม่ได้มีการกำหนดหรือการดำเนินการใดๆ ที่จะจำหน่าย จ่าย แจก หรือโอนโครงสร้างหรือโครงข่ายพื้นฐานที่เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐบาลออกไปให้กับเอกชนหรือผู้หนึ่งผู้ใดจนลดลงต่ำกว่าร้อยละ 51 แต่อย่างใด
มาตรา 56 ของรัฐธรรมนูญฯ มีเจตนารมณ์ที่จะกล่าวถึงโครงสร้างหรือโครงข่ายพื้นฐาน แต่ส่วนนโยบายหรือแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า เป็นเรื่องเกี่ยวกับการผลิตที่จะรวบรวมไฟฟ้าที่ส่งเสริมให้เอกชนผลิต และรัฐรับซื้อมาเพื่อจะจำหน่าย จ่าย แจก อีกทอดหนึ่ง ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับโครงสร้างหรือโครงข่ายพื้นฐานใดๆ
ดังนั้น ยุทธศาสตร์และแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า จึงไม่ได้มีการกำหนดหรือการดำเนินการใดๆ ที่จะจำหน่าย จ่าย แจก หรือโอน โครงสร้างหรือโครงข่ายพื้นฐานที่เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐบาลออกไป
@ระบุอัตราค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 3 ปัจจัย ไม่ได้อยู่ที่ว่ารัฐเป็นเจ้าของเท่าไหร่
ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
มีความเห็นว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 มีหน้าที่ดูแลในเรื่องความมั่นคงของระบบไฟฟ้าและอัตราค่าบริการ โดยที่ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าประเทศ ดำเนินการโดย กฟผ. ซึ่งรับใบอนุญาตจาก กกพ. มีการดำเนินการตามมาตรฐานสากล
นอกจากนั้น ความมั่นคงด้านไฟฟ้ายังรวมถึงการให้บริการอย่างทั่วถึงและเพียงพอ ซึ่ง กกพ.ก็มีหน้าที่กำกับดูแลด้านนี้ด้วย และรวมถึงความมั่นคงในด้านเสถียรภาพและคุณภาพของการให้บริการไฟฟ้า
โดย กกพ.ได้เริ่มกำกับดูแลด้านความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ตั้งแต่มี พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 และมีการพัฒนามาตรฐานอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งด้วยระยะเวลามากกว่า 10 ปี ย่อมเห็นได้ว่าระบบไฟฟ้าของประเทศไทย มีความมั่นคง และเป็นแรงจูงใจให้มีการลงทุนจากต่างประเทศ เนื่องจากระบบพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทยมีความมั่นคง มีเสถียรภาพ และมีคุณภาพ
สำหรับความกังวลเรื่องค่าไฟฟ้าว่า หากรัฐไม่ได้เป็นเจ้าของระบบการผลิตร้อยละ 51 จะทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นและจะเป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้ามากขึ้น นั้น
ขอเรียนว่าความมั่นคงของอัตราค่าบริการค่าไฟฟ้า ขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 ประการ ดังนี้
(1) เรื่องการผลิต สายส่ง โครงสร้างการผลิตเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้มีการประเมินและกำหนดไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ว่า เป็นไปตามความต้องการของการใช้ไฟฟ้า มีการกระจายเชื้อเพลิงมีการลงทุนที่เหมาะสม ทำให้เกิดความมั่นคง และไม่เป็นภาระแก่ผู้ใช้ไฟฟ้า
(2) การลงทุนที่มีประสิทธิภาพ โดยวิธีการประมูล (Bidding) ซึ่งเป็นวิธีการลงทุนสากล เป็นการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ ถูกที่สุด และเหมาะสมที่สุด ซึ่งผู้ใช้บริการจะได้รับภาระน้อยที่สุดและเป็นไปอย่างเป็นธรรม
(3) ค่าบริการที่สะท้อนถึงต้นทุนในระบบไฟฟ้า
โดยระบบไฟฟ้าในประเทศไทยมีครบทั้ง 3 ปัจจัยดังกล่าว ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าประเทศไทยมีความมั่นคงด้านอัตราค่าบริการค่าไฟฟ้า
@ยันรัฐเป็นเจ้าของโครงสร้างพื้นฐานไฟฟ้า-ไม่มีนโยบายแปรรูป
กระทรวงพลังงาน
ขอเรียนว่า ยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงานและแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) เป็นแผนที่จัดทำขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ที่กำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดที่สำคัญเพื่อนำไปสู่ความมั่นคงพลังงานของประเทศ
โดยเน้นการกระจายชนิดเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าการใช้พลังงานทดแทนที่ผลิตภายในประเทศเพิ่มขึ้น และประสิทธิภาพการใช้พลังงานของประเทศเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ กระทรวงพลังานเห็นว่า โครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานตามบทบัญญัติมาตรา 56 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นั้น
หมายถึงโครงสร้างหรือโครงข่ายที่รัฐเป็นเจ้าของอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งกระทรวงพลังงานไม่มีนโยบายที่จะแปรรูปโครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภค ขั้นพื้นฐานของรัฐดังกล่าว ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนหรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละ 51 แต่อย่างใด
อีกทั้งยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงาน และ PDP ไม่มีเนื้อความหรือถ้อยคำใดที่จะมีการดำเนินการเพื่อให้ทรัพย์สินที่เป็นของรัฐตกไปเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน หรือทำให้รัฐถือหุ้นน้อยกว่าเอกชนแต่ประการใด
สำหรับประเด็นเรื่องความมั่นคงด้านไฟฟ้าและค่าไฟฟ้านั้น เห็นว่า หน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องความมั่นคงด้านไฟฟ้า คือ กกพ. ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ซึ่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนดให้จัดตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานขึ้นมา เพื่อให้มีหน้าที่ป้องกันการใช้อำนาจผูกขาดโดยมิชอบ ให้การคุ้มครองผู้ใช้พลังงานและผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการพลังงาน
ทั้งนี้ เพื่อให้การประกอบกิจการพลังงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีความมั่นคง มีปริมาณเพียงพอและทั่วถึงในราคาที่เป็นธรรม และมีคุณภาพที่ได้มาตรฐาน ตอบสนองต่อความต้องการภายในประเทศ และต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในด้านสังคมเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
โดย กกพ. ได้กำกับกิจการไฟฟ้า บนหลักการการบริการสาธารณะ เพื่อให้มีการบริการไฟฟ้าอย่างเพียงพอ ทั่วถึง และเป็นธรรม โดยกำหนดราคาสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงตามแนวคิด ‘Cost-Based Pricing’ และคำนึงถึงผลตอบแทนที่เหมาะสมของการลงทุนการประกอบกิจการพลังงาน โดยมีเป้าหมายให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถเข้าถึงบริการในราคาที่สามารถหาซื้อได้และระบบไฟฟ้ามีความมั่นคงและเชื่อถือได้พร้อมในการให้บริการ
นอกจากนี้ กกพ.ยังทำหน้าที่กำกับผู้รับใบอนุญาตการประกอบกิจการไฟฟ้ามิให้พักหรือหยุดให้บริการพลังงาน หรือเลิกประกอบกิจการพลังงาน เพื่อดูแลด้านพลังงานให้มีความมั่นคง มีประสิทธิภาพ เป็นธรรมและปกป้องผลประโยชน์ของผู้ใช้พลังงาน ตลอดจนกำกับศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าให้ทำหน้าที่ควบคุม บริหาร
และกำกับดูแลการสั่งการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าทั้งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและของเอกชน รวมทั้งกรณีที่มีสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ ให้ระบบพลังงานมีความสมดุล มั่นคง มีเสถียรภาพ และมีประสิทธิภาพ
ดังนั้น จึงเห็นว่า การกำหนดยุทธศาสตร์ และแผน PDP ของกระทรวงพลังงาน มิได้ขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 56 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแต่อย่างใด และกระทรวงพลังงานได้ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ
ความเห็นของกระทรวงพลังงานดังกล่าว สอดคล้องกับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ที่ได้เคยให้ความเห็นไว้ในเรื่องนี้
ในการนี้ เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 33 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2560 ที่บัญญัติว่า “..ในกรณีที่ไม่อาจหาข้อยุติได้ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการตามที่เห็นสมควร และให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการไปตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว”
และตามมาตรา 45 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 ที่บัญญัติว่า “(๒) ...หากผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าหน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วน ให้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีทราบถึงการดังกล่าว
และ (3) ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดินและสั่งการตามที่เห็นสมควร ในการนี้ คณะรัฐมนตรีอาจมอบหมายให้คณะกรรมการหรือหน่วยงานใดเป็นผู้พิจารณาและเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีก็ได้ เมื่อคณะรัฐมนตรีสั่งการเป็นประการใดแล้ว ให้แจ้งให้บุคคลหรือชุมชนทราบ
หากบุคคลหรือชุมชนเห็นว่าการสั่งการของคณะรัฐมนตรียังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ อาจยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยตามมาตรา 7 (4) ได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง” ดังนั้น จึงเห็นควรเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบและพิจารณาสั่งการตามที่เห็นสมควร
เหล่านี้เป็นบทสรุปกรณีที่ ‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ ได้มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับ ‘สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของภาคเอกชน’ ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สวนทางกับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ที่ลดลงเรื่อยๆ ซึ่งต้องใช้เวลาพิจารณากันยาวนานกว่า 3 ปี จนกระทั่งได้ข้อยุติในการประชุม ครม. เมื่อเร็วๆนี้
อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามกันต่อไปว่า จะมีการยื่นคำร้องในเรื่องดังกล่าวไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกหรือไม่ หลังจากเมื่อปี 2563 เคยมีการยื่นเรื่องนี้ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่ศาลฯไม่รับวินิจฉัย เนื่องจากการยื่นคำร้องข้ามขั้นตอน!
อ่านประกอบ :
2 ปี ไม่ได้ข้อยุติ! ปมลดสัดส่วนไฟฟ้าเอกชน 'ก.พลังงาน' หลังพิง 'ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี'
‘พลังงาน’ งัด ‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ ปมลดสัดส่วนไฟฟ้าเอกชน-'บิ๊กตู่' ชี้ชะตาธุรกิจแสนล.
ศาล รธน.ไม่รับวินิจฉัยรัฐผลิตไฟฟ้าน้อยกว่า 51% ละเมิดสิทธิ ปชช.ชี้ทำตาม กม.ถูกต้อง