“…ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับสัดส่วนการถือหุ้นการถือหุ้นของรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐในโรงไฟฟ้าเอกชนเพียงพอจะแสดงให้เห็นว่า รัฐมีสัดส่วนความเป็นเจ้าของไม่น้อยกว่า 51% ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ประกอบกับไม่ปรากฎเอกสารหลักฐานใดที่ยืนยันได้ว่า รัฐมีอำนาจเข้าไปควบคุมกำลังผลิตไฟฟ้าเอกชน เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานอย่างเพียงพอ…”
.......................
หลังจากเมื่อวันที่ 1 ก.ค.2562 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินแจ้งคำวินิจฉัยของ ‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ ที่มีข้อวินิจฉัยและข้อเสนอแนะต่อกระทรวงพลังงาน (พน.) ดำเนินการให้รัฐมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 51% ภายในกำหนด 10 ปีนับตั้งแต่ปี 2562 เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 56 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า
“โครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐอันจําเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ รัฐจะกระทำด้วยประการใดให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนหรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดมิได้”
เนื่องจากปราฎข้อเท็จจริงว่า ปัจจุบันรัฐได้ส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีสัดส่วนในการผลิตไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น ส่งผลให้กำลังการผลิตของรัฐ ซึ่งดำเนินการโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีเพียง 37% และลดลงเรื่อยๆ ขณะที่ ณ วันที่ 31 พ.ค.2564 พบว่า กฟผ.มีสัดส่วนผลิตไฟฟ้าคิดเป็น 34.79% ของกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ (ดูข้อมูลประกอบ)
(ที่มา : การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 27 มิ.ย.2564)
“การที่รัฐเปิดให้บริษัทเอกชน หรือบริษัทมหาชนจำกัดผลิตไฟฟ้า แล้วรัฐซื้อไฟฟ้าจากบริษัทดังกล่าวมาจำหน่ายให้ประชาชนอีกทอดหนึ่ง จึงถือไม่ได้ว่ารัฐเป็นเจ้าของระบบการผลิตไฟฟ้า แม้ว่ารัฐจะเป็นเจ้าของระบบการส่งและระบบการจำหน่ายเกือบทั้งหมดก็ตาม
แต่เมื่อรัฐมิได้เป็นเจ้าของระบบผลิตย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า และส่งผลต่อสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของรัฐมีน้อยกว่าร้อยละ 51 ย่อมไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 56 วรรคสอง
นอกจากนี้ ยังปรากฏว่ารัฐได้เปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาประมูลไฟฟ้าล่วงหน้าเป็นจำนวนมาก ย่อมมีความเสี่ยงและกระทบต่อสัดส่วนการผลิตของรัฐในอนาคตจะน้อยลงกว่าเดิมอีก” ผู้ตรวจการแผ่นดินระบุ
@ผู้ตรวจการแผ่นดินชี้ ‘พน.’ ยังไม่ลดสัดส่วนไฟฟ้าเอกชน
แต่ทว่าหลังผ่านมาเกือบ 2 ปีแล้ว ผู้ตรวจการแผ่นดิน เห็นว่ากระทรวงพลังงานยังไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน แม้ว่าก่อนหน้านี้ กระทรวงพลังงานได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ พน 0201/945 ลงวันที่ 20 มี.ค.2563 แจ้งไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน ชี้แจงว่า ณ เดือน พ.ย.2562 สัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าของภาครัฐ 55% (อ่านประกอบ : ‘พลังงาน’ งัด ‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ ปมลดสัดส่วนไฟฟ้าเอกชน-'บิ๊กตู่' ชี้ชะตาธุรกิจแสนล.)
กระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2564 ที่ผ่านมา สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน รายงานการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน (กรณีกระทรวงพลังงานกำหนดนโยบายและแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า ตามมาตรา 56 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560) ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ
ทั้งนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ยืนยันว่า กระทรวงพลังงานยังไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินในการดำเนินการให้รัฐมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 51% ภายในกำหนด 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2562
“คำชี้แจงของกระทรวงพลังงาน ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการพิจารณาทบทวนยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงานและแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ.2561-2580 (PDP 2018) ให้สอดคล้องกับมาตรา 56 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
อีกทั้งไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐในโรงไฟฟ้าเอกชนเพียงพอจะแสดงให้เห็นว่า รัฐมีสัดส่วนความเป็นเจ้าของไม่น้อยกว่า 51% ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ประกอบกับไม่ปรากฎเอกสารหลักฐานใดที่ยืนยันได้ว่า รัฐมีอำนาจเข้าไปควบคุมกำลังผลิตไฟฟ้าเอกชน เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานอย่างเพียงพอ” ผู้ตรวจการแผ่นดินชี้แจง ครม.
@แจงการดำเนินงานของ ‘พน.’ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญปี 60
ในขณะที่กระทรวงพลังงาน ชี้แจง ครม. โดยเห็นว่า หากมีการกำหนดนโยบายที่จะลดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของภาคเอกชนหรือของประชาชนลง จะส่งผลกระทบต่อการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน โดยเฉพาะการเปิดให้ประชาชนสามารถผลิตไฟฟ้าได้เองตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งนำไปสู่การลดความมั่นคงด้านพลังงาน และลดความสามารถในการแข่งขันประเทศ
นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานยังชี้แจงข้อเท็จจริงใน 3 ประเด็น ประกอบด้วย
1.การดำเนินการของกระทรวงพลังงานเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และสอดคล้องกับความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) เรื่องเสร็จที่ 334/2561
เนื่องจากโครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่เป็นของรัฐ ที่จะต้องห้ามมิให้กระทำด้วยประการใด ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน หรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดนั้น หมายถึง โครงสร้างหรือโครงข่ายของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่รัฐเป็นเจ้าของอยู่ก่อนแล้ว จึงจะอยู่ในข่ายที่จะถูกห้ามมิให้กระทำด้วยประการใด ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน
ซึ่งกระทรวงพลังงานไม่มีนโยบายที่จะดำเนินการให้ทรัพย์สินของรัฐ ซึ่งเป็นโครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ในส่วนสายส่งและสถานีไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นโครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานตามความหมายของรัฐธรรมนูญที่เป็นของรัฐนั้นยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)
จึงถือได้ว่ากระทรวงพลังงานได้ดำเนินการเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาโดยตลอด และดำเนินการในลักษณะเช่นเดียวกับสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านอื่นๆ เช่น การประปา โทรคมนาคม เป็นต้น
@กกพ.ทำหน้าที่กำกับดูแลความมั่นคงด้านไฟฟ้าอยู่แล้ว
2.การกำกับดูแลให้เกิดความมั่นคงด้านไฟฟ้า
กระทรวงพลังงาน ชี้แจงว่า การกำกับดูแลกิจการพลังงานทั้งด้านไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ หรือโครงข่ายพลังงานนั้น อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) โดย กกพ. ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 จะเป็นผู้กำกับดูแลกิจการพลังงานให้มีการประกอบกิจการอย่างเป็นธรรม คุ้มครองผู้ใช้พลังงานและผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการพลังงาน
นอกจากนี้ ผู้ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าเอกชนจะต้องทำสัญญาขายไฟฟ้าที่ผลิตได้ให้กับ กฟผ. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือการไฟฟ้านครหลวง แล้วแต่กรณี โดยในส่วนของผู้ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่จะต้องทำสัญญาขายไฟฟ้าที่ผลิตได้ให้กับ กฟผ. ซึ่ง กฟผ.จะเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าเพียงหน่วยงานเดียวภายใต้สัญญาดังกล่าว
ทั้งนี้ กฟผ. ซึ่งเป็นหน่วยงานเดียวที่ได้รับใบอนุญาตที่มีศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าในระบบไฟฟ้าของประเทศ จะควบคุม บริหาร และกำกับดูแลการผลิตและการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าทั้งของ กฟผ. และของเอกชน รวมถึงกรณีที่มีสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ โดยการกำกับดูแลของ กกพ. และหน้าที่ของ กฟผ. ในฐานะศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า
@ยันแผนพีดีพี 2018-ยุทธศาสตร์พลังงานไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
3.การจัดทำยุทธศาสตร์ด้านพลังงานและแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ไม่มีประเด็นขัดต่อรัฐธรรมนูญ และมุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ
โดยเฉพาะการจัดทำการจัดทำยุทธศาสตร์ของกระทรวงพลังงาน และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 (PDP 2018) นั้น กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยมิได้มีการดำเนินการใดเพื่อให้ทรัพย์สินที่เป็นของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้า สถานีไฟฟ้า สายส่งหรืออุปกรณ์อื่นใดที่เกี่ยวข้องกับกิจการไฟฟ้าที่เป็นของรัฐ ตกไปเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน หรือทำให้รัฐถือหุ้นน้อยกว่าเอกชนแต่ประการใด
กระทรวงพลังงาน ย้ำว่า สาระสำคัญของยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงานและแผน PDP ทุกฉบับสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาด้านพลังงานของประเทศที่กำหนดให้สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ได้แก่
-ประกาศ เรื่อง ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ประกาศ ณ วันที่ 8 ต.ค.2561 โดยยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน มีการกำหนดยุทธศาสตร์ด้านพลังงาน โดยกำหนดให้มุ่งส่งเสริมการจัดหาพลังงานให้เพียงพอ เพื่อเป็นฐานความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ พร้อมไปกับการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ให้มีความสมดุลและเกิดความมั่นคง สามารถพึ่งพาตนเองทางด้านพลังงาน
-ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การประกาศแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2561-2580) ประกาศ ณ วันที่ 18 เม.ย.2562 ได้มีการกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดที่สำคัญ เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศอาทิ กำหนดให้สัดส่วนของการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าลดลง การใช้พลังงานทดแทนที่ผลิตภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น และประสิทธิภาพการใช้พลังงานของประเทศเพิ่มขึ้น เป็นต้น
“กระทรวงพลังงาน เห็นว่า หากมีการกำหนดนโยบายที่จะลดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของภาคเอกชนหรือของประชาชนลง จะส่งผลกระทบต่อการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนไม่สามารถเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด
โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองได้ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ นำไปสู่การลดความมั่นคงด้านพลังงานและลดการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” กระทรวงพลังงานระบุ
อย่างไรก็ดี ในท้ายที่สุดแล้ว ที่ประชุมครม. เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2564 มีมติมอบหมายให้ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน รับเรื่องไปดำเนินการ และเป็นเจ้าภาพจัดประชุมร่วมกับสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กกพ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ข้อยุติที่ "ชัดเจน ถูกต้อง ตรงกัน” และรายงานครม.รับทราบต่อไป
ส่วนบทสรุปกรณีการลดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของภาคเอกชนจะยุติลงอย่างไร ยังคงต้องติดตามกันต่อไป
อ่านประกอบ :
‘พลังงาน’ งัด ‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ ปมลดสัดส่วนไฟฟ้าเอกชน-'บิ๊กตู่' ชี้ชะตาธุรกิจแสนล.
ก.พลังงาน ยืนยันการรับซื้อไฟฟ้า ต้องเป็นไปตามแผน PDP
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/