‘คลัง’ ห่วง ‘กฟผ.’ อาจมีปัญหา ‘สภาพคล่อง’ หลังต้องแบกภาระค่าไฟฟ้า Ft ต่อเนื่อง ขณะที่ ‘กฟผ.’ เผยมีค่าใช้จ่ายนำเข้าก๊าซเดือนละ 6 หมื่นล้าน ขอ ‘กกพ.’ ทบทวน ‘ค่า Ft-ค่า AF’ ในงวดถัดไป ให้สะท้อนต้นทุนเชื้อเพลิงและสภาพคล่อง ด้าน ‘กองทุนน้ำมันฯ’ ติดลบเหลือ 8.5 หมื่นล้าน
..................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา เว็บไซต์สำนักงาน กกพ. เผยแพร่ มติคณะกรรมการกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อวันที่ 24 เม.ย.2566 เรื่อง การทบทวนภาระค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) สะสม ในประมาณการค่า Ft สำหรับเรียกเก็บในเดือน พ.ค.-ส.ค.2566 โดย กกพ.ได้มีมติให้ปรับลดค่า Ft เหลือ 91.19 สตางค์ต่อหน่วย จากมติเดิม 98.27 สตางค์ต่อหน่วย หรือลดลงจากเดิม 7.08 สตางค์ต่อหน่วย
ขณะที่การปรับลดค่า Ft ดังกล่าว ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าขายปลีกเฉลี่ยที่เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2566 ลดลงจากเดิม 4.77 บาทต่อหน่วย เหลือ 4.70 บาทต่อหน่วย หรือลดลง 7 สตางค์ต่อหน่วย และลดลงในอัตรา 2 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อเทียบกับค่าไฟฟ้าขายปลีกเฉลี่ยที่เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 ซึ่งมีการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟฟ้าในอัตรา 4.72 บาท/หน่วย
ทั้งนี้ ในการเผยแพร่มติ กกพ. ครั้งนี้ สำนักงาน กกพ. ได้แนบเอกสารของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เรื่อง ผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินและการดำเนินงานของ กฟผ. จากการปฏิบัติตามนโยบายภาครัฐในการรับภาระค่า Ft ซึ่งมีเนื้อหาว่า
ตามที่ สำนักงาน กกพ. แจ้งมติการประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในการประชุมครั้งที่ 17/2566 (ครั้งที่ 845) เมื่อวันที่ 5 เม.ย.2566 โดย กกพ. รับทราบผลกรณีศึกษาการประมาณการค่า Ft ที่ กฟผ. เสนอเมื่อวันที่ 4 เม.ย.2566
อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก กกพ. ในการประชุมครั้งที่ 15/2566 (ครั้งที่ 843) เมื่อวันที่ 22 มี.ค.2566 ได้เห็นชอบค่า Ft ซึ่งผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นตามกฎหมายไปแล้ว จึงไม่สามารถนำสมมติฐานใหม่มาพิจารณาสำหรับเรียกเก็บค่า Ft ประจำเดือน พ.ค.2566-ส.ค.2566 ได้
ดังนั้น กกพ. จึงขอให้ กฟผ. ทบทวนภาระค้างรับค่า Ft สะสม (Accumulated Factor : AF) ที่ กกพ. เห็นชอบให้ทยอยเรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นระยะเวลา 6 งวด จำนวน 34.90 สตางค์ต่อหน่วย (22,781 ล้านบาท) ลดลงเหลือ 27.82 สตางค์ต่อหน่วย (18,158 ล้านบาท) เพื่อทำให้ค่า Ft ประจำเดือน พ.ค.2566-ส.ค.2566 ลดลงเหลือ 91.19 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยของผู้ใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 4.70 บาทต่อหน่วย นั้น
ในการนี้ กฟผ. ใคร่ขอเรียนให้ทราบว่า กฟผ. มีภาระค่าเชื้อเพลิง ค่าซื้อไฟฟ้า รวมทั้งค่าใช้จ่ายจากการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวแบบสัญจร (Spot LNG) ประมาณเดือนละ 60,000 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์เงินสดคงเหลือขั้นต่ำ (Minimum Cash) ของ กฟผ. ที่ กกพ. กำหนดไว้ที่เดือนละ 45,000 ล้านบาท
จากการประเมินกระแสเงินสดของ กฟผ. ในช่วงเดือน พ.ค.2566-ส.ค.2566 พบว่า กฟผ. ยังมีกระแสเงินสดเพียงพอในการดำเนินกิจการต่อไปได้ในระยะหนึ่ง แต่ในช่วงปลายปี 2566 กฟผ. ยังมีความเสี่ยงต่อสภาพคล่อง กฟผ. เนื่องจากมีภาระที่ต้องเก็บสะสมเงิน เพื่อชำระคืนเงินกู้ตั้งแต่ต้นปี 2566
อีกทั้งยังต้องสำรองเงินเพื่อรองรับความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและราคาน้ำมันที่เปลี่ยนแปลงไปจากชุดประมาณการราคาเชื้อเพลิงของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ฉบับลงวันที่ 7 ก.พ.2566
จากข้อมูลสภาพคล่องดังกล่าว กฟผ. ได้พิจารณาแล้ว ขอยืนยันการทบทวนค่า AF เฉพาะช่วงเดือน พ.ค.2566-ส.ค.2566 เท่ากับ 27.82 สตางค์ต่อหน่วย (18,1158 ล้านบาท) เพื่อทำให้ค่า Ft ประจำเดือน พ.ค.2566-ส.ค.2566 เท่ากับ 91.19 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยของผู้ใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 4.70 บาทต่อหน่วย หลังจากนั้น กฟผ. ใคร่ขอความอนุเคราะห์ กกพ. พิจารณาทบทวนค่า Ft เรียกเก็บ และค่า AF ในงวดถัดๆ ไป เพื่อให้สะท้อนต้นทุนราคาเชื้อเพลิงและสภาพคล่องของ กฟผ.ตามสถานการณ์ในช่วงเวลานั้นต่อไปด้วย
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า ในการประชุม กกพ. เมื่อวันที่ 24 เม.ย.2566 อนุกรรมการฯ ซึ่งเป็นผู้แทนหน่วยงานที่กำกับดูแล กฟผ. ในด้านการเงินของ กฟผ. ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับฐานะทางการเงินของ กฟผ.
โดยผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง มีความห่วงใยต่อสภาพคล่องทางการเงินของ กฟผ. แต่จากแนวโน้มราคา Spot LNG ที่คาดว่าจะลดลง และผลการประเมินของ กฟผ. แล้ว กฟผ.จะสามารถบริหารจัดการสภาพคล่องเดือน พ.ค.-ส.ค.2566 ได้ตามแผนที่ได้นำเสนอ
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในต้นปี 2566 ที่ผ่านมา กฟผ. ได้ขอผ่อนผันการนำส่งเงินนำส่งคลังไปแล้วครั้งหนึ่ง จึงมีความกังวลในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ซึ่ง กฟผ. จะต้องนำเงินรายได้ส่งคลังประมาณ 16,800 ล้านบาท โดยนำส่งครึ่งปีแรกในเดือน ต.ค.2566 ประมาณ 9,000 ล้านบาท ตลอดจน กฟผ. มีแผนงานในการเบิกจ่ายงบลงทุนปี 2566 กว่า 30,000 ล้านบาท จึงขอให้ กฟผ. บริหารจัดการกระแสเงินสดในภาพรวมให้เหมาะสมต่อไป
ขณะที่ผู้แทนสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) มีความเห็นว่า จากข้อมูลที่ กฟผ. นำเสนอ พบว่า การทบทวนค่า AF สะสมในช่วงเดือน พ.ค.–ส.ค.2566 จะยังไม่มีประเด็นผลกระทบมากนัก อย่างไรก็ตาม หากมีการขยายระยะเวลาการเรียกเก็บภาระ สะสมจากค่า Ft ออกไปหลังจากนี้ จะมีความเสี่ยงกับสภาพคล่องการดำเนินงานของ กฟผ. ได้ เนื่องจากมีเงินกู้ครบกำหนด ซึ่งการขอขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไปจะมีผลกระทบต่อดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น
ประกอบกับโครงการลงทุนของ กฟผ. มีจำนวนมาก หากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานไม่เพียงพอ จำเป็นที่จะต้องกู้เงินเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของ กฟผ. ที่ลดลงได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการติดตามการเรียกเก็บคืนภาระสะสมจากค่า Ft ของ กฟผ. ใกล้ชิดต่อไป
@‘กองทุนน้ำมัน’ติดลบเหลือ 8.5 หมื่นล้าน หลังราคโลกลด
ขณะเดียวกัน สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้เปิดเผยผลการดำเนินงานของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2566 (ต.ค.2565-มี.ค.2566) โดยนายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการ สกนช. กล่าวว่า ปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น โดยล่าสุด ณ วันที่ 23 เม.ย.2566 ฐานะเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบลดลงเหลือ 85,586 ล้านบาท จากที่เคยติดลบสูงสุดในช่วงเดือน พ.ย.2566 ที่ 130,671 ล้านบาท
ทั้งนี้ สภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นผลมาจากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกเริ่มคลี่คลายโดยราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยรายเดือนเฉลี่ยลดลง จากช่วงต้นปีงบประมาณเดือน ต.ค.2565 อยู่ที่ 91.13 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดมาเหลือ 78.49 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในเดือน มี.ค.2566 ส่วนน้ำมันสำเร็จรูปดีเซล (Gas Oil) เดือน ต.ค.ที่เคยสูงถึง 133.84 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลงมาเหลือ 98.92 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในเดือน มี.ค.2566
นายวิศักดิ์ ระบุด้วยว่า หลังจากกระทรวงการคลังค้ำประกันการกู้ยืมเงินของ สกนช. ทำให้สามารถดำเนินการกู้ยืมเงินได้ ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกเริ่มลดลง ส่งผลให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเริ่มเรียกเก็บเงินเข้าและมีสภาพคล่องมากขึ้น จนสามารถลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไป 4 ครั้ง ๆ ละ 0.50 บาทต่อลิตร ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลจาก 34.94 บาทต่อลิตร เป็น 32.94 บาทต่อลิตร หรือประมาณ 33 บาทต่อลิตร
ส่วนความคืบหน้าของการกู้ยืมเงินเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมันฯ นั้น สกนช. ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีในการกู้ยืมเป็นจำนวน 150,000 ล้านบาท โดยบรรจุเป็นหนี้สาธารณะของประเทศไปแล้ว 110,000 ล้านบาท ปัจจุบัน สกนช. ทำการกู้ยืมไปแล้ว 30,000 ล้านบาท และในเดือน เม.ย.2566 จะทำการกู้ยืมเงินเพิ่มอีก 20,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะทยอยทำการกู้ยืมเงินตามสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต่อไป
(วิศักดิ์ วัฒนศัพท์)
นายวิศักดิ์ กล่าวว่า แม้ว่ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะมีสภาพคล่องดีขึ้น แต่ประมาณการฐานะกองทุนฯยังติดลบเป็นจำนวนมาก ประกอบกับความผันผวนของราคาพลังงานตามสถานการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกลุ่มโอเปกพลัสที่ลดกำลังการผลิต การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ความผันผวนของเงินดอลลาร์สหรัฐ การเปิดประเทศของจีน และความขัดแย้งจากประเทศและกลุ่มประเทศที่สนับสนุนของฝ่ายรัสเซียและยูเครน
ดังนั้น สกนช. ต้องเฝ้าติดตาม และคงต้องเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ เพื่อนำมาชำระหนี้ อย่างไรก็ตามราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลต้องอยู่ในราคาที่เหมาะสมไม่เกิดผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนจนมากเกินไป
สำหรับฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงวันที่ 23 เม.ย.2566 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิติดลบ 85,586 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 38,749 ล้านบาท และบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 46,837 ล้านบาท
อ่านเพิ่มเติม : เอกสารเผยแพร่สรุปมติ กกพ. เมื่อวันที่ 24 เม.ย.2566
อ่านประกอบ :
ครม.เคาะ 1.1 หมื่นล้าน อุ้มค่าไฟฟ้างวดเดือน พ.ค.-ส.ค.66 เสนอ'กกต.'ไฟเขียวใช้งบกลางฯ