‘ศาลฎีกา’ พิพากษายกฟ้อง ‘ชาญชัย อิสระเสนารักษ์’ คดีหมิ่นประมาท ‘กลุ่มคิงเพาเวอร์’ กรณีแถลงข่าว 'ร้านค้าปลอดอากร' ชี้ไม่มีข้อความใดอ้างพาดพิง-แสดงความคิดเห็นโดยสุจริต
............................
เมื่อวันที่ 22 มี.ค. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3694-3701/2565 ซึ่งเป็นคดีที่กลุ่มบริษัท คิงเพาเวอร์ ได้แก่ บริษัท คิงเพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ,บริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด และบริษัท คิงเพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด เป็นโจทย์ยื่นฟ้องนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตรองประธานคณะอนุกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เป็นจำเลย ในคดีหมิ่นประมาท ลหุโทษ รวม 8 สำนวน
โดยศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง นายชาญชัย เนื่องจากเห็นว่ากรณีที่นายชาญชัยได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ได้จากการตรวจสอบโครงการร้านปลอดอากร ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และมีการกล่าวถึงกลุ่มบริษัท คิงเพาเวอร์ ซึ่งเป็นคู่สัญญากับ ทอท. นั้น เป็นการบอกกล่าวข้อเท็จจริงกรณีเจ้าหน้าที่ของ ทอท. และเจ้าหน้าที่รัฐ ละเว้นการปฏิบัติตามหน้าที่ในการรักษาผลประโยชน์ของ ทอท. และประเทศชาติ
อีกทั้งการแถลงข่าวให้สื่อมวลชนและประชาชนรับทราบนั้น เป็นการสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบ เพื่อให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการให้ถูกต้อง อันเป็นการปกปักรักษาผลประโยชน์ของ ทอท. และประเทศชาติอีกทางหนึ่ง การแถลงข่าวของนายชาญชัย จึงเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ทั้งเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม ดังนั้น จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
“คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลย (นายชาญชัย) ว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ โดยศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยแถลงข่าวหมิ่นประมาท ประการแรกว่า โครงการที่โจทก์ที่ 2 (บริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด) และที่ 3 (บริษัท คิงเพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด) ทำกับบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) มีมูลค่าเกินกว่า 1,000 ล้านบาท ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535
ประการที่สอง จำเลยแถลงข่าวว่าการขายสินค้าปลอดอากรไม่เชื่อมต่อระบบการขายหน้าร้าน Point of Sale (POS) โดยเพิ่งติดตั้งเครื่องบันทึกการขายเมื่อกลางปี 2559 ทำให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ไม่ได้รับส่วนแบ่งร้อยละ 15 จากการซื้อขายสินค้าตามสัญญา ประการที่สาม จำเลยแถลงข่าวว่า การนำสินค้าจากซอยรางน้ำไปส่งมอบให้ลูกค้าที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไม่ได้จ่ายค่าตอบแทนให้แก่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ในอัตราร้อยละ 15 ของราคาขายสินค้าตามสัญญานั้น
ปรากฏข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ในคดีนี้ ยื่นฟ้องจำเลยในคดีนี้เป็นจำเลย เรื่องหมิ่นประมาท ลหุโทษ ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีดังกล่าวถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4101-4102/2563 โดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ถ้อยคำที่จำเลยให้สัมภาษณ์ในคดีดังกล่าวเช่นเดียวกับที่จำเลยแถลงข่าวทั้งสามประการดังกล่าวข้างต้นในคดีนี้ เป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นจริง
แม้ในคดีอาญาไม่มีกฎหมายบัญญัติให้นำคำพิพากษาในคดีอาญาเรื่องหนึ่งไปผูกพันคู่ความรายเดียวกันในคดีอาญาอีกเรื่องหนึ่ง ดังที่บัญญัติไว้ในเรื่องผลแห่งคำพิพากษาและคำสั่งผูกพันคู่ความในคดีแพ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 และในคดีอาญายังมีหลักว่าโจทก์มีภาระที่ต้องพิสูจน์ให้สิ้นสงสัยว่า จำเลยเป็นผู้กระทำผิดจริง
ดังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 229 บัญญัติว่า ให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่า มีการกระทำผิดจริง และจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น จึงไม่อาจอ้างคำพิพากษาในคดีอาญาซึ่งถึงที่สุดแล้วในคดีก่อนมาผูกพันคู่ความในคดีหลัง แม้เป็นคู่ความรายเดียวกัน โดยอาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15
แต่อย่างไรก็ตาม คำพิพากษาศาลฎีกาในคดีดังกล่าวข้างต้นได้วินิจฉัยเป็นคุณแก่จำเลยว่า ถ้อยคำที่จำเลยแถลงข่าวทั้งสามประการ เป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นจริง ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงผูกพันฝ่ายโจทก์ มิให้โต้แย้งแตกต่างไปจากผลแห่งคำวินิจฉัยดังกล่าว มิใช่ผูกพันฝ่ายจำเลย กรณีไม่ขัดแย้งกับสภาพหรือลักษณะพื้นฐานของการรับฟังพยานหลักฐานในคดีอาญา ข้อเท็จจริงคดีนี้จึงรับฟังได้ว่าการแถลงข่าวของจำเลยทั้งสามประการดังกล่าว เป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นจริง
ประการที่สี่ จำเลยแถลงข่าวว่า การขยายระยะเวลาสัญญาให้โจทก์ที่ 2 และที่ 3 จำนวน 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ปี เป็นไปโดยไม่ชอบนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในคดีดังกล่าวด้วยว่า โครงการที่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ทำกับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) มีมูลค่าเกินกว่า 1,000 ล้านบาท ขึ้นไป
แม้จะรับฟังตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่าการขยายระยะเวลาสัญญาให้โจทก์ที่ 2 และที่ 3 เป็นไปตามมาตรการให้ความช่วยเหลือสายการบินและผู้ประกอบการปี 2553 (เพิ่มเติม) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง ที่ได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศตามเอกสารหมาย จ.45
แต่การที่โครงการมีมูลค่าตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป การทำสัญญาระหว่างบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กับโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ดำเนินการและเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 อันเป็นการผ่าฝืนต่อบทบัญญัติดังกล่าว การที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ขยายระยะเวลาสัญญาให้โจทก็ที่ 2 และที่ 3 ทั้งสองครั้ง ย่อมเป็นไปโดยไม่ชอบเช่นกัน การแถลงข่าวของจำเลย จึงเป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นจริง
ประการที่ห้า จำเลยแถลงข่าวว่า มีการขายสินค้าปลอดอากร โดยไม่ได้นำสินค้าออกไปยังต่างประเทศ ทั้งที่การขายสินค้าปลอดอากรต้องขายโดยส่งออกไปต่างประเทศเท่านั้น ปรากฎข้อเท็จจริงจากบันทึกการประชุมคณะอนุกรรมาธิการศึกษา เสนอแนะมาตรการและกลไกในการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ในคณะกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ครั้งที่ 90 ลงวันที่ 16 มกราคม 2560 ตามเอกสารหมาย จ.118 ประเด็นที่ 4 ย่อหน้าที่สองว่า
ผู้แทนกรมศุลกากรให้ข้อมูลว่า กรมศุลกากรมีระเบียบปฏิบัติการยกเว้นอากรของส่วนตัวที่ผู้เดินทางนำเข้ามาฯ และในย่อหน้าที่สามระบุว่า กรณีที่กรมศุลกากรอนุญาตให้บริษัทคิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ดำเนินธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในเมืองได้ โดยกำหนดให้จัดส่งสินค้าให้ผู้ซื้อ ณ จุดที่ส่งมอบสินค้าที่อาคารผู้โดยสารขาออก เพื่อนำออกนอกประเรสเท่านั้น ซึ่งไม่อนุญาตให้นำสินค้าเข้ามาภายในประเทศ
การที่บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จำหน่ายสินค้าที่ คิง เพาเวอร์ ดาวน์ทาวน์ คอมเพล็กซ์ ถนนรางน้ำ แล้วให้ผู้ซื้อสามารถกลับมารับได้ที่อาคารผู้โดยสารขาเข้า ถือว่าไม่ถูกต้อง และต้องเอาผิดกับบริษัทดังกล่าว เมื่อจำเลยเป็นหนึ่งในอนุกรรมาธิการชุดนี้ ได้รับทราบข้อเท็จจริงจากการให้ถ้อยคำของผู้แทนกรมศุลกากรในการร่วมประชุมดังกล่าว อันเป็นการรับทราบจากการปฏิบัติการตามหน้าที่ของจำเลยโดยตรง ย่อมมีเหตุผลที่จะทำให้จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่า เป็นเรื่องที่เป็นความจริง
ดังนั้น การที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ทำสัญญากับโจทก์ที่ 2 และที่ 3 และมีการขยายสัญญาอีกสองครั้ง โดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 การขายสินค้าปลอดอากรโดยไม่เชื่อมต่อระบบการขายหน้าร้าน Point of Sale (POS) ส่งผลให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าสินค้าที่ขายไปมีจำนวนเท่าไร ทำให้การเรียกเก็บผลตอบแทนของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ในอัตราร้อยละ 15 ของราคาสินค้าอาจได้ไม่ครบจำนวน
และการขายสินค้าที่ซอยรางน้ำ แล้วไปส่งมอบให้ลูกค้าที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ไม่ได้รับส่วนแบ่งร้อยละ 15 เต็มจำนวน จึงก่อให้เกิดความเสียหายต่อบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และการขายสินค้าปลอดอากร โดยไม่ได้นำสินค้าออกไปยังต่างประเทศ แต่กลับนำสินค้าเข้ามาในประเทศเป็นการหลีกเสี่ยงการชำระภาษีอากรตามกฎหมาย เหตุการณ์ทั้งห้าประการดังกล่าว ส่งผลก่อให้เกิดความเสียหายต่อบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และประเทศชาติ
การที่จำเลย ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะอนุกรรมาธิการศึกษา เสนอแนะมาตรการและกลไกในการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ในคณะกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ นำข้อเท็จจริงที่ได้จากการตรวจสอบโครงการร้านค้าปลอดอากร มาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน กล่าวถึงโจทก์ทั้งสาม เนื่องจากเป็นคู่สัญญา
แต่สาระสำคัญในการแถลงข่าว เป็นการบอกกล่าวถึงข้อเท็จจริง กรณีเจ้าหน้าที่ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่ในการรักษาผลประโยชน์ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และประเทศชาติ
ทั้งการแถลงข่าวให้สื่อมวลชนและประชาชนรับทราบยังเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบ เพื่อให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการให้ถูกต้อง อันเป็นการปกปักรักษาผลประโยชน์ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และประเทศชาติอีกทางหนึ่ง
การแถลงข่าวของจำเลย จึงเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ทั้งเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใด อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3) การแถลงข่าวของจำเลยทั้งห้าประการ จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยแถลงข่าวเรื่องการเลื่อนชำระเงินและลดรายได้ ที่จะส่งต่อบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เนื่องจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยบุกสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่
ในปัญหานี้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 บรรยายฟ้องในสำนวนที่หกว่า จำเลยแถลงข่าวว่า จากเหตุพันธมิตรบุกสนามบินและที่สหรัฐอเมริกาหุ้นที่วอลสตรีทเกิดการทุจริต ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ สองเหตุการณ์นี้การท่าอากาศยานไปเสนอเรื่องเลื่อนการชำระเงินและลดรายได้ลงมาจากผู้เซ็นสัญญากับการท่าอากาศยาน ก็คือส่วนใหญ่จะเป็นสัญญาระหว่างคิง เพาเวอร์ กับการท่าอากาศยาน ซึ่งเป็นคนคุมเกือบทั้งหมด เราดูตัวเลขจากการลดครั้งนั้นแล้ว ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการท่าฯ หมื่นกว่าล้านบาท
คำถามคือผมท้าให้ท่านนายกฯ รู้เรื่องเลย เรื่องนี้อยู่ในรายงานการประชุม ถ้าท่านหาไม่เจอ ผมจะยกเอกสารมาให้ท่าน ไม่เกินแฟ้มเดียว ท่านจะรู้ทันทีเลยว่า ไอ้พวกนี้มันโกงยังไง รัฐเสียหายกันยังไง เรื่องที่เห็นๆ เลยนะครับ มันไม่ควรจะไปลดไปเลื่อนมากขนาดนี้ แต่นี่ใช้อำนาจคนที่เสนอ นั่นใครครับ นายประสงค์ พูนธเนศ ตอนนั้นเป็นกรรมการ วันนี้หมอนี่เป็นอธิบดีกรมสรรพากร และมาเป็นบอร์ดสองครั้งสามครั้งแล้ว คนพวกนี้นายกฯ ควรดูภูมิหลังด้วยว่า ทำความเสียหายให้กับรัฐไหม ต้องกลับไปดูน่ะครับว่า กรรมการบอร์ดเป็นคนของบริษัทหรือเป็นคนของรัฐกันแน่
เห็นว่า การแถลงข่าวของจำเลยเป็นการมุ่งเน้นกล่าวถึงการเสนอเรื่องเลื่อนการชำระเงินและลดรายได้ของกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นการดำเนินการภายในของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เป็นการเฉพาะ แม้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นคู่สัญญาก็ไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินการดังกล่าวได้ อีกทั้งจำเลยไม่ได้กล่าวอ้างพาดพิงโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 แต่อย่างใด จำเลยคงกล่าวถึงฝ่ายโจทก์แต่เพียงว่า ส่วนใหญ่เป็นสัญญาระหว่างกลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ กับการท่าอากาศยาน เท่านั้น
เมื่อการแถลงข่าวของจำเลย เป็นการกล่าวถึงและวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินการของกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) โดยไม่มีข้อความตอนใดกล่าวอ้างพาดพิงถึงบุคคลอื่น จึงไม่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง” คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3694/3701/2565 ลงวันที่ 4 ต.ค.2565 ระบุ
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ที่ผ่านมากลุ่มบริษัท คิงเพาเวอร์ ฟ้องนายชาญชัย เป็นจำเลย ในคดีหมิ่นประมาท กรณีแถลงข่าวเกี่ยวกับร้านค้าปลอดอากร ทั้งสิ้น 12 คดี/สำนวน โดยศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องนายชาญชัยแล้วไปแล้ว 10 คดี/สำนวน ยังเหลือคดีที่อยู่ในชั้นการพิจารณาของศาลฯ 2 คดี คือ คดีที่อยู่ในชั้นศาลอุทธรณ์ 1 คดี และคดีที่อยู่ในชั้นศาลฎีกาอีก 1 คดี
อ่านประกอบ :
ไม่ใช่ผู้เสียหาย! 'ศาลอาญาคดีทุจริตฯ'ยกฟ้องคดี'ทอท.'แก้สัญญาดิวตี้ฟรี-'ชาญชัย'จ่ออุทธรณ์
พลิกคำแถลงฯ‘อัยการ’แก้ต่าง คดีฟ้อง‘ทอท.’แก้สัญญา‘ดิวตี้ฟรี’มิชอบ ก่อนศาลฯนัดชี้มูล ก.พ.66
‘ศาลคดีทุจริตฯ’นัดชี้มูล คดี‘ทอท.’แก้สัญญา‘ดิวตี้ฟรี-พื้นที่เชิงพาณิชย์’ 28 ก.พ.ปีหน้า
ศาลคดีทุจริตฯ นัดสืบพยานปาก 'ผู้แทน สศค.' คดี 'ทอท.' แก้สัญญา' ดิวตี้ฟรี 7 ธ.ค.นี้
'ศาลคดีทุจริตฯ'นัด'พยานปากสุดท้าย'ไต่สวนมูลฟ้อง คดี'ทอท.'แก้สัญญา'ดิวตี้ฟรี' ต.ค.นี้
ย้อนบันทึก'บอร์ด ทอท.' ต่อเวลาอุ้ม'สายการบิน-ดิวตี้ฟรี' พยุงรายได้ปี 65 แตะ 2 หมื่นล.
'ศาลคดีทุจริตฯ'แจ้ง'ผู้ตรวจการแผ่นดิน'ส่งผู้แทนเบิกความเป็นพยาน คดีแก้สัญญา'ดิวตี้ฟรี'
ศาลคดีทุจริตฯ เรียก 5 หน่วยงาน ให้ข้อเท็จจริง คดีฟ้อง'ทอท.'แก้สัญญา'ดิวตี้ฟรี'มิชอบ
เป็นอำนาจบอร์ด! 'ทอท.' ย้ำแก้สัญญา ‘ดิวตี้ฟรี’ ไม่เข้าข่ายพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ
‘สคร.กลับลำ! ร่อนหนังสือแจ้ง‘ทอท.’แก้สัญญาดิวตี้ฟรี ไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.วินัยการเงินฯ
'ศาลอุทธรณ์' พิพากษากลับ ยกฟ้อง ‘ชาญชัย’ คดีหมิ่นประมาท ‘คิงเพาเวอร์’