“…โดยกิจกรรมดังกล่าว ทอท.ได้รับค่าเช่าพื้นที่ และค่าผลประโยชน์ตอบแทนจากการให้สิทธิประกอบกิจการ และมิใช่การดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งพัสดุโดยการซื้อ จ้าง เช่า แลกเปลี่ยน จึงไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560…”
................................
เป็นอีกหนึ่งคดีที่น่าสนใจ
เมื่อ ชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตรองประธานคณะอนุกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ประสงค์ พูนธเนศ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะอดีตประธานกรรมการ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) กับพวก ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง
โดยกล่าวหาว่า ประสงค์ กับพวก กระทำความผิดฐานเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต รวมทั้งเป็นกรรมการหรือผู้บริหารไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต
จนเป็นเหตุให้ ทอท. ได้รับความเสียหาย กรณีแก้ไขสัญญาสัมปทานพื้นที่ร้านค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) และสัมปทานการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในสนามบิน ทอท. จำนวน 5 ฉบับ สร้างความเสียหาย 4.2 หมื่นล้านบาท
ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2565 ที่ผ่านมา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้สืบพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง พยานปากสุดท้ายเสร็จเรียบร้อยแล้ว และศาลฯกำหนดนัดคู่ความฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาในวันที่ 28 ก.พ.2566 เพื่อชี้ว่าคดีมีมูลหรือไม่ (อ่านประกอบ : ‘ศาลคดีทุจริตฯ’นัดชี้มูล คดี‘ทอท.’แก้สัญญา‘ดิวตี้ฟรี-พื้นที่เชิงพาณิชย์’ 28 ก.พ.ปีหน้า)
อย่างไรก็ดี เนื่องจากคดีพิพาทดังกล่าวเป็นคดีพิพาทระหว่าง ‘รัฐวิสาหกิจ’ ที่แปรสภาพเป็น ‘บริษัทมหาชนจำกัด’ กับผู้ถือหุ้น และเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ของรัฐมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท รวมทั้งจะเป็นบรรทัดฐานเกี่ยวกับ ‘แนวปฏิบัติ’ ในการบังคับใช้กฎหมายหลายฉบับในอนาคต โดยเฉพาะมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอสรุปรายละเอียดของคดีนี้ ให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
@ย้อนคดีฟ้อง ‘ทอท.’ แก้สัญญา ‘ดิวตี้ฟรี’ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 22 มี.ค.2564 หรือเมื่อ 1 ปี 9 เดือนก่อน หรือ ชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ในฐานะผู้ถือหุ้น ทอท. เป็นโจทย์ยื่นฟ้อง ประสงค์ พูนธเนศ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะอดีตประธานกรรมการ ทอท. กับพวก รวม 14 คน ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง
โดยกล่าวหาว่า การที่ ประสงค์ กับพวก ในฐานะบอร์ด ทอท. มีมติแก้ไขสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรี และสัมปทานการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบิน ทอท. รวม 5 ฉบับ ซึ่งประกอบด้วย สัญญาเดิม 2 ฉบับ และสัญญาใหม่ 3 ฉบับ ด้วยวิธี ‘ลดค่าตอบแทน’ และ 'เลื่อนการบังคับ' ตามสัญญาฯ ให้กับเอกชนคู่สัญญา (กลุ่มคิงเพาเวอร์) นั้น
เป็น มติ ทอท. ที่ขัดต่อกฎหมายหลายฉบับ เช่น มาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 เนื่องจากการแก้ไขสัญญาสัมปทานทั้ง 5 ฉบับ ซึ่งทำให้ภาครัฐต้องสูญเสียรายได้นั้น จะต้องขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อน แต่กรณีกลับไม่มีเสนอนำเสนอมติ ทอท. ดังกล่าว ให้ ครม.อนุมัติเลย
นอกจากนี้ การแก้ไขสัญญาสัมปทานทั้ง 5 ฉบับ ยังเป็นการจงใจฝ่าฝืนมาตรา 97 (1) ประกอบมาตรา 93 วรรคห้า แห่ง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 เพราะไม่ได้ทำตามแบบสัญญาและไม่ได้ส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาให้ความชอบก่อน รวมถึงเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 14 คน ได้แก่ ประสงค์ พูนธเนศ ,ธวัชชัย อรัญญิก ,ธานินทร์ ผะเอม ,สุทธิรัตน์ รัตนโชติ ,มานิต นิธิประทีป ,วราห์ ทองประสินธุ์ ,สราวุธ เบญจกุล ,พ.อ.อ.ภานุพงศ์ เสยยงคะ ,พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก ,กฤษณ์ เสสะเวช ,กฤชเทพ สิมลี ,กฤษฎา จีนะวิจารณะ ,ณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ และนิตินัย ศิริสมรรถการ
ต่อมาวันที่ 25 มิ.ย.2564 ศาลฯมีคำสั่งรับคดีไว้ 'ไต่สวนมูลฟ้อง' และนัดไต่สวนมูลฟ้อง ‘นัดแรก’ ในวันที่ 14 ม.ค.2565 โดยนัดสืบพยานปากโจทก์ คือ ชาญชัย เป็นปากแรก
@‘อัยการ’ แก้ต่างแทน ‘ทอท.’ ชี้ต้องช่วยเหลือผู้ประกอบการ
ขณะที่ก่อนหน้านี้ คือ เมื่อวันที่ 4 ต.ค.2564 พนักงานอัยการ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ทนายความแก้ต่างคดีให้จำเลยที่ 1 (ประสงค์ พูนธเนศ) ถึงจำเลยที่ 10 และจำเลยที่ 12 ถึงจำเลยที่ 14 ได้ส่ง ‘คำแถลงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอันสำคัญที่ศาลควรสั่งว่าคดีไม่มูล’ ให้ศาลฯ เพื่อหักล้างข้อกล่าวหาของ ชาญชัย (โจทก์) สรุปความได้ว่า
การที่ ทอท. มีมติให้ ‘ปรับลดค่าตอบแทน’ ตามสัญญาอนุญาตให้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) และสัญญาอนุญาตให้ประกอบกิจการโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของ ทอท. ให้กับกลุ่มคิงเพาเวอร์
โดยเรียกเก็บเฉพาะ ‘ค่าผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราร้อยละจากยอดรายได้ประกอบกิจการ’ โดยยกเว้น ‘การเรียกเก็บค่าตอบแทนขั้นต่ำ’ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.2563 ถึงวันที่ 31 มี.ค.2565 นั้น มีข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณา อาทิ เช่น
1.สืบเนื่องจากเหตุการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รัฐบาลได้ออกมาตรการต่างๆ ในการควบคุมเพื่อมิให้มีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง เช่น การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน การควบคุมการเข้าออกพื้นที่ ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อการดำเนินกิจการ ‘สายการบิน’ และผู้ประกอบการ ณ ท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทอท.
กรณีดังกล่าวถือเป็น ‘เหตุสุดวิสัย’ ผู้เช่าหรือผู้ประกอบการสามารถใช้สิทธิบอกเลิกสัญญากับ ทอท. ได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการผิดสัญญา และหากมีการบอกเลิกสัญญาย่อมส่งผลกระทบต่อการประกอบการกิจการท่าอากาศยาน ซึ่งเป็น ‘บริการสาธารณะ’ ที่สำคัญของประเทศได้
2.จากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของ ทอท. อย่างมีนัยสำคัญ ทอท. ได้มีหนังสือแจ้งประมาณการปริมาณจราจรทางอากาศ ในช่วงปี 2563-65 และรายได้ที่คาดว่าจะลดลงต่อตลาดทรัพย์แห่งประเทศไทยทราบแล้ว โดยผู้ถือหุ้นและนักลงทุนได้มีการสอบถามรายละเอียดต่างๆเพิ่มเติมจาก ทอท. และเข้าใจถึงเหตุผล ความจำเป็น ในการที่ ทอท. กำหนดแนวทางและมาตรการต่างๆข้างต้น
ขณะที่การกำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและสายการบินตามที่ร้องขอนั้น ได้พิจารณาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรอบคอบ อยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียม รวมทั้งได้พิจารณาถึงผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ และเมื่อสถานการณ์ต่างๆกลับเข้าสู่ภาวะปกติ จะทำให้องค์กรดำเนินการไปได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุดชะงัก
หาก ทอท.ไม่กำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือ อาจทำให้ผู้เช่าหรือผู้ประกอบการไม่สามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ และขอยกเลิกสัญญา จะส่งผลกระทบต่อการให้ ‘บริการสาธารณะ’ ของท่าอากาศยาน
และหากจะดำเนินการประมูลหรือคัดเลือกผู้ประกอบการรายใหม่ในสถานการณ์ดังกล่าว ทอท.อาจมีความเสี่ยงที่จะไม่มีผู้ประกอบการเข้าร่วมประมูลหรือเสนอค่าผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ ทอท.ในอัตราเดียวกับการประมูลที่ผ่านมา ดังจะเห็นได้จากท่าอากาศยาน Incheon ประเทศเกาหลีใต้ ได้เปิดประมูลคัดเลือกผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรในช่วงปี 2563 ปรากฏว่าไม่มีผู้ประกอบการรายใดสนใจเข้าร่วมประมูล เป็นต้น
@ยันการแก้สัญญา ‘ดิวตี้ฟรี’ ไม่อยู่ภายใต้ ‘พ.ร.บ.วินัยการเงินฯ’
คำแถลงข้อเท็จจริงฯของ พนักงานอัยการ ยังแก้ต่างให้ ทอท. ในประเด็นเกี่ยวกับ ‘กฎหมายและระเบียบคำสั่งเกี่ยวกับคดี’ ไว้ใน 3 ประเด็น ดังนี้
1.ทอท.เป็นรัฐวิสาหกิจ ที่ใช้เงินงบประมาณของตนเอง ไม่ใด้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีจากภาครัฐ การจัดทำงบประมาณของ ทอท. เป็นไปตามข้อบังคับ ทอท. ข้อ 54 (3) ระเบียบ ทอท. ว่าด้วยการเงิน การบัญชี การงบประมาณ การให้สินเชื่อและหลักประกัน พ.ศ.2563 ,ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2550 รวมถึง พ.ร.บ.สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ.2561
2.การให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสก.) ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) และการให้สิทธิประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ของ ทอท. นั้น
ได้ดำเนินการคัดเลือกและให้สิทธิเอกชนตาม ระเบียบ ทอท. ว่าด้วยการให้สิทธิประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ พ.ศ.2555 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งระเบียบดังกล่าว คณะกรรมการ.ทอท. ได้กำหนดขึ้น โดยอาศัยอำนาจตามข้อบังคับ ทอท. ข้อ 36
โดยกิจกรรมดังกล่าว ทอท.ได้รับค่าเช่าพื้นที่ และค่าผลประโยชน์ตอบแทนจากการให้สิทธิประกอบกิจการ และมิใช่การดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งพัสดุโดยการซื้อ จ้าง เช่า แลกเปลี่ยน จึงไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560
3.การอนุญาตให้ประกอบกิจการ การยกเลิกการประกอบกิจการ การปรับเพิ่มหรือลดค่าเช่าพื้นที่ และค่าผลประโยชน์ตอบแทน ณ ท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทอท. ไม่มีกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือหลักเกณฑ์กำหนดให้ต้องขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี
จึงมิใช่การดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการที่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณ หรือภาระทางการคลังในอนาคต หรือการดำเนินการก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐหรือของหน่วยงานของรัฐ และไม่ใช่โครงการที่รัฐบาลรับภาระจะชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้
จึงไม่อยู่ภายใต้มาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 และประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เรื่อง การดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการที่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณหรือภาระทางการคลังในอนาคต พ.ศ.2561
นอกจากนี้ คำแถลงข้อเท็จจริงฯ ของพนักงานอัยการ ยังระบุว่า การฟ้องคดีของ ชาญชัย (โจทก์) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยของ ทอท. เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์การดำเนินงานของ ทอท. และคณะกรรมการ ทอท.
เนื่องจากโจทก์เคยใช้สิทธิฟ้องกรรมการ ทอท. และกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ ในข้อหาเดียวกันกับคดีนี้ ต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ คดีหมายเลขดำที่ อท.352/2560 คดีหมายเลขแดงที่ 246/2561 ซึ่งคดีดังกล่าว ศาลนี้ ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องโจทก์ โดยวินิจฉัยทำนองเดียวกันว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้อง
“จากข้อกฎหมาย ระเบียบ กฎ และมติคำสั่งต่างๆที่เกี่ยวข้อง และข้อเท็จจริงที่ได้ประทานกราบเรียนมาดังกล่าวข้างต้น จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และที่ 12 ถึงที่ 14 ขอยืนยันว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ไปโดยชอบอยู่บนพื้นฐานของกรอบกฎหมาย กฎระเบียบ ประกาศ และคำสั่งต่างๆ
มิได้มีเจตนาหรือมูลเหตุจูงใจกสั่นแกล้งให้โจทก็ได้รับความเสียทายแต่อย่างใด ขอศาลที่เคารพได้โปรดพิจารณาพากษายกฟ้องโจทก์ต่อไป” คำแถลงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอันสำคัญฯ ของพนักงานอัยการ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ทนายความแก้ต่างคดีให้จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 10 และจำเลยที่ 12 ถึงจำเลยที่ 14 ลงวันที่ 4 ต.ค.2564 ระบุ
@‘ชาญชัย’ ยก ‘ข้อเท็จจริง-ข้อกฎหมาย’ โต้ ‘หน่วยงานของรัฐ’
ทั้งนี้ หลังจากศาลฯนัดสืบพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ปาก ชาญชัย (โจทก์) แล้ว ศาลฯได้นัดสืบพยานฝ่ายโจทก์อีก 4 ปาก รวมทั้งได้เรียกพยานที่เป็นหน่วยงานของรัฐหรือผู้แทนมาให้ปากคำอีก 6 ปาก ได้แก่ ผู้แทนจากกรมบัญชีกลาง ,ผู้แทนจากสำนักงบประมาณ ,ผู้แทนจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.)
ผู้แทนจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ,ผู้แทนจากผู้ตรวจการแผ่นดิน และผู้แทนจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) หรือคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ โดยศาลฯสืบพยานฯเสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2565 และนัดคู่ความฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาว่าคดีมีมูลหรือไม่ ในวันที่ 28 ก.พ.2566
อย่างไรก็ดี ในระหว่างการสืบพยานปากหน่วยงานของรัฐต่างๆ ในชั้นการไต่สวนมูลฟ้องฯนั้น ชาญชัย ได้โต้แย้งคำชี้แจงของผู้แทนหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมาเป็นพยานในคดีนี้ อย่างน้อย 3 ประเด็น ได้แก่
ประเด็นที่ 1 กรณีหน่วยงานของรัฐ (สศค.) เบิกความว่า การแก้ไขสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรี และสัมปทานบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ฯ ภายในท่าอากาศยาน ของ ทอท. ทั้ง 5 ฉบับ ไม่ต้องเสนอให้ ครม.อนุมัติก่อน และไม่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐฯ นั้น
ชาญชัย แย้งว่า เมื่อประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เรื่อง การดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการที่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณหรือภาระการคลังในอนาคต พ.ศ.2561 กำหนดให้ “...(2) การดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการของหน่วยงานของรัฐที่ก่อให้เกิดความสูญเสียรายได้ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ..." เป็นการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการที่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณหรือภาระการคลังในอนาคต
ดังนั้น การแก้สัญญาของ ทอท. ดังกล่าว ซึ่งทำให้รัฐสูญเสียรายได้ไปหลายหมื่นล้านบาท จึงต้องเข้าข่ายที่ปฏิบัติตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐฯ และต้องเสนอเรื่องให้ ครม.อนุมัติก่อนดำเนินการ
นอกจากนี้ เมื่อปี 2553 ทอท.ได้มีการเสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในท่าอากาศยานของ ทอท. ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ปิดสนามบิน ให้ ครม.อนุมัติ แต่เหตุใดการแก้ไขสัญญาทั้ง 5 ฉบับ ของ ทอท. ในครั้งนี้ จึงไม่มีการเสนอ ครม.อนุมัติก่อน
ประเด็นที่ 2 กรณีหน่วยงานของรัฐ เบิกความว่า การให้สิทธิประกอบกิจการร้านค้าดิวตี้ฟรี และการให้สิทธิประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ของ ทอท. ไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐฯ เพราะกิจกรรมดังกล่าว ทอท.ได้รับค่าเช่าพื้นที่และค่าผลประโยชน์ตอบแทนจากการให้สิทธิฯ ไม่ใช่การซื้อ จ้าง เช่า แลกเปลี่ยน นั้น
ชาญชัย แย้งว่า แม้ว่า พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ มาตรา 7 กำหนดข้อยกเว้นว่า ไม่ให้ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว บังคับแก่ “...(1) การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรง...” แต่เนื่องจากมาตรา 7 วรรคสอง กำหนดว่า การยกเว้นการบังคับตามมาตรการ 7 (1) จะต้องเสนอให้คณะกรรมการนโยบายฯอนุมัติให้ได้รับยกเว้น ‘เป็นรายกรณี’ ไป
และปรากฏข้อเท็จจริงว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีประกาศคณะกรรมการนโยบายจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กำหนดให้การให้สิทธิประกอบกิจการร้านค้าดิวตี้ฟรี และการให้สิทธิประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ของ ทอท. เป็นการจัดซื้อจัดจ้างฯ ที่ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องบังคับตามมาตรา 7 (1) แห่ง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ แต่อย่างใด
ประเด็นที่ 3 กรณีที่มีการระบุว่า ทอท. เป็นบริษัทจำกัดมหาชน และไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 นั้น ชายชัย แย้งว่า หาก ทอท.ไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณฯ แต่เหตุใดในเอกสารงบประมาณประจำปี 2565 มีการระบุว่า ในปีงบ 2562 และปีงบ 2563 ทอท.ได้รับเงินอุดหนุนจากเงินงบประมาณ
เหล่านี้สรุป ‘คำแถลงข้อเท็จจริงฯ’ ของพนักงานอัยการ ในฐานะทนายฝ่ายจำเลย ,คำเบิกความของพยานหน่วยงานของรัฐ และการแย้งของ ชาญชัย ในคดีที่ ทอท. แก้ไขสัญญาสัมปทาน ‘ดิวตี้ฟรี-บริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์’ 5 ฉบับ ซึ่งเข้าข่ายว่าอาจมิชอบด้วยกฎหมาย ก่อนที่ศาลฯจะชี้มูลคดีในเดือน ก.พ.ปีหน้า
อ่านประกอบ :
‘ศาลคดีทุจริตฯ’นัดชี้มูล คดี‘ทอท.’แก้สัญญา‘ดิวตี้ฟรี-พื้นที่เชิงพาณิชย์’ 28 ก.พ.ปีหน้า
ศาลคดีทุจริตฯ นัดสืบพยานปาก 'ผู้แทน สศค.' คดี 'ทอท.' แก้สัญญา' ดิวตี้ฟรี 7 ธ.ค.นี้
'ศาลคดีทุจริตฯ'นัด'พยานปากสุดท้าย'ไต่สวนมูลฟ้อง คดี'ทอท.'แก้สัญญา'ดิวตี้ฟรี' ต.ค.นี้
ย้อนบันทึก'บอร์ด ทอท.' ต่อเวลาอุ้ม'สายการบิน-ดิวตี้ฟรี' พยุงรายได้ปี 65 แตะ 2 หมื่นล.
'ศาลคดีทุจริตฯ'แจ้ง'ผู้ตรวจการแผ่นดิน'ส่งผู้แทนเบิกความเป็นพยาน คดีแก้สัญญา'ดิวตี้ฟรี'
ศาลคดีทุจริตฯ เรียก 5 หน่วยงาน ให้ข้อเท็จจริง คดีฟ้อง'ทอท.'แก้สัญญา'ดิวตี้ฟรี'มิชอบ
เป็นอำนาจบอร์ด! 'ทอท.' ย้ำแก้สัญญา ‘ดิวตี้ฟรี’ ไม่เข้าข่ายพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ
‘สคร.กลับลำ! ร่อนหนังสือแจ้ง‘ทอท.’แก้สัญญาดิวตี้ฟรี ไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.วินัยการเงินฯ
'ศาลอุทธรณ์' พิพากษากลับ ยกฟ้อง ‘ชาญชัย’ คดีหมิ่นประมาท ‘คิงเพาเวอร์’
‘สคร.’ร่อน‘หนังสือลับ’สั่ง‘ทอท.’แจงปมแก้ไขสัญญา‘ดิวตี้ฟรี-บริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์’
เลื่อนนัดสืบพยานฝ่ายโจทก์! คดี‘ชาญชัย’ฟ้อง‘ทอท.’แก้สัญญา'ดิวตี้ฟรี'เสียหาย 4.2 หมื่นล.