เครดิตบูโรชี้ภาวะหนี้ครัวเรือนมี 2 จุดเสี่ยงน่ากลัว ชี้ 27% เป็นการกู้เงินเพื่อการกินใช้ ห่วงต้องนำรายได้อนาคตมาใช้หนี้ ส่วนหนี้เสียไตรมาส 3 พุ่ง 7.7% ธปท.คาดเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวระดับก่อนโควิดในปี 2567
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2564 นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด กล่าวว่า ภาวะหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันอยู่ในระดับสูง จากรายงานของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ล่าสุด อยู่ที่ 14.27 ล้านล้านบาท หากเทียบกับจีดีพีอยู่ที่ 89.3% ส่วนข้อมูลหนี้ครัวเรือนที่เก็บจากเครดิตบูโร จะมี 12.4 ล้านล้านบาท
ข้อมูลลูกหนี้ 31 ล้านคน เป็นตัวแทนหนี้ครัวเรือนไทยที่เป็นฐานข้อมูลหลัก ใน 100 คน มีหนี้เสีย 18 คน แต่หากเป็นลูกหนี้ที่อายุน้อยระหว่าง 30-34 ปี ใน 100 คนจะมีหนี้เสีย 24 คน หรือ คิดเป็น 20% เป็นตัวเลขที่น่ากังวลเพราะเป็นตัวเลขที่อยู่ในระดับสูง
โดยทางเครดิตบูโรมีความเป็นห่วง เนื่องจากลูกหนี้อายุน้อยเหล่านี้จะเป็นกำลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระยะถัดไป หากมีปัญหาหนี้เสียจะส่งผลกระทบกับประเทศในระยะยาว
นายสุรพล กล่าวด้วยว่า สำหรับข้อกังวลที่น่ากลัวของเรื่องหนี้ครัวเรือนไทย มีอยู่ 2 จุด ได้แก่ 20.7% เป็นการใช้เพื่อการบริโภค และสินเชื่อบัตรเครดิตอีก 7% ฉะนั้น 27% เป็นการกู้เงินเพื่อการกินและใช้ ขณะนี้ต้องนำรายได้ที่เกิดขึ้นในอนาคตมาชำระหนี้ จึงเกิดคำถามว่า ถ้ามีการว่างงาน ว่างงานเสมือน หรือกลับถิ่น แล้วจะชำระหนี้กันได้อย่างไร
หากเปรียบเทียบกับสหราชอาณาจักร ที่มีหนี้ครัวเรือน 87% ส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อที่อยู่อาศัย หรือมาเลเซีย จากหนี้ครัวเรือน 100 บาท เป็นหนี้บ้าน จำนวน 52 บาท ส่วนคนไทยจาก 100 บาท เป็นหนี้บ้าน 34 บาท แต่มีหนี้ 27 บาท ที่เป็นหนี้กินใช้ ซึ่งเป็นความน่ากลัวของลักษณะของความเป็นหนี้
"หากเจาะฐานข้อมูลเครดิตบูรโรที่มี 12.4 ล้านล้านบาท พบว่าสินเชื่อที่อยู่อาศัย เติบโตประมาณ 6.2% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ยอดสินเชื่อประมาณ 4.5 ล้านล้านบาท สินเชื่อส่วนบุคคล 2.4 ล้านล้านบาท เติบโต 2% บัตรเครดิตเพียง 4.8 แสนล้านบาท ขยายตัว 0.6%" นายสุรพล กล่าว
นายสุรพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะที่หนี้เสียตามข้อมูลของเครดิตบูโร ก่อนมีสถานการณ์โควิดอยู่ประมาณ 9 แสนล้านบาท คิดเป็น 8.1% และมีช่วงออกมาตรการชะลอ/พักการชำระหนี้
ทำให้กราฟหนี้เสีย (NPL) ตกท้องช้างลงมา และเมื่อปลดมาตรการปรับโครงสร้างหนี้สมัครใจ กราฟหนี้เสียเริ่มขยับขึ้นไปเรื่อยๆ โดย หนี้เสียขยับจากไตรมาส 2 ของปีนี้ ไปไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ อยู่ที่ 7.7% ส่งผลให้ผู้ที่เริ่มค้างชำระแต่ยังไม่เป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น 2.5% หากรวมกัน หนี้เสียจะเท่ากับกว่า 10% โดยส่วนนี้ยังไม่รวมถึงผลของโควิดสายพันธุ์เดลต้า และมาตรการของแบงก์รัฐที่จะหมดสิ้นปีนี้ รวมถึงมาตรการของแบงก์รัฐที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรจะสิ้นสุดเดือน มี.ค. 2565
หลังจากสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือของทางภาครัฐ ที่ขยายผลช่วยเหลือสำหรับลูกหนี้ภาคเกษตรไปจนถึงช่วงกลางปีหน้า ภายในเดือน มิ.ย. 2565 คาดว่าจะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นถึงตัวเลขหนี้และลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสีย โดยเฉพาะบัญชีสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งรัฐบาลมีการสนับสนุนให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อเป็นจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา ขณะนี้ปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว 8.5 แสนล้านบาท เป็นหนี้เสีย 9.7 แสนล้านบาท ก็มีแนวโน้มจะไปแตะ 1 ล้านล้านบาท ล่าสุดมีมากกว่า 2.4 ล้านบัญชี
นายสุรพล กล่าวอีกว่า ในปี 2565 และ 2566 จะเป็นปีมหกรรมปรับโครงสร้างหนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าลูกหนี้จะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่เดือน ม.ค.67 เป็นต้นไป โดยหวังว่าการเปิดประเทศจะเร่งทำให้ลูกหนี้กลับมาฟื้นช่วงกลางปี 2566
สำหรับการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนในระยะยาว มีการปรับโครงสร้างหนี้ 9 วิธี ได้แก่
1 ลดภาระหนี้
2.ลดอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาหรือปรับเงื่อนไขการจ่ายที่ให้ผลประโยชน์แก่ลูกหนี้ ทำให้อัตราดอกเบี้ยตามสัญญาลดลง
3. รับโอนทรัพย์ชำระหนี้
4. แปลงหนี้เป็นทุน/ตราสารหนี้แปลงสภาพ
5.ปรับ structure ของหนี้ จากสั้นเป็นยาว
6. ปรับโครงสร้างหนี้
7.ขยายเวลาการชำระหนี้
8. ให้ grace period เงินต้น/ดอกเบี้ย
9. ปรับ structure ของหนี้จากสั้นเป็นยาวเพียงอย่างเดียว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage