กนง.มีมติ 4 ต่อ 3 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ต่อปี จับตาความเสี่ยง 'เงินเฟ้อ' ใกล้ชิด หลังราคาน้ำมันพุ่งเกินคาด ขณะที่ กรรมการฯ 3 เสียง โหวตขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เหตุเศรษฐกิจฟื้นตัว-ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมีความชัดเจน
.............................
เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ว่า คณะกรรมการฯ มีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี โดย 3 เสียงเห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี
คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ต่อเนื่องและมีโอกาสฟื้นตัวดีกว่าที่ประเมินไว้ จากอุปสงค์ในประเทศและแรงส่งจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่ประเมินไว้เดิม จากการปรับขึ้นของราคาน้ำมันและการส่งผ่านต้นทุนที่มากและนานกว่าคาด
มองไปข้างหน้า การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะมีความจำเป็นลดลง อย่างไรก็ดี เพื่อให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจในระยะต่อไปจะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องตามคาด กรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้ โดยจะติดตามพัฒนาการของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความเสี่ยงด้านเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด ส่วนกรรมการ 3 ท่านเห็นว่าแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมีความชัดเจนเพียงพอที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้
คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยจะขยายตัวในปี 2565 และ 2566 ที่ร้อยละ 3.3 และ 4.2 ตามลำดับ จากการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวดีกว่าคาดมากโดยเฉพาะในหมวดบริการ รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากการเปิดประเทศของไทยและต่างประเทศที่เร็วขึ้น
นอกจากนี้ ตลาดแรงงานและรายได้ครัวเรือนมีสัญญาณปรับดีขึ้นตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ขณะที่การระบาดของ COVID-19 และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยจำกัด อย่างไรก็ดี ต้องติดตามความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป โดยเฉพาะผลกระทบจากต้นทุนและค่าครองชีพที่สูงขึ้นต่อการบริโภคภาคเอกชน
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 และ 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 6.2 และ 2.5 ตามลำดับ โดยอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงเกินกรอบเป้าหมายตลอดปี 2565 ตามราคาพลังงานโลกและการส่งผ่านต้นทุนภายในประเทศที่สูงขึ้นและกระจายตัวในหมวดสินค้าหลากหลายขึ้น แต่ประเมินว่ายังเป็นผลจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางไม่ได้ปรับสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไปมีความเสี่ยงมากขึ้นจากราคาน้ำมันโลกที่มีโอกาสสูงกว่าที่ประเมินไว้ การส่งผ่านต้นทุนที่อาจมากและเร็วกว่าคาด และแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อาจเร่งขึ้นตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการเงินเฟ้อและการส่งผ่านต้นทุน รวมถึงเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางอย่างใกล้ชิด
ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง รวมทั้งสภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง แต่การกระจายสภาพคล่องยังแตกต่างกันบ้างในแต่ละภาคเศรษฐกิจ ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจบางกลุ่มยังเปราะบางโดยรายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และมีภาระหนี้อยู่ในระดับสูง จึงอาจมีความอ่อนไหวต่อค่าครองชีพและต้นทุนที่สูงขึ้น
คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการปรับโครงสร้างหนี้ควรดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เห็นผลในวงกว้างและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาว รวมทั้งเห็นความสำคัญของการมีมาตรการเฉพาะจุดสำหรับกลุ่มเปราะบาง
ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลายแต่มีความผันผวนมากขึ้น โดยอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. ปรับอ่อนค่าลงสอดคล้องกับค่าเงินในภูมิภาค ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับเพิ่มขึ้นตามทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลัก และการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของไทยในระยะข้างหน้า คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการและความผันผวนในตลาดการเงินอย่างใกล้ชิด
ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ประเมินว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมีความชัดเจนขึ้น จึงเห็นว่าการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะมีความจำเป็นลดลงในระยะข้างหน้า
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สอดคล้องกับแนวโน้มและความเสี่ยงของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่เปลี่ยนไป
นายปิติ กล่าวต่อว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น และจากตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 1/2565 ที่ออกมาดีเกินคาด และนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่กลับเข้ามาเร็วขึ้น ทำให้ กนง. ปรับประมาณการเศรษฐกิจใหม่ โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวที่ 3.3% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 3.2% แม้ว่าจะมีแรงหน่วงจากการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอลง ค่าครองชีพที่สูงขึ้น และแรงส่งของภาคการคลังลดลง
ส่วนในปี 2566 กนง.คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 4.2% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 4.4% เนื่องจากภาคการส่งออกที่ได้ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และผลกระทบเพิ่มเติมจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าในช่วงต้นปี 2566 เศรษฐกิจไทยจะกลับเข้าสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโควิด
“ถ้าดูตัวเลขและเครื่องชี้ต่างๆจะพบว่าในด้านอุปสงค์ ไม่ว่าจะเป็นการบริโภค การลงทุน การส่งออก มีสัญญาณว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวต่อเนื่อง ตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันไทย มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเกิน 1 ล้านคนไปแล้ว และคาดว่าปีนี้ไทยจะมีนักท่องเที่ยว 6 ล้านคน ส่วนปี 2566 คาดว่านักท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 19 ล้านคน ซึ่งจะเป็นขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในระยะต่อไป” นายปิติ กล่าว
นายปิติ ระบุว่า กนง.ยังทบทวนตัวเลขประมาณการเงินเฟ้อใหม่ โดยในปี 2565 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะขยายตัว 6.2% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 4.9% และเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัว 2.2% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 2% เนื่องจากตัวเลขเงินเฟ้อในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา สูงกว่าที่คาดไว้ และในปี 2566 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะขยายตัว 2.5% จากเดิมจากคาดว่าจะขยายตัว 1.7% และเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะขยายตัว 2% จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 1.7%
“อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มสูงกว่ากรอบเป้าหมายตลอดทั้งปีนี้ ซึ่งในรอบนี้เราคาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะขยายตัวที่ 6.2% จากครั้งที่แล้ว 4.9% ส่วนปีหน้า เมื่อผลของราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นมาในปีนี้ค่อยๆลดลง และการส่งผ่านต้นทุนที่คาดว่าจะทยอยคลี่คลายลงไป ก็คาดว่าเงินเฟ้อจะกลับมาอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยเงินเฟ้อทั่วไปจะขยายตัวที่ระดับ 2.5% ในปีหน้า ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 2.2% และ 2% ในปีนี้และปีหน้า” นายปิติ กล่าว
นายปิติ ย้ำว่า “ที่ผ่านมาเงินเฟ้อยังคงถูกขับเคลื่อนจากปัจจัยด้านอุปทาน คือ ราคาพลังงาน เป็นหลัก เพียงแต่ระดับอาจจะสูงกว่าที่เราประเมินไว้ และอาจทอดยาวไปมากขึ้น แต่ในภาพรวมแล้ว คาดว่าจะคลี่คลายในปีหน้า”
นายปิติ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุม กนง. มีการประเมินว่า เงินเฟ้อของไทยมีความเสี่ยงด้านสูงพอสมควร เนื่องจาก 1.ในช่วงหลัง เริ่มมีสัญญาณว่าการเพิ่มขึ้นของราคามีการขยายวงมากขึ้น
2.ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีความผันผวนค่อนข้างสูง และราคาปรับเพิ่มขึ้น โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับเพิ่มสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2565 ว่าจะอยู่ที่ 105 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 100 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และปีหน้าคาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยจะอยู่ที่ 105 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 90 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล
“ในแง่เงินเฟ้อคาดการณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ กนง.จับตาอย่างยิ่ง พบว่าเงินเฟ้อในระยะปานกลาง ยังอยู่ในกรอบเป้าหมายการดำเนินนโยบายการเงิน แม้ว่าเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะสั้นจะปรับเพิ่มขึ้นตามข้อมูลจริงที่มีมา” นายปิติ กล่าว
นายปิติ กล่าวต่อว่า ในการประชุมครั้งนี้ กรรมการ กนง. มีความเห็นร่วมกันว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมีความชัดเจนขึ้น ดังนั้น การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบัน จะมีความจำเป็นลดลงในระยะข้างหน้า ในขณะที่การ ‘กลับ’ นโยบายการเงินในอนาคต จะต้องชั่งน้ำหนักใน 3 มิติหลัก
มิติแรก เป็นเรื่องการชั่งน้ำหนักระหว่างการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกับการดูแลเงินเฟ้อ ซึ่งที่ผ่านมา กรรมการฯเน้นการฟื้นตัวเศรษฐกิจเป็นสำคัญ แต่เมื่อภาพการฟื้นตัวเศรษฐกิจเริ่มแล้วและมีความชัดเจนมากขึ้น ดังนั้น การดำเนินนโยบายการเงิน จะต้องถอนคันเร่ง เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจร้อนแรงในอนาคต แล้วเสริมไฟเงินเฟ้อที่อาจจะมีในอนาคต จึงเห็นว่าควรให้เศรษฐกิจฟื้นตัวตามธรรมชาติไป
“สิ่งที่กรรมการฯไม่อยากเห็น คือ ไม่อยากให้เศรษฐกิจฟื้นตัวร้อนแรงเกินไปในปีหน้า แล้วมาซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อ ดังนั้น จุดยืนทางนโยบายจึงต้องปรับ เพื่อถอนคันเร่ง แต่ไม่ใช่เป็นการชะลอเศรษฐกิจ ซึ่งเราเองไม่อยากให้เงินเฟ้อสูงขึ้น และฝังเข้าไปในระบบ” นายปิติกล่าว
มิติที่สอง การชั่งน้ำหนักเกี่ยวกับเงื่อนเวลาว่าจะปรับนโยบายเมื่อใด ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ กรรมการฯมีมุมมองที่แตกต่างและหลากหลาย ส่วนจะปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งหน้าหรือในครั้งต่อๆไปนั้น กรรมการฯต้องพิจารณาเรื่องความชัดเจนและความต่อเนื่องของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยจะไม่ทำให้การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แต่การขึ้นดอกเบี้ยก็ต้องไม่ช้าเกินไป เพราะเศรษฐกิจที่ฟื้นเร็วอาจไปเสริมไฟของเงินเฟ้อได้ และทำให้ต้องใช้ยาแรงในปีหน้า ซึ่งส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจโดยไม่จำเป็น
มิติที่สาม การชั่งน้ำหนักว่า ผลกระทบของเงินเฟ้อกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีต่อผู้ประกอบการประชาชน และผู้เกี่ยวข้องในระบบเศรษฐกิจอย่างไร เพราะการขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้ภาระด้านการเงินให้บางกลุ่มเพิ่มขึ้น จึงต้องพิจารณาว่าเสถียรภาพทางการเงินในระบบ สามารถรองรับการขึ้นของดอกเบี้ยได้หรือไม่ และแน่นอนว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นสิ่งที่อ่อนไหวต่อคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะครัวเรือนที่รายได้น้อย
“ถ้าเทียบเคียงภาระที่เกิดขึ้นกับครัวเรือน ระหว่างเงินเฟ้อกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ย พบว่าเงินเฟ้อเป็นปัจจัยที่สร้างภาระให้กับครัวเรือนมากกว่า โดยตั้งแต่ต้นปี เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นได้เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้ครัวเรือนประมาณ 850 บาท/เดือน หรือ 3.6% ของรายได้ แต่ถ้าสมมติหรือตั้งเป็นตุ๊กตาว่า กนง.เพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1% ภาระค่าใช้จ่ายของครัวเรือนจะเพิ่มขึ้น 120 บาท/เดือน หรือ 0.5% ของรายได้ ซึ่งมันต่างกัน 7-8%” นายปิติ กล่าว
นายปิติ ย้ำว่า “สิ่งที่ กนง.เป็นห่วงมากที่สุด คือ เงินเฟ้อจะสูงขึ้นและยืนอยู่ในระดับที่สูง ยิ่งอยู่สูงนานเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นภาระต่อค่าใช้จ่ายนานเท่านั้น ถ้าจะขึ้นดอกเบี้ยแล้วเพิ่มภาระนิดหนึ่ง แต่ว่าทำให้เงินเฟ้อในอนาคตกลับลงมา และไม่ให้อยู่นาน เป็นการชั่งน้ำหนักที่น่าจะคุ้ม”
นายปิติ กล่าวถึงเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้าย ว่า เป็นสิ่งที่ กนง.จับตา เพราะขณะนี้ประเทศเศรษฐกิจหลักได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปหลายประเทศ ซึ่งแม้ว่าส่วนต่างดอกเบี้ยไทยกับดอกเบี้ยต่างประเทศจะมีอยู่บ้าง แต่ที่ผ่านมาดอกเบี้ยพันธบัตรในประเทศปรับเพิ่มขึ้นแล้วพอสมควร โดยเฉพาะพันบัตรระยะ 2 ปี และค่าเงินบาทในปัจจุบันได้สะท้อนแนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคตไปแล้วระดับหนึ่ง
“ความผันผวนของค่าเงินในช่วงที่ผ่านมา ไม่มีอะไรผิดปกติ และตั้งแต่ต้นปี ค่าเงินบาทเราอ่อนลงไป 3% ซึ่งไม่ได้เยอะมาก ซึ่งถ้ามองจากต้นปี เงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิทั้งในแง่ตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้น เป็นบวกทั้งคู่ ในขณะที่สัดส่วนนักลงทุนต่างชาติที่ยังดำรงสินทรัพย์ในประเทศไทยไม่ได้สูงมาก โดยสัดส่วนนักลงทุนต่างชาติในตลาดพันธบัตรมีสัดส่วนประมาณ 10% ดังนั้น ความอ่อนไหวหรือความเสี่ยงจากเงินทุนเคลื่อนย้ายจากปัจจัยต่างประเทศ อาจไม่เยอะมาก” นายปิติ กล่าว
อ่านประกอบ :
น้ำมัน-อาหารแพง! 'กนง.'ปรับเป้าเงินเฟ้อฯคาดพุ่งแตะ 4.9%-หั่นจีดีพีปีนี้เหลือโต 3.2%
กนง.มีมติเอกฉันท์คงดบ.นโยบาย 0.5% ต่อปี-มองแรงกดดัน'เงินเฟ้อด้านอุปสงค์'อยู่ในระดับต่ำ
'ธปท.'จ่อปรับคาดการณ์'เงินเฟ้อ'เกิน 1.7%-เชื่อราคา'น้ำมัน-หมู'ลด ช่วงครึ่งหลังของปี
มติเอกฉันท์! กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% ต่อปี หนุนศก.ฟื้นตัว-เงินเฟ้อปี 65 สูงเกินคาด
กนง.มีมติเอกฉันท์คงดบ. 0.5% ต่อปี มองจีดีพีปีหน้าโต 3.4%-'โอไมครอน'อาจยืดเยื้อกว่าคาด
'กนง.-กนส.'จับตาความเสี่ยง‘หนี้ครัวเรือน-ตลาดบอนด์ผันผวน'-เกาะติดผลกระทบ'โอไมครอน'
เศรษฐกิจ ต.ค.ดีขึ้น! ธปท.จับตาความเสี่ยง ‘โอไมครอน’-มองทั้งปี 64 จีดีพีโตเกิน 0.7%
‘ธปท.’ประเมินน้ำท่วมปี 64 ฉุดจีดีพี 0.1% เผยเศรษฐกิจ ก.ย.ดีขึ้น-เปิดปท.ฟื้นเชื่อมั่น
‘ธปท.’ ดูแล‘ค่าบาท’ไม่ให้ผันผวนเร็วเกินไป เผยเครื่องชี้เศรษฐกิจ ส.ค.ลงต่อ-ส่งออกแผ่ว
กนง.มีมติเอกฉันท์คงดบ.นโยบาย 0.5%-คาดศก.ไทยต่ำสุดไตรมาส 3 มองจีดีพีปีนี้โต 0.7%