‘สำนักงานอัยการสูงสุด’ ชี้ ‘กปภ.’ บอกเลิกสัญญาซื้อน้ำประปา ‘ซุปเปอร์ วอเตอร์’ ไม่ได้ ระบุการอ้างเหตุว่าไม่มี ‘สัมปทานประกอบกิจการประปา’ ไม่อาจถือได้ว่าสัญญาตกเป็นโมฆะตาม ‘ป.แพ่งฯ’ มาตรา 150
..............................
สืบเนื่องจากกรณี การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ยกเลิกสัญญาซื้อขายน้ำประปาในพื้นที่ ต.กะทู้ อ.กะทู้ และต.ฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต กับบริษัท ซุปเปอร์ วอเตอร์ จำกัด โดยให้เหตุผลว่าบริษัทฯ ไม่สามารถนำ ‘สัมปทานประกอบกิจการประปา’ มาแสดงต่อ กปภ. ได้ภายใน 15 วัน หลังได้รับหนังสือ ที่ มท 55510/322 เรื่อง ขอบอกเลิกสัญญา ลงวันที่ 15 ม.ค.2564 นั้น (อ่านประกอบ : ‘ซุปเปอร์ วอเตอร์’ ฟ้องศาลคดีทุจริตฯ! คดี‘ผู้ว่าฯ กปภ.’ ยกเลิกสัญญาซื้อน้ำประปาฯ มิชอบ)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) โดย น.ส.นารี ตัณฑเสถียร อธิบดีอัยการ สำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย ปฏิบัติหน้าที่แทนอัยการสูงสุด ทำหนังสือที่ อส 0006/1108 เรื่อง หารือกรณีสัญญาซื้อขายน้ำประปา ลงวันที่ 25 ม.ค.2565 แจ้งไปยังผู้ว่าฯ กปภ. โดยมีเนื้อหาว่า
ตามที่ กปภ. ขอหารือกรณี กปภ. ได้ทำสัญญาซื้อขายน้ำประปากับบริษัท ซุปเปอร์ วอเตอร์ จำกัด (ผู้ขาย) เพื่อนำน้ำประปามาให้บริการแก่ผู้ใช้น้ำในพื้นที่การประปาส่วนภูมิภาคเขต 4 (กปภ.ข.4) ต่อมา กปภ.ข.4 ได้มีหนังสือขอบอกเลิกสัญญาซื้อขายน้ำประปาไปยังผู้ขาย เนื่องจากตรวจสอบพบว่าในการซื้อขายน้ำประปาตามสัญญานี้ ผู้ขายยังไม่ได้รับอนุญาตสัมปทานประกอบกิจการประปาตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58
กปภ. จึงขอหารือว่ากรณีที่มีการซื้อขายน้ำประปาตามสัญญาดังกล่าว ในระหว่างที่ผู้ขายยังไม่ได้รับอนุญาตสัมปทานประกอบกิจการประปาตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 จะมีผลทำให้สัญญาซื้อขายน้ำประปาดังกล่าวตกเป็นโมฆะหรือไม่ อย่างไร ความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น
สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาแล้ว เห็นว่า กรณีนิติกรรมสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายอันจะตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 นั้น วัตถุประสงค์ดังกล่าว หมายถึงประโยชน์อันเป็นผลสุดท้ายที่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายต้องการ โดยคู่กรณีทั้งสองฝ่ายจะต้องรู้ร่วมกัน จึงจะเป็นวัตถุประสงค์ของนิติกรรมสัญญานั้น ถ้าคู่สัญญาแต่ฝ่ายเดียวรู้ถึงการกระทำของตนว่า เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายโดยอีกฝ่ายมิได้ร่วมรู้เห็นด้วยนั้น จะถือว่านิติกรรมสัญญานั้น มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายไม่ได้
ดังนั้น หากในการทำสัญญาซื้อขายน้ำประปาดังกล่าว กปภ. ไม่ได้ประสงค์ที่จะให้การผลิตและขายน้ำประปาของผู้ขายกระทำได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตหรือสัมปทานการประกอบกิจการการประปา ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ประกาศ ณ วันที่ 26 มกราคม พ.ศ.2515 ข้อ 3 และข้อ 4 แต่มีความประสงค์ให้ผู้ขายต้องได้รับอนุญาตหรือสัมปทานการประกอบกิจการการประปาให้ถูกต้องตามกฎหมาย ดังที่สัญญาซื้อขายน้ำประปาฯ ข้อ 9 กำหนดไว้
กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าสัญญาซื้อขายน้ำประปาดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายอันจะตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150
"อนึ่ง ตามที่ กปภ. ได้อ้างถึงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 614/2548 เพื่อประกอบการพิจารณาประเด็นความเป็นโมฆะของสัญญาซื้อขายน้ำประปาฯ นั้น เห็นว่า เมื่อสัญญาซื้อขายน้ำประปาฯ ตามที่หารือนี้ ไม่เพียงมีข้อตกลงเรื่องปริมาณและราคาน้ำประปาที่ซื้อขายกัน แต่ตามสัญญาซื้อขายน้ำประปาฯ ข้อ 6 และข้อ 9 ยังกำหนดเงื่อนไขอันแสดงให้เห็นถึงเจตนาของคู่สัญญาที่ประสงค์ให้ผู้ขายดำเนินการต่างๆ เพื่อให้การซื้อขายน้ำประปาตามสัญญาเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบของทางราชการ และบรรลุวัตถุประสงค์ของสัญญาด้วย
ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ตามกรณีข้อหารือนี้ จึงแตกต่างจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 614/2548 และไม่อาจนำแนววินิจฉัยตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวมาใช้กับกรณีที่หารือนี้ได้โดยตรง" หนังสือที่ อส 0006/1108 เรื่อง หารือกรณีสัญญาซื้อขายน้ำประปา ลงวันที่ 25 ม.ค.2565 ระบุ
รายงานแจ้งว่าว่า จากกรณีที่ กปภ. ได้บอกเลิกสัญญาซื้อขายน้ำประปาในพื้นที่ ต.กะทู้ อ.กะทู้ และต.ฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต กับบริษัท ซุปเปอร์ วอเตอร์ จำกัด นั้น ทำให้ บริษัท ซุปเปอร์ วอเตอร์ จำกัด ยื่นฟ้อง กปภ. ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ กปภ. ชดใช้ค่าเสียหายให้บริษัทฯ 320 ล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัท ซุปเปอร์ วอเตอร์ จำกัด ได้ยื่นฟ้องนายสมบูรณ์ สุนันทพงศ์ศักดิ์ ผู้ว่าฯ กปภ. ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด
ขณะที่ในคำฟ้องของบริษัท ซุปเปอร์ วอเตอร์ จำกัด ในคดีหมายเลขดำที่ อท 184/2564 ซึ่งบริษัทฯยื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางนั้น บริษัทฯกล่าวอ้างว่า ในช่วงเดือน พ.ค.-ต.ค.2564 มีการนัดพบกันระหว่างผู้บริหาร กปภ. รายหนึ่ง กับผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ซึ่งผู้บริหารรายดังกล่าวมีการโน้มน้าวว่า พร้อมจะช่วยเหลือในกรณีที่ กปภ. งดหรือรับซื้อน้ำจากบริษัทฯ แต่บริษัทฯต้องดูแลค่าใช้จ่าย และเสนอให้บริษัทฯลองไปประนีประนอมกับบริษัทคู่แข่งด้วย
อ่านประกอบ :
‘ซุปเปอร์ วอเตอร์’ ฟ้องศาลคดีทุจริตฯ! คดี‘ผู้ว่าฯ กปภ.’ ยกเลิกสัญญาซื้อน้ำประปาฯ มิชอบ
เปิดความเห็น ‘3 อัยการ’ อนุ กก.กฎหมาย ‘กปภ.’ กรณีต่อสัญญาซื้อน้ำประปา 3.6 หมื่นล้าน
เปิดบันทึก!บอร์ดกำกับฯ ซักกปภ.ปมต่อสัญญาซื้อน้ำ 20 ปี ก่อนเปลี่ยน‘อธิบดีอัยการ’พ้น กก.
คำชี้แจง'กปภ.'! ปมต่อสัญญาซื้อน้ำ‘บ.ประปาปทุมฯ' 20 ปี-'มท.’ขอตัว‘คนค้าน’ช่วยราชการฯ
ส่องงบ‘บ.ประปาปทุมฯ’! คู่สัญญาขายน้ำประปา ‘กปภ.’ พบ 3 ปีล่าสุด กำไร 2.89 พันล้าน
เปิดบันทึก! ทักท้วง ‘กปภ.’ต่อสัญญาซื้อน้ำประปา 20 ปี ชี้เอื้อปย.เอกชนผูกขาดโดยเจตนา
เปิดร่างสัญญา‘กปภ.’! ยืดเวลาซื้อน้ำประปา 20 ปี หมื่นล. หลังถูกร้องเอื้อเอกชนรายเดียว
ร้องประธานกมธ.‘ป.ป.ช.’ สอบ ‘กปภ.’ เล็งต่อสัญญาซื้อน้ำประปา 20 ปี เอื้อเอกชนรายเดียว