‘นักวิชาการ’ ม.เกษตร แนะรัฐมีนโยบายนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศ แก้ปัญหาหมูในประเทศขาดตลาด เสนอให้นำเข้าหากราคาหน้าฟาร์มเกิน 120 บาท/กก. แต่จำกัดการนำเข้าไม่เกิน 2 หมื่นตัน/เดือน พร้อมระบุหากไม่มีการนำเข้า-ปล่อยตามกลไกตลาด จะได้เห็นราคาเนื้อหมูขายปลีกเพิ่มเป็น 300 บาท/กก.ในช่วงกลางปี 65
.......................................
เมื่อวันที่ 18 ม.ค. คณะเศรษฐศาสตร์และคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำเสนอผลการคาดการณ์ทางวิชาการในหัวข้อ ‘ทางเลือก ทางรอด หมูแพง....ผู้เลี้ยงอยู่รอด ผู้บริโภคอยู่ได้’
โดย ดร.สุวรรณา สายรวมญาติ อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในทีมวิจัย ระบุว่า จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ มีการประเมินว่า การแพร่ระบาดของโรคอหิวาร์แอฟริกาในสุกร (ASF) ในช่วงปี 2564 ส่งผลให้ปริมาณสุกรลดลงเหลือ 10-12.5 ล้านตัว จากปกติที่กำลังผลิตสุกรเพื่อการบริโภคอยู่ที่ 20 ล้านตัว/ปี
ในขณะที่ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรในประเทศอยู่ที่ 17 ล้านตัว/ปี ทำให้ในปี 2564 ความต้องการบริโภคสุกรส่วนเกิน (อุปสงค์ส่วนเกิน) อยู่ที่ 4.5 ล้านตัว หรือคิดเป็นปริมาณเนื้อสุกร 3 แสนตัน หรือคิดเป็น 2.7 หมื่นตัน/เดือน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในปี 2564 จะมีสุกรตายจากโรคระบาดเป็นจำนวนมาก แต่ราคาเนื้อสุกรในปี 2564 ไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมากนัก เพราะยังมีเนื้อสุกรชำแหละจำนวนหนึ่งที่เก็บไว้ในสต็อก แต่เมื่อเนื้อสุกรชำแหละใกล้หมดสต็อก ส่งผลให้ราคาเนื้อสุกรปรับตัวเพิ่มขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา และแม้ว่าจะมีการตรึงราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มไว้ที่ 110 บาท/กก. แต่ไม่รู้จะตรึงราคาไม่นานเพียงใด เพราะต้องยอมรับว่าขณะนี้ปริมาณสุกรขาดตลาดอย่างรุนแรง
ดร.สุวรรณา กล่าวว่า เพื่อแก้ปัญหาเนื้อสุกรมีราคาแพง ทีมวิจัยฯเสนอให้ภาครัฐอนุญาตให้มีการนำเข้าเนื้อสุกรจากต่างประเทศในช่วงเวลาระยะสั้น และกำหนดปริมาณการนำเข้าให้สอดคล้องกับดีมานด์และซัพพลายในประเทศ รวมทั้งต้องนำเข้าเนื้อสุกรจากประเทศที่ไม่มีการแพร่ระบาดของโรค ASF เพื่อไม่ให้มีการระบาดในประเทศเพิ่มเติม และเป็นประเทศที่ไม่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดง เช่น สหภาพยุโรป (EU)
“เราเสนอให้มีการนำเข้า แต่ต้องเป็นการนำเข้าในระยะสั้น โดยดูปริมาณดีมานด์และซัพพลายในประเทศแต่ละช่วง และจำกัดนำเข้า ขณะที่การนำเข้านั้น ต้องมาจากจากโซนที่ไม่มีการระบาดของ ASF เพราะเราคงไม่ต้องการให้มีการการระบาดเพิ่มเติม และเป็นการนำเข้าจากแหล่งผลิตไม่มีสารเร่งเนื้อแดง เราจึงเสนอนำเข้าจากยุโรป” ดร.สุวรรณา กล่าว
ดร.สุวรรณา ระบุว่า ในการนำเข้าสุกรจากต่างประเทศนั้น ทีมวิจัยฯเสนอว่า ภาครัฐต้องเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษในการนำเข้า (เซอร์ชาร์จ) เข้ากองทุนฯ เพื่อนำไปสนับสนุนผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยในการยกระดับการเลี้ยงหมู และทำให้ผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยกลับมาเลี้ยงสุกรอีกครั้ง เพราะหลังจากมีการระบาดของโรค ASF ในประเทศไทย ทำให้ขณะนี้มีผู้เลี้ยงหมูรายย่อยมีสัดส่วนเหลือเพียง 30% ขณะที่ผู้เลี้ยงรายใหญ่มีสัดส่วนสูงถึง 70%
ด้าน ผศ.น.สพ.ณัฐวุฒิ รัตนวนิชย์โรจน์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์และทรัพยากรการผลิตสัตว์ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า ทีมวิจัยฯเห็นว่า ทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดในการนำเข้าเนื้อสุกรจากต่างประเทศ คือ ให้ภาครัฐอนุญาตให้นำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศ เมื่อราคาสุกรหน้าฟาร์มมีราคา 120 บาท/กก.ขึ้นไป และต้องนำเข้าในปริมาณไม่เกิน 20,000 ตัน/เดือน
“ถ้านำเข้ามา เมื่อราคาหน้าฟาร์ม 120 บาท/กก.ขึ้นไป และนำเข้าในปริมาณ 20,000 ตัน/เดือน ราคาหมูหน้าฟาร์มจะลดจาก 120 บาท/กก. เหลือ 110 บาท/กก. หรือลดลง 7-9% ขณะที่เนื้อหมูขายปลีกจะลดจาก 225 บาท/กก. เหลือ 198-205 บาท/กก. หรือลดลง 9-12% ซึ่งทางเลือกนี้เป็นทางเลือกที่ดี เพราะไม่ทำให้เกษตรขาดแรงจูงใจ และเป็นราคาผู้บริโภคจ่ายได้ในราคาที่แตกต่างจากราคาปัจจุบันมากนัก” ผศ.น.สพ.ณัฐวุฒิ กล่าว
ผศ.น.สพ.ณัฐวุฒิ ยังระบุว่า ในกรณีที่ไทยนำเข้าเนื้อสุกรจาก EU ทีมวิจัยฯประเมินว่า ราคาสุกรจาก EU ที่ขายปลีกในประเทศไทยจะมีราคาอยู่ที่ 170-200 บาท/กก. ซึ่งราคาขายปลีกดังกล่าว ได้รวมค่าขนส่งจาก EU มาถึงโรงงานในประเทศไทย 25 บาท ,ภาษีนำเข้า 30-40% ,ค่าธรรมเนียมปศุสัตว์ (ค่าตรวจโรค) 7 บาท/กก. ,ต้นทุนการตลาด เช่น ค่าตัดแต่งเนื้อ และติดแบรนด์ 20% และเซอร์ชาร์จในอัตรา 10-20% เอาไว้แล้ว
ผศ.น.สพ.ณัฐวุฒิ กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยจะต้องใช้เวลาอีก 1 ปีครึ่งถึง 2 ปี ในการทำให้กำลังการผลิตสุกรในประเทศกลับสู่ภาวะปกติ และหากภาครัฐไม่มีนโยบายเปิดให้มีการนำเข้าสุกรจากต่างประเทศเพื่อชดเชยเนื้อสุกรที่หายไปจากโรค ASF จะทำให้ผู้บริโภคในประเทศต้องบริโภคเนื้อสุกรในราคาแพง
“ถ้าเราต้องการเพิ่มสุกรขุน 1 ตัวในตลาด จะต้องใช้เวลาสั้นที่สุด 10 เดือน ในขณะที่การเตรียมแม่หมูเพื่อเป็นแม่พันธุ์จะต้องใช้เวลา 7 เดือน จึงจะผสมได้ แต่หากจะทำให้เร็วกว่านั้น ในเวียดนามและจีน มีการนำสุกรขุนมาเป็นแม่พันธุ์ในเบื้องต้น เพื่อให้กำลังการผลิตกลับมาโดยเร็วที่สุด ซึ่งจะใช้เวลาเตรียมตัวประมาณ 2 เดือน แล้วจึงนำมาผสม ทำให้การเพิ่มสุกรขุน 1 ตัว จะใช้เวลาสั้นที่สุดประมาณ 12 เดือน
แต่หากการสูญเสียยังไม่จบ กำลังการผลิตก็ยังไม่กลับมา นั่นหมายความว่า การทำให้กำลังการผลิตสุกรกลับมา จะต้องใช้เวลา 1 ปีครึ่งถึง 2 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เร็วที่สุด และการทำให้กำลังการผลิตกลับมาดังกล่าว ภาครัฐจะต้องมีแรงจูงใจที่ทำให้ผู้ผลิตกลับมาผลิตให้ได้ หรือรักษาผลผลิตให้กลับมาเป็นปกติที่สุด รวมทั้งจะต้องทำอย่างไรที่จะให้ผลกระทบเกิดกับผู้บริโภคน้อยที่สุดด้วย” ผศ.น.สพ.ณัฐวุฒิ กล่าว
ผศ.ดร.เออวดี เปรมัษเฐียร อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า หากภาครัฐไม่อนุญาตให้มีการนำเข้าสุกรจากต่างประเทศ และมุ่งเน้นการใช้มาตรการสนับสนุนให้ผู้เลี้ยงสุกรกลับมาผลิตสุกรให้เป็นปกติโดยเร็วที่สุด สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ ราคาเนื้อสุกรในประเทศจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่ราคาเนื้อสุกรขายปลีกจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 300 บาท/กก.ในช่วงกลางปี 2565
“ถ้าปล่อยตามกลไกตลาด ในกรณีที่ไม่เปิดให้นำเข้า สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ ราคาเนื้อสุกรสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากซัพพลายเพิ่มขึ้นไม่ทันการบริโภคในประเทศ โดยคาดว่าในช่วงกลางปี 2565 ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มจะอยู่ที่ 150-160 บาท/กก. หรือคิดเป็นราคาขายปลีกที่ 300 บาท/กก. และคิดเป็นมูลค่าความสูญเสียจากการที่ผู้บริโภคต้องซื้อหมูแพงขึ้น ประมาณ 1,200 บาท/เดือน” ผศ.ดร.เออวดี กล่าว
ขณะเดียวกัน หากภาครัฐใช้นโยบายตรึงราคาเนื้อสุกรให้อยู่ในระดับปัจจุบัน โดยใช้วิธีการอุดหนุนราคาเพื่อทำให้ราคาสุกรหน้าฟาร์มอยู่ที่ 110 บาท/กก. ภาครัฐจะต้องใช้เงินในตรึงราคาประมาณเดือนละ 1,500 ล้านบาท ขณะที่วิธีการดังกล่าวจะสามารถตรึงราคาเนื้อสุกรได้ในช่วงสั้นๆเท่านั้น และในช่วงกลางปี 2565 มีแนวโน้มที่ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มจะอยู่ที่เกือบ 150 บาท/กก. หรือคิดเป็นราคาขายปลีกที่ 280 บาท/กก.
อ่านประกอบ :
‘สมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคอีสาน’ แนะยกเลิกคุม ‘ราคาหมูหน้าฟาร์ม’ เพิ่มแรงจูงใจผู้เลี้ยงฯ
ปศุสัตว์ขานรับนโยบายนายกฯ สั่งทุกพื้นที่เร่งแก้ปัญหาหมูทั้งระบบ-เยียวยาเกษตรกร
เปิดหลักฐาน 'ครม.' อนุมัติงบ 4 ปี 5 ครั้ง 1.5 พันล้าน ชดเชยหมูตาย-อ้างป้องกัน ASF
'เพื่อไทย'แถลงการณ์อัดรัฐปกปิดความจริงเชื้อ ASF ระบาดในหมู เตรียมร้อง ป.ป.ช.เอาผิด
นายกฯสั่งสอบปมหนังสือแจ้งพบ ASF ถึงกรมปศุสัตว์ ป้อง'จุรินทร์-เฉลิมชัย'เกียร์ว่าง
กรมปศุสัตว์ประกาศไทยพบโรคอหิวาห์หมู ASF จากการสุ่มตรวจที่โรงฆ่าจังหวัดนครปฐม
‘ปศุสัตว์’ ยันไม่มีการ ‘ปิดข่าว’ เจอโรค ASF ในไทย-คาด 2 วันได้ข้อสรุปพบเชื้อหรือไม่
ชำแหละต้นตอ ‘หมูแพง’ ตาย 10 ล้านตัว-ฟาร์มเล็กเจ็บหนัก 'พาณิชย์' สั่งห้ามส่งออกแล้ว
'น้ำมัน-หมู' แพง! ดันเงินเฟ้อทั่วไป ธ.ค.ขยายตัว 2.17%-'ข้าวเจ้า-ข้าวเหนียว' ราคาลด