“…หากมีการพบโรค ASF ในประเทศไทย จะทำให้เกิดความเสียหายคิดเป็นมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 1.5 แสนล้านบาท และทำให้ไทยสูญเสียโอกาสในการส่งออกสุกรมีชีวิต เนื้อสุกรแช่แข็งและผลิตภัณฑ์สุกรไปต่างประเทศ มูลค่าไม่น้อยกว่าปีละ 1.4 หมื่นล้านบาท…”
...........................
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 11 ม.ค.2565 สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ แถลงยอมรับว่า พบเชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ในประเทศไทย โดยสุ่มตรวจพบเชื้อ ASF จำนวน 1 ตัวอย่าง ซึ่งได้มาจากโรงฆ่าสัตว์แห่งหนึ่งใน จ.นครปฐม (อ่านประกอบ : กรมปศุสัตว์ประกาศไทยพบโรคอหิวาห์หมู ASF จากการสุ่มตรวจที่โรงฆ่าจังหวัดนครปฐม)
แต่ทว่าสังคมได้ตั้งคำถามว่า ในช่วงที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ ‘ปกปิด’ ข้อมูลการพบโรค ASF ในประเทศไทย หรือไม่
หลังสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติและผู้เลี้ยงสุกรหลายราย ออกมาระบุตรงกันว่า พบโรค ASF ระบาดในประเทศไทยมาหลายปีแล้ว ซึ่งทำให้สุกรล้มตายเป็นจำนวมาก และเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เนื้อหมูมีราคาแพงอยู่ในขณะนี้ (อ่านประกอบ : ชำแหละต้นตอ ‘หมูแพง’ ตาย 10 ล้านตัว-ฟาร์มเล็กเจ็บหนัก 'พาณิชย์' สั่งห้ามส่งออกแล้ว)
(สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ แถลงยอมรับว่า พบเชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 11 ม.ค.2565)
@ครม.อนุมัติงบกลางฯป้องกัน ASF แล้ว 5 ครั้ง 1.52 พันล้าน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นข้อมูลเอกสารมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) พบข้อมูลว่า นับตั้งแต่พบการแพร่ระบาดของโรค ASF ครั้งแรกในประเทศจีน เมื่อวันที่ 3 ส.ค.2561 ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติจัดสรรงบประมาณให้กระทรวงเกษตรฯ เพื่อป้องกันโรค ASF ไม่ให้ระบาดเข้ามาในประเทศไทย รวม 5 ครั้ง วงเงินทั้งสิ้น 1,529.53 ล้านบาท ได้แก่
ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 9 เม.ย.2562 ครม.มีมติอนุมัติแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรของประเทศไทยเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมทั้งอนุมัติจัดสรรงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปีงบ 2562 เพื่อดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคระยะเร่งด่วน วงเงิน 53.60 ล้านบาท
ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2563 ครม.อนุมัติจัดสรร งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปีงบ 2563 เพื่อป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร วงเงิน 523.24 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นวงเงินค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย ตามพ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ประมาณ 77,578 ตัว เป็นเงิน 381.77 ล้านบาท
ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 2 ก.พ.2564 ครม.อนุมัติจัดสรร งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปีงบ 2564 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร โดยเป็นค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย ตามมาตรา 13 (4) แห่ง พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 วงเงิน 279.78 ล้านบาท
ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 6 ก.ค.2564 ครม.อนุมัติจัดสรรงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปีงบ 2564 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรวาต์และโรคระบาดร้ายแรงในสุกรหรือหมูป่า 140.27 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย ตามพ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 วงเงิน 93.77 ล้านบาท
ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 11 ม.ค.2565 ครม.อนุมัติจัดสรรงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปีงบ 2565 เพื่อป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรและโรคระบาดร้ายแรงในสุกรหรือหมูป่า โดยเป็นค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย ตามพ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ตั้งแต่วันที่ 23 ม.ค.-15 ต.ค.2564 จำนวน 159,453 ตัว 574.11 ล้านบาท
ขณะที่การทำลาย ‘สุกร’ ภายใต้มาตรการป้องกันโรค ASF เกือบ 3 แสนตัว นั้น
กระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้ระบุว่า สุกรดังกล่าวติดเชื้อ ASF แต่อย่างใด เพียงแต่ระบุว่า “...เพื่อให้ประเทศไทยยังคงปลอดโรคต่อไป กระทรวงเกษตรฯพิจารณาแล้ว จึงมีความจำเป็นต้องลดจำนวนประชากรของสุกรที่มีความเสี่ยงสูงในอัตราร้อยละ 15
ซึ่งจากการประเมินความเสี่ยงเชิงพื้นที่ โดยใช้วิธี Spatial Multi-criteria Decision Analysis พบว่ามีจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูง คือ จังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน และได้ประกาศเป็นเขตเฝ้าระวังโรค ชนิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ทั้งหมด 27 จังหวัด 108 อำเภอ...”
แต่ในขณะเดียวกัน ได้มีการระบุข้อความว่า “การทำลายเชื้อโรคในสถานที่เลี้ยงสัตว์ และบริเวณโดยรอบโรงฆ่าสัตว์ ยานพาหนะ โรงงานผลิตอาหารสัตว์ และสถานประกอบการอื่นที่เกี่ยวข้องกับปศุสัตว์ จำเป็นต้องใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่มีคุณสมบัติทำลายเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรอย่างมีประสิทธิภาพ มีความคุ้มค่า เหมาะสม...”
(ที่มา : หนังสือที่ด่วนที่สุด ที่ กษ 0610.07/1255 ลงวันที่ 18 มี.ค.2563 เรื่อง ขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 งบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร)
@ไทยมีความ ‘เสี่ยงสูง’ พบโรค ASF ตั้งแต่ปี 62
เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ว่าตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรค ASF สูงมาก
สะท้อนได้จากหนังสือที่ด่วนที่สุด ที่ กษ 0610.07/1255 ลงวันที่ 18 มี.ค.2563 เรื่อง ขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 งบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ลงนาม เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ที่เสนอ ครม.เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2563 ระบุว่า
“ประเทศไทยมีความเสี่ยงเพิ่มสูงยิ่งขึ้น ที่โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรจะแพร่ระบาดเข้าสู่ประเทศ เนื่องจากปัจจัยหลายประการ ดังนี้
3.1 การแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในประเทศเพื่อนบ้านยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นและขยายเป็นวงกว้าง
3.2 ชายแดนประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านที่มีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรมีความยาวรวมกว่า 5,000 กิโลเมตร จึงมีความเสี่ยงที่จะมีการลักลอบนำซากสุกรและผลิตภัณฑ์สุกรผ่านตามแนวชายแดน
3.3 การลักลอบนำซากสุกรและผลิตภัณฑ์สุกรที่ติดตัวมากับนักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีการระบาดของโรค รวมถึงแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยที่มีจำนวนมากกว่า 10 ล้านคนต่อปี
ซึ่งจากการตรวจยึดการลักลอบการนำซากสุกรและผลิตภัณฑ์สุกร จำนวน 2,708 ครั้ง ตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกร 343 ตัวอย่าง (ข้อมูล ณ วันที่ 22 ก.พ.2563)”
(ที่มา : หนังสือที่ด่วนที่สุด ที่ กษ 0610.07/1255 ลงวันที่ 18 มี.ค.2563 เรื่อง ขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 งบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร)
(ที่มา : การประชุมคณะกรรมการอำนวยการป้องกัน ควบคุมและกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรแห่งชาติ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 15 พ.ย.2562)
ที่มา : แผนที่กูเกิลรายงานการพบเชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ในเอเชีย ณ วันที่ 11 มิ.ย.2564)
เช่นเดียวกับ ในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการป้องกัน ควบคุมและกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรแห่งชาติ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 15 พ.ย.2562 ที่มี เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ ทำหน้าที่เป็นประธาน ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ประเทศไทยมีความเสี่ยงเพิ่มสูงยิ่งขึ้น ที่โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรจะแพร่ระบาดเข้าสู่ประเทศ
ที่มา : การประชุมคณะกรรมการอำนวยการป้องกัน ควบคุมและกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรแห่งชาติ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 15 พ.ย.2562
@ปี 62-64 หมูตายผิดปกติหลายพื้นที่-‘ปศุสัตว์’ ยันเป็นโรคเพิร์ส
แต่ทว่าในช่วงปี 2562-64 ไม่เคยปรากฏรายงานจากกรมปศุสัตว์ ว่า พบการระบาดของโรค ASF ในประเทศไทย แม้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวมีข้อเท็จจริงผ่านสื่อมวลชนว่า มีสุกรตายผิดปกติในหลายพื้นที่ และมีการตั้งข้อสงสัยว่าจะเป็นการตายจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) หรือไม่ เช่น
ปี 2562
ก.ย.2562 มีรายงานว่า สุกรของชาวบ้าน อ.แม่จัน และ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ล้มตาย 70-80 ตัว โดยที่ยาหรือวัคซีนไม่สามารถควบคุมโรค จึงสงสัยว่าอาจเกิดจากเชื้อ ASF หลังได้รับแจ้งเหตุสุกรตายผิดปกติ เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์เข้าควบคุมพื้นที่และทำลายสุกรในรัศมี 1 กม. รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 700 ตัว
ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ได้ส่งตัวอย่างฯไปตรวจสอบ โดยยืนยันว่าเป็นโรคเพิร์ส (PRRS) ไม่ใช่โรค ASF และประกาศพื้นที่เฝ้าระวังใน 8 อำเภอ จ.เชียงราย และจังหวัดใกล้เคียง คือ จ.เชียงใหม่ และ จ.พะเยา อย่างไรก็ดี ก่อนเกิดเหตุสุกรตายผิดปกติ มีรายงานการทิ้งซากสุกรในแม่น้ำรวก บริเวณท่าขี้เหล็ก ฝั่งตรงข้าม อ.แม่สาย ในช่วงต้นเดือน ส.ค.2562
ปี 2563
ก.ย.2563 มีรายงานว่า สุกรในพื้นที่ จ.ลำพูน ล้มตายเป็นจำนวนมาก โดยสาเหตุการตายมาจากโรคระบาดในสุกรที่แพร่ระบาดมาจาก อ.หางดง จ.เชียงใหม่ และเข้ามายังพื้นที่ อ.ป่าซาง จ.ลำพูด ขณะที่กรมปศุสัตว์สั่งทำลายสุกรในรัศมีการระบาด และยืนยันว่าโรคระบาดที่ทำให้สุกรตายนั้น เป็นโรคเพิร์ส (PRRS)
ต.ค.2563 มีรายงานว่า สุกรตายผิดปกติในพื้นที่ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ส่งผลทำให้ประชาชนทั่วไปงดการบริโภคเนื้อสุกร ขณะที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดไปลงพื้นที่กำจัดซากสุกรและสั่งทำลายสุกรในรัศมี 1 กม. ส่วนสาเหตุการตายของสุกรนั้น สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดฯยืนยันว่าเป็นโรคเพิร์ส (PRRS) ที่ไม่ติดจากสุกรสู่คน
พ.ย.2563 พบรายงานว่า สุกรในพื้นที่ อ.เขาฉกรรจ์ และ อ.เมืองสระแก้ว จ.สระแก้ว ตายผิดปกติ หลังสุกรมีอาการเซื่องซึมและไม่กินอาหาร ทั้งนี้ ปศุสัตว์จังหวัดฯเข้าทำลายสุกรพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ ในฟาร์มหลายแห่งในเขตพื้นที่ที่มีการระบาดไปกว่า 600 ตัว และระบุสาเหตุการตายของสุกรว่ามาจากเชื้อไวรัส PRRS
ปี 2564
ก.พ.2564 สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ แจ้งขอความร่วมมือจากผู้เลี้ยงสุกรว่า หากพบการลักลอบใช้วัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือพบการลักลอบจำหน่ายวัคซีนดังกล่าว รวมทั้งพบสุกรภายในฟาร์มป่วยตายผิดปกติให้แจ้งเจ้าหน้าที่ พร้อมยืนยันว่าไทยไม่มีการอนุญาตให้ผลิต นำเข้า ขาย และใช้ วัคซีนเพื่อป้องกันโรค ASF
มี.ค.2564 มีรายงานการพบสุกรป่วยตายผิดปกติในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะ จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.พัทลุง ซึ่งผู้เลี้ยงสุกรบางกลุ่มตั้งข้อสงสัยว่าเป็นการตายจากโรค ASF หรือไม่ แต่ผู้เลี้ยงบางส่วนเชื่อว่าตายเพราะโรคเพิร์ส (PRRS) ขณะที่สมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ขอให้สมาชิกยุติการซื้อขายพ่อแม่พันธุ์สุกรจากพื้นที่ที่มีการระบาด
นอกจากนี้ ในช่วงกลางปี 2564 เป็นต้นมา พบโรคระบาดในสุกร ส่งผลให้สุกรในพื้นที่ จ.ราชบุรี และ จ.นครปฐม ล้มตาย เป็นจำนวนมาก โดยผู้เลี้ยงตั้งข้อสงสัยว่าจะมาจากเชื้อโรค ASF หรือไม่ ขณะที่นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรราชบุรี ระบุว่า โรคระบาดในสุกรทำให้แม่พันธุ์สุกรใน จ.ราชบุรี ที่มีอยู่ 2.2-2.5 แสนตัว ได้รับความเสียหายไปแล้ว 40%
ธ.ค.2564 มีรายงานว่า ไต้หวันตรวจพบกุนเชียงที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกรที่ซุกซ่อนในพัสดุไปรษณีย์ที่ส่งมาจากไทย ขณะที่กรมปศุสัตว์ได้เข้าไปตรวจสอบพบว่า เป็นกุนเชียงที่ผลิตมาจากโรงงานในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ส่วนเนื้อสุกรที่นำมาผลิตเป็นกุนเชียงนั้น น่าจะมีการลักลอบนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน
ทั้งนี้ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ยืนยันว่า “ปัจจุบันยังไม่พบการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรประเทศไทย”
ต่อมา ประภัตร โพธสุธน รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งกำกับดูแลกรมปศุสัตว์ ยืนยันว่า ไม่มีการระบาดของโรค ASF ในประเทศไทยแต่อย่างใด
“โรค ASF เราสามารถป้องกันมาเป็นปีแล้ว และถ้าพื้นที่ใดมีข้อสงสัย ทางปศุสัตว์จังหวัดจะฆ่าทันทีเลย และจ่ายเงินชดเชยให้ผู้เลี้ยง รวมถึงให้จังหวัดใดที่มีความเสี่ยงเราจะไม่ให้เลี้ยง ทำให้เราป้องกันโรค ASF ได้เป็นอย่างดี ส่วนที่มีระบุว่าพบการระบาดของโรค ASP เป็นมา 3 ปีแล้วนั้น เราได้นำสืบแล้ว และพบว่าไม่ใช่” ประภัตร กล่าวเมื่อวันที่ 5 ม.ค.2565 ที่ผ่านมา
กระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 11 ม.ค.2565 กรมปศุสัตว์ประกาศพบการติดเชื้อ ASF ในประเทศไทย หลังจากเมื่อวันที่ 7 ม.ค.2565 ภาคีคณบดีสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ 14 สถาบัน ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมปศุสัตว์ ว่า พบเชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ในซากสุกรที่ส่งชันสูตรโรค
@ก.เกษตรฯประเมินหากพบโรค ASF จะเสียหาย 1.5 แสนล้าน
มีคำถามว่า หากกรมปศุสัตว์ประกาศว่า พบโรค ASF ในประเทศไทย จะเกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง?
จากข้อมูลที่กระทรวงเกษตรฯรายงาน ครม. เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2563 กระทรวงเกษตรฯ ประเมินว่า หากมีการพบโรค ASF ในประเทศไทย จะทำให้เกิดความเสียหายคิดเป็นมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 1.5 แสนล้านบาท และทำให้ไทยสูญเสียโอกาสในการส่งออกสุกรมีชีวิต เนื้อสุกรแช่แข็งและผลิตภัณฑ์สุกรไปต่างประเทศ มูลค่าไม่น้อยกว่าปีละ 1.4 หมื่นล้านบาท
ได้แก่ การทำลายสุกร ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายตั้งแต่ 1.66-5.55 หมื่นล้านบาทแล้วแต่กรณี (ทำลาย 30-100%) ,การระงับการส่งออกเนื้อสุกรชำแหละ เนื้อสุกรแปรรูป ปีละ 5,050 ล้านบาท ,การสูญเสียโอกาสในการส่งออกสุกรมีชีวิต ปีละ 9,270 ล้านบาท ,ความเสียหายในธุรกิจอาหารสัตว์ 66,666 ล้านบาท และธุรกิจเวชภัณฑ์ 3,500 ล้านบาท
นอกจากนี้ ในกรณีที่การพบโรค ASF ทำประชาชนตื่นตระหนก จะกระทบต่อราคาสุกรขุนภายในประเทศ
คือ หากราคาสุกรขุนลดลง กก.ละ 10 บาท จะทำให้เกษตรกรสูญเสียรายได้ปีละ 22,000 ล้านบาท ,หากราคาสุกรขุนลดลง กก.ละ 20 บาท จะทำให้เกษตรกรสูญเสียรายได้ปีละ 44,000 ล้านบาท และหากราคาสุกรขุนลดลง กก.ละ 30 บาท จะทำให้เกษตรกรสูญเสียรายได้ปีละ 66,000 ล้านบาท
เหล่านี้ คือ ไทม์ไลน์การพบ ‘หมูตาย’ ผิดปกติ ในหลายของพื้นที่ของประเทศไทย ก่อนที่กรมปศุสัตว์จะออกมาแถลงยอมรับว่า พบไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ในประเทศไทย ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐปกปิดข้อมูลการพบการระบาดของโรค ASF ในไทย มาตั้งแต่ปี 2562 หรือเมื่อ 3 ปีที่แล้ว หรือไม่
ที่สำคัญหลังจากไทยประกาศว่าพบโรค ASF ภาครัฐจะดูแลช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู โดยเฉพาะผู้เลี้ยงรายย่อย 1.8 แสนราย รวมถึงประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหา ‘หมูแพง’ อย่างไร
อ่านประกอบ :
'เพื่อไทย'แถลงการณ์อัดรัฐปกปิดความจริงเชื้อ ASF ระบาดในหมู เตรียมร้อง ป.ป.ช.เอาผิด
นายกฯสั่งสอบปมหนังสือแจ้งพบ ASF ถึงกรมปศุสัตว์ ป้อง'จุรินทร์-เฉลิมชัย'เกียร์ว่าง
กรมปศุสัตว์ประกาศไทยพบโรคอหิวาห์หมู ASF จากการสุ่มตรวจที่โรงฆ่าจังหวัดนครปฐม
‘ปศุสัตว์’ ยันไม่มีการ ‘ปิดข่าว’ เจอโรค ASF ในไทย-คาด 2 วันได้ข้อสรุปพบเชื้อหรือไม่
ชำแหละต้นตอ ‘หมูแพง’ ตาย 10 ล้านตัว-ฟาร์มเล็กเจ็บหนัก 'พาณิชย์' สั่งห้ามส่งออกแล้ว
'น้ำมัน-หมู' แพง! ดันเงินเฟ้อทั่วไป ธ.ค.ขยายตัว 2.17%-'ข้าวเจ้า-ข้าวเหนียว' ราคาลด