‘อธิบดีกรมปศุสัตว์’ ยืนยันไม่มีการ ‘ปิดข่าว’ พบโรค ASF ในไทย แต่ระบุมีการเงินชดเชยให้ ‘เกษตรกร’ ในพื้นที่เสี่ยงไปแล้ว 1,142 ล้านบาท พร้อมสั่งตรวจตัวอย่างหมูกว่า 300 ตัวอย่างว่ามีเชื้อหรือไม่ คาด 2 วันได้ผลตรวจ
.............................
สืบเนื่องจากกรณีที่ภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ส่งหนังสือที่ ภ.ค.สพ.ท. 021/2564 ลงวันที่ 7 ธ.ค.2564 ถึงอธิบดีกรมปศุสัตว์ เรื่อง ข้อห่วงใยต่อสถานการณ์โรคระบาดและการควบคุมโรคในสุกร โดยหนังสือดังกล่าวระบุตอนหนึ่งว่า จากการตรวจวินิจฉัยโรคโดยหน่วยงานของสถาบันการศึกษาสัตวแพทยศาสตร์ในประเทศ พบเชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ในซากสุกรที่ส่งชันสูตรโรค นั้น
เมื่อวันที่ 10 ม.ค. นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่พบการระบาดของโรค ASF ในประเทศจีน เมื่อวันที่ 3 เม.ย.2561 ประเทศไทยได้มีมาตรการป้องกันโรค ASF และสามารถป้องกันโรคนี้ได้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีสื่อมวลชนรายงานข่าวว่า มีการพบโรค ASF ในประเทศไทยแล้ว ดังนั้น กรมปศุสัตว์ได้ลงไปตรวจสอบพื้นที่ที่มีการเลี้ยงสุกรหนาแน่น เพื่อทำการค้นหาว่ามีโรค ASF หรือไม่
“กรมปศุสัตว์ โดยการสั่งการของนายกฯ และรมว.เกษตรฯ กรมฯได้ลงไปตรวจสอบในพื้นที่มีการเลี้ยงสุกรหนาแน่น โดยเฉพาะ จ.ราชบุรี จ.นครปฐม จ.ชลบุรี จ.ฉะเชิงเทรา จ.ปราจีนบุรี และภาคอีสาน เช่น จ.ขอนแก่น ภาคใต้ และภาคเหนือในหลายจังหวัด เพื่อค้นหาว่ามีโรค ASF หรือไม่
ทั้งนี้ ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา เราเข้าเก็บตัวอย่างเลือดสุกรในฟาร์ม 10 แห่ง 305 ตัวอย่างและโรงฆ่า 2 แห่ง 5 ตัวอย่าง แล้วนำตัวอย่างที่เก็บได้ไปตรวจสอบที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ โดยขณะนี้เรากำลังรอผลตรวจ ซึ่งคาดว่าผลน่าจะออกมาภายใน 2 วัน เมื่อทราบผลแล้ว เราจะชี้แจงให้สาธารณชนทราบอย่างเร็วที่สุด” นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าว
นายสัตวแพทย์สรวิศ ระบุว่า หากผลการตรวจสอบพบโรค ASF ในกลุ่มตัวอย่างจริง กรมฯจะดำเนินการตามขั้นตอน โดยจะเข้าไปสอบสวนโรคในฟาร์มที่มีความเสี่ยง และประกาศเป็นเขตควบคุมโรคระบาด ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 จากนั้นจะสั่งห้ามเคลื่อนย้ายและทำลายสุกรทั้งหมดที่อยู่ในรัศมีการระบาด รวมทั้งจ่ายเงินชดเชยให้ผู้เลี้ยงสุกร ส่วนสุกรที่อยู่นอกรัศมีที่กำหนดนั้น หากจะมีการเคลื่อนย้ายสุกรจะต้องทำการตรวจสอบโรคก่อน
นอกจากนี้ หากไทยพบโรค ASF จะต้องรายงานไปที่องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) และองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ เช่น องค์การสุขภาพสัตว์โลก
นายสัตวแพทย์สรวิศ ย้ำว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยให้ความสำคัญในการป้องกันโรค ASF อย่างมาก และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศให้การป้องกันโรค ASF เป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ 9 เม.ย.2562 เป็นต้นมา ขณะที่กรมปศุสัตว์ได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วน เช่น ภาคเอกชน คณะสัตวแพทย์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร และองค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงภาคีเครือข่ายสัตวแพทย์ และสัตวบาล เพื่อป้องกันไม่ให้โรค ASF เข้ามาในประเทศไทย
ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์และภาคีฯตรวจสอบพื้นที่ต่างๆอยู่ตลอดเวลา และมีการประเมินว่ามีพื้นที่ใดที่มีความเสี่ยงต่อโรคระบาดสัตว์บ้าง โดยเฉพาะสุกร และหากพบว่าพื้นที่ใดมีความเสี่ยง รัฐบาลให้กรมปศุสัตว์ทำลายสุกรทันทีและจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยไปแล้ว 1,142 ล้านบาท และเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติจัดสรรงบชดเชยเพิ่มเติมอีก 500 ล้านบาท
นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวถึงกรณีที่ภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทยมีหนังสือแจ้งมาที่กรมปศุสัตว์ว่าพบโรค ASF ในไทย ว่า วันนี้ (10 ม.ค.) ตนได้ลงนามตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อตรวจสอบว่าหนังสือของภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ฯมาถึงกรมเมื่อไหร่ และขณะนี้หนังสือดังกล่าวอยู่ที่ใคร ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าที่ผ่านมาตนเองและรองอธิบดีกรมปศุสัตว์ที่รับผิดชอบเรื่องนี้ไม่เคยเห็นหนังสือฉบับนี้เลย
“ผมและรองอธิบดีฯที่รับผิดชอบเรื่องนี้ ไม่เคยเห็นหนังสือนี้เลย ผมจึงได้ลงนามตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า หนังสือมาถึงกรมเมื่อไหร่ วันนี้หนังสือนี้อยู่ที่ใคร ใครเก็บอยู่ ซึ่งภายในสัปดาห์นี้จะทราบเรื่องว่าหนังสือนี้อยู่ตรงไหน และจะดำเนินการตามระเบียบกฎหมายต่อไป” นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าว
เมื่อถามว่า โรค ASF มีการระบาดตั้งแต่ปี 2564 แต่มีการปิดข่าวไว้หรือไม่นั้น นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวว่า เราประชุมกันทุกเดือน ทุกอย่างผ่านที่ประชุมทั้งหมด และเราเองได้ดำเนินการตามขั้นตอน จึงไม่สามารถปิดโรคได้ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าที่ผ่านมาสถานการณ์ความเสี่ยงมีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหลังเกิดโรค ASF ในจีน กรมฯตรวจเนื้อสุกร กุนเชียง ไส้กรอก และแหนม ที่มากับผู้โดยสาร จำนวนหลายร้อยตัวอย่าง และพบว่าให้ผลบวก 20% ซึ่งสะท้อนว่า เชื้อมาได้ทุกทาง
“นายกฯ และรมว.เกษตรฯ กำชับให้กรมฯดำเนินการอย่างโปร่งใส จึงไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนกกับเรื่องนี้ และโรค ASF นั้น ไม่ติดคน ถ้าสุกรปรุงสุก ก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เพราะความร้อนแค่ 70 องศาเชื้อก็ตายแล้ว” นายสัตวแพทย์สรวิศ ย้ำ
นายสัตวแพทย์สรวิศ ระบุด้วยว่า เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถบริโภคเนื้อสุกรในราคาที่สมเหตุสมผลในภาวะที่ค่าครองชีพสูงขึ้น รัฐบาล โดยกระทรวงเกษตรและกระทรวงพาณิชย์ ได้หารือร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาเนื้อสุกรราคาสูง และมีมาตรการทั้งระยะเร่งด่วน ระยะสั้น และระยะยาว โดยเฉพาะการเพิ่มปริมาณการเลี้ยงสุกรใหม่ ซึ่งจะทำให้อุปสงค์และอุปทานกลับมาสมดุลกันให้รวดเร็วที่สุด
“เราจะร่วมประชุมกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรทุกภาค เพื่อดูว่าในเรื่องการผลิต และยอดการผลิต แต่ละภาคเป็นเท่าไหร่ และมีเคลื่อนอย่างไร โดยเราสามารถดูข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ เราจะรู้ว่าตรงไหนขาด ตรงไหนมาก” นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าว
อ่านประกอบ :
ชำแหละต้นตอ ‘หมูแพง’ ตาย 10 ล้านตัว-ฟาร์มเล็กเจ็บหนัก 'พาณิชย์' สั่งห้ามส่งออกแล้ว
'น้ำมัน-หมู' แพง! ดันเงินเฟ้อทั่วไป ธ.ค.ขยายตัว 2.17%-'ข้าวเจ้า-ข้าวเหนียว' ราคาลด