วงการปศุสัตว์แนะ 5 ทางออก แก้ปัญหาหมูขาดแคลน ต้นทุนสูง หวังกรมการค้าภายในอุ้มเกษตรกรก่อนล้มทั้งยืน
รายงานข่าวจากกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ล่าสุดจากการประชุมติดตามสถานการณ์ปริมาณและราคาจำหน่ายหมู ร่วมกับ กรมปศุสัตว์ และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ รวมทั้งผู้เลี้ยงสุกร พบว่า สาเหตุที่ราคาเนื้อหมูมีการปรับสูงขึ้น เป็นเพราะว่าปัจจุบันปริมาณหมูขุนในประเทศลดลงไปกว่าปีละ 3 ล้านตัว โดยสาเหตุหลักที่ทำให้เกษตรกรเลิกเลี้ยงหมูเพราะทนต่อภาวะขาดทุนไม่ไหว มี 3 ประการ สาเหตุแรกคือราคาไม่จูงใจ เพราะถูกรัฐควบคุมราคาขาย ไม่เป็นไปตามกลไกตลาด สาเหตุที่สองคือ ต้นทุนค่าบริหารจัดการฟาร์มในการควบคุมโรคและต้นทุนอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น สาเหตุสุดท้ายคือ ปัญหาโรคระบาดหมู ที่หากฟาร์มใดติดเชื้อ เท่ากับเจ้าของฟาร์มหมูต้องขาดทุนยกฟาร์ม ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่เกษตรกรถอดใจ
ในการนี้แหล่งข่าวจากวงการปศุสัตว์เปิดเผยว่าภาครัฐควรให้ความสำคัญและร่วมกับทุกภาคส่วนหาทางออกเพื่อให้ผู้มีเกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบสามารถอยู่รอดได้ทุกฝ่าย โดยเฉพาะเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ซึ่งปัจจุบันล้มหายตายจากไปจากตลาดจำนวนมาก
ทางออกที่ 1 ด้านการป้องกันโรค ภาครัฐต้องเร่งช่วยเหลือเกษตรกร ยกระดับความปลอดภัย การป้องกันโรค ซึ่งจะนำมาซึ่งต้นทุนที่สูงขึ้น รัฐต้องเร่งพัฒนาวัคซีน เพราะสาเหตุที่สำคัญคืออัตราการสูญเสียจากการเลี้ยงเนื่องจากการระบาดของโรคพีอาร์อาร์เอส (PRRS) โรคท้องร่วงติดต่อในสุกร (PED) และโรคอหิวาต์สุกร (CSF) ตลอดจนมาตรการในการลดความเสี่ยงโดยจำกัดจำนวนการเลี้ยงทำให้ปริมาณหมูขุนลดลงประมาณ 15% ซึ่งคณะกรรมการพิกบอร์ด (Pig Board) ที่ได้อนุมัติโครงการเสริมสร้างความมั่นใจและเพิ่มศักยภาพการเลี้ยงสุกรทั้งในด้านการพัฒนาวัคซีนที่อยู่ในขั้นตอนการทดสอบขั้นสุดท้ายก่อนนำไปใช้จริง
ทางออกที่ 2 จัดหาดอกเบี้ยต่ำ เมื่อต้นทุนคนเลี้ยงหมูสูงขึ้น เพราะต้องเพิ่มมาตรการคววามปลอดภัย ดังนั้นด้านการเงินรัฐต้องสนับสนุนดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งปัจจุบัน รัฐได้เริ่มมีมาตรการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนทั้งปลอดดอกเบี้ยและดอกเบี้ยต่ำจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร โดยเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน หรือสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับดอกเบี้ย 0% หรือเกษตรรายย่อยที่สมัครด้วยตัวเองจะได้รับอัตราดอกเบี้ย 1-2% ซึ่งต้องเร่งขยายการเข้าถึงเกษตรกรทั้งหมด
ทางออกที่ 3 ต้องส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงหมูมากขึ้น และปล่อยให้เป็นไปตามหลักกลไกตลาด เมื่อมีหมูในตลาดมากขึ้นราคาจะลดลง แต่หากไปผิดพลาดด้วยการตรึงราคา จะยิ่งทำให้เกษตรกรเลี้ยงหมูลดลง ทำให้ไม่ได้แก้ปัญหาอย่างแท้จริง ดังนั้นควรมีการส่งเสริมเกษตรกรให้เลี้ยงหมูมากขึ้น โดยภาครัฐเข้ามาลดความเสี่ยงเกษตรกร เช่น การมีกองทุนเพื่อสนับสนุนเกษตรกรในยามที่ราคาหมูตกต่ำ และยามเกิดโรคระบาด รวมถึงการพยุงราคาโดยภาครัฐ ซึ่งในช่วงโควิดที่ผ่านมาเกษตรกรเสียหาย และ เลิกกิจการไปจำนวนมาก
ทางออกที่ 4 ราคาหมู ควรเป็นไปตามกลไกราคา ซึ่งหากรัฐต้องการให้ผู้บริโภค รับประทานหมูในราคาไม่สูง ภาครัฐควรรับภาระแทนเกษตรกร เพราะเกษตรกรมีต้นทุนสูงอยู่แล้ว ในช่วงที่ผ่านมา การตรึงราคาหมูไม่ให้สูง อาจฟังดูดี เสมือนภาครัฐได้แก้ปัญหาแล้ว แต่แท้ที่จริงเป็นการยกภาระทั้งหมดไปให้กับผู้เลี้ยงหมู แบบว่า ทนได้ก็ทน ทนไม่ได้ก็เลิกเลี้ยงหมูไป ยามขาดทุนไม่มีคนช่วยเหลือ หากจะสู้ต่อ ยกระดับฟาร์มจากความเสี่ยงโรคระบาด ต้นทุนสูงขึ้น ก็ยากที่จะรายได้มาชดเชยต้นทุนที่สูงขึ้นจากความเสี่ยงรอบตัว ขอให้กรมการค้าภายในไปศึกษาประเทศผู้นำเลี้ยงหมูในภูมิภาค จีน เวียดนาม จะพบว่า มีความเข้าใจเรื่องกลไกตลาด ที่ปล่อยให้ราคาหมู เป็นไปตามกลไกตลาด เมื่อหมู ผลิตได้น้อย ราคาก็จะสูงขึ้น ตามช่วงเวลา เมื่อหมูผลิตได้มาก ราคาก็จะตกลง ดังนั้น เกษตรกรเลี้ยงหมู มีอาชีพเดียว ต่างจากผู้บริโภค ที่เลือกรับประทานได้ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญคือ หากกรมการค้าภายในเลือกแนวทางในการตรึงราคา คงต้องมีกระบวนการเยียวยาเกษตรกร หรืออาจมีโครงการคล้ายกับคนละครึ่ง โดยรัฐช่วยจ่าย เพราะหากตรึงราคาอย่างเดียว โดยรัฐไม่เข้ามาช่วย คนที่แบกรับต้นทุนแท้จริงแล้วคือ เกษตรกรนั่นเอง และในอนาคตแนวโน้มจำนวนเกษตรกรเลี้ยงหมูจะลดลงอย่างมาก และทำให้เนื้อหมูในประเทศไม่เพียงพอจนต้องนำเข้า และ จะทำให้ราคาหมูยิ่งสูงมากขึ้นไปอีก ดังนั้น การปล่อยให้เป็นไปตามกลไกราคาของตลาด และ กรมการค้าภายในสนับสนุนผู้บริโภคให้เลือกรับประทานเนื้อไก่ เนื้อปลา ทางเลือกอื่น ในช่วงเวลาที่หมูราคาสูง ก็จะทำให้กลไกตลาดทำงานไปโดยธรรมชาติ
ทางออกที่ 5 ส่งเสริมให้ผู้บริโภค รับประทานอาหารที่มีโปรตีน ชนิดอื่นควบคู่ แทนการบริโภคหมู ในช่วงที่มีราคาสูง เพราะผู้บริโภคมีทางเลือก แต่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ไม่มีทางเลือก หากขาดทุนก็ไปต่อไม่ไหว ทั้งนี้ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ สุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ ระบุว่าสถานการณ์ขณะนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงกำลังประสบปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับการบริโภคของประชาชนในปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก สวนทางกับปริมาณผลผลิตสุกรขุนลดลงมากกว่า 30% ราคาสุกรจึงเป็นไปตามกลไกตลาด เกษตรกรจำต้องขอความเห็นใจในปัญหาที่ต้องเผชิญกับภาวะราคาหมูตกต่ำมานานกว่า 3 ปี ขอให้กลไกตลาดได้ทำงานเสรี เพื่อให้สามารถไปต่อในอาชีพนี้ได้ ขณะที่ประชาชนยังมีทางเลือกบริโภคอาหารอื่นทดแทน ทั้งปลา ไข่ ไก่ ซึ่งถือเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างแท้จริง
ด้านนายบรรจบ สุขชาวไทย นักวิชาการด้านปศุสัตว์ ได้เขียนบทความเรื่อง การปล่อยให้กลไกตลาดทำงานในตลาดเนื้อหมู เพื่อให้คนเลี้ยงหมูอยู่รอด เป็นบทความที่สะท้อนความจริงและความลำบากของเกษตรกรเลี้ยงหมูที่เข้าใจง่าย และ เห็นใจเกษตรกร เพราะที่ผ่านมาจำนวนผู้เลี้ยงสุกรในประเทศไทยลดลงอย่างมาก จากความเสี่ยงนานัปการ และต้องมารับความเสี่ยงเพิ่มเติมจากการควบคุมราคา ทำให้เกษตรกรหลายคนถอดใจ วันนี้ผลตอบแทนสำหรับความมุ่งมั่นของคนเลี้ยงหมู จึงไม่ควรเป็นการถูกดึงเข้าดราม่า เรื่องเนื้อหมูราคาแพง ที่ทั้งผู้บริโภค คนขายหมูเขียง หรือแม้แต่คนค้าคนขายด้วยกันเอง พาทัวร์มาลงรุมชี้ว่าเกษตรกรเป็นต้นเหตุ ทั้ง ๆ ที่เกษตรกรลำบากมากอยู่แล้ว แต่ผู้บริโภคมีทางเลือก หากเนื้อหมูแพง ก็สามารถไปกินไก่ กินปลาแทนได้ และแม้วันนี้ราคาจะปรับขึ้นก็เป็นเพียงช่วงสั้นๆ ตามกลไกตลาด จากดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก สวนทางกับซัพพลายหมูที่ลดลงจากภาวะโรค ที่สำคัญหมูไทยไม่ได้ราคาสูงไปกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค และปริมาณหมูก็มีมากเพียงพอกับการบริโภค ไม่เคยต้องขาดแคลน ทั้งหมดนี้เพราะคนเลี้ยงหมูทุกคนต้องการรักษาอาชีพเดียวของพวกเขาไว้ และต้องดูแลผู้บริโภคไม่ให้เดือดร้อนไปพร้อม ๆ กัน
ดังนั้น 5 ทางออก เพื่อแก้ปัญหาการเลี้ยงหมู ในระยะยาว รัฐต้องนำไปดำเนินการอย่างจริงจัง แทนการตรึงราคาหมู โดยเกษตรกรเป็นผู้ก้มหน้าแบกรับภาระ โดยแทนที่ช่วงปีใหม่จะเป็นช่วงเวลาที่เกษตรกรจะได้ขายสินค้า เพื่อนำรายได้มาชดเชยค่าใช้จ่ายที่ได้ลงไปก่อนหน้านี้ หากกรมการค้าภายในว่าแทรกแซงกลไกตลาดด้วยการตรึงราคา จะให้เกษตรกรมาเป็นผู้รับภาระเพื่อให้ผู้บริโภคกินหมูราคาถูกลง แต่ผลที่ได้ อาจส่งผลให้ผู้เลี้ยงหมู ล้มหายตายจากไป สุดท้ายประเทศไทย อาจเสี่ยงต่อการมีเนื้อหมูไม่เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศนั่นเอง ถึงตอนนั้นจะสร้างผู้ประกอบการใหม่ คงต้องใช้เวลาเรียกความมั่นใจอีกหลายปี