‘สมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคอีสาน’ แนะยกเลิกคุม ‘ราคาหมูหน้าฟาร์ม’ สร้างแรงจูงใจให้มีการเลี้ยงหมูเพิ่ม พร้อมเดินหน้ายกระดับการเลี้ยงสู่มาตรการเดียวกันทั้งประเทศ ขณะที่ 'ปศุสัตว์' ยันพบโรค ASF ในไทย ไม่กระทบการส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อหมู
..............................
นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ตามที่อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้รายงานนายกรัฐมนตรีว่า จะแก้ไขสถานการณ์หมูให้ได้โดยเร็วที่สุดนั้น นับเป็นข่าวดีของคนเลี้ยงหมู ซึ่งสมาคมฯขอสนับสนุนการทำงานของกรมปศุสัตว์อย่างเต็มที่ เพราะเกษตรกรทุกคนอยากกลับมาประกอบอาชีพที่ตนเองถนัด เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตหมูเข้าสู่ตลาด และจะทำให้ระดับราคาลดลงตามกลไกตลาด ซึ่งเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย
“เราควรใช้โอกาสนี้ในการฟื้นฟูและยกระดับการเลี้ยงหมูเข้าสู่มาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ เพื่อสร้างความปลอดภัยในอาหาร และสร้างเสถียรภาพให้อุตสาหกรรมหมูไทย” นายสิทธิพันธ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในการเตรียมเล้าในการลงหมูนั้น ยังต้องการความมั่นใจในเรื่องโรคระบาด ซึ่งต้องขอให้กรมฯ ดำเนินการในส่วนนี้อย่างเข้มงวดและเคร่งครัด ขณะเดียวกัน การยกเลิกการคุมราคาหน้าฟาร์ม และ “ปล่อยราคาตามกลไก” จะเป็นแรงจูงใจเสริมได้อย่างดีว่า เมื่อเลี้ยงหมูแล้วสามารถขายได้ในราคาตามอุปสงค์อุปทานที่เกิดขึ้น ไม่ต้องเผชิญกับภาวะขาดทุนสะสมอย่างที่ผ่านมา
นายสิทธิพันธ์ ระบุด้วยว่า ขณะนี้บริษัทฯใหญ่หลายแห่งได้ผนึกกำลังเดินสายช่วยเกษตรกรรายย่อยฟื้นฟูอาชีพ ด้วยการจัดสัมมนาสัญจรในหัวข้อเรื่อง “หลังเว้นวรรค...จะกลับมาอย่างไรให้ปลอดภัย?” โดยนักวิชาการสัตวแพทย์ของซีพีเอฟ นำความรู้และเทคนิคการป้องกันโรคของบริษัทฯ มาถ่ายทอดสู่เกษตรกรรายย่อยในภาคอีสาน งานดังกล่าวจัดขึ้นในเดือนม.ค.นี้ ที่ จ.ร้อยเอ็ด จ.สุรินทร์ และจ.ศรีสะเกษ เพื่อปูพื้นฐานที่เข้มแข็งให้กับเกษตรกรรายย่อย
นอกจากนี้ การที่ นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ จะหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำประมาณ 2% มาสนับสนุนเกษตรกร ประกอบกับความร่วมมือร่วมใจของคนเลี้ยงหมู เชื่อว่าจะได้เห็นการฟื้นตัวของเกษตรกรรายย่อยต่อไป
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดเตรียมสินเชื่อพิเศษสำหรับเป็นทุนในการสนับสนุนการเลี้ยงสุกร การเพาะปลูกผลผลิตทางการเกษตรที่จำเป็นต่อการผลิตอาหารสัตว์ และการวางระบบการเลี้ยงที่เป็นมาตรฐานเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงจากปัญหาโรคระบาดที่มักจะเกิดขึ้น เพื่อเพิ่มปริมาณสุกรให้ออกสู่ตลาดได้มากขึ้น วงเงินรวม 30,000 ล้านบาท ประกอบด้วย
1.สินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ สำหรับเกษตรกรรายย่อยและบุคคลในครัวเรือนที่ประสงค์จะกู้เงิน เพื่อไปลงทุนเลี้ยงสุกรหรืออื่น ๆ เพื่อเป็นการสร้างอาชีพ วงเงินกู้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย กรณีกู้เป็นค่าใช้จ่ายคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี กำหนดระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 12 เดือน (พิเศษไม่เกิน 18 เดือน) นับแต่วันกู้ กรณีเป็นค่าลงทุนปีที่ 1-3 คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี ปีที่ 4 - 5 อัตราดอกเบี้ย MRR (ปัจจุบัน MRR เท่ากับร้อยละ 6.5 ต่อปี) กำหนดระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 5 ปี โดยปลอดชำระต้นเงิน 2 ปีแรก
2.สินเชื่อ Food Safety เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนหรือเพื่อเป็นค่าลงทุนในการส่งเสริมการประกอบอาชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อัตราดอกเบี้ยกรณีเกษตรกร MRR (ปัจจุบัน MRR เท่ากับ ร้อยละ 6.5 ต่อปี) กรณีผู้ประกอบการ นิติบุคคล กลุ่มวิสาหกิจชุมชนหรือองค์กร กลุ่มเกษตรกร หรือสหกรณ์การเกษตร ดอกเบี้ย MLR (ปัจจุบัน MLR เท่ากับ ร้อยละ 4.875 ต่อปี) พิเศษสำหรับผู้ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานฯ หรือแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานราชการหรือเอกชน กรณีเกษตรกร ดอกเบี้ย MRR-1 กรณีผู้ประกอบการ นิติบุคคลต่าง ๆ ดอกเบี้ย MLR-0.5 ระยะเวลาชำระคืน กรณีค่าใช้จ่ายหมุนเวียน ไม่เกิน 12 เดือน (กรณีพิเศษ ไม่เกิน 18 เดือนนับแต่วันกู้) กรณีค่าลงทุน ไม่เกิน 15 ปี
3.สินเชื่อเสริมแกร่ง SME เกษตร เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนหรือค่าลงทุนในการประกอบธุรกิจ โดยมีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ หรือรักษาสิ่งแวดล้อม กำหนด วงเงินกู้ไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1 – 2 ร้อยละ 4 ต่อปี และปีที่ 3 – 10 อัตราดอกเบี้ย MRR-1 / MLR / MOR ตามประเภทของลูกค้า (ปัจจุบัน MRR เท่ากับร้อยละ 6.5 ต่อปี / MLR เท่ากับร้อยละ 4.875 ต่อปี และ MOR เท่ากับร้อยละ 6.25 ต่อปี)
กรณีที่ผู้ประกอบการสามารถนำ Platform มาใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจ หรือมีการรับซื้อผลผลิตเกษตรอินทรีย์หรืออาหารปลอดภัย (Food Safety) ที่มีมาตรฐานรับรองหรือรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรต้นน้ำหรือกลุ่มวิสาหกิจที่ได้รับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของต้นทุนวัตถุดิบ หรือเป็นธุรกิจที่นำหลักโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ องค์รวม (BCG Model) อย่างใดอย่างหนึ่งมาใช้จะได้รับอัตราดอกเบี้ยในปีที่ 3-4 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี เพิ่มอีก 2 ปี ทั้งนี้ เงื่อนไขเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด
ด้าน นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า หลังจากที่มีการประกาศโรค ASF ในสุกรในประเทศไทยและได้รายงานไปองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2565 นั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและรับมือผลกระทบด้านการส่งออกเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ หลังการประกาศพบเชื้อ ASF ในสุกรในประเทศไทย จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาถึงผลกระทบและเงื่อนไขในการส่งออกเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ของประเทศผู้นำเข้าต่างๆ เพื่อให้เกิดผลกระทบให้น้อยที่สุด
โดยจากการค้นคว้าข้อมูลและตามระเบียบประเทศคู่ค้าและตามหลักมาตรฐานสากลพบว่า การส่งออกเนื้อสุกรดิบและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสุกร คาดการณ์ว่าจะไม่มีผลกระทบมากนัก เนื่องจากประเทศไทยมีตลาดส่งออกหลักทั้งเนื้อสุกรดิบและสุก ที่ยอมรับในการปฏิบัติตามคำแนะนำของ OIE และเงื่อนไขของประเทศผู้นำเข้าที่กำหนด โดยตลาดส่งออกหลักของเนื้อสุกรดิบคือฮ่องกง
ส่วนเนื้อสุกรสุกหรือผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสุกร ตลาดหลักคือ ญี่ปุ่นและฮ่องกง ซึ่งการส่งออกในกรณีที่ประเทศมีการระบาดของโรค ASF ในสุกร นั้นจะพิจารณาตามข้อแนะนำ OIE และเงื่อนไขประเทศผู้นำเข้าที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะ เช่น เป็นการห้ามทั้งประเทศ หรือ ห้ามเป็นพื้นที่ หรือห้ามเป็นฟาร์ม โดยมีข้อกำหนด ดังนี้
1.การส่งออกเนื้อสุกรดิบ สำหรับบางประเทศที่ไม่ได้ห้ามนำเข้า กรมศุสัตว์จะอนุญาตให้ส่งออกต่อเนื่อง โดยมีการควบคุมการผลิตเนื้อสุกร ไม่ให้มีเชื้อ ASF ในสุกรปนเปื้อนในกระบวนการผลิต เช่น การกำหนดให้แหล่งที่มาของสุกร ต้องมาจากฟาร์มมาตรฐาน GAP มีการตรวจหาเชื้อ ASF ในสุกรมีชีวิตก่อนส่งโรงฆ่า และได้รับอนุญาตให้เคลื่อนย้ายโดยเป็นไปตามแนวทางข้อกำหนดของกรมปศุสัตว์ และในโรงฆ่าสัตว์เพื่อการส่งออกจะมีสุ่มเก็บตัวอย่างเนื้อสุกรทุกฟาร์ม (100%) เพื่อเฝ้าระวังเชื้อ ASF ในสุกรปนเปื้อนก่อนอนุญาตให้ส่งออก หรือนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารของคน หรืออาหารสัตว์เลี้ยง
2.สำหรับผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรปรุงสุก OIE ได้กำหนดเงื่อนไขการทำลายเชื้อไวรัส ASF ในสุกร ดังนี้ การทำลายเชื้อไวรัส ASF ในเนื้อสุกรต้องผ่านความร้อน 70 องศาเซลเซียส ระยะเวลาอย่างน้อย 30 นาที หรือ อาหารกระป๋อง F0≥ 3 หรือเนื้อสุกรผ่านการหมักด้วยเกลือและตากแห้งอย่างน้อย 6 เดือน และใน casing จากสุกรต้องหมักเกลือหรือน้ำเกลือ (Aw < 0.8) หรือสารประกอบเกลือฟอสเฟต 86.5%NaCl + 10.7%Na2HPO4 + 2.8%Na3PO4 เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 30 วัน
3.ในกรณีที่บางประเทศมีการกำหนดเงื่อนไขการนำเข้าเป็นการเฉพาะ กรมปศุสัตว์จะเร่งเจรจากับหน่วยงานที่รับผิดชอบของประเทศนั้นๆ เพื่อขอส่งสินค้าเนื้อสุกรปรุงสุกหรือผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสุกร ให้ได้อย่างต่อเนื่อง เช่น สำหรับส่งออกเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์แปรรูปผ่านความร้อน ประเทศสิงคโปร์มีข้อกำหนดต้องมาจากประเทศที่ต้องปลอดจากโรค ASF ในสุกรอย่างน้อย 3 เดือน ก่อนวันเชือดและวันส่งออก
ประเทศฟิลิปปินส์กำหนดห้ามการนำเข้าเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์จากประเทศที่มีรายงานโรค ASF ในสุกร สำหรับการส่งออกเนื้อสุกรแช่เย็น/แช่แข็ง ในฮ่องกงมีข้อกำหนดเนื้อสุกรต้องมาจากสุกรมีชีวิตในพื้นที่ปลอดจากโรค swine fever ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ตาม Health certificate ในอินเดียกำหนดให้ต้องมาจากประเทศที่ต้องปลอดจากโรค ASF ในสุกรหรือสำหรับประเทศที่พบ ASF ในสุกรหากมีแผนเฝ้าระวังและมีการกำหนดพื้นที่ปลอดโรคตาม OIE สามารถส่งออกเนื้อสุกรสดได้ เป็นต้น
4. สำหรับการส่งออกเนื้อสุกรดิบ และสินค้าเนื้อสุกรปรุงสุกหรือผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสุกร ในปี 2565 จะพิจารณาจากท่าทีและเงื่อนไขของประเทศผู้นำเข้าที่จะมีการกำหนดเพิ่มเติมอย่างไร และปัจจัยอื่นๆ เช่น สถานการณ์โควิด 19 โดยคาดการณ์ว่าในปี 2565 การส่งออกน่าจะมีปริมาณใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาโดยส่งออกประมาณ 23,000 ตัน มูลค่า 3,646 ล้านบาท
สำหรับการส่งออกสุกรมีชีวิตนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาราคาเนื้อหมูแพง ภาครัฐได้มีการแก้ปัญหาโดยมาตรการระยะเร่งด่วนกระทรวงพาณิชย์ โดยคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการได้ประกาศห้ามส่งออกสุกรมีชีวิตไปนอกราชอาณาจักรเป็นเวลา 3 เดือน (6 มกราคม – 5 เมษายน 2565) ซึ่งหลังจากนี้จะมีการพิจารณาถึงแนวทางให้เหมาะสมตามสถานการณ์ต่อไป
อ่านประกอบ :
ปศุสัตว์ขานรับนโยบายนายกฯ สั่งทุกพื้นที่เร่งแก้ปัญหาหมูทั้งระบบ-เยียวยาเกษตรกร
เปิดหลักฐาน 'ครม.' อนุมัติงบ 4 ปี 5 ครั้ง 1.5 พันล้าน ชดเชยหมูตาย-อ้างป้องกัน ASF
'เพื่อไทย'แถลงการณ์อัดรัฐปกปิดความจริงเชื้อ ASF ระบาดในหมู เตรียมร้อง ป.ป.ช.เอาผิด
นายกฯสั่งสอบปมหนังสือแจ้งพบ ASF ถึงกรมปศุสัตว์ ป้อง'จุรินทร์-เฉลิมชัย'เกียร์ว่าง
กรมปศุสัตว์ประกาศไทยพบโรคอหิวาห์หมู ASF จากการสุ่มตรวจที่โรงฆ่าจังหวัดนครปฐม
‘ปศุสัตว์’ ยันไม่มีการ ‘ปิดข่าว’ เจอโรค ASF ในไทย-คาด 2 วันได้ข้อสรุปพบเชื้อหรือไม่
ชำแหละต้นตอ ‘หมูแพง’ ตาย 10 ล้านตัว-ฟาร์มเล็กเจ็บหนัก 'พาณิชย์' สั่งห้ามส่งออกแล้ว
'น้ำมัน-หมู' แพง! ดันเงินเฟ้อทั่วไป ธ.ค.ขยายตัว 2.17%-'ข้าวเจ้า-ข้าวเหนียว' ราคาลด