“…ราคาหมูแพงมีต้นเหตุใหญ่มาจากโรคระบาด ซึ่งทำให้ผลผลิตสุกรลดจาก 20 ล้านตัว เหลือ 10 กว่าล้านตัว เมื่อหมูตายไปกว่า 50% ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมาราคาอาหารหมูเพิ่มขึ้น 30% ราคาเนื้อหมูจึงแพง แต่การที่ราคาหมูหน้าเขียงไปขายกัน 230 บาท/กก. ผมว่าแรงเกินไป เมื่อเทียบกับราคา ‘หมูเป็น’ ที่ขยับขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 105 บาท/กก….”
...............................
เริ่มต้นปี 2565 ได้เพียงไม่กี่วัน
ปัญหาปากท้องที่คนไทยต้องเจอ คือ ปัญหาหมูแพง โดยล่าสุด (5 ม.ค.) ราคาเนื้อหมู ‘หน้าเขียง’ ทะลุ 200 บาท/กิโลกรัม (กก.) ไปแล้ว บางเขียงขายกันสูงถึง 230 บาท/กก. เทียบกับในช่วงเดือน ธ.ค.2564 ที่เนื้อหมู (สุกรชำแหละเนื้อแดง-สะโพก) ราคาขายปลีก 175 บาท/กก. เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือน มิ.ย.2564 ที่ราคาขายปลีกอยู่ที่ 150-160 บาท/กก.
สำหรับสาเหตุที่ทำให้ราคา ‘เนื้อหมู’ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมีการคาดการณ์ว่า ‘อาจ’ ได้เห็นราคาเนื้อหมูพุ่งขึ้นไปแตะ 300 บาท/กก. นั้น มาจากปัจจัยต่างๆ เช่น โรคระบาดที่ทำให้จำนวนสุกรลดลง และต้นทุนการเลี้ยงสุกรเพิ่มขึ้น จากราคาอาหารหมูที่เพิ่มขึ้นกว่า 30% ในช่วงที่ผ่านมา
“ราคาหมูแพงมีต้นเหตุใหญ่มาจากโรคระบาด ซึ่งทำให้ผลผลิตสุกรลดจาก 20 ล้านตัว เหลือ 10 กว่าล้านตัว เมื่อหมูตายไปกว่า 50% ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมาราคาอาหารหมูเพิ่มขึ้น 30% ราคาเนื้อหมูจึงแพง แต่การที่ราคาหมูหน้าเขียงไปขายกัน 230 บาท/กก. ผมว่าแรงเกินไป เมื่อเทียบกับราคา ‘หมูเป็น’ ที่ขยับขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 105 บาท/กก.
ส่วนราคาเนื้อหมูจะแพงไปมากกว่านี้หรือไม่นั้น คงจะต้องไปดูต้นทุนวัตถุดิบและปัจจัยอื่นๆว่าเป็นอย่างไร แต่ถ้าโรคระบาดในสุกรยังมากอยู่อย่างนี้ ราคาเนื้อหมูก็จะไปมากกว่านี้” สุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)
@โรคระบาดร้ต้นเหตุ ‘หมูตาย’-‘ฟาร์มเล็ก’เสียหายหนัก
สุรชัย ระบุด้วยว่า แม้ว่าที่ผ่านมากรมปศุสัตว์จะไม่ยอมรับว่า โรคระบาดที่ทำให้สุกรตายลงเป็นจำนวนมากนั้น ไม่ได้มาจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) แต่ในกลุ่มผู้เลี้ยงหมูทราบกันดีว่าโรคระบาดที่ทำให้หมูตายจำนวนมากนั้น เป็นโรคอะไร ขณะที่ฟาร์มขนาดเล็กจะได้รับความเสียหายจากโรคระบาด มากกว่าฟาร์มขนาดใหญ่ที่เลี้ยงสุกรในระบบปิด
“หมูตาย ไม่มีใครได้ประโยชน์ เสียหายกันทั้งนั้น ฟาร์มใหญ่ก็เสียหาย ฟาร์มเล็กก็เสียหาย แต่ที่เสียหายมาก คือ ฟาร์มเล็ก ฟาร์มย่อย ที่หมูตายหมด เพราะเลี้ยงในโรงเรือนระบบเปิด ระบบป้องกันไม่ดี ต่างจากฟาร์มใหญ่ที่ลงทุนระบบปิดเป็นเงินหลายพันล้านบาท ทำให้เขาเสียหายน้อย แต่ก็ทำให้ฟาร์มใหญ่มีต้นทุนเพิ่มขึ้นเช่นกัน” สุรชัย กล่าว
สุรชัย กล่าวด้วยว่า “ไม่เห็นด้วยที่ภาครัฐจะให้มีการควบคุมราคาหมู เพราะของไม่มี จึงต้องปล่อยให้เป็นไปตามดีมานด์ซัพพลาย” พร้อมระบุว่า “ถ้าระบบ (การเลี้ยง) ยังไม่ดีพอ และมีโรคระบาดอยู่ ระดับราคาหมูเป็นที่ 100 บาท/กก. (คำนวณเป็นราคาหมูหน้าเขียง 200 บาท/กก.) น่าจะเป็น ‘ระดับปกติ’ ไปอีกอย่างน้อย 2 ปี”
@ชี้ ‘หน่วยงานของรัฐ’ ปกปิดข้อมูลการระบาดโรค ASF
ด้าน วิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.พะเยา พรรคเพื่อไทย ตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราคาเนื้อหมูแพงในช่วงที่ผ่านมา เพราะหน่วยงานภาครัฐไม่ยอมรับว่ามีการระบาดโรคอหิวาห์แอฟริกาในสุกร (ASF) ทั้งๆที่โรคระบาดดังกล่าว มีการระบาดในภาคเหนือตั้งแต่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว แต่กลับอ้างว่าเป็นโรคเพิร์ส (PRRS)
“โรคนี้เริ่มระบาดในภาคเหนือของไทยเมื่อ 3 ปีที่แล้ว แต่หน่วยงานภาครัฐไม่ยอมรับว่ามีการระบาด ไม่ได้รายงานให้องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศทราบ และละเลยจนแพร่ไปในพื้นที่อื่น รวมถึง จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เลี้ยงสุกรมากที่สุด ทำให้สุกรหายไปจากระบบ 10 ล้านตัว เหลือเพียง 12 ล้านตัว” วิสุทธิ์ ตั้งข้อสังเกต
@‘พาณิชย์’ ชี้หมูตายกว่า 50% เพราะโรคระบาดฯ
ขณะที่ รณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ระบุว่า ราคาเนื้อหมูแพงนั้น เป็นเรื่องของกลไกการผลิต โดยเฉพาะเมื่อมีโรคระบาดที่ทำให้จำนวนสุกรลดลง 50% ราคาเนื้อหมูในประเทศก็จะต้องแพงขึ้น
“ถ้ามองลึกไปในประวัติศาสตร์ จะรู้ว่า โรคติดต่อที่ทำให้สุกรล้มตายไป คือ โรคอหิวาห์แอฟริกาในสุกร (แอฟริกัน สไวน์ ฟีเวอร์- ASF) ซึ่งมีมา 60 ปีแล้ว ไม่ใช่เพิ่งเกิดปีนี้ หรือปีที่แล้ว มันอยู่กับโลกนี้มาอย่างน้อย 60 ปีแล้ว และไม่มีวัคซีน ไม่มียาด้วย วิธีการแก้ไขปัญหาเมื่อเกิดการระบาด คือ เขาต้องฆ่าหมูเท่านั้น พอฆ่าหมูให้ตาย ซัพพลายก็ลดลง
เหมือนสมัยก่อนที่มีโรควัวบ้า ไม่มียา ก็ฆ่าวัวให้ตายหมด อันนี้ก็เช่นเดียวกัน มันเริ่มต้นจากยุโรป เข้ามาจีน เวียดนาม ไทยเพิ่งมาลงปีนี้ ซึ่งข้อมูลที่ผมทราบ ถ้าเป็นฟาร์มเล็ก เขาต้องฆ่าหมู 40-50% โดยเฉลี่ย บางฟาร์มฆ่า 100% เลย คือ ไม่มียาและวัคซีน ถ้ารู้ว่าเป็นต้องฆ่าเลย ถ้าไม่ฆ่าหมู ตัวอื่นก็ติดไปด้วย
แต่ถ้าเป็นฟาร์มใหญ่ๆที่บริหารจัดการดี และเป็นฟาร์มปิด จะสูญเสีย 30% ยังมีเหลือ 70% ไว้เป็นสุกรที่ดี มีคุณภาพ ไม่ติดเชื้อ แต่ถ้ามองทั้งประเทศ เอาฟาร์มเล็กกับฟาร์มใหญ่มารวมกัน ผลผลิตจะอยู่ที่เพียง 50% และเมื่อยังมีการบริโภคอยู่ ก็ต้องยอมรับว่าราคาต้องเพิ่มขึ้น" รณรงค์ กล่าวระหว่างการแถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปในเดือน ธ.ค.2564 เมื่อวันที่ 5 ม.ค.2564
@‘นักวิชาการ’ วิเคราะห์ 8 ประเด็นทำราคาหมูแพง
ส่วนนักวิชาการอิสระเช่น ปฏิภาณ กิจสุนทร ซึ่งมีศึกษาวิจัยเกี่ยวกับอุตสาหกรรมสุกรในประเทศไทย วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่ทำให้เนื้อหมูมีราคาแพงมาจาก 8 ประเด็น ได้แก่
ประเด็นแรก โรคในสุกร ทั้ง PRRS และ PED ฯลฯ ทำให้สุกรแม่พันธุ์เสียหายมากถึง 40% จากจำนวน 1.1 ล้านตัว เหลือเพียง 6.6 แสนตัว ส่งผลต่อเนื่องถึงปริมาณผลผลิตสุกรขุนปรับลดลงถึง 30% จากปี 2563 จากที่เคยมีจำนวนสุกรประมาณ 18-19 ล้านตัว/ปี เหลือเพียง 14.7 ล้านตัว/ปีเท่านั้น อีกทั้งยังทำให้ต้นทุนการเลี้ยงต่อตัวเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ประเด็นที่สอง ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้นทุกประเภท จากปริมาณผลผลิตที่ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ โดยเฉพาะราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของประเทศเพื่อนบ้านทั้งกัมพูชา ลาว เวียดนาม ที่ปรับขึ้นไปอยู่ในระดับ 11.20-12.20 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาสูงสุดในรอบ 10 กว่าปี ส่งผลให้ต้นทุนการเลี้ยงสุกรเพิ่มขึ้น
ประเด็นที่สาม เกษตรกรต้องเพิ่มความเข้มงวดด้านระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) เนื่องจากกลุ่มสุกรมีโรคประจำถิ่นจำนวนมาก จึงสร้างภาระการดูแลมากขึ้น ส่งผลให้มีค่าแรงงานในการดำเนินการเพิ่ม การใช้เงินลงทุนไปกับค่าน้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่จำเป็น กลายเป็นต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และผู้เลี้ยงมีต้นทุนส่วนนี้ 400-500 บาทต่อตัว
ประเด็นที่สี่ ผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมหนักในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความเสียหายในหลายพื้นที่ ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนที่ต้องแบกรับสูงถึงกิโลกรัมละ 90 บาท โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีปัญหาโรคสุกร จะพบว่าอัตราเสียหายยิ่งสูงขึ้นอีก และทำให้ฟาร์มเกษตรกรรายย่อย มีต้นทุนพุ่งขึ้นไป 100-120 บาท/กิโลกรัม
ประเด็นที่ห้า ก่อนนี้เกษตรกรถูกพ่อค้ารับซื้อสุกร กุเรื่องโรคระบาดสุกรมาทุบราคา ถึงขนาดเคยขายสุกรราคาถูกกิโลกรัมละ 50 กว่าบาท ทั้งที่ต้นทุนขณะนั้นสูงกว่า 70-80 บาท ทำให้เกษตรทั่วประเทศได้รับความเสียหายจากขายสุกรขุนต่ำกว่าทุนสูงถึง 8,000-10,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซ้ำเติมภาระขาดทุนที่เกษตรกรต้องแบกรับมากว่า 3 ปี
ประเด็นที่หก วันนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงทั้งประเทศที่เคยมีถึง 2 แสนราย เหลือเพียง 8 หมื่นราย โดยเกษตรกรรายย่อยที่ต้องเลิกเลี้ยง มาจากปัญหาด้านเงินลงทุนหรือบางรายชะลอการเลี้ยงไว้ก่อน และต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6-12 เดือน จึงจะสามารถกลับเข้าเลี้ยงสุกรได้ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้โรคกลับมาสร้างความเสียหายให้กับฝูงสุกรที่จะเข้าเลี้ยงใหม่
ประเด็นที่เจ็ด การขาดเงินทุนเพื่อการประกอบอาชีพ จากภาระหนี้สินสะสมตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เกษตรกรจึงไม่สามารถขอกู้เงินในระบบได้ เพราะสถาบันการเงินไม่อนุมัติสินเชื่อ เนื่องจากขาดรายได้ และไม่มีหลักประกันในอาชีพ เกษตรกรจึงขาดที่พึ่ง และไม่มีแรงสู้ต่อกับอาชีพเลี้ยงสุกร
ประเด็นที่แปด การบริโภคเนื้อสุกรในช่วง 8-9 เดือนก่อนก็ลดลงอย่างมาก จากเดิม 22 กิโลกรัม/คน/ปี เหลือเพียง 16 กิโลกรัม/คน/ปี หรือลดลงเกือบ 40% จากการปิดประเทศ งดการเรียนการสอนในโรงเรียน และการจับจ่ายชะลอตัว
แต่เมื่อการบริโภคกลับมาเป็นบวกอีกครั้งในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 จากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการและปลดล็อกดาวน์ และนักเรียนกลับเข้าเรียนในระบบ ผนวกกับใกล้ช่วงเทศกาลวันหยุด ส่งผลในเชิงจิตวิทยาทำให้คนเริ่มออกมาจับจ่ายมากขึ้น สวนทางกับผลผลิตสุกรขุนที่เข้าสู่ตลาดลดลงกว่า 30% สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การแย่งซื้อสุกรของพ่อค้า กลไกตลาดที่แท้จริงจึงเริ่มทำงาน ตามหลักอุปสงค์-อุปทาน
@ชง ‘บิ๊กตู่’ สั่งหยุดส่งออก-หนุนรายย่อยเลี้ยงหมู 1 ล้านตัว
ขณะที่ ประภัตร โพธสุธน รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า การเกิดโรคระบาดในสุกรในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้สุกรตายไป 3-5 ล้านตัว จากปกติที่ไทยผลิตสุกรได้ 20 ล้านตัว/ปี มาจากโรคเพิร์ส หรือ PRRS โดยไม่ได้มาจากโรคการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) แต่อย่างใด
“โรค ASF เราสามารถป้องกันมาเป็นปีแล้ว และถ้าพื้นที่ใดมีข้อสงสัย ทางปศุสัตว์จังหวัดจะฆ่าทันทีเลย และจ่ายเงินชดเชยให้ผู้เลี้ยง รวมถึงให้จังหวัดใดที่มีความเสี่ยงเราจะไม่ให้เลี้ยง ทำให้เราป้องกันโรค ASF ได้เป็นอย่างดี ส่วนที่มีระบุว่าพบการระบาดของโรค ASP เป็นมา 3 ปีแล้วนั้น เราได้นำสืบแล้ว และพบว่าไม่ใช่” ประภัตรกล่าว
ประภัตร กล่าวว่า เพื่อเพิ่มประมาณเนื้อสุกรในตลาด กรมปศุสัตว์จะเข้าไปส่งเสริมให้ผู้เลี้ยงรายย่อยในพื้นที่ภาคเหนือเลี้ยงสุกรขุน โดยจะขอความร่วมมือจากฟาร์มขนาดใหญ่ให้ผลิตลูกสุกรเพิ่ม 1 ล้านตัน แล้วนำไปให้ผู้เลี้ยงรายย่อยเลี้ยงเป็นสุกรขุนต่อไป ขณะที่การเลี้ยงสุกรขุนให้ได้น้ำหนัก 100 กก.จะใช้เวลาเพียง 4 เดือน
“เรากำลังต่อรองฟาร์มใหญ่ ให้ผลิตลูกหมูให้เรา แล้วเอาไปให้ผู้เลี้ยงรายย่อย 1.8 แสนราย เลี้ยง ก็จะเกิดหมูมากขึ้น ส่วนการส่งเสริมการเลี้ยงในระยะแรก จะเริ่มทำที่ภาคเหนือ เพราะเป็นพื้นที่ที่ปลอดโรค เนื่องจากหยุดเลี้ยงหมูมาเป็นปีแล้ว โดยจะทำเป็น ‘ปศุสัตว์ Sandbox’ หรือเขตพื้นที่ควบคุมพิเศษ และเราจะเงินทุนจาก ธ.ก.ส.ให้กู้ยืม” ประภัตร กล่าว
นอกจากนี้ ตนจะทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ขอให้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์มีคำสั่งให้ผู้ประกอบการหยุดส่งออกเนื้อหมูเป็นการชั่วคราว
“ปี 2563 เราส่งหมู 2 ล้านตัว ส่วนปี 2564 เราส่งออก 1 ล้านตัว ผมจึงจะเสนอเรื่องไปถึง นายกฯ ให้บอกกับกระทรวงพาณิชย์ให้หยุดส่งออกหมูทันที เมื่อหมูอยู่ในประเทศ ราคาก็จะลดลง” ประภัตร กล่าว พร้อมย้ำว่า “พอหยุดส่งออกปั๊บ มันก็จะดีขึ้น เพราะพ่อค้าต้องคิดแล้ว หมูออกไม่ได้แล้ว ราคาก็ลดลง”
ประภัตร กล่าวด้วยว่า เพื่อลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์ กระทรวงเกษตรฯจะเสนอให้รัฐบาลลดภาษีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และกากถั่วเหลืองที่นำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศด้วย เนื่องจากปัจจุบันไทยผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ 4 ล้านตัน/ปี แต่มีความต้องการใช้สูงถึง 8 ล้านตัน/ปี
@ยันไทยไม่มีการระบาดของ ‘โรคอหิวาห์แอฟริกาฯ’
เช่นเดียวกับ นายสัตวแพทย์ ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ที่ย้ำว่า สาเหตุที่ทำให้เนื้อหมูแพง เป็นเพราะสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลาย ทำให้ความต้องการบริโภคเนื้อหมูเพิ่มขึ้น ขณะที่จำนวนสุกรลดลงจากโรคระบาด ประกอบกับผู้เลี้ยงลดการเลี้ยงสุกรลงก่อนหน้านี้ เพราะไม่มั่นใจในสถานการณ์ รวมถึงมีต้นทุนการเลี้ยงที่เพิ่มสูงขึ้น
“ปกติเราผลิตสุกรได้ 20-22 ล้านตัว/ปี แต่ในปี 2564 เราผลิตสุกรได้เพียง 18-19 ล้านตัว ลดลง 15% จากปกติ เมื่อประเทศเราควบคุมโควิด-19 ได้ดี ประชาชนออกมาทานข้าวในร้านอาหารได้ จัดงานสัมมนาได้ ความต้องการเนื้อหมูก็เพิ่มขึ้น ซึ่งเรากำลังส่งเสริมให้รายย่อยเลี้ยงสุกร จึงเชื่อว่าราคาเนื้อหมูแพงจะมีผลระยะสั้น” นายสัตวแพทย์ ชัยวัฒน์ ระบุ
นายสัตวแพทย์ ชัยวัฒน์ ระบุว่า ในการส่งเสริมให้ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยกลับมาเลี้ยงสุกรอีกครั้งนั้น กรมปศุสัตว์จะนำมาตรฐาน GFM ซึ่งสามารถป้องกันโรคได้ มีความปลอดภัยด้านอาหาร และมีระบบตรวจสอบย้อนกลับได้ มาใช้กับผู้เลี้ยงที่เข้าร่วมโครงการ ขณะที่การเลี้ยงสุกรภายใต้มาตรฐาน GFM จะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่ามาตรฐาน GAP อยู่มาก
นายสัตวแพทย์ ชัยวัฒน์ ยืนยันว่า โรคระบาดที่ทำให้สุกรตายในช่วงที่ผ่านมานั้น มาจากโรคเพิร์ส PRRS , โรคท้องร่วงติดต่อในสุกร (PED) และอหิวาต์สุกร (Classical swine fever) ไม่ได้มาจากโรคอหิวาห์แอฟริกาในสุกร (ASF) แต่อย่างใด และหากพบว่าพื้นที่ใดมีความเสี่ยง หรือต้องสงสัยว่าจะมีโรคระบาดร้ายแรง ก็จะสั่งการให้ทำลายสุกรทันที
@กกร.สั่งห้ามส่งออกเนื้อหมู 3 เดือนเริ่ม 6 ม.ค.นี้
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ที่มี จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 5 ม.ค. ที่ประชุมได้มีมติห้ามส่งออกสุกรมีชีวิตเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 6 ม.ค.2565 ถึงวันที่ 5 เม.ย.2565 เป็นการชั่วคราว ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้มีหมูเป็นกลับเข้าสู่ระบบเพิ่มเติมประมาณ 1 ล้านตัว
นอกจากนี้ กกร. มีมติให้ผู้เลี้ยงที่มีปริมาณการเลี้ยงเกิน 500 ตัว ผู้ค้าส่งที่มีปริมาณเกิน 500 ตัว ห้องเย็นที่มีการเก็บสต๊อกเกิน 5,000 กก.ขึ้นไป ให้ดำเนินการแจ้งสต๊อกให้กรมการค้าภายในรับทราบ รวมทั้งแจ้งราคา ในทุก 7 วัน เริ่มวันที่ 10 ม.ค.2565 เป็นต้นไป เพื่อให้ทราบปริมาณหมูเป็นที่อยู่ในระบบทั้งหมด
เหล่านี้ คือ ต้นตอที่ทำให้ราคาหมูเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา และต้องติดตามกันต่อไปว่า หลังจากที่ประชุม กกร. สั่งห้ามส่งออกเนื้อหมูแล้ว จะสามารถแก้ปัญหา ‘หมูแพง’ ได้หรือไม่
อ่านประกอบ :
'น้ำมัน-หมู' แพง! ดันเงินเฟ้อทั่วไป ธ.ค.ขยายตัว 2.17%-'ข้าวเจ้า-ข้าวเหนียว' ราคาลด