‘ฐากร ตัณฑสิทธิ์’ แจงปมออกใบอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียมให้ ‘บมจ.ไทยคม’ ชี้เป็นการดำเนินการตามมติ ครม. ปี 54 ฟันธงดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 เป็นดาวเทียมภายใต้สัมปทาน เหตุเขียนไว้ในใบอนุญาตชัดให้ปฏิบัติตามเงื่อนไข ‘ก.ดีอีเอส’
.........................
จากกรณีที่นายประเสริฐ อภิปุญญา อดีตกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของ กสทช. (กตป.) เข้ายื่นหนังสือและเอกสารหลักฐานต่างๆถึงประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยขอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบการออกใบอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียมสื่อสารของบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) นั้น (อ่านประกอบ : อดีต‘กตป.’ ร้อง ‘ป.ป.ช.’ สอบ 'ยิ่งลักษณ์-กสทช.' ปมออกไลเซ่นส์ดาวเทียม ‘ไทยคม’ ปี 55)
เมื่อวันที่ 26 ส.ค. นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า กรณี กสทช.ออกใบอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียมฯให้ บมจ.ไทยคม เมื่อปี 2555 นั้น เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 20 ก.ย.2554 ซึ่ง ครม.เห็นชอบให้ บมจ.ไทยคม เข้ารักษาตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม ณ ตำแหน่ง 120 องศาตะวันออก
นายฐากร อธิบายว่า เดิมที พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ฉบับปี 2553 ให้อำนาจรัฐบาลในการจัดสรรสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ซึ่งในปี 2554 ครม.ได้มีมติเห็นชอบให้ บมจ.ไทยคม เป็นผู้รักษาตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในขณะนั้น (ต่อมาเปลี่ยนเป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) เสนอ จากนั้นกระทรวงไอซีทีจึงมีหนังสือแจ้งมายัง กสทช. เพื่อให้ดำเนินการตามขั้นตอนตามกฎหมาย
“พอ ครม.มีมติมาแล้ว กระทรวงไอซีทีมีหนังสือมายัง กสทช. ให้ดำเนินการเพื่อให้มีการเปิดให้บริการ กสทช. ก็มีหน้าที่ออกใบอนุญาตประกอบกิจการฯให้ บมจ.ไทยคม อย่างไรก็ตาม ในขณะนั้น กสทช.ไม่ได้ยืนยันว่า ดาวเทียมที่ บมจ.ไทยคมยิงขึ้นไป ซึ่งก็คือดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8 นั้น เป็นดาวเทียมภายใต้สัมปทานหรือไม่ แต่ได้มีการเขียนไว้ในใบอนุญาตฯว่า หากกฎหมายกำหนดว่าอย่างไร บมจ.ไทยคม ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย” นายฐากร กล่าว
ส่วนกรณีที่ กสทช.ออกใบอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียมสื่อสารให้ บมจ.ไทยคม โดยใบอนุญาตมีอายุถึงเดือน มิ.ย.2575 แต่สัมปทานดาวเทียมของ บมจ.ไทยคมจะสิ้นสุดอายุลงในวันที่ 10 ก.ย.2564 นั้น นายฐากร กล่าวว่า ผู้ประกอบการทุกรายจะได้รับใบอนุญาตอายุ 20 ปี จาก กสทช. แต่หากผู้ประกอบการไม่มีสิทธิในการเข้าใช้ตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม แม้จะมีใบอนุญาตฯก็ไม่สามารถประกอบกิจการดาวเทียมฯได้
“ทุกคนที่มารับใบอนุญาตประกอบกิจการ ถ้าไม่สิทธิในการใช้ตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม คุณก็ใช้งานดาวเทียมไม่ได้ เช่น กรณีดาวเทียมไทยคม 7 ถ้าสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรหมดลงแล้ว แม้ว่าใบอนุญาตฯก็ประกอบกิจการดาวเทียมไทยคม 7 ต่อไปไม่ได้ เป็นต้น” นายฐากร กล่าว
นายฐากร ยังกล่าวถึงกรณีข้อพิพาทระหว่างกระทรวงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และบมจ.ไทยคม เกี่ยวกับดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8 ว่า เป็นดาวเทียมภายใต้สัมปทาน หรือเป็นดาวเทียมภายใต้ระบบใบอนุญาตฯ โดยย้ำว่า ขณะนั้น กสทช.ไม่ทราบว่าดาวเทียมทั้ง 2 ดวง เป็นดาวเทียมภายใต้ใบอนุญาตหรือไม่ แต่ได้เขียนในใบอนุญาตว่า บมจ.ไทยคม ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กระทรวงไอซีทีหรือกระทรวงดีอีเอสกำหนดไว้
“ดีอีเอสบอกว่าไทยคม 7 และ 8 อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทาน แต่ บมจ.ไทยคม ไม่เห็นด้วย และยื่นฟ้องศาลปกครอง โดยบอกว่าดีอีเอสจะมากำหนดเงื่อนไขอย่างนี้ในภายหลังไม่ได้ แต่ไม่ว่าจะกำหนดทีหลังหรือกำหนดก่อน เมื่อ กสทช.เขียนในใบอนุญาตฯตั้งแต่ปี 2555 ว่า ให้ บมจ.ไทยคม ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่กระทรวงไอซีทีหรือกระทรวงดีอีเอสกำหนด ถ้ากำหนดไว้อย่างไร บมจ.ไทยคม ต้องปฏิบัติตามนั้น ซึ่งก็คือกฎหมายภายใต้สัญญาสัมปทานนั่นเอง” นายฐากร ย้ำ
นายฐากร กล่าวว่า ตนเองอยากเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องกับการอนุมัติการออกใบอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียมฯให้ บมจ.ไทยคม ออกมาชี้แจงด้วย โดยเฉพาะประธาน และกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ในขณะนั้น เนื่องจากการพิจารณาออกใบอนุญาตฯดังกล่าว เป็นอำนาจโดยตรงของ กทค. ซึ่ง บอร์ด กสทช. ไม่ได้เกี่ยวข้อง เพราะกฎหมายเดิมได้แยกอำนาจหน้าที่ออกจากกัน และตนเองก็ไม่ได้เป็นกรรมการฯหรือเลขานุการใน กทค. แต่อย่างใด
ขณะเดียวกัน นายฐากร ยังทวิตข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว ‘Takorn Tantasith’ ว่า “ตามที่มีข่าวว่ามีคนร้องเรียนผม เมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. กับ ปปช. เกี่ยวกับเรื่องดาวเทียมไทยคม นั้น
ผมขอเรียนว่าเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในอำนาจของสำนักงาน กสทช. หรือเลขาธิการ กสทช. ที่จะดำเนินการแต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ตาม ผมได้ตรวจสอบในรายละเอียดเบื้องต้น เพื่อจะนำมาชี้แจงให้กับประชาชนเข้าใจ ดังนี้
1.การที่ดาวเทียมจะทำงานได้ จะต้องมีอนุญาต 2 ส่วนเพื่อใช้งาน
1.สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม
2.ใบอนุญาตประกอบกิจการ เพื่อตั้งสถานีภาคพื้นดิน
อำนาจในการจัดสรรสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ตามข้อ 1 ในขณะนั้นตามกฎหมายเป็นของรัฐบาล เมื่อรัฐบาลจัดสรรแล้วจะส่งเรื่องให้ กสทช. พิจารณาออกใบอนุญาตตามข้อ 2 ซึ่งในขณะนั้นเป็นอำนาจของ กทค. (คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม) ตามกฎหมายที่จะพิจารณาให้ใบอนุญาตประกอบกิจการ แล้วจึงส่งเรื่องให้ กสทช. เพื่อรับทราบมติ
2.ซึ่งในเรื่องนี้ กทค. ได้มีการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมให้ดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 ตามที่รัฐบาลโดยมติคณะรัฐมนตรีได้ส่งเรื่องให้ กสทช. พิจารณาดำเนินการ
3.ในปี 2560 สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีการแก้ไข พ.ร.บ.กสทช. ใหม่ ได้กำหนดให้อำนาจในการจัดสรรสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมที่เคยเป็นของรัฐบาล มาเป็นอำนาจของ กสทช. ซึ่งก็ไม่ได้ขัดกับรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด เพราะ กสทช. ก็เป็นหน่วยงานหนึ่งของรัฐ
ดังนั้น หลังจากปี 2560 กสทช. จึงมีหน้าในการจัดสรรสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม และออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม และตามข้อมูล ดาวเทียมไทยคม 5 กำลังจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานลงในเดือน ก.ย. 2564
เมื่อกฎหมายให้ กสทช. มีอำนาจในการจัดสรรสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมซึ่งเป็นสมบัติของชาติ กสทช. จึงได้ออกหลักเกณฑ์เพื่อจะได้มีการจัดสรรสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในระบบใบอนุญาตโดยจะใช้วิธีการประมูล ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการที่มีความโปร่งใส ก่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม สามารถตรวจได้ และเป็นวิธีที่นิยมใช้กันทั่วโลก
และ กสทช. ก็ได้ดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ จนเปิดให้ยื่นเข้าประมูล แต่มีผู้ยื่นเข้าประมูลเพียงรายเดียว จึงได้ยกเลิกการประมูลไป เพื่อความโปร่งใส และเพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม
อนึ่ง สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรสิทธิในเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม และใบอนุญาตประกอบกิจการ ก็น่าจะมาชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจในเรื่องดังกล่าวต่อไป”
(เอกสารประกอบการพิจารณา เรื่อง การขอความเห็นชอบแนวทางการรักษาตำแหน่งวงโคจร ซึ่งกระทรวงไอซีที เสนอ ครม. เมื่อวันที่ 20 ก.ย.2554)
(เอกสารแจ้งมติ ครม. เรื่อง การขอความเห็นชอบแนวทางการรักษาตำแหน่งวงโคจร เมื่อวันที่ 20 ก.ย.2554)
อ่านประกอบ :
อดีต‘กตป.’ ร้อง ‘ป.ป.ช.’ สอบ 'ยิ่งลักษณ์-กสทช.' ปมออกไลเซ่นส์ดาวเทียม ‘ไทยคม’ ปี 55
กสทช. จับมือ มิว สเปซ ยืนยันความร่วมมือใช้งานวงโคจรดาวเทียมของไทย
ไม่มีการแข่งขัน! 'บอร์ด กสทช.' ล้มประมูลใบอนุญาตดาวเทียมฯ หลัง 'ไทยคม' ยื่นรายเดียว
'ศาลปกครอง'ทุเลาบังคับ มติ ‘กสทช.’ คงสิทธิ THCOM ใช้วงโคจรดาวเทียมไทยคม 7-8 ชั่วคราว
‘อสส.’ ส่งชื่อ ‘พฤฒิพร เนติโพธิ์’ เป็น ‘อนุญาโตฯ’ ชี้ขาดคดีไทยคม 2 ข้อพิพาท
ผู้ตรวจอัยการฯ VS ปลัดดีอีเอส : ขอให้ยึดถือความสัตย์จริง ตรงไปตรงมา
เสี่ยงถูกครอบงำ! ‘ผู้ตรวจอัยการ’ ค้านตั้ง ‘อนุญาโตฯ’ คนเดียว รวบคดีไทยคม
อ้างผิดพลาด! 'ปลัดดีอีเอส'ขออภัย 'ผู้ตรวจอัยการ’ ยันไม่เปลี่ยน‘อนุญาโตฯ’ คดีไทยคม 5
'รมว.ดีอีเอส' ยันเสนอชื่อ ‘อนุญาโตฯ’ คดี 'ไทยคม' ใหม่อีกรอบ ขึ้นอยู่กับ ‘อสส.’
‘ดีอีเอส’ ตีกลับ‘เลขาฯอสส.’! แจ้งขอเปลี่ยน 'อนุญาโตฯ' คดีพิพาทไทยคมอีกรอบ
4 ปมปัญหา! เบื้องหลังเปลี่ยน ’อนุญาโตฯ’คดีไทยคม หลังผลัดเก้าอี้ 'รมว.ดีอีเอส'
ปมขัดแย้งเปลี่ยน ‘อนุญาโตฯ’ ฝ่ายอัยการ คดีข้อพิพาท ‘ไทยคม’ เดิมพันผล ปย.หมื่นล้าน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/