6 แคนดิเดตประชันวิสัยทัศน์ปราบโกง ACT ส่ง 6 ข้อเสนอถึงผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ 'ศิธา' ใช้บล็อกเชนเปิดข้อมูลโปร่งใส 'ชัชชาติ' หนุนทำข้อตกลงคุณธรรม ตรวจสอบจัดซื้อ-แต่งตั้งบุคคลากร 'รสนา' ดึงประชาชนช่วยสอบตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ 'สุชัชวีร์' ยกสิงคโปร์โมเดล 4 หลักการหยุดโกง 'สกลธี' ย้ายการขออนุญาต 200 เรื่องเข้าระบบดิจิทัล อุดช่องโหว่เรียกรับผลประโยชน์ 'วิโรจน์' ลุยแก้ข้อบัญญัติตั้ง กมธ.ป.ป.ช.ในสภา กทม.
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ร่วมกับสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 จัดเวทีประชันวิสัยทัศน์ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ในหัวข้อ ‘ปราบโกง กทม.ผู้ว่าฯในอนาคตและอนาคตของผู้ว่าฯ’
6 ข้อเสนอ ACT ถึงผู้ว่าฯคนใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่จะเริ่มประชันวิสัยทัศน์ นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า นอกจากปัญหาในพื้นที่ต่างๆ ที่พบว่ามีการทุจริตเกี่ยวกับการเรียกรับสินบนค่อนข้างมาก แต่ถ้าเป็นปัญหาในส่วนกลางของ กทม.เราพบว่า มีปัญหา 6 ประเด็นที่จะเป็นข้อเสนอของ ACT ถึงผู้ว่าฯ กทม.ในอนาคต ดังนี้
1.หยุดกลโกงงบประมาณ ให้ประชาชนมั่นใจว่าเงินภาษีถูกใช้ไปอย่างถูกต้องโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมพัฒนาเมือง รวมถึงจัดทำงบประมาณและนโยบายสาธารณะ
2.หยุดส่วยสินบน การบริการประชาชนต้องง่าย สะดวก รวดเร็ว ทันสมัย เปิดให้ประชาชนประเมินการทำงานของเจ้าหน้าที่
3.การจัดซื้อจัดจ้าง หลีกเลี่ยงการใช้วิธีพิเศษ วางเงื่อนไขโครงการที่เปิดให้เอกชนเข้าแข่งขันให้มากที่สุด และในการประมูลทุกครั้งต้องตรวจสอบได้
4.การบริหารจัดการ ต้องบริหารจัดการได้คล่องตัว ยืดหยุ่นแต่เข้มงวดรัดกุมตามมาตรการป้องกันคอร์รัปชันในระบบราชการ
5.การดำเนินงานเชิงพาณิชย์ เปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนรับรู้ กระตุ้นให้นักลงทุนเข้าร่วมแข่งขันให้มาก
6.โรงเรียนของชุมชน ใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือสื่อสาร ให้นักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน ร่วมรับรู้ แสดงความคิดเห็น เสนอแนะในกิจการโรงเรียน
นายมานะ กล่าวอีกว่า เราเห็นผู้สมัครทุกคนมีสัญญากับประชาชน จากนี้จะต้องมีกระบวนการติดตามทุกคำพูด ทุกนโยบายที่ใช้หาเสียงต้องปฏิบัติจริงไม่ได้เป็นคำพูดอีกต่อไป
สำหรับ การประชันวิสัยทัศน์ครั้งนี้ มีผู้สมัครเข้าร่วม 6 คน ประกอบด้วย นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร , นายกลธี ภัททิยกุล , นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ , น.ส.รสนา โตสิตระกูล ,นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และ น.ต.ศิธา ทิวารี ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
น.ต.ศิธา ทิวารี
ปรับ Mindset ข้าราชการ-ปราบโกงผ่าน‘บล็อกเชน’
น.ต.ศิธา ทิวารี กล่าวว่า การทุจริตงบประมาณเป็นการทุจริตที่เยอะที่สุด เราได้ยินมุมมองจากประชาชนว่าคอร์รัปชันแก้ไม่ได้ ส่วนตัวเชื่อว่าพวกเขาคิดอย่างนั้นจริงๆ เพราะระบบราชการของเรา วัฒนธรรมองค์กรของเรา สนับสนุนระบบอุปถัมภ์ตลอดเวลา ข้าราชการต้องทำงานเอาใจเพื่อให้ถูกใจผู้ใหญ่ วันแรกที่เข้าไปเป็นผู้ว่าฯ กทม.ตนจะเรียกประชุมข้าราชการ ปรับ mindset เรื่องนี้เป็นลำดับแรก ทุกคนต้องเป็นข้ารับใช้แผ่นดิน ไม่ใช่ข้าราชการแบบเดิม
เรื่องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมจะเป็นหัวใจการทำงานของ กทม. เราจะใช้ทั้งคนในชุมชน และระบบบล็อกเชนเทคโนโลยีเพื่อให้ประชาชนเข้ามีส่วนกำหนดงบประมาณ กำหนดนโยบาย พิจารณาแต่งตั้งข้าราชการ รับเรื่องร้องทุกข์ และเปิดเผยข้อมูลการทำงานที่สามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา
“ถ้าพูดถึงเรื่องปราบโกง วันไปแตะตรงไหน แก้ตรงไหน ก็ทำให้ กทม.ของเราดีขึ้น สูงขึ้นไปหมด เพราะมีปัญหารั่วไหลเต็มไปหมด ตั้งแต่ปัญหาทุจริตเชิงนโยบาย เอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องพวกพ้องอย่างไร รวมถึงส่วย รีดไถ เงินใต้โต๊ะ สิ่งเหล่านี้แก้ได้ด้วยการปรับ mindset และ ใช้เทคโนโลยีเข้ามาร่วมตรวจสอบทุตริต” น.ต.ศิธา กล่าว
น.ต.ศิธา กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดซื้อจัดจ้างบล้างแล้ว แต่ยังพบว่ามีการรั่วไหลของข้อมูล มีการพูดกันว่าสามารถเข้าถึงระบบหลังบ้านได้ ทำให้การคอร์รัปชันสะดวกยิ่งกว่าภาวะปกติ ดังนั้นต้องใช้ระบบบล็อกเชน ซึ่งเป็นระบบที่แก้ไขและเปลี่ยนแปลงไม่ได้ หากเราทำได้ การคอร์รัปชันก็จะเกิดขึ้นไม่ได้
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ทำข้อตกลงคุณธรรมดูการจัดซื้อ-แต่งตั้งข้าราชการ
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กล่าวว่า การหยุดกลโกงงบประมาณ ต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดงบประมาณ เปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสทุกขั้นตอน และให้ปฏิบัติข้าราชการตามระเบียบต่างๆ อย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ กทม.มีหลุมดำมากมายอย่างที่เราเห็น ยกตัวอย่าง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด มีทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท แต่มีการจ้างงานเป็นแสนล้านบาท มีหนี้สินอีก 7-8 หมื่นล้านบาท ซึ่งไม่เคยปรากฏอยู่ในหนี้สินของ กทม. ที่เป็นเช่นนี้เพราะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจน ยกตัวอย่าง การจ้างเอกชนเดินรถไฟฟ้า มีการจ้างไปถึงปี 2585 แต่เราไม่เคยเห็นสัญญาจ้างหรือรายละเอียดการเดินรถ หากเปิดเผยข้อมูลได้ ทุกคนก็จะมีส่วนร่วมในการตรวสอบได้ นอกจากนั้นยังพบอีกเรื่องที่เป็นปัญหา คือโครงการนำสายไฟและสายสื่อสารลงดิน บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ได้สิทธิ์โครงการนี้มูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท แต่ยังไม่รู้ว่างบประมาณจะมาจากไหน สิ่งเหล่านี้มีปัญหามากประชาชนไม่เคยมีส่วนร่วมเลยว่า โครงการไหนจะทำดีหรือไม่ หรือควรทำตรงไหนก่อน
“อีกเรื่องที่สำคัญคือการแต่งตั้งข้าราชการใน กทม.ได้ยินปัญหามาเยอะว่ามีการซื้อขายตำแหน่ง การเอาคนไม่มีคุณภาพเข้าไปทำงาน จากนี้จะเป็นไปได้หรือไม่ว่าเราจะมีผู้ตรวจสอบคุณธรรมร่วมในกระบวนการแต่งตั้งข้าราชการ เพื่อให้ไดคนดีเข้าไปทำงาน ก็จะช่วยหยุดการทุจริตได้อีกทางหนึ่ง” นายชัชชาติ กล่าว
นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า อีกปัญหาใหญ่คือการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างน่ากลัวที่สุด บางโครงการทำสัญญา 20 ปีลากยาวจถึงเยาวชนรุ่นหน้า ใครก็ตามเข้ามาเป็นผู้ว่าฯกทม. ก็พบปัญหาว่ามีเงินงบประมาณบางโครงการถูกจองไปแล้ว 20 ปี ยกตัวอย่าง โรงเผาขยะบางแห่ง กทม.จ้างเผาวันละพันตัน สัญญา 20 ปี แต่มีข้อพิรุธมากมาย อาทิ ทีโออาร์มีปัญหา ใช้เกฑณ์ให้คะแนนเทคนิค 90% เสนอราคา 10% กลายเป็นว่าคนเสนอราคาต่ำสุด แต่ไม่ถูกใจกรรมการอาจไม่ชนะการประมูล รวมไปถึงบริษัทที่กำหนดราคากลาง กลับเป็นคนที่เพิ่งทำกิจการขยะได้เพียง 7 วัน ทำให้ราคากลางอาจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง และยังพบว่า 2 บริษัทที่แข่งขันกันมีผู้ถือหุ้นร่วมกัน รวมถึงปัญหาสำคัญที่สุดคือการถอนตัวจากข้อตกลงคุณธรรม ทำให้เข้าไปตรวจสอบโครงการดังกล่าวไม่ได้
นายชัชชาติ กล่าวถึง 3 ข้อเสนอในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันแบบสมยอม คือ 1.จุดเดียวจบ ผู้ขออนุญาตต่างๆ ไม่ต้องเจอคน แต่เจอระบบดิจิทัล ป้องกันการเรียกรับผลประโยชน์ 2.ระบบติดตาม ทุกส่วนราชการมีคู่มือการทำงานอยู่แล้ว การยื่นขออนุญาตต่างๆต้องใช้เวลากี่วัน ทำไม่ได้หรือเกิดปัญหาต้องชี้แจงประชาชน ถ้าไม่ดำเนินการตามนี้ผิดกฎหมาย 3.เปิดเผยข้อมูล ตั้งแต่ราคาภาษีหรือการขอนุญาติต่างๆ เพื่อให้ผู้ขออนุญาตร่วมตรวจสอบการทุจริตไปพร้อมกัน
รสนา โตสิตระกูล
ข้อมูลโปร่งใส ใช้ประชาชนช่วยตรวจสอบทุกขั้นตอน
น.ส.รสนา โตสิตระกูล กล่าวว่า เรื่องการโกงงบประมาณ เป็นเรื่องที่ร้ายแรงมาก เพราะจะเป็นเรื่องที่ข้าราชการโกงเงินของหลวง การหยุดกลโกงเหล่านี้ต้องทำตั้งแต่ต้นน้ำ เปิดข้อมูลตั้งแต่เริ่มต้นจัดซื้อจัดจ้าง การทำทีโออาร์ การประมูล ทุกคนต้องมีโอกาสรับรู้ นำข้อมูลมาเปิดในที่สว่าง และคิดว่าแอปพลิเคชั่น https://actai.co/ จะช่วยทำให้คนเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น หากได้เป็นผุ้ว่าฯ กทม. จะนำแอปพลิเคชั่นนี้มาใช้ และเปิดให้ ACT เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจสอบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ
“การทุจริตบางทีเราเห็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง ส่วนที่อยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็งล่างจริงๆ มันใหญ่มาก เราจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบอย่างจริงจัง เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม” น.ส.รสนา กล่าว
น.ส.รสนา กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังมีนโยบายกระจายงบประมาณ 50 ล้านบาทให้ 50 เขตเพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม การหยุดโกงได้ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม ถ้าเราอยู่ในที่มืด ประมูลกันในกลุ่มคนที่คนจำนวนน้อยที่รับรู้ เราไม่มีทางหยุดโกงได้ ต้องผนวกเอาประชาชน เอกชน ที่มีความตั้งใจเรื่องนี้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย
“การทุจริตใน กทม.มีอย่างน้อย 3-4 รูปแบบคือ เงินใต้โต๊ะ เงินทอน เส้นสาย และส่วย บางโครงการจ่ายราคาสูงเกินจริง จ่ายไป 30 ล้านบาททั้งที่ราคาจริงอาจจะแค่ 10 ล้านบาท ทำให้เกิดปัญหาเรื่องเงินทอน คิดดูว่าถ้ามีการโกงแบบนี้ 20% จากเงินงบประมาณของ กทม. 8 หมื่นล้านบาท จะเท่ากับว่าเราทำเงินหายไปแล้ว 1.6 หมื่นล้านบาท ถ้าเราหยุดการโกงได้ ก็จะมีเงินพอในการทำเรื่องสวัสดิการ คุณภาพชีวิตของคนมากกว่านี้” น.ส.รสนา กล่าว
น.ส.รสนา กล่าวย้ำว่า หากหัวไม่ส่าย หางไม่กระดิก เป็นเรื่องสำคัญที่สุด การติดป้ายทุกสำนักงาน ไม่ให้มีการจ่าย เปิดโอกาสให้มีการแจ้งเบาะแส ไม่จำเป็นต้องปรากฏตัว และผู้ว่าฯ ควรบอกกับทุกคนว่า ขอให้ทำงานโดยไม่ต้องจ่ายเงินจ่ายส่วยให้กับผู้ว่าฯ และหากทำในสิ่งที่ถูกต้อง ผู้ว่าฯจะปกป้องคุณ แต่เมื่อไรก็ตามที่มีการเก็บส่วยหรือสมยอม ก็ต้องลงโทษอย่างหนัก
สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
‘สิงคโปร์โมเดล’ 4 ข้อหยุดโกง
นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ กล่าวว่า สิ่งที่เป็นรากลึกที่สุดคือเรื่องส่วยสินบนเพราะเป็นปัญหาที่กระจายอยู่ในฐานรากจนถึงระดับบน ทั้งนี้ไม่อยากให้ประชาชสิ้นหวังกับการต่อต้านทุจริต หลายประเทศเจอปัญหามาแล้วและจัดการได้ เช่น สิงคโปร์ หยุดส่วยสินบนด้วยหลักการ 4 ข้อ ดังนี้
1.หัวต้องไม่กระดิก หางก็จะไม่ส่าย ทุกระดับชั้นต้องไม่ยอมให้มีการคอร์รัปชัน ดังนั้นตัวผู้ว่าฯ กทม.สำคัญที่สุด
2.ทำคู่มือปฏิบัติงานชัดเจน เอกชนไทยก็มีแล้ว แต่ข้าราชการไทยไม่มี ดังนั้น กทม.ต้องมีข้อกำหนดอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ อะไรรับได้อย่างถูกต้อง หรืออะไรที่รับไม่ได้เลย
3.ใช้เทคโนโลยีต้านโกง เปิดเผยข้อมูลทุกอย่าง รับรู้กันตั้งแต่กระบวนการขออนุญาต เปิดประมูล ราคากลาง ระยะเวลาก่อสร้าง รวมถึงแบบแปลน เพื่อป้องกันการทำผิดสเปก
4.ใช้อินเทอร์เน็ตฟรีทั่วเมือง เพื่อให้ประชาชนขอใบอนุญาตทุกอย่างที่มีอยู่กว่าร้อย ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งข้อมูลจะเปิดเผยและติดตามได้หมด
นายสุชัชวีร์ กล่าวย้ำว่า การเชื่อมโยงข้อมูลสำคัญมาก หากทำได้ จะไม่มีใครกล้าทุจริต เพราะทุกอย่างอยู่ในที่สว่าง ติดตามได้ มี Digital Footprint ขอย้ำว่า ต้านโกงใครก็พูดได้ แต่ถ้าใช้เทคโนโลยีเมื่อไรจะไม่มีใครกล้าโกง
“ผมเห็นว่า กทม.ไม่ต้องไปหาเงินเพิ่ม แต่ถ้าจัดการกับทุจริตได้เราจะมีเงินเพิ่มมาเอง ผมพูดชัดเจนว่า ถ้าเราใช้รูปแบบเหมือนสิงคโปร์ หัวไม่กระดิก หางไม่สาย ถ้าผู้ว่าฯ กทม.โกงก็ไม่ต้องคุยกันแล้ว สิ่งที่ผมจะไม่ทำหากได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.คือ ไม่โกหก ไม่ปกปิด ไม่คิดคอร์รัปชัน” นายสุชัชวีร์ กล่าว
สกลธี ภัททิยกุล
ขออนุญาต 200 เรื่องผ่านดิจิทัล อุดช่องโหว่การโกง
นายสกลธี ภัททิยกุล กล่าวว่า การใช้งบประมาณให้คุ้มค่าและไม่ทุจริตจะทำให้เราพัฒนาเมืองได้เยอะ ทั้งนี้ 3 หน่วยงานที่คนคิดว่าทุจริตมากสุดคือ สำนักงานเขต สำนักเทศกิจ สำนักการโยธา ซึ่ง กทม.มีเรื่องให้ขออนุญาตมากกว่า 200 รูปแบบ และทุกเรื่องเอื้อต่อการทุจริตทั้งหมด ปัจจุบันเราใช้วิธีการขออนุญาตแบบธรรมดาคือใช้คนเจอกับคน มีขั้นตอนที่ไม่สามารถติดตามเรื่องได้ และเห็นว่าถ้าเราใช้ระบบดิจิทัลเข้ามาตั้งแต่รับเรื่อง ติดตามความคืบหน้า ก็จะทำให้กระบวนการตรงไม่กลายเป็นหลุมดำให้เกิดการทุจริต
นายสกลธี กล่าวอีกว่า ในอนาคตถ้าทำได้ คนพิจารณาหรือรับเรื่อง อาจต้องเป็นคนละคนกัน เพราะถ้าเป็นคนๆเดียวกันจะส่อถึงการทุจริตได้ แนวคิดคือ พยายามนำเข้าสู่ระบบดิจิทัล ให้การอนุมัติโปร่งใส ใช่คนภายนอกช่วยก็จะแก้ไขได้
“ส่วยกับสินบนเป็นการทุจริตที่กัดกิน กทม.มากที่สุด เป็นสิ่งที่กระทบในวงกว้าง ถ้าเราเอาทุกเรื่องมาอยู่บนโต๊ะ เข้าระบบดิจิทัลให้คนเห็นทุกขั้นตอน เปิด fast track ที่จ่ายเงินอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพื่อความรวดเร็ว ก็เป็นทางหนึ่งที่ช่วยลดปัญหาการทุจริต” นายสกลธี กล่าว
นายสกลธี กล่าวย้ำว่า นอกจากนั้นเรื่องส่วยหาบเร่ แผงลอยมีผลกระทบเยอะมากกับประชาชน เพราะคนเกี่ยวข้องหลายหมื่นหลายแสนคน ปัญหาคือพื้นที่มีไม่เท่ากับคนที่อยากขาย ซึ่งเป็นหน้าที่ กทม.ที่ต้องหาที่ทำกินให้เพียงพอ และต้องเข้มงวดอย่างจริงจังในพื้นที่ที่ไม่ได้รับอนุญาต
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร
แก้กฎหมายตั้ง กมธ.ปราบโกงใน กทม.
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร กล่าวว่า สิ่งที่คนทั้งประเทศบ่นเยอะที่สุดคือการจัดซื้อจัดจ้าง ถ้าทำได้จะทำให้งบประมาณเกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด โดยขอเสนอ 4 วิธีการเพื่อจัดการเรื่องนี้
1.กทม.และกรมบัญชีกลาง ต้องทำข้อตกลงคุณธรรมกับ ACT เพื่อให้โครงการจัดซื้อจัดจ้างที่มีมูลค่ามากกว่า 500 ล้านบาทขึ้นไปต้องมีผู้สังเกตการณ์อิสระ เข้าไปดูตั้งแต่ทำทีโออาร์ จัดซื้อจัดจ้าง จนถึงการตรวจรับงาน
2.เปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ การจัดซื้อจัดจ้าง ความคืบหน้าโครงการ สัญญาต่างๆ รวมทั้งรายวงานการตรวจรับ ใช้บุคคลที่สามเข้าร่วมตรวจสอบ พร้อมเปิดเผยทุกอย่างผ่านสาธารณชน
3.ส่งข้อมูลให้ สมาคมส่งเสริมกรรมการบริษัทไทย (IOD) เพื่อใช้ข้อมูลในการประเมินตามหลักบรรษัทภิบาต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง
4.ใช้กลไกสภา กทม.ให้มีบทบาทมากขึ้น เราจะทำงานร่วมกับ ส.ก.ก้าวไกล เข้าไปแก้ข้อบัญญัติเพื่อให้มีคณะทำงานคล้ายกับคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามมการทุจริต (กมธ.ป.ป.ช.) ของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อตจรวจสอบการทุจริต และแก้ไขกฎหมายที่อุปสรรคที่เยิ่นเย้อที่ข้าราชการาบางคนใช้เรียกรับผลประโยชน์จากประชาชน
นายวิโรจน์ กล่าวย้ำว่า สิ่งที่จะทำให้หยุดชะงักที่สุด คือ การสร้างให้คนในองค์กรร่วมกันต่อต้านทุจริต เราจะเข้าไปตราข้อบัญญัติปกป้องผู้เปิดโปงคอร์รัปชัน กันพวกเขาให้เป็นพยาน เพื่อให้เขาไม่ต้องห่วงเรื่องความปลอดภัยและอนาคตของเขา
“ยาแรงที่สุดคือการข้อบัญญัติป้องกันผู้เปิดโปงทุจริต เรารู้เสมอว่าการทุจริตเกิดจากากรส่งไปเป็นทอดๆ อยากรู้ว่าอย่าฮั้วแตกแล้วกัน กฎหมายนี้จะเป็นนโยบายสำคัญของพรรคก้าวไกลแก้ทุจริตให้หมดไปทั้งแผ่นดิน” นายวิโรจน์ กล่าว
ข่าวประกอบ :
- ส่องนโยบายชิงผู้ว่าฯ กทม. ‘ฝุ่น-ขยะ-พื้นที่สีเขียว’ 3 ปัญหาสิ่งแวดล้อมเมืองกรุง
- ชุมชนมีส่วนร่วมสร้าง 'พื้นที่สีเขียว' หนทางสู่ 'เมืองสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน'
- ‘พื้นที่สีเขียว’ ดัชนีวัดความสุขคนกรุง ส่วน กทม.ยังห่างไกลจากคำว่า ‘เมืองสิ่งแวดล้อม’
- สแกนนโยบาย 'หาบเร่-แผงลอย' ของว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. เมื่อทางเท้าไม่ได้มีไว้เฉพาะเดิน
- 'รถติด' ปัญหาคู่วิถีชีวิตคน กทม. เมื่อผังเมืองกรุงเทพฯ ไม่ตอบโจทย์การพัฒนา?
- ‘อิศรา’จับมือ‘เรียลสมาร์ท’ฟังโลกออนไลน์เกาะติดเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.
- รู้จัก Social Listening ก่อนฟังเสียงโลกออนไลน์บนความเคลื่อนไหวเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.
- 10 อันดับผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ถูกพูดถึงมากสุดในโลกออนไลน์
- โลกออนไลน์สะท้อน 10 ปัญหา อยากให้ผู้ว่าฯกทม.คนใหม่แก้ไข'ทางเท้าชำรุด'ถูกพูดถึงมากที่สุด
- ถอดรหัส 3 เดือน 1.9 ล้านข้อความ สิ่งที่โลกออนไลน์ชื่นชอบผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.10 อันดับแรก
- เจาะ 1.9 ล้านข้อความพูดถึง'ผู้ว่าฯกทม.'สิ่งที่โลกออนไลน์ไม่ถูกใจผู้สมัคร 10 อันดับแรก
- โค้งสุดท้ายเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.โลกออนไลน์ 2.6 ล้านข้อความพูดถึงผู้สมัครคนไหนมากที่สุด?