“..ปัญหาสิ่งแวดล้อมมักถูกจัดลำดับไว้ท้าย ๆ ในนโยบายหาเสียง ไม่ว่าเลือกตั้งสนามเล็กหรือสนามใหญ่ ทั้งที่ส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตและรายจ่าย ที่ผ่านมา นักการเมืองมักให้ความสำคัญกับปัญหาปากท้องเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องผิด เพียงแต่ผู้สมัครและผู้ที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงอาจจะมองข้ามว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นก็เชื่อมโยงกับเงินในกระเป๋าโดยตรงด้วยเช่นกัน..”
ปัญหาสิ่งแวดล้อม มักจะเกิดขึ้นในเมืองใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางของความเจริญรุดหน้าในด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่นเดียวกับ กรุงเทพมหานคร ซึ่งประสบกับภาวะความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและประชากรอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา มีการพัฒนาและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจของผู้คนทั้งทางตรงและทางอ้อม
เป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ สำหรับผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ คนต่อไปว่า จะมีนโยบายหรือแนวทางการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างไร
ผลการสำรวจข้อมูลสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) พบว่า ประชาชนมองว่าปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพฯ เรื่องที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ควรเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหามากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับที่ 1 มลพิษทางอากาศ (PM 2.5) 39.2%อันดับที่ 2 ขยะ 34.2% และอันดับที่ 3 พื้นที่สีเขียว 8.1%
วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และ เลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวในงานเสวนา ‘Greener and Livable Bangkok โชว์วิสัยทัศน์เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่าของกรุงเทพฯ’ เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2565 ว่า ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครได้ประสบกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ซึ่งปัญหาดังกล่าวได้ส่งผลกระทบในทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมถึง สุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ นับได้ว่าการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพฯ เป็นเรื่องที่มีความท้าทายต่อผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เป็นอย่างมาก
“จากการทำผลสำรวจ พบว่า ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ประชาชนทั่วไปในกรุงเทพมหานครให้ความสนใจเป็นอับดับแรก ๆ ในการพิจารณาตัดสินใจเลือกผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ว่าผู้สมัครท่านใดที่จะสามารถเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพฯ ทั้งในระดับเชิงนโยบายและการปฏิบัติในพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม” วิจารย์ กล่าว
วิจารย์ กล่าวด้วยว่า จะเห็นได้ว่าปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ประชาชนต้องการได้รับการแก้ไขเร่งด่วนเป็นปัญหาที่อยู่รอบตัว และต้องการการพัฒนาแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม โดยควรมีการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการช่วยจัดการสิ่งแวดล้อมให้กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน เพื่อให้ประชาชนได้มีสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น มีสุขภาพอนามัยที่แข็งแรง รวมถึงเป็นการยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตของประชาชนอีกด้วย
ทางด้าน ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล ประธานชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมมักถูกจัดลำดับไว้ท้าย ๆ ในนโยบายหาเสียง ไม่ว่าเลือกตั้งสนามเล็กหรือสนามใหญ่ ทั้งที่ส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตและรายจ่าย ที่ผ่านมา นักการเมืองมักให้ความสำคัญกับปัญหาปากท้องเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องผิด เพียงแต่ผู้สมัครและผู้ที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงอาจจะมองข้ามว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นก็เชื่อมโยงกับเงินในกระเป๋าโดยตรงด้วยเช่นกัน
“ปัญหารถติดที่ก่อให้เกิดมลพิษในอากาศ ทำให้เราต้องเสียเงินค่าน้ำมันที่ถูกเผาผลาญทิ้งไปเกินความจำเป็น และยังสร้างปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ทำให้ประชาชนป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ สุดท้ายหน่วยงานรัฐต้องเสียงบประมาณมากมายในการดูแลรักษา หลายต่อหลายปีที่ผ่านมา เราต้องเสียเงินในกระเป๋าเพื่อใช้การรักษาโรค ดูแลปัญหาสุขภาพที่เกิดจากปัญหาสิ่งแวดล้อม ทุกๆ ครั้งที่มีการเลือกตั้ง นโยบายสิ่งแวดล้อมของนักการเมืองและพรรคการเมืองต่าง ๆ ควรมีผลสำคัญต่อการตัดสินใจ และช่วยกันติดตามด้วยว่านำมาปฏิบัติจริงหรือไม่” ฐิติพันธ์ กล่าว
ในงานเสวนา ได้เปิดโอกาสให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แสดงวิสัยทัศน์ในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
‘วิโรจน์’ เผยแปรรูปขยะเป็นเชื้อเพลิง ลดการฝังกลบเหลือ 30%
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครหมายเลข 1 พรรคก้าวไกล กล่าวถึงแนวทางในการจัดการ PM2.5 ในกรุงเทพฯ ว่า การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) จะเริ่มต้นด้วยการกวดขันโรงงานอุตสาหกรรม และมีการกำหนดค่ามาตรฐานให้ตรงตามหลักสากล รวมถึงฝุ่นควันที่มาจากรถบรรทุกเครื่องยนต์ดีเซลในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ควรมีการกำหนดเวลาในการปลอดมลพิษ No Emission Zone หรือ No Emission Time เพื่อลดปัญหาการปลดปล่อยมลพิษ และการเผาในพื้นที่โล่งของจังหวัดใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ จะต้องมีการทำงานอย่างบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรม
ส่วนการแก้ไขปัญหาขยะ สิ่งแรกจะต้องคำนึงถึงครัวเรือน ดังนั้นสิ่งที่ต้องเร่งทำคือ การปรับปรุงจุดทิ้งขยะ จุดคัดแยกขยะ และการจัดเก็บขยะให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น รวมถึง มีการปรับปรุงวิธีคิดค่าการจัดเก็บค่าธรรมเนียมขยะที่เป็นธรรมกับทุกภาคส่วน เพื่อระบบการจัดเก็บมีความเป็นธรรมก็จะส่งผลให้ทุกภาคส่วนมีแรงจูงใจในการร่วมแก้ไขปัญหา
“หากผู้ประกอบการรายใหญ่สามารถช่วยดำเนินการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ก็สามารถนำไปใช้ลดหย่อนค่าธรรมเนียมการจัดเก็บขยะได้ และสิ่งที่จะตามมา คือ การมีภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมการคัดแยกขยะแต่ละประเภทมากขึ้น” วิโรจน์กล่าว และต้องปรับปรุงโรงกำจัดขยะและโรงไฟฟ้าขยะให้เป็นตัวอย่างที่ดีของสังคมและได้มาตรฐานตามหลักสากลเพื่อเป็นการแปรรูปขยะให้เป็นพลังงานเชื้อเพลิง เพื่อลดปริมาณขยะที่จะไปสู่การฝังกลบ ซึ่งหากเราทำได้จริงจะทำให้สามารถลดการฝังกลบขยะจาก 80% เหลือเพียง 30% ได้” วิโรจน์ กล่าว
สำหรับการแก้ปัญหาน้ำเสีย วิโรจน์ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อน คือ การก่อสร้างโรงระบบบำบัดที่กำลังดำเนินการอยู่ให้เสร็จโดยเร็ว และจะต้องมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการบำบัดน้ำเสียที่เป็นธรรมกับทุกภาคส่วน โดยงบประมาณที่ได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมนำมาใช้ในการสร้างและวางระบบบำบัดน้ำเสียให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น และการวางท่อระบบระบายน้ำเสียใหม่ที่เป็นการแยกระหว่างท่อน้ำทิ้งกับท่อที่ใช้ระบายน้ำฝน เพื่อเป็นการแยกน้ำทิ้งออกจากน้ำฝน เพื่อลดปริมาณน้ำที่จะเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียทำให้ระบบบำบัดสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันจะต้องมีการตั้งเป้าหมายที่ท้าทายขึ้น จากการดึงการมีส่วนร่วมของชุมชนจากนโยบายการกระจายงบจากส่วนกลางลงไปสู่ชุมชน เพื่อให้แต่ละชุมชนสามารถนำงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรไปใช้ในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาน้ำเสียของชุมชน
วิโรจน์ กล่าวถึงการจัดการพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯ ว่า ควรต้องมีตัวชี้วัดนอกเหนือจากพื้นที่ต่อคน โดยเพิ่มการวัดในมิติของจำนวนคนที่มาใช้ประโยชน์พื้นที่สีเขียวและต้องมีพื้นที่สีเขียวอยู่ในทุก ๆ เขตอย่างเท่าเทียมกัน และประเด็นเรื่องการหาพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นด้วยการสร้างแรงจูงใจกับผู้ที่ถือครองที่ดินในกรุงเทพฯ ที่ต้องการจะลดหย่อนภาษีที่ดิน
โดยการให้สิทธิ์กทม. เข้าไปบริหารจัดการพื้นที่ให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนทุกวัยสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์จากพื้นที่สีเขียวได้อย่างเท่าเทียม และเรื่องของ FAR Bonus ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ประเภทอาคารสูงในเขตกรุงเทพฯ จะต้องมีพื้นที่สีเขียวภายในตัวอาคาร ซึ่งแต่ละเขตของกรุงเทพฯ ต้องเข้าไปดูแลและควบคุมให้อาคารสูงจะต้องมีการดำเนินการเรื่องดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ
‘สุชัชชวีร์’ หนุนลดใช้เครื่องดีเซล เปลี่ยนรถเมล์เป็นพลังงานไฟฟ้า
สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครหมายเลข 4 พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหา PM2.5 สิ่งที่จะดำเนินการทันที คือ การเพิ่มจุดตรวจวัด PM2.5 อย่างน้อยจำนวน 2,000 จุดทั่วกรุงเทพฯ พร้อมแสดงผลค่าการตรวจวัดฝุ่น PM2.5 ให้ประชาชนได้รับทราบเพื่อป้องกันตัวเอง
นอกจากนี้ ผู้ว่าฯ กทม. จะนำข้อมูลที่ได้มาใช้วิเคราะห์และดำเนินการแก้ไขปัญหา PM2.5 ได้ที่ต้นตอของปัญหา รวมถึง มีการควบคุมบริเวณพื้นที่ก่อสร้างให้ได้มาตรฐาน
“แผนงานในระยะยาว คือ การสร้างให้กรุงเทพมหานครกลายเป็นเมืองตัวอย่างโดยการลดปริมาณรถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลและหันมาเพิ่มปริมาณรถยนต์พลังงานไฟฟ้าให้มากขึ้น รวมทั้ง กรุงเทพฯ จะสนับสนุนให้มีการปรับเปลี่ยนรถเมล์เป็นรถพลังงานไฟฟ้า ทั้งหมดนี้ก็จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหา PM 2.5 ได้ทั้งแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว” สุชัชวีร์ กล่าว
สุชัชวีร์ กล่าวถึงการแก้ปัญหาขยะว่า ต้องมีการปฏิรูปการณ์จัดเก็บขยะตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง โดยส่วนของต้นทางขยะ กทม. จะต้องเข้าไปให้ถึงพื้นที่และเพิ่มความถี่ของรอบการจัดเก็บขยะให้มากขึ้น ใช้รถขนาด 5 ตัน เข้าตามซอย ต้องเปลี่ยนเป็นรถครึ่งตัน หรือ 1 ตัน และส่วนของปลายทางขยะ กทม. จะต้องดำเนินการจัดทำให้เป็นระบบปิด ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น เพื่อไม่ให้ประชาชนในพื้นที่โดยรอบโรงจัดเก็บขยะได้รับผลกระทบ เช่น กลิ่นเหม็นรบกวน
หลักการสำคัญในการแก้ไขปัญหาน้ำเสียในคูคลองกทม. แก้ไขได้โดย การนำน้ำดีมาไล่น้ำเสีย โดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการระบบการเปิด–ปิดประตูน้ำอัตโนมัติ เพื่อให้การเปิด-ปิดประตูน้ำมีความสอดคล้องกับการขึ้นลงของแม่น้ำเจ้าพระยาก็จะทำให้น้ำมีการหมุนเวียนตลอดสามารถช่วยลดปัญหาน้ำเน่าเสียได้ และส่วนของน้ำเสียต้องผ่านการบำบัดน้ำก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ โดยเริ่มจากการทำระบบให้น้ำเสียจากชุมชนสามารถไปให้ถึงโรงบำบัดน้ำเสียของ กทม. ได้ เพื่อทำให้โรงบำบัดน้ำทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ
การดูแลพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สาธารณะของ กทม. มี 3 ขั้น ขั้นแรก คือ การปรับปรุงพื้นที่สีเขียวที่ กทม. มีอยู่แล้วให้มีคุณภาพมากขึ้น ขั้นที่ 2 พื้นที่ว่างเปล่าหลายพื้นที่ก็จัดสรรนำมาใช้ประโยชน์และส่งเสริมให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงได้และปลอดภัย และขั้นที่ 3 พื้นที่ของเอกชน จะส่งเสริมให้เปิดพื้นที่สีเขียวและทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ทางกทม. จะช่วยลดหย่อนค่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้รวมถึง สถานที่ราชการของ กทม. จะเปิดให้เป็นพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ ทั้งหมดนี้ คือ พื้นที่สีเขียวที่เข้าถึงได้ให้กับคนกรุงเทพฯ
ทุกการเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงให้สิ่งแวดล้อมของกรุงเทพฯ ดีขึ้น ต้องเริ่มจากตัวเราก่อนและส่วนงานของ กทม. ทำเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับสังคม และจากนั้นก็ขยายผลไปยังภาคส่วนต่าง ๆ พร้อมกับสนับสนุนให้ทุกคนมีส่วนร่วม เมื่อทุกภาคส่วนผนึกกำลังกันก็จะช่วยเปลี่ยนให้กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองที่น่าอยู่ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ ทั้งหมดนี้ ผมจะส่งมอบอากาศที่ดี น้ำใสสะอาด และเมืองที่ปราศจากมลพิษให้กับลูกหลานของเรา
‘อัศวิน’ เสนอเพิ่มจำนวนโรงงานบำบัดแก้น้ำเสีย
อัศวิน ขวัญเมือง เบอร์ 6 สังกัดอิสระ กล่าวถึงการการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ว่า จะดำเนินการ 3 มาตรการ ได้แก่ 1) รับรู้ การสร้างระบบตรวจสอบฝุ่นแบบอัจฉริยะ และรายงานพร้อมแสดงผลการตรวจวัดค่าฝุ่นให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลก่อนล่วงหน้า
2) รับมือ การปรับเวลาการทำงานให้มีความเหลื่อมเวลากันเพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัด และในช่วงสถานการณ์วิกฤตอาจจะให้มีการหยุดการเรียนการสอนที่โรงเรียน พร้อมทั้ง มีการส่งเสริมการเดินทางระบบขนส่งมวลชนสาธารณะให้มากขึ้น และการเพิ่มจำนวนพาหนะสาธารณะให้ใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น และเน้นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ตามมาตรฐานของ WHO และ 3) ร่วมมือ ผนึกกำลังกับทุกภาคส่วนในการช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม
ส่วนการแก้ไขปัญหาขยะ จะต้องดำเนินการทั้งระบบต้องเริ่มแก้ไขตั้งแต่ต้นทางโดยการคัดแยกจากครัวเรือนและชุมชน และกลางทาง โดยการบริหารวิธีการคัดแยกขยะแต่ละประเภทเพื่อให้ขยะมีเส้นทางการจัดการที่ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อลดปริมาณขยะไปสู่การฝังกลบ ส่วนของปลายทาง การนำขยะที่เหลือการคัดแยกนำเข้าสู่โรงงานกำจัดขยะเพื่อแปรรูปขยะไปเป็นพลังงานไฟฟ้า
“ปัญหาน้ำเสียของกรุงเทพฯ สามารถแก้ไขได้โดยการขุดลอกคูคลองและการทำระบบเพื่อบริหารจัดการแยกเอาน้ำดีออกจากน้ำเสีย รวมถึง การขยายเพิ่มจำนวนโรงงานบำบัดน้ำเสียของกรุงเทพฯ ให้มีความครอบคลุมในทุกพื้นที่ และในอนาคตอยากจะเชิญชวนประชาชนมาร่วมลงทุนในระบบ PPP เพื่อลดงบประมาณค่าใช้จ่ายของกรุงเทพฯ ลงในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพฯ” อัศวิน กล่าว
อัศวิน กล่าวด้วยว่า แนวทางการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) คือ การเพิ่ม 3 สวน 2 ป่า ได้แก่ สวนสาธารณะ สวนชุมชน สวนชุมชนในเมือง ป่าในเมือง และป่าชายเลน พร้อมทั้ง การสร้างแรงจูงใจและสิทธิประโยชน์ให้แก่ภาคเอกชนโดยการให้มาตรการส่งเสริมการพัฒนาด้วยการเพิ่ม อัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (FAR Bonus )สำหรับการก่อสร้างอาคารสูง และการกำหนดพระราชบัญญัติผังเมือง ฉบับใหม่ เพื่อให้มีพื้นที่ในการปลูกป่าและเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น
โดยจะร่วมมือกับทุกภาคส่วนของสังคมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพฯ เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการช่วยคิด ช่วยทำ ช่วยจัดการ เพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืนในทุกมิติ
‘รสนา’ เน้นดึงทุกฝ่าย เอกชน-ปชช.ร่วมมือเพิ่มพื้นที่สีเขียว
รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครหมายเลข 7 สังกัดอิสระ กล่าวว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 สามารถแก้ไขปัญหาได้โดยการส่งเสริมการคมนาคมขนส่งทางระบบรางให้มากขึ้น พร้อมทั้ง การเร่งปรับเปลี่ยนรถยนต์โดยสารสาธารณะของกทม. ให้เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าให้มากขึ้น และมีการออกมาตรการที่กวดขันการตรวจสอบรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษควันดำอย่างจริงจัง
ส่วนปัญหาขยะเป็นปัญหาใหญ่ที่สำคัญของกรุงเทพฯ ที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมทั้งระบบตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง โดยต้นทางจะมีการส่งเสริมและสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน เพื่อให้เข้าใจถึงการคัดแยกขยะที่ถูกต้อง เพราะขยะแต่ละประเภทมีวิธีการจัดการที่แตกต่างกันหากสามารถคัดแยกขยะได้ตั้งแต่ต้นทางจะทำให้ลดปริมาณขยะที่จะเดินทางไปสู่การฝังกลบ พร้อมทั้ง เป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนที่มีการคัดแยกขยะอีกด้วย และส่วนของขยะกำพร้าที่ไม่สามารถแยกหรือนำมารีไซเคิลได้ ทาง กทม. จะประสานไปยังภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ที่ต้องการรับขยะเหล่านี้ไปใช้ในโรงไฟฟ้าเพื่อผลิตเป็นพลังงานเชื้อเพลิง
รสนา กล่าวถึงการแก้ปัญหาน้ำเสียว่า การบำบัดน้ำเสียจะเริ่มตั้งแต่ต้นทาง โดย กทม. จะมีการกระจายงบประมาณและภารกิจไปให้กับแต่ละเขต ในการช่วยผลักดันและสนับสนุนในการสร้างจิตสำนึกของประชาชนในพื้นที่ ให้ช่วยกันบำบัดน้ำเสียตั้งแต่ภายในครัวเรือน ก่อนจะทิ้งน้ำลงสู่สาธารณะ เมื่อมีการช่วยบำบัดน้ำตั้งแต่ต้นทาง จะสามารถทำให้การบำบัดน้ำเสียของ กทม. มีความยั่งยืนต่อไปในอนาคต
“การวางกรอบแนวทางในการเพิ่มปริมาณพื้นที่สีเขียวใน กทม. ให้ได้ตามค่ามาตรฐานสากล โดย กทม. จะมีการกระจายงบประมาณและภารกิจไปให้กับแต่ละเขต ในการช่วยขยายพื้นที่สีเขียวในแต่ละเขตให้เพิ่มมากขึ้นและประชาชนในทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงได้และสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่สีเขียวเพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชน รวมถึงการร่วมมือกับทุกภาคส่วนของสังคม ไม่ว่าจะเป็นเอกชน หรือภาคประชาสังคมในการช่วยแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพฯ” รสนา กล่าว
‘ชัชชาติ’ กางนโยบายกรุงเทพฯ 15 นาที พื้นที่สีเขียวใกล้บ้าน
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครหมายเลข 8 สังกัดอิสระ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในกรุงเทพฯ ผ่านวีดิทัศน์สั้นๆ ว่า การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในกรุงเทพฯ ผ่านวีดิทัศน์สั้นๆ ว่า สิ่งแวดล้อมดี คือ สะอาด สบาย ใกล้บ้าน ตั้งชื่อว่า ‘กรุงเทพ 15 นาที’ ขอให้เราเดินถึงพื้นที่สีเขียวได้ 15 นาที ใกล้บ้าน เราจะปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น ใน 4 ปี และการแยกขยะนั้นจะต้องทำอย่างจริงจัง เพราะวันนี้ เราใช้เงินในการเก็บขยะเป็น 3 เท่าของระบบการศึกษาของเด็ก และเป็น 2 เท่าของระบบสาธารณสุข
ทั้งหมดนี้ คือวิสัยทัศน์ของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม จะต้องติดตามต่อไปว่าใครจะได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ คนต่อไป และจะปฏิบัติตามนโยบายที่ให้ไว้ได้หรือไม่ เพราะสิ่งแวดล้อมส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตและรายจ่ายของคนกรุง