“..ปัญหาหาบเร่แผงลอยและทางเท้า เป็นเรื่องหลายประเด็นพันกัน และเมื่อแยกจะแบ่งได้ 2 ปัญหาใหญ่ คือ 1) การกีดขวางการสัญจรของคนเดินเท้า และ 2) ความสะอาดของทางเท้า ตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ฉะนั้น ถ้าทำให้สะอาด ก็จะสามารถขายได้ใช่หรือไม่? เพราะทางเท้าเป็นพื้นที่สาธารณะ เป็นคำถามว่า แท้จริงแล้ว หาบเร่แผงลอยผิดกฎหมาย เพราะอะไรกันแน่?..”
อีกหนึ่งโจทย์ที่คนกรุงฝากไปถึงผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ จะทำอย่างไร? ให้ทางเดินเท้าเป็นพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนใช้ประโยชน์ร่วมกันได้จริงๆ โดยไม่มีข้อขัดแย้ง และเปิดทางให้หาบเร่แผงลอยยังคงมีอยู่ ภายใต้การบริหารจัดการที่ดีได้หรือไม่
‘หาบเร่ แผงลอย’ เป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนในกรุงเทพฯ และเป็นจุดขายที่มีชื่อเสียงในการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ แต่ก็ตามมาด้วยปัญหาความสกปรกไร้ระเบียบ และกีดขวางทางสัญจรบนทางเท้า
เป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญสำหรับผู้ว่าฯ กทม.คนต่อไป ว่าจะแก้ไขหรือบริหารจัดการอย่างไรให้ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยและคนเดินสัญจรบนทางเท้า ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนควรจะต้องใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ โดยไม่มีข้อขัดแย้ง
ผลสำรวจเรื่อง 'หาบเร่แผงลอย กับทางเท้าใน กทม.' จากศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เก็บข้อมูลจากผู้มีภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้านอยู่ กทม. กระจายทุกระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ พบว่า คนกรุงเทพฯ กว่า 92% เคยซื้อของจากหาบเร่แผงลอยบนทางเท้า และกว่า 59% มีความเห็นว่า กทม. ควรผ่อนปรนหาบเร่แผงลอยให้เฉพาะทางเท้าที่มีขนำดใหญ่เพียงพอ แต่ถึงเช่นนั้นก็มีถึง 33% ที่มองว่า ปัญหาหาบเร่แผงลอยในกรุงเทพฯ ไม่สามารถแก้ไขได้อย่างแน่นอน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้พูดคุยกับ สิทธานต์ ฉลองธรรม เจ้าของเพจ ‘The Sidewalk โลกกว้าง ข้างทางเท้า’ ผู้ที่มีประสบการณ์และมองเห็นปัญหาทางเท้าผ่านการลงเดินสำรวจมาแล้ววทั้งในและต่างประเทศ
สิทธานต์ กล่าวว่า ปัญหาทางเท้าและหาบเร่แผงลอย เป็นปัญหาการใช้พื้นที่สาธารณะสำหรับการค้าขาย ซึ่งกีดขวางทาง รุกล้ำพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อผู้ที่สัญจรบนทางเท้า
แต่ทั้งนี้ การค้าขายในทางสัญจร เป็นวิถีชีวิตที่มีมานานแล้ว ตั้งแต่สังคมยังสัญจรทางน้ำอยู่ เห็นได้จากการค้าขายริมน้ำ มีการจอดเรือขายของ ซึ่งส่วนใหญ่จะชุกชุมเป็นชุมชนจนกลายเป็นตลาดหรือชุมชน บริเวณจุดตัดของแม่น้ำที่มีผู้คนสัญจรไปมาหลากหลาย และเมื่อบ้านเมืองเปลี่ยนไปตามกาลเวลา การสัญจรย้ายขึ้นมาอยู่บนบก ใช้ถนนในการสัญจรแทน ร้านค้าต่างๆ จากที่อยู่ริมน้ำ ก็ย้ายมาอยู่ตามริมถนนเช่นเดียวกัน
นิยามของ ‘ถนน’ ตามพระราชบัญญัติจราจร ทางบก พ.ศ. 2522 ระบุว่า ถนนนั้น หมายความรวมถึงผิวถนน ไหล่ทาง และ ‘ทางเท้า’ ด้วย
แต่ในปัจจุบัน เมื่อพูดถึง ถนน คนส่วนใหญ่จะนึกถึงเฉพาะบริเวณผิวถนนสำหรับรถสัญจรเท่านั้น ดังนั้น ทางเท้า หรือถนนสำหรับคนเดินที่เคยกว้างๆ ก็ถูกลดขนาดลงให้กลายเป็นถนนสำหรับรถมากขึ้น
สิทธานต์ กล่าวถึงบทบาททางเท้าว่า เราจะไม่มีทางเท้าที่ดีได้ ถ้ายังไม่เข้าใจบทบาทของทางเท้า สำหรับบาทบาทของเท้าไม่ได้มีไว้สัญจรอย่างเดียวเท่านั้น แต่จะต้องเป็นพื้นที่สำหรับทำกิจกรรม และสำหรับขายของได้ด้วย เพราะเป็นพื้นที่สาธารณะ
หลายๆ ประเทศ เห็นความสำคัญของทางเท้ามากขึ้น แม้ว่าทางเท้าจะกว้างอยู่แล้ว ก็ยังจะมีการลดขนาดของถนน (Road Diet) เพื่อเพิ่มพื้นที่ทางเท้า ที่ไม่ได้ให้ประโยชน์เฉพาะคนเดินอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเพิ่มเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับให้ประชาชนทำกิจกรรมอื่นๆ รวมถึงการตั้งร้านค้าหาบเร่แผงลอยอีกด้วย
“สำหรับประเทศไทย เมื่อพูดถึงการทวงคืนทางเท้า ที่ผ่านมาจะเป็นการทวงคืนทางเท้าจากหาบเร่แผงลอย เพราะมองว่าหาบเร่แผงลอยเป็นปัญหา กีดขว้างทาง แต่ทั้งนี้หาบเร่แผงลอยจะอยู่เฉพาะพื้นที่ที่เป็นบริเวณชุมชน มีคนสัญจรพลุกพล่านเท่านั้น ไม่ได้กระจายอยู่ทั่วทุกที่ที่มีทางเท้าฉะนั้น หากมองว่า หาบเร่แผงลอยเป็นสิ่งกีดขวาง ก็ไม่ได้มีมากเท่ากับสิ่งกีดขวางประเภท เสา ป้าย หรือป้อมตำรวจ นอกจากนี้ ถ้าหาบเร่แผงลอย กีดขวางทางเท้า ก็จะทำให้คนไม่สามารถเดินไปซื้อของได้ ส่งผลโดยตรงกับร้านค้าแน่นอน ดังนั้น หลักปัญหาคือ ‘ทางเท้าแคบ’” สิทธานต์ กล่าว
สิทธานต์ กล่าวต่อว่า ปัญหาหาบเร่แผงลอยและทางเท้า เป็นเรื่องหลายประเด็นพันกัน และเมื่อแยกจะแบ่งได้ 2 ปัญหาใหญ่ คือ 1) การกีดขวางการสัญจรของคนเดินเท้า และ 2) ความสะอาดของทางเท้า ตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ฉะนั้น ถ้าทำให้สะอาด ก็จะสามารถขายได้ใช่หรือไม่? เพราะทางเท้าเป็นพื้นที่สาธารณะ เป็นคำถามว่า แท้จริงแล้ว หาบเร่แผงลอยผิดกฎหมาย เพราะอะไรกันแน่?
ที่ผ่านมา กทม. มีการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย จากที่มีจุดผ่อนผันหาบเร่แผงลอย 773 จุด เมื่อปี 2554 ปัจจุบันเหลือ 171 จุด และแก้ปัญหาด้วยการหาพื้นที่ทำเลใหม่ 112 แห่ง รองรับผู้ค้าได้ 10,809 ราย แต่กลับมีผู้ค้าเข้าร่วมไม่ถึงพันราย
การหายไปของหาบเร่แผงลอย เกิดขึ้นจากนโยบาย ‘คืนทางเท้าให้ประชาชน’ ของหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ตั้งแต่ปี 2557 ตามมาด้วยการใช้มาตรา 44 ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จัดระเบียบหาบเร่แผงลอยในกรุงเทพฯ ในปี 2559 ในยุคของอัศวิน ขวัญเมือง
โจทย์ใหญ่คู่กรุงเทพฯ นี้ ผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. แต่ละคนเสนอนโยบายแก้ปัญหาหาบเร่แผงลอยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
-
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร หมายเลข 1 พรรคก้าวไกล มีนโยบายการจัดระเบียบที่ถูกต้อง ไม่ใช่เพียงแค่คำนึงถึงความสะอาดเพียงอย่างเดียว แต่ต้องพิจารณาถึงความจำเป็น วิถีชีวิต และความเป็นธรรมประกอบร่วมกันไปด้วย และต้องสนับสนุนผู้ค้าจัดระเบียบแผงลอยด้วยตัวเอง เช่น โมเดลปากซอยอ่อนนุช 70
-
สกลธี ภัททิยกุล หมายเลข 3 ผู้สมัครอิสระ เสนอสร้างความสมดุลระหว่างคนเดินเท้ากับแผงค้า พิจารณาว่าจุดไหนที่พื้นที่ทางเท้าเหลือถึงจะทำแผงค้าได้ และหาแนวทางพิจารณาให้กับคนที่รายได้น้อยมีโอกาสใช้ทำมาหากิน
-
สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หมายเลข 4 พรรคประชาธิปัตย์ เสนอนโยบายขายได้ขายดี ขายของได้ทุกวัน ไม่มีวันหยุด และเป็นคนแรกที่จะ คืนวันจันทร์ให้ผู้ค้า และนโยบายขายได้ขายดี เทศกิจเป็นมิตรกับผู้ค้า นอกจากนี้ ยังมีก๊อกน้ำประปา ห้องน้ำสาธารณะ บริเวณฟุตบาท ให้ก๊อกน้ำประปาจะเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานของทุกฟุตบาท เช่นเดียวกับห้องน้ำสาธารณะที่สะอาด ส่วนเรื่องขยะ พ่อค้าแม่ค้าต้องเก็บขยะมัดกองรวมไว้ที่เสาไฟฟ้า
-
อัศวิน ขวัญเมือง หมายเลข 6 ผู้สมัครอิสระ ระบุว่า คืนความเป็นธรรมให้กับสังคม ทั้งผู้ค้า และคนเดินถนน และหากได้กลับมาเป็นผู้ว่าฯ ค่อยกลับมาพิจารณาเรื่องนี้กันอีกครั้ง
-
รสนา โตสิตระกูล หมายเลข 7 ผู้สมัครอิสระ เสนอนโยบายเลิกไล่จับหาบเร่แผงลอย และจัดทำเลขายดีให้ถูกกฎหมายสะอาดปลอดภัย
-
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ หมายเลข 8 ผู้สมัครอิสระ เสนอสร้างโอกาสให้กลุ่มผู้ค้าหาบเร่ เช่น ส่งเสริมให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน วางแผนบริหารจัดการที่มั่งคง และช่วยจัดหาพื้นที่การค้า ประสานงานกับเอกชนและภาครัฐในพื้นที่จัดหาพื้นที่เช่าราคาประหยัดสำหรับผู้ค้าที่ต้องการพื้นที่ค้าถาวร ขึ้นทะเบียนผู้ค้าแผงลอย เพื่อให้ กทม. มีแหล่งสินค้าและอาหารแผงลอยที่บริหารจัดการมีประสิทธิภาพ ตลอดจนส่งเสริมให้เข้าถึงเทคโนโลยีสร้างโอกาสการค้าช่องทางออนไลน์ ผู้ค้าแผงลอยมีส่วนร่วมรักษาความสะอาดพื้นที่ และกำหนดรูปแบบการค้าด้วยตนเอง รวมถึงหาทางอยู่ร่วมกันระหว่างผู้ค้าและผู้ใช้ทางเท้า ไม่กีดขวางหรือลิดรอนสิทธิของคนบนทางเท้า ร่วมมือกับเอกชนหนุนพัฒนาลักษณะร้านค้า เช่น สีของร้าน ร่ม ให้สอดคล้องกับที่คณะกรรมการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยระดับเขตกำหนด มีโมเดลอารีย์ซอย 1 ต้นแบบความร่วมมือจัดการรัฐและเอกชน และตีเส้นแบ่งพื้นที่แผงลอยและทางเดินเท้า
-
ศุภชัย ตันติคมน์ หมายเลข 10 ผู้สมัครอิสระ มีนโยบายซ่อมแซม ปรับปรุงทางเดินเท้าทั่ว กทม. แบ่งช่องทางคนเดิน ตีเส้นชัดเจน คนเดินเท้าเดินสะดวก ขณะเดียวกันต้องแบ่งช่องทางใช้ประโยชน์ร่วมกัน สำหรับรถเข็นขายของ แผงลอย ให้อยู่ในพื้นที่ทางเท้าอย่างเป็นระเบียบ พร้อมทั้งเดินหน้า จับ-ปรับ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ จอดหรือขับขี่บนทางเท้าอย่างเข้มงวด
-
ศิธา ทิวารี หมายเลข 11 พรรคไทยสร้างไทย มีนโยบายยกระดับ กทม.ให้เป็นเมืองหลวง Street Food ของโลก มีมาตรฐานความสะอาด ส่งเสริมให้มีพื้นที่ทำมาหากินสำหรับพ่อค้าแม่ค้าขายคนตัวเล็ก ด้วยกองทุนเครดิตประชาชนเพื่อคนตัวเล็ก ให้พ่อค้าแม่ขายตั้งตัวได้ และจัดโซนสำหรับค้าขายตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงการเพิ่มพื้นที่ค้าขายให้คนกรุงเทพฯ ทั้งการเช่าตึกหรือพื้นที่ที่ปิดตัวจำนวนมากที่อยู่ริมถนน
สิทธานต์ กล่าวแสดงความคิดเห็นถึงนโยบายการแก้ไขปัญหาหาบเร่แผงลอยและทางเท้าของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ว่า ปัญหาทางเท้ากับแผงลอยในปัจจุบัน คือทางเท้าแคบ มีพื้นที่ไม่พอ มีผู้สมัครฯ บางคนกล่าวว่า จะมอบทางเท้าคืนให้กับประชาชน แต่สมัยที่เคยดำรงตำแหน่งที่เกี่ยวข้องอยู่นั้น เป็นคนที่เวรคืนทางเท้าไปเป็นถนนเสียเอง และเคยกล่าวว่าจะทำให้ทางเท้าตรงสถานีบีทีเอสตรงเมเจอร์รัชโยธิน มีขนาดไม่ต่ำกว่า 1.5 เมตร แต่ในอีดตทางเท้านั้นมีขนาด 3 เมตรกว่า จึงเป็นคำพูดที่ไม่น่าเชื่อถือสักเท่าไหร่
“ตราบใดที่ยังไม่เปลี่ยนมุมมองของถนน ก็จะจัดระเบียบทางเท้าไม่ได้ ต้องเปลี่ยนว่าถนนไม่ได้มีไว้สำหรับอย่างเดียว” สิทธานต์ กล่าว
ส่วนนโยบายที่ระบุว่า หากทางเท้าเหลือจึงจะทำแผงค้าได้ สิทธานต์ กล่าวว่า ทำไมถึงใช้คำว่าทางเท้าเหลือ ตัวอย่างเช่น บริเวณซอยอารีย์ มีร้านค้าหาบเร่แผงลอย กลางวันและช่วงเย็นมีพนักงานบริษัทเดินมาหาซื้อของกิน ถ้ามองตามนโยบายบอกว่า ถ้ามีทางเท้าเหลือ ซอยอารีย์ไม่มีทางเท้าเหลือ เพราะมีการขยายถนนไปแล้วเมื่อสิบปีที่ผ่านมา ฉะนั้นการแก้ปัญหาควรจะเพิ่มขนาดทางเท้าให้ประชาชนใช้วิถีชีวิตต่อไปได้ไม่ใช่หรือ?
สิทธานต์ กล่าวถึงนโยบายการจัดการความสะอาดว่า ปัญหา ขยะ เป็นปัญหาจากหาบเร่แผงลอย และเป็นภาระของ กทม. ในการจัดการ ผู้ว่าฯ ในสมัยที่ผ่านมา เคยมีนโยบายจัดทำคอกขยะ แต่ก็ยังอยู่บนทางเท้า คนมองว่าสกปรก และไม่มีการจัดเก็บ ซึ่งในปัจจุบัน ไม่มีคอกขยะดังกล่าวแล้ว แต่ตัวอย่างต่างประเทศ เช่น ปุ่น หรือเมืองย่างกุ้ง พม่า มีถังขยะใหญ่ๆ เป็นกระบะใหญ่ๆ ปิดอย่างดี สำหรับทิ้งขยะจากตลาด กระจายตามจุดืที่สำคัญๆ ที่มีร่านขายของข้างทางเยอะ หรือบริเวณชุมชน ในไทยเห็นบ้างแต่ไม่เยอะ
สิทธานต์ เห็นด้วยกับนโยบายเกี่ยวกับการทำให้หาบเร่แผงลอยเป็นเรื่องถูกกฎหมาย โดยระบุว่า ส่วนรายละเอียดการขออนุญาตขายเดป็นเรื่องที่ต้องมาดูกันอีกที แต่การขายของค้าขายไม่ใช่อาชีพที่ผิดกฎหมาย ส่วนเรื่องการจัดทำเลสำหรับผู้ค้านั้น เป็นเรื่องของธรรมชาติ เมื่อมีชุมชน มีผู้คนของก็จะขายได้ ดังนั้นการจัดทำเลจะต้องดูถึงวิถีชีวิตของสังคมด้วย ไมใช่เอาแต่จะพูดว่าจะจัดทำเลให้อย่างเดียว เพราะที่ผ่านมาก็มีการจัดทำเล แต่ก็ล้มเหลว
สิทธานต์ กล่าวด้วยว่า การแก้ปัญหาหาบเร่แผงลอย โดยที่ชุมชนมีส่วนร่วมเป็นทางที่ดี แต่การมีส่วนร่วมของเอกชนนั้น ยังเป็นคำถามว่าเอกชนนั้นคือใคร เพราะเห็นว่า มีบริเวณที่หาบเร่แผงลอยจะมีร่มสีเดียวกัน ซึ่งมาจากธนาคารต่างๆ เช่น สีส้ม ชมพู ฟ้า ซึ่งมองว่าเป็นโฆษณาแฝง ที่ผ่านมาเทศกิจมาเดินแจก เป็นอีกจุดที่ต้องมองว่าสิ่งเหล่านี้ ใครได้ประโยชน์ และการจัดลักษณะสีของร้าน ร่ม ให้สอดคล้อง คิดว่าเป็นเรื่องที่ยากสำหรับร้านค้าที่มีลักษณะตามธรรมชาติที่แตกต่างกัน มันคือความหลากหลายของอาหาร อัตลักษณ์ของสินค้า ความหลากหลายมันดี แต่สิ่งสำคัญคือความสะอาด
สำหรับนโยบายการซ่อมแซมปรับปรุง สิทธานต์ ระบุว่า อยากกจะฝากให้มองถึงโครงสร้าง วัตถุในการสร้างทางเท้า พร้อมตั้งคำถามทำไมถึงพังง่าย ต้องปรับปรุงบ่อย ทำไมถึงไม่ใช้วัตถุที่แข็งแรงทนทาน มีคุณภาพ จะได้ไม่ต้องมาซ่อมแซมบ่อยๆ และใช้งานได้นานๆ
“ในขณะที่เรามองว่า หาบเร่แผงลอย ทำความสกปรกให้กับเมือง กีดขวางไม่เป็นระเบียบ หากเราตั้งคำถามกลับ ป้ายโฆษณาต่างๆ ที่ กทม.อนุญาติให้ทำ ซึ่งเกะกะขว้างทางเท้า มีผู้ว่าคนไหนที่จะจัดการกับสิ่งเหล่านี้บ้าง เสาป้ายโฆษณาบนทางเท้า สื่อโฆษณากลางแจงสิ่งเหล่านี้เป็นการขายของหรือไม่? เป็นการขายของบริษัททุนใหญ่หรือไม่? จะต้องมีความยุติธรรมตรงนี้ด้วย สิ่งเหล่านี้เองเป็นขยะหรือไม่?” สิทธานต์ กล่าวทิ้งท้ายว่า
ทั้งหมดนี้ คือนโยบายการแก้ปัญหา ‘หาบเร่แผงลอยบนทางเท้า’ ของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. และเสียงสะท้อนจากประชาชนผู้สังเกตและคลุกคลีกับปัญหา จะต้องติดตามต่อไปว่าใครจะได้เป็นผู้ว่าฯ คนต่อไป และจะแก้ปัญหาทางเท้าและหาบเร่แผงลอยไปในทิศทางไหน