“..การดูแลในชุมชน เป็นต้นแบบที่ดีมาก แม้ว่าจะเป็นสวนขนาดเล็ก แต่การมีส่วนร่วมของชุมชน จะช่วยลดภาระของภาครัฐได้ เนื่องจากมีบุคลากรจำกัด การดูสวนสาธารณะหลายแห่งจะต้องใช้คนจำนวนมาก ถ้าจะให้ภาครัฐเป็นผู้ดูแลทั้งหมด รัฐจำเป็นจะต้องปรับวิธีการให้ง่ายและสะดวก แต่ถ้าเราอยากได้สวนที่ตอบโจทย์กับเรา เราก็จะต้องช่วยกัน..”
ในปัจจุบัน บริบทของสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของประชากรการขยายตัวของสังคมเมือง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศการป้องกันภัยพิบัติ ข้อจํากัดด้านพื้นที่ ทำให้พื้นที่สีเขียวมีปริมาณและคุณภาพที่ลดลง
หลายประเทศได้เปลี่ยนแปลงจากการมุ่งพัฒนาในด้านเทคโนโลยีเชิงพาณิชย์เพียงด้านเดียว เป็นการให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียวควบคู่ไปด้วย เพื่อตอบสนองให้ทันต่อสถานการณ์ และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals; SDGs)
ไทย ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ให้ความสำคัญในด้านสิ่งแวดล้อม เห็นได้จากการกำหนดนโยบายของรัฐบาล ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ ซึ่งให้ความสำคัญกับการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ โครงการจัดสร้างสวนสาธารณะในกรุงเทพมหานคร
แต่ทั้งนี้ การสร้างและดูแลพื้นที่สีเขียวนั้น ไม่ควรที่จะผลักหน้าที่ภาระกับหน่วยงานภาครัฐเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น แต่ควรจะเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายร่วมมือกันไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน รวมถึงประชาชนทั่วไป เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม และความยั่งยืน
สำหรับนิยาม พื้นที่สีเขียว หมายถึง พื้นที่ธรรมชาติ หรือพื้นที่ที่มนุษย์สร้างขึ้นหรือกำหนดขึ้นในเมืองหรือชุมชนปกคลุมด้วยพืชพรรณเป็นองค์ประกอบหลัก มีประโยชน์เพื่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศการดำรงชีวิต และคุณภาพชีวิตของประชาชน
พื้นที่สีเขียวยั่งยืน หมายถึง พื้นที่สีเขียวที่มีพืชพรรณที่มีความหลากหลายทั้งชนิดและปริมาณ โดยมีไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ เป็นองค์ประกอบหลักและได้รับการดูแลบำรุงรักษาให้คงอยู่อย่างยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสมดุลทางระบบนิเวศ เกิดสภาพแวดล้อมที่ดี สวยงาม ร่มเย็น น่าอยู่ และเพิ่มองค์ประกอบของการใช้ประโยชน์ที่ดินทั้งทางตรงและทางอ้อม แก้การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากร ในเมืองและชุมชน ผู้มาเยือน ตลอดจนเสริมสร้างเศรษฐกิจของชุมชน
สวนสาธารณะใน กทม.
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้พูดคุยกับ นายนำชัย แสนสุภา นายกสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและประชาชนกับพื้นที่สีเขียวว่า ประเทศสิงคโปร์ มีนโยบายพื้นที่สีเขียว ที่เป็นนโนบายระดับชาติ และกระจายปรับทุกภาคส่วนของประเทศ โดยเฉพาะโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ที่มีข้อกำหนดชัดเจนว่าจะต้องมีพื้นที่สีเขียวอย่างน้อยเท่าไหร่
นอกจากนี้ ยังมีนโยบายเกี่ยวกับการมอบรางวัลเพื่อชักจูงใจในการสร้างพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นอีกด้วย เช่น โครงการใดที่สามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้มากกว่าที่กฎหมายกำหนด จะได้รับรางวัลตอบแทน คือ ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่สร้างอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น เป็นสมการที่ว่า เมื่อสร้างพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น ก็สามารถสร้างตึกได้สูงขึ้น ซึ่งจะเป็นกสนเพิ่มพื้นที่ขายได้มากขึ้น ถือเป็นการเอื้อประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
นายนำชัย กล่าวว่า ในกรณีนี้ สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับประเทศไทยได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นนโยายให้รางวัลในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อเพิ่มแรงจูงใจ
“ยกตัวอย่าง กฎหมายที่ดินมรดกที่ปล่อยให้พื้นที่รกร้าง มีเงื่อนไขการลดหย่อยภาษี คือนำมาประยุกต์ใช้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งเราจะเห็นว่า ในกลางเมืองมีพื้นที่ร้างถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรกรรม แต่สมมติถ้าเรามีกฎหมายจูงใจว่าให้เปิดเป็นพื้นที่สาธารณะ แม้ว่าจะชั่วคราว 3-5 ปี ก็จะช่วยแก้ปัญหาได้มาก” นายนำชัย กล่าว
รวมถึงการมีกฎหมายผังเมืองเฉพาะพื้นที่ เช่น ถนนบางเส้นที่เมืองมีการพัฒนาขยายตัวไปเรื่อยๆ จากที่เคยเป็นชุมชนแนวราบ ก็กลายเป็นห้องแถว คอนโดมีการพัฒนาใหม่ๆ เกิดขึ้น
แม้ว่าภายในคอนโด จะมีกฎหมายกำหนดเรื่องพื้นที่สีเขียว แต่ขณะเดียวกัน การก็มีแข่งขันเรื่องการขายที่เข้มข้น พื้นที่สีเขียวส่วนกลาง จึงเป็นหนึ่งปัจจัยในการจูงใจผู้ซื้อ แต่การใช้งานก็ถูกจำกัดให้เฉพาะผู้ซื้อเท่านั้น ไม่ส่งผลประโยชน์โดยรวม
“ถนนเอกมัยช่วง 15 ปีที่ผ่านมา คอนโดเกิดขึ้นเยอะมาก แต่พื้นที่สีเขียวที่อยู่บนถนน ยังเป็นอยู่เหมือนเดิม ถ้ามีกฎหมายผังเมืองฉบับใหม่ กำหนดให้แต่ละโครงการมีการระยะร่น (Setback) เปิดรั้วให้โปร่งขึ้น เห็นพื้นที่สีเขียวภายใน หรือกำหนดให้รั้วเป็นสีเขียว คิดว่าโดยรวมก็จะดีขึ้น พอนานไป ถ้ามีการพัฒนาในส่วนนี้มากขึ้น มันก็จะดีขึ้นโดยอัตโนมัติ” นายนำชัย กล่าว
นายนำชัย กล่าวอีกว่า พื้นที่สีเขียว ไม่จำเป็นต้องเข้าไปใช้ก็ได้ แค่การมองเห็น ก็ส่งผลดีต่อตาและใจแล้ว เช่น รถติดอยู่บนถนน พอเห็นพื้นที่สีเขียวก็ช่วยผ่อนคลายได้บ้าง
นายนำชัย กล่าวด้วยว่า ในปัจจุบันภาคเอกชน มีความรับรู้ในเรื่องพื้นที่สีเขียวหรือสวนสาธารณะที่ดีมีมากขึ้น โดยทุกคนตระหนักรู้ว่า ถ้าพื้นที่ไหนมีสภาพแวดล้อมที่ดี ธุรกิจที่ย่านนั้นก็จะดีด้วย เช่น ถ้าทุกคอนโดในย่านนั้น ทำรั้วสวยงาม เขียว โปร่ง ทำให้ย่านตรงนั้นสวยงามขึ้น น่าอยู่ คอนโดก็จะราคาขึ้นตามไปด้วย
“ย่านสีลม มีภาคีคนรักสีลม เป็นการรวมตัวกันของเจ้าของที่ดิน อาคารสำนักงาน ที่มีโครงการจะความร่วมมือกันปรับปรุงทางเท้าพื้นที่หน้าอาคารให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด ตั้งแต่บริเวณแยกถนนสวนลุม-ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือของรัฐและเอกชนในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมของเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก” นายนำชัย กล่าว
ทางด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) ปราณิศา บุญค้ำ อุปนายกฝ่ายวิชาการ และอาจารย์ประจำสาขาวิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในวันนี้จะเห็นความร่วมมือในการสร้างพื้นที่สีเขียวมากขึ้นเยอะเมื่อเทียบกับอดีต ปัจจุบันบริษัทใหญ่ๆ อาคารสำนักงาน (Office Complex) หรือหน่วยงานของรัฐเอง รวมถึงมหาวิทยาลัย เป็นสถานที่ที่มีพื้นที่ค่อนข้างกว้างขวาง สามารถจัดสร้างพื้นที่สีเขียวที่ให้ผู้คนทั่วไปสามารถเข้าไปใช้ได้ ซึ่งสถานที่หลายแห่งก็ได้อนุญาตให้คนทั่วไปเข้าใช้ได้ในวันและเวลาที่กำหนด ในส่วนนี้มีข้อดีคือ เนื่องจากไม่ใช่พื้นที่ส่วนบุคคลหรือพื้นที่พักอาศัย จึงไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญเรื่องความเป็นส่วนตัวมากเท่าบ้านหรือคอนโด
อีกหนึ่งตัวอย่างที่เห็นมากขึ้น ห้างสรรพสินค้า เริ่มที่เป็นพื้นที่สีเขียว แม้ว่าจะไม่ใช่เป็นการแบ่งโซนแยกชัดเจนระหว่างพื้นที่สาธารณะกับพื้นที่ร้านค้า แต่หลายแห่งที่ได้ทำเป็นพลาซ่า มีต้นไม้ มีบรรยากาศร่มรื่น และสามารถจัดกิจกรรมหรือตลาดนัดได้
“ถ้าทุกห้าง ย่านพาณิชย์ คิดที่จะนำพื้นที่ว่างที่เว้นสำหรับระยะย่น ตามที่กฎหมายกำหนดมาปรับปรุงให้มีคุณภาพและคุ้มค่าที่สุดกับตารางเมตรที่มี นอกเหนือจากแค่ทำพื้นสวยๆ ปักๆ ต้นไม้ไป เทียบกับการออกแบบอย่างไรให้มันเกิดประโยชน์ได้จริง เลือกพืชพรรณที่เหมาะสม ดูแลรักษาง่าย ถ้ามีการคิด วางแผนออกแบบที่ดี เราจะได้พื้นที่สีเขียวที่พักผ่อนหย่อนใจเพิ่มขึ้นเสริมกับระบบธรรมชาติที่ดีขึ้น ซึ่งเรามีห้างและย่านพาณิชน์ เยอะมากที่จะทำได้” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) ปราณิศา กล่าว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) ปราณิศา กล่าวถึงส่วนที่พักอาศัยว่า ถ้าเป็นบ้านเดี่ยว ถือเป็นพื้นที่ส่วนตัว คงไม่ใครเปิดให้คนอื่นเข้า แต่ถ้าเป็นคอนโด มีจุดที่น่าสนใจว่า มีพื้นที่สีเขียวส่วนร่วมให้กับผู้พักอาศัย ถ้าคิดในมุมส่วนรวม ผู้พักอาศัยในคอนโดไม่ต้องตะเกียกตะกายไปหาพื้นที่สีเขียว ช่วยลดความหนาแน่นในพื้นที่สาธารณะได้ แต่ขณะเดียวกัน การทำรั้วโปร่ง เพื่อให้คนภายนอกได้เห็นพื้นที่สีเขียวแล้ว การจัดสรรพื้นที่บริเวณระยะร่น พื้นที่ริมถนนเป็นพื้นที่สีเขียว โดยการยอมถอยรั้วเข้าไปสักเล็กน้อยเพื่อให้มีพื้นที่นอกรั้ว มากขึ้น สำหรับม้านั่ง พื้นที่ร่มเงา มีต้นไม้ เนื่องจากพื้นที่ทางเท้าใน กทม. แคบมาก แค่เสาไฟกับทางเดินก็ไม่มีพื้นที่เหลือพอสำหรับปลูกต้นไม้แล้ว ทั้งนี้ ถ้าหากทุกภาคส่วนช่วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเอกชน หรือหน่วยงานรัฐ ก็จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมืองได้อีกทางหนึ่ง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) ปราณิศา กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีเงื่อนไขการลดภาษีที่ดินรกร้าง โดยจะต้องทำเกษตรกรรม และค้าขายผลผลิตนั้น ซึ่งถ้าหากมีการเพิ่มเงื่อนไขเป็นการเปิดพื้นที่สีเขียวเป็นสาธารณะให้คนทั่วไปสามารถเข้าใช้ได้ มีการปลูกไม้ยืนต้น ก็ควรจะได้ลดภาษีเช่นเดียวกัน เนื่องจากการปลูกต้นไม้ก็ต้องมีการลงทุนและค่าใช้จ่ายในการดูแล หรืออาจจะใช้กลไกการมีส่วนร่วม เช่น ภาคเอกชนเป็นเจ้าของพื้นที่ ลงทุนเรื่องปลูกต้นไม้ ส่วนการดูแลรักษา อาจจะให้ภาครัฐหรือชุมชชนบริเวณนั้นๆ เข้ามาช่วย เป็นต้น
‘ลานกีฬาพัฒน์’ ชุมชนเคหะคลองจั่น เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาครัฐ โดยการพัฒนาจากพื้นที่รกร้างสู่พื้นที่ใช้สอยของคนในชุมชน ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของคนชุมชนที่คาดว่าจะเข้ามาใช้งาน ซึ่งจะแตกต่างจากโครงการจัดสร้างพื้นที่สาธารณะอื่นๆ ที่จะเป็นการทำงานแบบบนลงล่าง (Top-Down) รัฐจะเป็นผู้ออกแบบและจัดสรรให้ บางครั้งอาจจะตรงกับความประสงค์การใช้งานบ้าง ไม่ตรงบ้าง โดยทีมออกแบบได้มีการพูดคุยกับคนในชุมชนเพื่ออกแบบมาให้เหมาะสมและตอบโจทย์การใช้งานให้มากที่สุด กระบวนการมีส่วนร่วมนี้ จะทำให้ผู้คนในชุมชนรู้สึกภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วม รวมถึงรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ และมีจิตอาสาที่จะดูแลรักษาในระยะยาว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) ปราณิศา กล่าวด้วยว่า การดูแลในชุมชน เป็นต้นแบบที่ดีมาก แม้ว่าจะเป็นสวนขนาดเล็ก แต่การมีส่วนร่วมของชุมชน จะช่วยลดภาระของภาครัฐได้ เนื่องจากมีบุคลากรจำกัด การดูสวนสาธารณะหลายแห่งจะต้องใช้คนจำนวนมาก ถ้าจะให้ภาครัฐเป็นผู้ดูแลทั้งหมด รัฐจำเป็นจะต้องปรับวิธีการให้ง่ายและสะดวก เช่น การตัดต้นไม้เป็นทรงเหลี่ยมๆ ทั้งหมด แต่ถ้าเราอยากได้สวนที่ตอบโจทย์กับเรา เราก็จะต้องช่วยกัน และถ้าหากมีโครงการเช่นนี้เยอะๆ พื้นที่สีเขียว หรือพื้นที่สาธารณะใดๆ ก็จะได้รับการดูแล จนกลายเป็นพื้นที่ที่ได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ทั้งหมดนี้ คือ แนวทางการพัฒนา ‘พื้นที่สีเขียวที่ยั่งยืน’ เพราะพื้นที่สีเขียวในเมืองเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดความอยู่ดีมีสุขของคน ยิ่งมีมากขึ้น ยิ่งดีต่อสุขภาวะของคนทั้งด้านร่างกายและจิตใจ แต่ทั้งนี้สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องมาจากความร่วมมือของทุกๆ ฝ่าย
ลานกีฬาพัฒน์ 2 บริเวณพื้นที่ใต้ทางพิเศษศรีรัช บริเวณแยกอุรุพงษ์ ราชเทวี