“..จะเห็นได้เลยว่าามีช่วงนึง ปัญหาจราจรค่อยๆ บรรเทาลง คนใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น แต่ในช่วงสถานการณ์โควิด ทำให้คนใช้รถส่วนตัวมากขึ้น และเมื่อมีมาตรการเวิร์กฟอร์มโฮม ปัญหารถติดก็น้อยลง แต่เมื่อคลายล็อกดาวน์ รถก็กลับมาเริ่มติดอีก โดยวิเคราะห์ได้จากการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้น เมื่อราคาน้ำมันขึ้นราคา คนเดือดร้อนมากขึ้น อาจจะเป็นเพราะคนใช้รถส่วนตัวมากขึ้น..”
จำนวนรถชนิดต่างๆ ในประเทศไทย เพิ่มสูงมากขึ้นทุกปี แม้ว่าจะมีการสับเปลี่ยนเก่าใหม่และหมุนเวียนอยู่ในตลาดรถมือสอง แต่ก็ไม่ส่งผลให้จำนวนรถที่วิ่งกันอยู่บนท้องถนนน้อยลงได้ ซึ่งแน่นอนว่า ยิ่งมีจำนวนรถบนถนนเยอะ ส่งผลให้เกิดปัญหาจราจรติดขัด
'รถติด' เป็นปัญหาที่อยู่คู่กับคนกรุงเทพฯ มาอย่างยาวนาน เรียกได้ว่าแทบจะเป็นวิถีชีวิตประจำวันตั้งแต่ตื่นเช้า เดินทางไปโรงเรียนหรือทำงาน หรือตอนเย็นที่เดินทางกลับบ้าน แม้ว่าจะมีพยามยามแก้ปัญหานี้ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะต่างๆ หรือรณรงค์ให้ผู้คนใช้รถส่วนตัวน้อยลง แต่คนกรุงเทพฯ ก็ยังต้องเผชิญกับปัญหาทางการจราจรนี้อยู่
เมื่อมองย้อนกลับไปถึงสาเหตุของปัญหารถติด เราไม่สามารถระบุหรือยกเพียงสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งเพื่อพิจารณาเพื่อแก้ปัญหากันโดยเฉพาะจุดได้ เนื่องจากที่มาของปัญหานั้น มีมากมายและเกี่ยวพันกันอย่างซับซ้อน อาทิ ผังเมืองที่ไม่สอดรับกับการพัฒนาและขยายของพื้นที่ ระบบขนส่งมวลชนที่ไม่ยังขาดประสิทธิภาพ ไม่ตรวงเวลา ไม่อำนวยความสะดวกให้ประชาชน การบริหารเวลาของสัญญาณไฟจราจร เป็นต้น
การวางผังเมืองสำคัญมากสำหรับการอาศัยอยู่ร่วมกันในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แต่เหมือนการวางผังเมืองจะถูกละเลยตั้งแต่แรก ทำให้ปัญหารถติดเกิดตามมาและแก้ไขได้ยาก ผู้คนจำนวนมากต้องแห่กันเข้ามาทำงานในโซนเดียวกัน ทำให้รถติดเพราะจำนวนรถยนต์ล้นมากเกินไป
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัญหารถติด และการวางผังเมือง ว่ามีความเชื่อมโยงกันอย่างไร และจะสามารถแก้ไขปัญหาในมิตินี้ได้อย่างไรบ้าง มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
นายอนวัช สุวรรณเดช รองอธิบดีกรมโยธาธิการเเละผังเมือง กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นประเทศหรือเมืองไหน การจัดทำผังเมือง นอกจากการจัดรูปที่ดิน การใช้ประโยชน์และพัฒนาพื้นที่ ยังรวมไปถึงการวางระบบผังโครงข่ายคมนาคมส่งอีกด้วย ซึ่งการวางผังเมือง จะต้องมีผังคมนาคมขนส่งกำกับมาด้วย จะมีการสำรวจอัตราการเจริญเติมโตของเมือง คาดการณ์จำนวนประชาการที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต รวมถึงการสำรวจประมาณการณ์จำนวนรถที่จะเพิ่มขึ้นด้วย
นายอนวัช กล่าวด้วยว่า เพราะฉะนั้นถ้าหากมีการก่อสร้างโครงข่ายคมนาคม เช่น ถนน ให้เป็นไปตามผังที่วางไว้ ก็คาดว่าจะบรรเทาปัญหาจราจรได้ ส่วนประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น มาจากการก่อสร้างที่ไม่เป็นไปตามที่ผังเมืองกำหนดไว้
สำหรับการแก้ไขปัญหา นายอนวัช กล่าวว่า ถ้าตอบแบบกำปั้นทุบดิน ก็คือต้องสร้างให้เป็นตามที่ผังเมืองกำหนด แต่ก็จะมีคำย้อนกลับมาว่า แล้วทำไมถึงไม่สร้างให้ตรงตามที่ผังเมืองกำหนด? คำตอบคือ เนื่องจากการก่อสร้างมีค่าใช้จ่าย และผลกระทบหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นความเดือนร้อนของประชาชน หากจะต้องมีการดำเนินการเวนคืนที่ดิน และเรื่องงบประมาณ ฉะนั้นจะจำเป็นจะต้องชั่งน้ำหนักดูว่าควรดำเนินการหรือไม่ หากดำเนินการแล้ว ประชาชนจะเดือดร้อนมากขึ้นหรือไม่
อีกหนึ่งวิธีการแก้ปัญหา คือ การบริการจัดการจราจร เช่น การกำหนดช่วงเวลาในการวิ่งรถทางเดียวตามแต่ในละช่วงเวลาตามความหนาแน่นของการจราจร ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นความรับผิดชอบดูแลของตำรวจจราจร
นายอนวัช กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ปัจจุบัน มีรถเมล์ รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะเข้ามาเสริม ซึ่งช่วยลดการใช้รถส่วนตัวได้ ปัญหาการจราจรก็จะลดน้อยลงอย่างแน่นอน และคาดว่าจะเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นในอนาคตแน่นอน
ถ้าโครงข่ายขนส่งมวลชนขยายมากขึ้นขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาได้ผลดีพอสมควร แต่เนื่องสถานการณ์โรคระบาดที่เผชิญอยู่ขณะนี้ ประชาชนมีความกังวลในการใช้ขนส่งมวลชนสาธารณะ จึงทำให้กลับมาใช้รถส่วนตัวเพิ่มมากขึ้น
“จะเห็นได้เลยว่าามีช่วงนึง ปัญหาจราจรค่อยๆ บรรเทาลง คนใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น แต่ในช่วงสถานการณ์โควิด ทำให้คนใช้รถส่วนตัวมากขึ้น และเมื่อมีมาตรการเวิร์กฟอร์มโฮม ปัญหารถติดก็น้อยลง แต่เมื่อคลายล็อกดาวน์ รถก็กลับมาเริ่มติดอีก โดยวิเคราะห์ได้จากการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้น เมื่อราคาน้ำมันขึ้นราคา คนเดือดร้อนมากขึ้น อาจจะเป็นเพราะคนใช้รถส่วนตัวมากขึ้น” นายอนวัช กล่าว
นายอนวัช กล่าวด้วยว่า ในระบบของผังเมือง เมื่อมีการประกาศใช้กฎกระทรวงไม่ว่าเมื่อไหร่ อย่างน้อยที่สุดจะต้องมีเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดิน และการร้อยเรียงการใช้ประโยชน์ที่ดินต่างๆ ก็จะมีเรื่องผังโครงข่ายคมนาคมขนส่งกำกับอยู่ด้วย
นอกจากเรื่องผังเมือง นายอนวัช กล่าวว่า ยังมีการแก้ปัญหาในด้านอื่นๆ เช่น การบริหารจัดการจราจร ซึ่งเรื่องนี้เป็นหน้าที่รับผิดชอบของตำรวจ เรื่องการขนส่ง ก็จะต้องไปฝากไว้กับ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เป็นต้น
“การไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามผังเมืองต่างหากทำให้เกิดปัญหา ผังเมืองมีอยู่ มีการวางระบบคมนาคมทั้งหมด ถ้าดำเนินการให้เป็นไปตามผังเมือง ปัญหาก็จะคลี่คลาย ปัญหาการจราจรส่วนใหญ่ เกิดจากการไม่พัฒนาให้เป็นไปตามผังเมือง” นายอนวัช กล่าว
นายอนวัช กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัญหาจราจรที่เกิดขึ้น เกิดจากการที่พัฒนาระบบขนส่งไม่สอดรับกับผังเมืองที่มีอยู่ ถ้าหากสร้างผังเมืองให้เป็นไปตามนั้น ปัญหาการจราจรก็จะบรรเทาลงไป แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่า งบประมาณที่มีอยู่จะสามารถทำได้หรือไม่ ถ้าทำได้แค่บางส่วน อีกส่วนอาจจะต้องใช้การบริหารจัดการจราจรเข้ามาร่วมด้วยในการแก้ปัญหานี้ด้วย
นายสมชาย เดชากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ปัญหารถติด หรือจราจรติดขัด มีสาเหตุมาจากการกระจุกตัวของประชากรในเมือง ทำให้แออัด ไม่ว่าจะเป็นที่ทำงาน ที่อยู่อาศัย รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อีกทั้งแผนการสร้างโครงข่ายรถไฟฟ้าที่ยังไม่แล้วเสร็จตามแผนอีกด้วย
“การส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ดินในปัจจุบัน กระจุกตัวอยู่ในใจกลางกรุงเทพฯ ทั้งหมด ซึ่งในปัจจุบันมันเต็มหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นตึกสูง สำนักงาน ที่อยู่อาศัย” นายสมชาย กล่าว
สำหรับการแก้ปัญหาจราจรติดขัด นายสมชาย เปิดเผยว่า กทม.มีแผนที่ขยายเมืองออกไปโดยรอบ จัดสรรการใช้ประโยชน์ที่ดินมากขึ้นในบริเวณศูนย์ชุมชนเมืองที่อยู่กระจายออกไป เพื่อลดการกระจุกตัวของประชากร ลดการเดินทางเข้าเมือง
ตัวอย่างเช่น เขตมีนบุรี ที่มีจุดตัดเชื่อมของคมนาคมขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า โดย กทม.มีแผนที่จะดำเนินการพัฒนาให้มีจุดเชื่อมต่อดังกล่าวกระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ เพื่อให้การพักอาศัย การทำงานอยู่บริเวณเดียวกัน เวลา หากมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าเมืองหรือในใจกลางกรุงเทพฯ ก็สามารถเดินทางได้สะดวกด้วยรถไฟฟ้า
“การที่คนไม่ต้องเดินทางเข้ามาในเมือง การเดินทางลดลง มีศูนย์ชุมชนเมืองกระจายอยู่โดยรอบกรุงเทพฯ จะช่วยในทางอ้อม ไม่ใช่ทางตรงๆ เหมือนการตัดถนน แต่เมื่อการไม่เดินทางเข้าเมืองมากในศูนย์ชุมชนนั้นๆ ก็จะช่วยลดปัญหาความหนาแน่นของการจราจรได้” นายสมชาย กล่าว
นายสมชาย กล่าวด้วยว่า สำหรับแผนพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ คาดการณ์ว่าอีกประมาณ 4-5 ปี จะแล้วเสร็จ ซึ่งจะช่วยให้ปัญหาการจราจรติดขัด รถติดลดน้อยลง ผนวกกับร่างผังเมืองใหม่ ที่คาดว่าจะออกอีกใน 2-3 ปี โดยในร่างผังเมืองนี้ จะมีปรับการใช้ประโยชน์ที่ดิน หรือผังสี ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น เช่น ในบริเวณนั้น เดิมเป็นสีเหลือง สีส้ม ที่ไม่ใช่ย่านพาณิชยกรรม แต่ในผังเมืองใหม่ อาจจะปรับเป็นสีแดง หรือสีน้ำตาล
นอกจากนี้ ในร่างผังเมืองฉบับใหม่นี้ ก็จะมีร่างโครงข่ายคมนาคม โดยจะจัดลำดับความสำคัญของถนนที่จะปรับปรุง จะตัดถนนเชื่อมโยงเพื่อปัญหารถติดตรงไหนบ้าง ตอนนี้ที่มีการสำรวจกว่า 100 สาย ซึ่งถือว่าเป็นการแก้ปัญหาด้านจราจรติดขัดโดยตรง
ส่วนร่างผังเมืองที่ต้องใช้เวลาถึง 2-3 ปี เนื่องจากทั้งหมดไม่ได้อยู่ในอำนาจของ กทม. แม้ว่า กทม.จะเป็นผู้จัดทำ แต่ต้องผ่านคณะกรรมการผังเมือง และขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย
“การที่จะต้องการพัฒนาเมืองในจุดไหน ระบบสาธารณูปโภค สิ่งดำเนินการต่างๆ จะต้องครบก่อน ถึงจะกำหนดผังสีว่าบริเวณไหนสีอะไร ประกอบกับการให้สิทธิบริเวณจุดตัดรถไฟฟ้า ก็จะทำให้เกิดบริวารเมืองของกรุงเทพ กระจายไปโดยรอบ โดยมีเครือข่ายรถไฟฟ้าเป็นคมนาคมขนส่งเป็นหลัก” นายสมชาย กล่าว
นายสมชาย กล่าวทิ้งท้ายว่า เรื่องการแก้ปัญหาจราจร ระบบผังเมือง จะมีผลทางอ้อมในระยะยาว เนื่องจากการวางผังเมือง จะต้องมีหลายภาคส่วน ทั้งรัฐและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในนการกระจายความเจริญ หรือขยายเมือง ส่วนทางตรง จะมี 2 ส่วน คือ 1) การตัดถนน และ 2) โครงข่ายคมนาคม เช่น รถไฟฟ้า แต่ทั้งนี้ การตัดถนน จะมีผลไม่มากเท่าระบบขนส่งมวลชน
ทั้งหมดนี้ คือมุมมองการแก้ปัญหาจราจรติดขัด หรือ 'รถติด' ในด้านผังเมือง ที่เป็นปัญหาอยู่คู่กับวิถีชีวิตคนกรุงเทพฯ มาอย่างยาวนาน