วงถกปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว กทม. เคาะส่งความเห็นถึง ‘มหาดไทย’ สัปดาห์หน้า ก่อนแจง สภากทม. ต้องรับรู้การเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยาย เพื่อจะได้ของบมาจ่ายส่วนต่าง เล็งขอเสนอแก้ข้อบัญญัติกู้เงินสมัย ‘อัศวิน’ เพิ่มกรอบเงินกู้จ่ายค่าโอนทรัพย์สิน-หนี้สิน เป็น 5.4 หมื่นล้าน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranewws.org) รายงานว่า วันที่ 29 ตุลาคม 2565 แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า การประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือกรณีรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่มีนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราขการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธาน เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2565 ได้เห็นชอบให้ทำความเห็นเสนอกระทรวงมหาดไทยภายในสัปดาห์หน้า
โดยความเห็นที่จะเสนอไป ยังเป็น 2 ประเด็นเดิมตามที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. ระบุไว้ก่อนหน้านี้ คือ การเสนอให้จัดทำกระบวนการเอกชนร่วมลงทุน (PPP) ตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ 2562 (พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562)ในการดำเนินการเกี่ยวกับสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวโดยจะยืนยันไปด้วยว่า ไม่เห็นด้วยกับการต่อสัมปทานตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2562 และจะขอให้รัฐบาลเข้ามาอุดหนุนงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการ และช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต วงเงินประมาณ 58,000 ล้านบาท
@ยังไม่เคาะเก็บค่าโดยสารต่อขยาย ลุยเสนอ สภากทม. ก่อน
ส่วนการเก็บค่าโดยสารในส่วนต่อขยายที่ 2 ในราคา 15 บาท ที่ประชุมเห็นว่า ยังไม่สามารถสั่งการให้เก็บได้ เพราะต้องนำเข้าหารือกับ สภากทม. ให้เห็นชอบก่อน เพราะในการเก็บค่าโดยสาร 15 บาท แม้จะทำให้กทม. มีรายได้ประมาณ 1,899 ล้านบาท/ปี แต่เมื่อหักรายได้ดังกล่าวแล้ว ยังมีส่วนต่างอีกประมาณ 2,901 ล้านบาท/ปี ที่จะต้องหาเงินมาชดเชย โดยจะต้องเสนอให้ สภากทม. รับทราบ เพื่อในอนาคต จะได้ทำเรื่องขออนุมัติงบอุดหนุนต่อไป
ขณะที่ข้อสังเกตของ ส.ก. หลายคนที่ว่า กทม.สามารถจัดเก็บค่าโดยสารได้เลย ไม่ต้องเสนอ สภากทม. ทราบนั้น ก็ถูกต้อง แต่อย่างที่กล่าวไป มันมีส่วนต่างที่รายได้ที่มีจ่ายไม่พอ ต้องขออนุมัติงบมาอุดหนุนตรงนี้ ดังนั้น จึงต้องให้ สภากทม. รับทราบด้วย
ส่วนข้อสังเกตกรณี คณะกรรมการตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2562 มีอำนาจในการกำหนดอัตราค่าโดยสารได้นั้น แหล่งข่าวระบุว่า ไม่น่าจะใช่ เพราะคณะกรรมการชุดนี้ จัดตั้งขึ้น เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามที่คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับดังกล่าวระบุไว้เท่านั้น คือ สรุปผลการเจรจาในการต่อสัมปทาน โดยการเอาหนี้จากส่วนต่างๆมาคำนวณ แล้วได้ผลคือ การกำหนดอัตราค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 65 บาทเท่านั้น ยังไม่มีการระบุถึงการำหนดอัตราค่าโดยสารในส่วนต่อขยายที่ 2 แต่อย่างใด
@เล็งแก้ข้อบัญญัติ กทม. เพิ่มวงเงินกู้เป็น 54,000 ล้าน
แหล่งข่าวจาก กทม. กล่าวต่อว่า นอกจากการทำความเห็นเสนอกระทรวงมหาดไทยแล้ว ที่ประชุมยังเห็นชอบให้แก้ข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง การกู้เงินเพื่อใช้ในการรับโอนทรัพย์สิน และหนี้สินของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต และช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการ 2561 ที่กำหนดกรอบกู้เงินจากกระทรวงการคลังเป็นจำนวน 51,785,370,000 บาท โดยจะปรับเพิ่มกรอบกู้เงินเป็น54,000 ล้านบาท เนื่องจากภาระหนี้สะสมช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคตมีมากขึ้น
ปัจจุบัน กทม.มีภาระต้องจ่ายค่างานจากการโอนทรัพย์สินและหนี้สินส่วนต่อขยายที่ 2 จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แบ่งเป็นส่วนใต้ช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการ หนี้คงค้าง 20,000 ล้านบาท (ดอกเบี้ย 500 ล้านบาท/ค่างานโครงสร้างพื้นฐาน 15,000 ล้านบาท) และส่วนเหนือ ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต หนี้คงค้างรวมอยู่ที่ประมาณ 20,000-30,000 ล้านบาท
อ่านประกอบ
‘ชัชชาติ’ รับมติสภากทม. ศึกษา ‘สายสีเขียว’ เก็บค่าโดยสารส่วน 2 เลื่อนไม่มีกำหนด
สภากทม.คว่ำ ‘ญัตติ’ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ตีความ คำสั่งม.44 ไม่ให้อำนาจ กทม.-ส.ก.พิจารณา
‘ชัชชาติ’ ประกาศไม่ต่อสัมปทานสายสีเขียว เสนอรัฐบาลอุดหนุนค่าก่อสร้าง 5.8 หมื่นล้าน
‘ชัชชาติ’ ลุ้น สภากทม. เคาะค่าโดยสาร ส่วนต่อขยายสายสีเขียว 26 ต.ค.นี้
ศาลสั่ง ‘กทม.-เคที’ จ่าย 1.1 หมื่นล้าน ปมค้างค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว
เจาะคำพิพากษาศาลปกครองกลาง เกาะติดท่าที 'กทม.-เคที'อุทธรณ์คดีค่าเดินรถ'สายสีเขียว'
เบื้องหลัง 2 แนวคิดเก็บค่าตั๋วส่วนต่อขยาย‘สายสีเขียว’คั้นรายได้ 2.6 พันล.โปะหนี้ BTSC
2 สัญญา 3.5 แสนล.! ย้อนดูค่าจ้าง เดินรถ'สายสีเขียว'ส่วนต่อขยาย ก่อน'เคที'จ่อรื้อใหม่
ISRA WHY? : ‘ธงทอง จันทรางศุ’แม่ทัพ'กรุงเทพธนาคม'ภารกิจสุดขอบฟ้า ล้างหลุมดำ กทม.
แก้จ้างเดินรถ BTS ชัดเจนปีนี้ ‘ธงทอง’เคลียร์ส่วนต่อขยาย 1-2
ไม่เกินส.ค.นี้เสนอสภากทม.เคาะค่าโดยสารสายสีเขียว ถอดรายได้ 2 สูตรจ่ายค่าเดินรถ
กทม.ขอ 2 เดือน เคลียร์โอนหนี้สายสีเขียว เผยยอดหนี้ ‘หมอชิต-คูคต’พุ่ง 5.4 หมื่นล้าน