กทม.นัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมหารือปมสายสีเขียว พรุ่งนี้ (28 ต.ค.65) หลังสภา กทม. คว่ำญัตติ พร้อมยอมรับการเสนอขอรัฐอุดหนุนค่างานโยธา 5.8 หมื่นล้าน กระทำผิด MOU ที่ทำไว้กับ รฟม. ตั้งแต่ปี 2561
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 27 ตุลาคม 2565 หลังจากที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร (สภากทม.) มีมติให้นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ถอนญัตติการขอความเห็นของ สภา กทม. ในการดำเนินโครงการถไฟฟ้าสายสีเขียว และขอรับความเห็น เรื่อง แนวทางการเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต และช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการไปเมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2565 นั้น
-‘ชัชชาติ’ รับมติสภากทม. ศึกษา ‘สายสีเขียว’ เก็บค่าโดยสารส่วน 2 เลื่อนไม่มีกำหนด
-สภากทม.คว่ำ ‘ญัตติ’ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ตีความ คำสั่งม.44 ไม่ให้อำนาจ กทม.-ส.ก.พิจารณา
@ขอรัฐอุดหนุนค่าก่อสร้าง เสี่ยงผิด MOU รฟม.-กทม.ปี61
ล่าสุด แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า ในวันพรุ่งนี้ (28 ต.ค.2565) นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รอองผู้ว่า กทม. จะนัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมหารือเกี่ยวกับปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวอีกครั้ง โดยเฉพาะข้อเสนอที่จะทำถึงกระทรวงมหาดไทย ประเด็นที่จะตอบกลับกรณีการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยการให้ประมูลตามพ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 ไม่ให้ต่อตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2562 และการขอรัฐบาลอุดหนุนค่างานโครงสร้าง วงเงิน 58,000 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่จะขอรัฐอุดหนุนค่างานก่อสร้าง เป็นเงินก้อนเดียวกันกับที่ยังติดค้าง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เรื่องโอนรับทรัพย์สินหนี้สินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 วงเงินประมาณ 54,000 ล้านบาทหรือไม่ แหล่งข่าวจาก กทม.ตอบว่า ใช่ ปัจจุบันในส่วนต่อขยายที่ 2 ด้านใต้ ช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการ ได้ปิดบัญชีและจ่ายหนี้สินครบแล้ว ยังเหลือในส่วนต่อขยายด้านเหนือ ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต ซึ่งยังไม่สามารถปิดบัญชีได้ และดอกเบี้ยก็ทบมาเรื่อยๆ จนปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 58,000-59,000 ล้านบาทแล้ว
เมื่อถามอีกว่า การเสนอขอรัฐเข้าอุดหนุน เป็นการทำผิดเงื่อนไขใน MOU ที่เคยทำกับ รฟม. หรือไม่ เพราะใน MOU ไม่ได้ระบเวื่อนไขให้รัฐเข้ามาสนับสนุนเงินอุดหนุน แต่ให้ กทม. ไปหาแหล่งเงินกู้เอา แหล่งข่าวจาก กทม. ยอมรับว่า เป็นการปฏิบัติที่ละเมิด MOU จริง แต่เพราะ กทม. ไม่มีทางเลือกและทำไม่ไหว จึงต้องขอใช้ช่องทางนี้ในการเสนอขอเงินมาอุดหนุน และในยุคก่อนก็เคยเสนอขอกู้กับสภา กทม. ชุดที่แล้ว แต่ก็ไม่ได้รับการอนุมัติ ส่วนในรายละเอียดจะเป็นอย่างไร อยากให้ติดตามการประชุมในวันพรุ่งนี้ก่อน
@คมนาคม แนะ เอามาหารือในคณะกรรมการตาม MOU ก่อน
ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยผ่านการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า ปัจจุบันทางกระทรวง ยังไม่เห็นหนังสือจาก กทม. เสนอเงื่อนไขดังกล่าวเข้ามา ทราบเพียงจากข่าวเท่านั้น แต่หาก กทม.จะเสนอให้รัฐบาลเข้ามาอุดหนุนการรับโอนทรัพย์สินและหนี้สินจริง ก็จะต้องเสนอมาที่คณะกรรมการตาม MOU ที่มีปลัดกระทรวงคมนาคมและปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานร่วม เห็นชอบก่อน เพราะการเปลี่ยนเงื่อนไขดังกล่าว กระทบกับเงื่อนไขเดิมที่ให้ กทม. ไป สภากทม. มา แต่เมื่อเปลี่ยนขอให้รัฐบาลเข้ามา จะต้องให้กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือเงินรับทราบและพิจารณาด้วย
“จริงๆ คณะกรรมการตาม MOU ที่ทำร่วมกับ กทม. มี 3 คณะ แต่คณะที่มีกระทรวงการคลังนั่งเป้นกรรมการร่วมคือ ชุดที่ปลัดกทม.และปลัดคมนาคมเป็นประธานร่วม ซึ่งเท่าที่จำได้ ไม่ได้ระบุเงื่อนไขให้ขอรัฐบาลเข้ามาอุดหนุน ซึ่งเป็นการกระทำผิด MOU เพราะใน MOU กำหนดกรอบวงเงินกู้สำหรับให้ กทม. ไปทำเรื่องเสนอ สภากทม. อนุมัติให้กู้กระทรวงการคลังแล้ว ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขอื่นใดไว้ ดังนั้น กทม. จึงต้องทำเรื่องเสนอมายังคณะกรรมการชุดนี้ด้วย” แหล่งจากกระทรวงคมนาคมย้ำ
ทั้งนี้ ปัจจุบัน MOU ฉบับดังกล่าวยังมีผลบังคับใช้อยู่ เพราะยังอยู่ระหว่างปิดบัญชีหนี้สิน-ทรัพย์สินที่รับโอนกันอยู่ โดยส่วนต่อขยายที่ 2 สายเหนือ อยู่ระหว่างปิดบัญชีงานก่อสร้างที่รอ กทม. ไปหาเงินมาจ่ายอยู่
@ย้อนอดีต เซ็น MOU รับโอนภาระหนี้สิน-ทรัพย์สินจากรฟม.เมื่อปี 2561
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า MOU ฉบับดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2561 ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามมติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2558 และมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2561 ที่มอบหมายให้ กทม. เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งจะมีการจำหน่ายทรัพย์สินและที่ดินของโครงการ การโอนภาระทางการเงินของโครงการ และภาระผูกพันกับหน่วยงานอื่นให้กับ กทม. นอกจากนี้ ยังครอบคลุมถึงการยกเว้นค่าแรกเข้าระบบ หากผู้โดยสารเปลี่ยนถ่ายจากรถไฟฟ้าสายอื่นของ รฟม. ตามนโยบายของรัฐบาลอีกด้วย
โดยในปีนั้น (2561) ปะเมินว่า การดำเนินการโอนทรัพย์สินและหนี้สินนี้ จะทำให้กรุงเทพมหานครมีภาระค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 51,785.37 ล้านบาท สำหรับภาระค่าใช้จ่ายจะประกอบด้วย ค่างานโครงสร้างพื้นฐาน วงเงินไม่เกิน 44,429 ล้านบาท และค่าชดใช้เงินค่าจัดกรรมสิทธิ์และดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมเงินกู้ของค่างานโครงสร้างพื้นฐานที่สำนักงบประมาณได้จัดสรรงบประมาณเพื่อชำระไปแล้ว วงเงินไม่เกิน 7,356.37 ล้านบาท
เงื่อนไขทางการเงินระบุว่า กทม. ต้องประสานงานสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เพื่อบรรจุวงเงินกู้ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ปี 2562 และ รฟม. ประสานงาน กทม. เกี่ยวกับรายละเอียดทรัพย์สินที่จะมีการจำหน่ายทรัพย์สินและโอนหนี้สินทั้งหมด ซึ่ง รฟม. และ กทม. ตกลงจะใช้ข้อมูลภาระทางการเงินของโครงการฯ ณ วันที่ 30 ก.ย. 2561 เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำบันทึก MOU และข้อมูล ณ วันที่ 31 มี.ค. 2562 เพื่อประกอบการจัดทำสัญญาให้กู้ยืมเงินต่อและสัญญาเงินยืมกับกระทรวงการคลัง
ซึ่งในที่สุด กทม. ก็ออก ข้อบัญญัติกทม. เรื่อง การกู้เงินเพื่อใช้ในการรับโอนทรัพย์สิน และหนี้สินของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต และช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ 2561 กรอบวงเงิน 51,785,370,000 บาท เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2561
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคมในขณะนั้น, นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคมในขณะนั้น และ พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในขณะนั้น เป็นประธานร่วมในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง ว่าด้วยการจำหน่ายทรัพย์สินและโอนภาระทางการเงิน โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต ของ รฟม. ให้ กทม. เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2561 ภาพจากกระทรวงคมนาคม
อ่านประกอบ
‘ชัชชาติ’ ประกาศไม่ต่อสัมปทานสายสีเขียว เสนอรัฐบาลอุดหนุนค่าก่อสร้าง 5.8 หมื่นล้าน
‘ชัชชาติ’ ลุ้น สภากทม. เคาะค่าโดยสาร ส่วนต่อขยายสายสีเขียว 26 ต.ค.นี้
ศาลสั่ง ‘กทม.-เคที’ จ่าย 1.1 หมื่นล้าน ปมค้างค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว
เจาะคำพิพากษาศาลปกครองกลาง เกาะติดท่าที 'กทม.-เคที'อุทธรณ์คดีค่าเดินรถ'สายสีเขียว'
เบื้องหลัง 2 แนวคิดเก็บค่าตั๋วส่วนต่อขยาย‘สายสีเขียว’คั้นรายได้ 2.6 พันล.โปะหนี้ BTSC
2 สัญญา 3.5 แสนล.! ย้อนดูค่าจ้าง เดินรถ'สายสีเขียว'ส่วนต่อขยาย ก่อน'เคที'จ่อรื้อใหม่
ISRA WHY? : ‘ธงทอง จันทรางศุ’แม่ทัพ'กรุงเทพธนาคม'ภารกิจสุดขอบฟ้า ล้างหลุมดำ กทม.
แก้จ้างเดินรถ BTS ชัดเจนปีนี้ ‘ธงทอง’เคลียร์ส่วนต่อขยาย 1-2
ไม่เกินส.ค.นี้เสนอสภากทม.เคาะค่าโดยสารสายสีเขียว ถอดรายได้ 2 สูตรจ่ายค่าเดินรถ
กทม.ขอ 2 เดือน เคลียร์โอนหนี้สายสีเขียว เผยยอดหนี้ ‘หมอชิต-คูคต’พุ่ง 5.4 หมื่นล้าน