‘กยศ.’ ชง ‘สำนักงบฯ-รัฐบาล’ จัดสรรงบกลางฯ 2,000 ล้านบาท รักษา ‘สภาพคล่อง’ หลัง ‘กองทุนฯ’ ส่อ ‘ถังแตก’ เหตุ ‘ลูกหนี้’ ผิดนัดชำระหนี้พุ่ง 2.2 ล้านราย ขณะที่ ‘ผู้จัดการ กยศ.’ ชี้ ‘หลายปัจจัย’ ต้นตอทำกองทุนฯขาดสภาพคล่อง เตรียมของบเพิ่มเติมอีก 3.4 พันล้าน จ่ายเงินคืนลูกหนี้ 2.8 แสนราย หลังคำนวณ ‘ยอดหนี้’ ใหม่
........................................
เมื่อวันที่ 24 ม.ค. สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เตรียมทำหนังสือถึงสำนักงบประมาณ โดยขอให้สำนักงบประมาณพิจารณาเสนอเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอให้ ครม. พิจารณาอนุมัติจัดสรรงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 2,000 ล้านบาท ในการรักษาสภาพคล่องทางการเงิน สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายดำเนินงานและการให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาในปีงบประมาณ 2568 ของ กยศ.
“หากกองทุนฯ ไม่สามารถกระตุ้นการรับชำระหนี้ได้ตามที่คาดการณ์ไว้ จะทำให้ขาดสภาพคล่องตั้งแต่เดือน เม.ย.2568 เป็นต้นไป” กยศ.ระบุ
รายงานข่าวแจ้งว่า กยศ. ระบุว่า ปัญหาหลักที่ทำให้ กยศ. ขาดสภาพคล่องทางการเงิน คือ มีลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ในสัดส่วนที่สูง โดยลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 2,207,728 ราย จากจำนวนทั้งสิ้น 3,941,281 ราย คิดเป็น 56.02% มูลค่าเงินต้นที่ผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ จำนวน 208,119.19 ล้านบาท จากเงินต้นทั้งสิ้น 412,527.45 ล้านบาท คิดเป็น 50.45% ทำให้กองทุนฯ มีเงินหมุนเวียนไม่เพียงพอในการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2568
(ที่มา : กยศ.)
อย่างไรก็ดี กองทุนฯ มีแผนกระตุ้นการรับชำระเงินคืน (กระตุ้นการชำระหนี้ของลูกหนี้) ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มรายรับได้ประมาณ 2,646.66 ล้านบาท และทำให้กองทุนฯ ต้องขอรับจัดสรรงบประมาณ รายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 2,000 ล้านบาท
“ในการดำเนินการตามมาตรการกระตุ้นการชำระเงินคืน (กระตุ้นการชำระหนี้ของลูกหนี้) นั้น เมื่อพิจารณากลุ่มลูกหนี้ค้างชำระ พบว่ามีผู้ค้างชำระจำนวน 2,440,893 ราย คิดเป็นเงิน จำนวน 105,865.43 ล้านบาท ซึ่งกองทุนฯ พบว่ามีความเป็นไปได้ที่จะกระตุ้นการรับชำระหนี้ในกลุ่มผู้ค้างชำระ จำนวน 56,057 ราย คิดเป็นเงินจำนวน 2,646.66 ล้านบาท แต่ไม่สามารถคาดการณ์การรับชำระหนี้ในแต่ละเดือนได้
หากกองทุนฯ สามารถกระตุ้นการชำระเงินคืนได้ตั้งแต่เดือน ม.ค.2568 จะทำให้ขาดเงินอีกจำนวน 1,998.64 ล้านบาท ในเดือน ก.ย.2568 และอาจจะสามารถบริหารการเงินได้ โดยไม่ต้องขอรับจัดสรรงบกลาง ในปีงบประมาณ 2568 ซึ่งในส่วนที่ขาดนั้น อาจจะมีภาระรายจ่ายที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ทันในปีงบประมาณ 2568 (เดือน ก.ย.2568) แต่อาจจะไปจ่ายในเดือน ต.ค.2568 ซึ่งเป็นปีงบประมาณ พ.ศ.2569” แผนกระตุ้นการชำระเงินคืนของ กยศ. ระบุ
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า กยศ. ได้จัดทำประมาณการรายรับ-รายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 โดยคาดว่าจะมีรายรับทั้งสิ้น 30,660.74 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.รับชำระหนี้ จำนวน 26,087.76 ล้านบาท และ 2.ได้รับจัดสรรจากรัฐบาล จำนวน 4,572.98 ล้านบาท และคาดว่าจะมีรายจ่ายทั้งสิ้น 48,080.23 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.จ่ายเงินให้กู้ยืม จำนวน 44,959.71 ล้านบาท 2.จ่ายคืนผู้กู้ยืม จำนวน 947.47 ล้านบาท และ 3.จ่ายค่าบริหาร จำนวน 2,173.04 ล้านบาท
ขณะที่ประมาณสถานะกระแสเงินสดประจำปีงบประมาณ 2568 นั้น กยศ.คาดว่า เงินสดคงเหลือปลายงวดจะติดลบ 4,645.31 ล้านบาท (ขาดเงินในการดำเนินงาน) ทั้งนี้ หาก กยศ. ได้รับการจัดสรรงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 2,000 ล้านบาท รวมทั้งได้รับเงินจากการกระตุ้นการรับชำระหนี้อีก 2,646.66 ล้านบาทแล้ว จะทำให้ กยศ. มีเงินสดคงเหลือ 1.35 ล้านบาท
นอกจากนี้ ในปีงบ 2569-2572 กยศ.มีแผนขอรับการจัดสรรเงินงบประมาณ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดำเนินงานและการให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา รวม 69,200 ล้านบาท ประกอบด้วย ปีงบ 2569 จำนวน 21,900 ล้านบาท ,ปีงบ 2570 จำนวน 16,200 ล้านบาท ,ปีงบ 2571 จำนวน 15,800 ล้านบาท และปีงบ 2572 จำนวน 15,300 ล้านบาท
(ที่มา : กยศ.)
@‘กยศ.’ชี้กองทุนฯขาด‘สภาพคล่อง’มาจากหลายปัจจัย
น.ส.นันทวัน วงศ์ขจรกิตติ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า ขณะนี้ กยศ.อยู่ระหว่างทำเรื่องเพื่อเสนอไปยังสำนักงบประมาณ เพื่อขอรับจัดสรรงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 2,000 ล้านบาท สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายดำเนินงานและการให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาในปีงบประมาณ 2568 เนื่องจากในปี 2568 มีผู้ขอกู้เงินจาก กยศ. เป็นจำนวนมาก ประกอบกับมีลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้จำนวนมาก
“มันไม่ใช่แค่เรื่องเก็บชำระหนี้อย่างเดียว แต่ต้องพูดถึงการกู้ด้วย โดยปีนี้ เป็นปีที่มีผู้กู้ของเรา (กยศ.) มากที่สุด คือ ประมาณ 8 แสนราย ในขณะที่ตั้งแต่ปี 2561-2567 เราไม่ได้ของบประมาณเลย แม้ว่าผู้กู้ของเราจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ จาก 4-5 แสนราย จนเพิ่มมาเป็น 7-8 แสนราย ตอนนั้นเราเอาเงินของเราที่มีอยู่ คือ เอาเงินทุนหมุนเวียนมาใช้ เอามาปล่อยกู้ๆ ไปเรื่อยๆ แต่พอมาปี 2568 เราต้องมาดูว่า ถ้าจะทำให้ผู้กู้ของเรายังคงได้เงินกู้ต่อไปได้
เราก็ต้องมาดูสภาพว่า เรามีเงินมาหมุนเวียนได้ทันหรือไม่ เพราะเราเป็นกองทุนหมุนเวียน หมุนเวียนกันเดือนต่อเดือน เราได้รับเงินมา แล้วก็ปล่อยเงินออก พอมาถึงตรงนี้เราเลยมองว่า ถ้าเรามีเงินจากรัฐบาลมาช่วยเรา เพื่อทำให้การดำเนินงานของ กยศ. ในการปล่อยกู้เป็นไปอย่างรวดเร็ว และทันต่อการศึกษา เราจึงมีความจำเป็นมากๆ ที่จะต้องไปของบกลางฯ จากรัฐบาล” น.ส.นันทวัน กล่าว
น.ส.นันทวัน กล่าวว่า พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาฯ ฉบับใหม่ ที่มีผลบังคับใช้ในปี 2566 ซึ่งกำหนดให้ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้เหลือ 1% ต่อปี และลดเบี้ยปรับเหลือ 0.5% ต่อปี นั้น มีส่วนทำให้ผู้กู้เงิน กยศ. หลายราย รอสัญญาณว่า กยศ. จะดำเนินการอย่างไร จึงชะลอการชำระหนี้ แต่ตอนนี้การคำนวณยอดหนี้ใหม่ (Recalculation) เสร็จสิ้นแล้ว ดังนั้น ผู้กู้ฯควรเข้ามาดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ และเริ่มชำระหนี้ เพื่อให้รุ่นน้องได้มีโอกาสในการกู้เงินต่อไป
น.ส.นันทวัน ระบุด้วยว่า การที่ พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาฯ กำหนดให้ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้เหลือ 1% นั้น ไม่ได้ส่งผลต่อรายรับดอกเบี้ยและสภาพคล่องของ กยศ. แต่อย่างใด เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา กยศ. ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ที่ 1% มาโดยตลอด
(นันทวัน วงศ์ขจรกิตติ)
น.ส.นันทวัน กล่าวถึงมาตรการกระตุ้นการชำระเงินคืน ซึ่งตั้งเป้าหมายจะให้ผู้กู้ฯชำระคืนหนี้ 2,646 ล้านบาท ว่า จะพุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้กู้ยืมที่ค้างชำระซึ่งยังมีศักยภาพ โดย กยศ.จะติดตามอย่างใกล้ชิดว่า หากผู้กู้เหล่านั้นยังศักยภาพก็ของให้ผู้กู้เข้ามาดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ และเริ่มชำระหนี้ให้เป็นปกติ
เมื่อถามว่า จากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดี มีผลทำให้ผู้กู้ฯไม่มาชำระหนี้หรือไม่ น.ส.นันทวัน กล่าวว่า “เรื่องเศรษฐกิจ เราคงอ้างอิงไม่ได้ถึงขนาดนั้น แม้ว่าเราจะเห็นผู้กู้ของเรา มีการส่งชำระน้อยลงอย่างที่เห็น แต่จะสัมพันธ์กับเศรษฐกิจหรือไม่ คงไม่สามารถตอบได้ แต่อาจเป็นผลที่เกี่ยวเนื่องมาก็เป็นได้”
น.ส.นันทวัน กล่าวถึงแผนการขอรับจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลในปี 2569-2572 ปีละ 1.5-2.1 หมื่นล้านบาท ว่า ตั้งแต่ปี 2561-2567 กยศ. ไม่ได้ของบจากรัฐบาลเลย และในปี 2568 เป็นปีแรก ที่ กยศ. ขอรับจัดสรรงบจากรัฐบาล 1.9 หมื่นล้านบาท แต่ได้รับจัดสรร 4,572 ล้านบาท และยังขาดอยู่ จึงต้องของบกลางฯอีก 2,000 ล้านบาท ส่วนกรณีที่ กยศ. มีแผนเสนอของบในปี 2569 จำนวน 2.1 หมื่นล้านบาทนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลจะจัดสรรงบให้ตามที่เสนอไป
ส่วนค่าใช้จ่ายในการบริหาร กยศ. ในปี 2568 ที่มีจำนวน 2,100 ล้านบาท นั้น น.ส.นันทวัน กล่าวว่า เป็นค่าใช้จ่ายบริการจัดการทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายพนักงาน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการต่างๆ เช่น ในปี 2568 กยศ. จะมีการดำเนินการตามมาตรการกระตุ้นการชำระเงินคืน ตลอดจนมีค่าใช้จ่ายในการลงพื้นที่เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ผู้กู้ การลงทุนระบบต่างๆ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินการปล่อยกู้ ซึ่งแต่ละปี กยศ. มีการปล่อยกู้ให้ผู้กู้ 7-8 แสนราย
น.ส.นันทวัน ยังกล่าวถึงกรณีที่ กยศ. ได้คำนวณยอดหนี้ใหม่ (Recalculation) ตามกฎหมาย กยศ. ฉบับใหม่ และมีผู้กู้ยืมที่ได้รับเงินคืนประมาณ 2.8 แสนบัญชี ว่า กยศ. จะต้องนำเงินไปคืนให้กับลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวรวม 3,400 ล้านบาท ซึ่ง กยศ.จะต้องไปของบประมาณเพิ่มเติมจากรัฐบาลมาจ่ายในส่วนนี้ ขณะเดียวกัน ในการคำนวณยอดหนี้ใหม่ของผู้กู้ทั้งหมด 3.5 ล้านราย ซึ่งทำให้ปรับลดหนี้ลง 5.6 หมื่นบาท นั้น ก็ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของ กยศ. พอสมควร
“จริงๆแล้ว มันรวมๆกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเบี้ยปรับ เรื่องการเปลี่ยน พ.ร.บ. เรื่องการกู้ยืม และมีผู้กู้มากขึ้น จึงไม่ใช่แค่อันเดียว แต่มันรวมๆกันหมด” น.ส.นันทวัน ย้ำถึงสาเหตุที่ทำให้ กยศ. ขาดสภาพคล่อง และทำให้ กยศ. จำเป็นต้องขอรับการสนับสนุนงบกลางฯ จากรัฐบาล
อ่านประกอบ :
‘กยศ.’เร่งคืนเงิน‘ลูกหนี้’ 2.8 แสนบัญชี ผ่าน‘พร้อมเพย์’ หลังคำนวณยอดหนี้ใหม่
สภาผู้บริโภคเตรียมหาทางออกร่วม กยศ. หลังปรับ กม.ใหม่ แก้ปมไม่ปรับยอดหนี้
เปิดเช็กยอดหนี้‘กยศ.’ตามกม.ใหม่ 1 ส.ค.นี้-เผยลดภาระผู้กู้ 2.98 ล้านบัญชี 5.63 หมื่นล.
‘ครม.เศรษฐกิจ’ถกแก้‘หนี้บ้าน-รถ-บัตรเครดิต’-มอบ‘ธปท.’หารือลดอัตราจ่ายขั้นต่ำฯเหลือ 5%
สภาผู้บริโภคจี้ ก.คลังแก้ไขด่วน ปมกองทุน กยศ.ไม่ปรับยอดหนี้ใหม่ตามกฎหมายกำหนด
'บอร์ดแก้หนี้ฯ'ถกคำนวณยอดหนี้'กยศ.'ใหม่-นำร่อง'กลุ่มถูกบังคับคดี'ก่อนขยายครบ 3.5 ล้านราย
แจ้งข่าวดีลูกหนี้ กยศ. 4 หมื่นราย เร่งเซ็นยินยอมงดบังคับคดี
‘เศรษฐา’เซ็นคำสั่งตั้ง‘บอร์ดแก้หนี้ประชาชนฯ’-‘กิตติรัตน์’นั่งประธาน
กยศ.คาดทำสัญญา‘ระงับข้อพิพาท-ปรับโครงสร้างฯ’ลูกหนี้‘ก่อนฟ้อง-หลังฟ้อง’ตามกม.ใหม่ ปลายปี
Quick Win แก้หนี้ กยศ. ประเดิมงดบังคับคดี ลุยปรับโครงสร้างหนี้-ลดดอก
มีผลบังคับใช้แล้ว!แพร่‘พ.ร.บ.กยศ.’ฉบับใหม่ เลิกผู้ค้ำฯ-คิดดบ. 1%-เบี้ยปรับ 0.5%
ขจร ธนะแพสย์ : กฎหมาย กยศ. ที่แก้ไข จะช่วยผู้กู้ได้อย่างไร?
มติ 224 ต่อ 11 ! สภาฯผ่าน‘ร่าง พ.ร.บ.กยศ.’ฉบับวุฒิสภาแก้ไข ฟื้นเก็บดบ.1%-เบี้ยปรับ 0.5%
กลับไปเก็บดบ. 1%! ‘วุฒิสภา’มีมติ 143 ต่อ 1 เสียง ผ่าน‘ร่าง พ.ร.บ.กยศ.’ฉบับ กมธ.วิสามัญฯ
สหภาพลูกหนี้ฯเสนอ'กมธ.วิสามัญ'วุฒิฯ คง‘ดอกเบี้ย-เบี้ยปรับ’เงินกู้ กยศ.-ชงปลอดหนี้ 5 ปี
'วุฒิสภาฯ' นัดถก 'ร่าง พ.ร.บ.กยศ.' 1 พ.ย.นี้-เปิด 4 ฉากทัศน์ ลด 'ดอกเบี้ย-เบี้ยปรับ'
ห่วงกองทุน‘กยศ.’ล้ม! วงเสวนาฯค้านยกเลิก‘ดบ.-เบี้ยปรับ’ ฝ่ายหนุนโต้รัฐต้องลงทุน‘การศึกษา’
นิด้าโพลเผย ปชช.เห็นด้วยกับการยกเลิกเก็บดอกเบี้ย-ไม่มีเบี้ยปรับ ของ กยศ.
มติสภาเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กองทุน กยศ. กู้ยืมเงินไม่มีดอกเบี้ย-เบี้ยปรับ
เปิดงบ'กยศ.'ล่าสุด! ปี 64 รายได้ 6.89 พันล้าน ก่อน'กมธ.วิสามัญฯ'หั่น'ดบ.-เบี้ยปรับ'
‘กยศ.’แจงกรณีลูกหนี้ถูกเรียกเก็บ‘เบี้ยปรับ’สูง เหตุ‘ผิดนัดฯ-ค้างชำระ’เป็นเวลานาน