"เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น" จับมือ "เครือข่ายโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจะนะ" ประกาศยกระดับการต่อสู้ทุกวิถีทางเพื่อปกป้องพื้นที่และทรัพยากรจากโรงงานอุตสาหกรรม ยื่นคำขาดยกเลิกมติ ครม. 18 ส.ค.63 และล้มมติเปลี่ยนแปลงผังเมือง เพราะยังไม่มีเหตุผลเพียงพอ
เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ซึ่งประกอบด้วยชาวบ้าน นักศึกษา นักเรียน ผู้นำศาสนา และภาคประชาสังคม 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกันชุมนุมคัดค้านโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา หรือ "เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต" โดยใช้สถานที่ด้านหน้าศาลากลางจังหวัดสงขลา มีการตั้งเวทีและใช้เครื่องขยายเสียง รวมทั้งเครื่องปั่นไฟชุดใหญ่
ขณะที่ทางศาลากลางจังหวัดสงขลาได้ปิดประตูใหญ่ ไม่ให้รถยนต์ผ่านเข้า-ออก แต่ประชาชนและเจ้าหน้าที่ยังสามารถเดินเข้า-ออกศาลากลางได้ พร้อมมีการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดหลายจุด มีการจัดรถห้องน้ำมาให้บริการ และจัดเจ้าหน้าที่มาดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างเต็มที่
นายรุ่งเรือง ระหมันยะ แกนนำเครือข่ายจะนะรักษ์ิ่น กล่าวว่า คนจะนะและชาวสงขลาใช้สิทธิ์การแสดงออกโดยสงบตามระบอบประชาธิปไตย เป็นการส่งเสียงไม่เอานิคมอุตสาหกรรม 16,753 ไร่ ที่จะเปลี่ยนจะนะให้หายนะไปตลอดกาล ฉะนั้นหากรัฐบาลยังฟังเสียงประชาชนอยู่บ้าง ก็ขอให้ยุติโครงการนี้เอาไว้ก่อน พร้อมยกเลิกมติ ครม.ที่ขาดความชอบธรรม แล้วมาตกลงกันใหม่ว่าจะนะควรพัฒนาไปในทิศทางใด จำเป็นหรือไม่ที่ต้องมีนิคมอุตสาหกรรมใหญ่โตขนาดนี้ และใครคือผู้ได้ประโยชน์ที่แท้จริงกันแน่
ขณะเดียวกัน เครือข่ายโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจะนะ จ.สงขลา ได้ออกแถลงการณ์ร่วมคัดค้านนิคมอุตสาหกรรม โดยระบุว่า การแก้ไขผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา เพื่อเปลี่ยนแปลงผังเมืองในพื้นที่ 3 ตำบลของ อ.จะนะ จาก "สีเขียว" เป็น "สีม่วง" เพื่อรองรับอุตสาหกรรม และหน่วยราชการอ้างว่าเป็นการดำเนินมาตรา 35 ของพระราชบัญญัติการผังเมืองฯ เพื่อให้เหมาะกับสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปนั้น ข้ออ้างนี้ยังไม่ใช่เหตุผลที่สมควรต่อการเปลี่ยนผังเมือง จากพื้นที่เกษตร เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม
เพราะการแก้ไขผังเมืองยังต้องปฏิบัติตามมาตรา 27 ของกฎหมายฉบับเดียวกันด้วย โดยเฉพาะมาตรา 27 วรรค 3 ที่ต้องพิจารณาตามหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือมาตรฐานเกี่ยวกับการผังเมือง และที่สำคัญ "ต้องไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อสาธารณะ"
จากบทบัญญัติของกฎหมายนี้ เมื่อนำไปตรวจสอบเปรียบเทียบกับพื้นที่จริง จะเห็นว่าพื้นที่บริเวณ ต.นาทับ ตลิ่งชัน และสะกอม ของ อ.จะนะ ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมหลัก เพราะยังคงเป็นพื้นที่เกษตร ประมง โดยชุมชนยังมีวิถีชีวิตเกษตรกรรมเป็นหลัก ที่สำคัญกฎหมายยังกำหนดให้การดำเนินโครงการพัฒนาของภาครัฐทางด้านกายภาพ จะต้องสอดคล้องกับนโยบายและการใช้ประโยชน์ที่ดินของผังเมืองรวมด้วย
ดังนั้น โครงการเมืองอุตสาหกรรมจะนะ อันเป็นแผนลงทุนเอกชนที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เสนอให้เป็น "พื้นที่สีม่วง" คือ เขตอุตสาหกรรมนั้น ไม่สอดคล้องกับผังเมืองรวมจังหวัดสงขลาที่ประกาศใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน
แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า เมื่อรัฐไม่ฟังเสียงประชาชน เราจึงยกระดับการต่อสู้ทุกวิถีทางภายใต้หลักการอิสลามและกฎหมาย ในการต่อสู้ปกป้องจะนะ "เมืองอุลามาอ์" ให้เป็นเมืองวิชาการอิสลาม และมีวิถีชีวิตชุมชนอันเป็นแหล่งอาหาร ทั้งสมอง ประมง และเกษตรกรรมของชาติและอาเซียน เพราะวิกฤตโควิดได้เป็นบทเรียนว่า "เมืองอุตสาหกรรมมิใช่คำตอบ"
โดยข้อเรียกร้องหลักมี 2 ข้อ คือ ยกเลิกมติ ครม.ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ทั้งหมด และ 2.ยกเลิกมติคณะกรรมการเปลี่ยนผังเมือง
อนึ่ง สำหรับสาเหตุที่ "เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น" พร้อมองค์กรเครือข่าย ออกมาชุมนุมที่หน้าศาลากลางจังหวัดสงขลาในครั้งนี้ เป็นเพราะเมื่อวันจันทร์ที่ 28 ก.ย.63 ที่ผ่านมา คณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมในเขตจังหวัดสงขลา ได้ประชุมกันและมีมติเปลึ่ยนแปลงผังเมืองในพื้นที่ 3 ตำบลของ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา จาก "สีเขียว" ซึ่งหมายถึงพื้นที่เกษตรกรรม เป็น "สีม่วง" ซึ่งหมายถึงพื้นที่อุตสาหกรรม เพื่อรองรับการลงทุนก่อสร้างโรงงานตามโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต หรือที่รู้จักกันในชื่อ "นิคมอุตสาหกรรมจะนะ"
โดยเมื่อวันที่ 28 ก.ย. "เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น" ถึงขั้นรวมตัวกันบุกห้องประชุมบนศาลากลางจังหวัดสงขลา เพื่อเรียกร้องให้ยุติการประชุมเพื่อเปลี่ยนแปลงผังเมือง แต่ก็ไม่เป็นผล เพราะคณะกรรมการฯมีมติเอกฉันท์ให้เปลี่ยนแปลงผังเมืองในพื้นที่ 3 ตำบล คือ ต.นาทับ ต.ตลิ่งชัน และ ต.สะกอม ใน อ.จะนะ เป็น "สีม่วง" โดยอ้างว่าเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ส.ค.63 ซึ่งอ้างอิงจากเวทีรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านใน 3 ตำบลดังกล่าว เมื่อวันที่ 11 ก.ค.63 แต่ "เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น" มองว่าเวทีรับฟังความคิดเห็นในวันนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ได้เปิดให้ฝ่ายที่คัดค้านเข้าแสดงความคิดเห็นด้วยอย่างเสรี
ตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ.2561 ฝ่ายที่คัดค้านยังทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อโต้แย้งมติของคณะกรรมการพิจารณาผังเมืองรวมฯได้ ซึ่งขณะนี้ไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าทาง "เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น" ได้ยื่นหนังสือคัดค้านไปแล้วหรือยัง แต่ทางเครือข่ายได้ชุมนุมกันอย่างต่อเนื่องที่ศาลากลางจังหวัดสงขลา (อ่านประกอบ : ชี้ช่อง "จะนะรักษ์ถิ่น" ยื่นค้านเปลี่ยนผังเมืองรองรับนิคมฯ)
มีรายงานด้วยว่า ทางผู้ชุมนุมได้เชิญชวนให้ประชาชนที่เห็นด้วยกับพวกตน ร่วมเป็นท่อน้ำเลี้ยงได้ โดยบริจาคเงินผ่านบัญชีของ "สมาคมรักษ์ทะเลจะนะ" ซึ่งเป็นองค์กรหลักในการปกป้องพื้นที่จะนะจากนิคมอุตสาหกรรม
----------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
นิคมอุตสาหกรรมจะนะ ไฟสุมขอนรอวันปะทะ?
กลุ่มต้านโผล่เวที ศอ.บต.เวิร์คชอปเอกชนขับเคลื่อนนิคมอุตฯจะนะ
อิศราถาม - ศอ.บต.ตอบ : ลักไก่ดันนิคมอุตฯจะนะ?
เปิด 2 มติครม."นับหนึ่ง"นิคมอุตฯจะนะ ขีดกรอบหน่วยงานรัฐทำตามกฎหมาย
ศอ.บต.อบรม "บันฑิตอาสา" ลุยขับเคลื่อนนิคมอุตฯจะนะ
ฟังเสียงคนจะนะ...เมื่อนิคมอุตสาหกรรมเคาะประตูบ้าน
ศอ.บต.เปิดเวที 11 ก.ค. ฟังคนจะนะ "รับ-ไม่รับ" นิคมอุตสาหกรรม
ศอ.บต.อ้างชาวบ้านตอบแบบสอบถาม 80% ไม่ค้านนิคมอุตฯจะนะ
ไม่เชื่อ 80% หนุนนิคมอุตฯจะนะ ชาวบ้านเผยใครร่วมเวทีได้ 500
สองกลุ่มเปิดหน้า "หนุน-ค้าน" นิคมอุตฯจะนะ อุ่นเครื่องก่อนเวทีใหญ่
ประเด็นต่อประเด็น : เทียบ 10 เหตุผลกลุ่มต้านนิคมจะนะ กับคำตอบ ศอ.บต.
ทางออกจะนะ? นักวิชาการแนะทบทวนความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ
เครียด! 72 ชม.ก่อนเวทีจะนะ ชี้นิ้วอีกฝ่ายมีผลประโยชน์ รัฐจับตา 4 กลุ่ม
ปธ.สภาอุตฯสงขลาเชียร์นิคมฯจะนะ "หมอสุภัทร"ฉะเวทีแค่พิธีกรรม
จบสงบยกที่ 1 เวทีจะนะ ไร้เหตุปะทะ-กลุ่มต้านถูกสกัด
นายกฯส่งสัญญาณดับชนวนขัดแย้งนิคมอุตฯจะนะ
ปัดข่าวนายกฯแตะเบรกนิคมอุตฯจะนะ แจงแค่สั่งชี้แจงทำความเข้าใจ
ครม.ไฟเขียวลุย "ผังเมือง-บีโอไอ" นิคมอุตฯจะนะ - สั่ง อบจ.สงขลาศึกษาระบบขนส่ง
เวทีคนกลางยังไม่ขยับ กลุ่มค้านนิคมอุตฯจะนะรุกเคลื่อนไหวต่อเนื่อง
พล.ต.ธิรา : ขอครอบครัวละ 1 คนร่วมถกนิคมอุตฯจะนะ
พล.ร.ต.สมเกียรติ : ไทม์ไลน์นิคมอุตฯจะนะ กับจังหวะก้าว ศอ.บต.
มติเอกฉันท์เปลี่ยนผังเมือง "จะนะ" รับนิคมฯ - ชาวบ้านฮือบุกศาลากลางไร้ผล
กลุ่มหนุนนิคมอุตฯจะนะแสดงพลังบ้าง - กรมโยธาฯนัดแถลงปมเปลี่ยนผังเมือง