แม้เวทีรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ก่อสร้างจริงจะยังไม่ได้ขับเคลื่อนเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมตามกระแสเรียกร้องของคนในพื้นที่และกลุ่มเอ็นจีโอก็ตาม
แต่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ก็ได้เดินหน้าจัดเวทีในลักษณะเวิร์คชอปเพื่อให้ข้อมูลและสร้างกระบวนการรับรู้เกี่ยวกับโครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ จ.สงขลา ตามแผนพัฒนาให้เป็นเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต หรือที่รู้จักกันในชื่อ "โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ" ซึ่งมีกระแสต้านจากภาคประชาชนบางส่วนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (อ่านประกอบ : นิคมอุตสาหกรรมจะนะ ไฟสุมขอนรอวันปะทะ?)
เวทีนี้จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 6 มิ.ย.63 ที่ โรงแรม บุรี ศรีภู อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดย ศอ.บต.ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย ชมรมนักธุรกิจรุ่นใหม่ คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่ก่อสร้าง 3 ตำบลของ อ.จะนะ เข้าร่วมกว่า 150 คน
ชื่อกิจกรรมคือการประชุมเชิงปฏิบัติการ กระบวนการสร้างการรับรู้และสร้างการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนโครงการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งถือเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สุดในพื้นที่ความมั่นคงชายแดนใต้ในปัจจุบัน
วัตถุประสงค์ของเวทีก็เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อทิศทางการพัฒนาระดับอนุภูมิภาค หลังพบว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในภาวะถดถอยจากราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำอย่างต่อเนื่องยาวนาน ภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวก็ตกต่ำลงตามลำดับ จากข้อมูลเมื่อต้นปี 2560 พบว่าข้อมูลการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจังหวัดชายแดนภาคใต้มีการขยายตัวเพียงร้อยละ 1.3 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของภาคใต้ทั้งภาพและของประเทศไทยที่มีอัตราการเจริญเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 4 และยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องเพราะถูกซ้ำเติมจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19
วิทยากรที่ร่วมให้ข้อมูลประกอบด้วย นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. นายสันติ รังสิยาภรณ์รัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ และ นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC
เครื่องยนต์ ศก.ใต้ใกล้ดับ - ตกงาน 1.7 ล้าน
นายสันติ นําเสนอภาพรวมข้อมูลเศรษฐกิจ โดยบอกว่า เศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจภาคใต้ และเศรษฐกิจ จ.สงขลา ทั้ง 3 ส่วนล้วนได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ 5 ตัวหลักหดตัวสูงขึ้นและหดตัวต่อเนื่อง ส่งผลต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศ จํานวนคนว่างงานเพิ่มมากขึ้น ที่น่าห่วงคือโครงสร้างเศรษฐกิจภาคใต้กว่าร้อยละ 60 ยังคงพึ่งพาภาคการเกษตร ท่องเที่ยว โดยเฉพาะท่องเที่ยวเป็นเซคเตอร์ที่ได้รับผลกระทบแรงมากจากโควิด คาดการณ์กันว่าจะมีกลุ่มแรงงานมีความเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างกว่า 1.7 ล้านคน
ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องให้ความสําคัญกับมาตรการของรัฐบาลในการฟื้นฟูหลังจากการเยียวยา (จ่าย 5,000 บาท 3 เดือนทั้งกลุ่มประกอบอาชีพอิสระนอกระบบประกันสังคม และเกษตร) ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูกําลังซื้อ ช่วยเหลือแรงงานตกงาน สร้งาภูมิคุ้มกันให้กับภาคครัวเรือนและกลุ่มเอสเอ็มอี ที่สําคัญที่สุดต้องรับมือความท้าทายของโลกหลังโควิด-19 ที่จะก่อให้เกิดธุรกิจเซคเตอร์ใหม่ๆ และมีการโยกย้ายคนและทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
4 กลุ่มธุรกิจแห่งอนาคตรองรับยุคหลังโควิด
ขณะที่ นายคณิศ แสงสุพรรณ ขยายความเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยว่า ภาคการท่องเที่ยวรายได้ลดลง 200,000 ล้านบาท อุตสาหกรรมรถยนต์ปรับเป้าหมายการผลิตจาก 2 ล้านคัน เหลือ 1 ล้านคัน นี่คือ 2 เซคเตอร์ที่กระทบแรง ส่วนอุตสาหกรรมพลังงานและปิโตรเคมีได้รับผลกระทบน้อย รวมถึงภาคเกษตรและอุตสาหกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตร รวมถึงอาหาร
จากสถานการณ์โควิด ทำให้มองเห็นภาคธุรกิจที่จะถดถอย คือการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมรถยนต์ ส่วนธุรกิจในอนาคตที่น่าสนใจมีอยู่ 4 สาขา คือ
1. กลุ่มอุตสาหกรรม 5จี
2. กลุ่มโลจิสติกส์ อี-คอมเมิร์ซ และอี-โลจิสติกส์
3. กลุ่มอัตสาหกรรมสุขภาพ การรักษาพยาบาล ชุมชนสุขภาพ และธุรกิจไฮยีน
และ 4. กลุ่มการพัฒนาเมือง ที่อยู่อาศัย ธุรกิจชมชน เพื่อลดความแออัด เพื่อให้เกิดสังคมสุขภาพดี (ปลอดโรคระบาด)
ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรมจะนะจะตอบสนองธุรกิจและการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ เพราะจะมีทั้งอุตสาหกรรมหนักผลิตกังหันลมและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ที่เป็นพลังงานทางเลือก, อุตสาหกรรมผลิตหัวรถจักรและแคร่ขนตู้สินค้า ซึ่งเป็นเรื่องโลจิสติกส์, อุตสาหกรรมเกษตร ทั้งผลิตอาหารทะเลแปรรูป ผลิตอาหารรฮาลาล ผลิตสินค้าจากยางพาราและปาล์มน้ำมัน, และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ
"การแปรรูปสินค้าเกษตร เราต้องจับมาโยงกับมาตรฐาน5จี เพื่อจับตลาดบน เพิ่มมูลค่า คำถามคือยกระดับอย่างไร ยกตัวอย่างปลากุเลาเค็ม (วิสาหกิจโอรังปันตัย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี) ที่ปรับรูปแบบการผลิตและแปรรูป แต่สิ่งที่ต้องเพิ่มเข้าไปคือใช้อี-คอมเมิร์ซ หรืออย่างอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ก็ต้องขยายตลาดอี-คอมเมอร์ซ ทำอย่างไรให้สินค้าไปปรากฏที่ตะวันออกกลางให้ได้ ส่วนด้านพลังงาน ต้องทำพลังงานทางเลือก เพราะต้องคิดล่วงหน้าถึงวันที่แก๊สหมด ทำให้เราต้องซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านในราคาแพง"
เลขาธิการ EEC ยังได้ย้ำความจำเป็นที่ต้องมีนิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการจ้างงานในเซคเตอร์ใหม่และการลงทุนใหม่ๆ เพราะหลังโควิด-19 คนในพื้นที่จะตกงานมากขึ้นกว่า 2 แสนคน กลับไปทำงานที่มาเลเซียก็ยาก และรูปแบบธุรกิจต้องเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับ new normal หรือวิถีใหม่หลังโควิด
คนตกงานพุ่งเท่าตัว - นิคมฯจะนะลมหายใจชายแดนใต้
ด้าน นายชนธัญ หรือ ดร.เจ๋ง จาก ศอ.บต. ขยายความเพื่อมเกี่ยวกับสถานการณ์คนตกงานที่จะกลายเป็นวิกฤติของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ตั้งแต่เกิดโควิด มีแรงงานไทยกลับจากมาเลเซียราวๆ 2 แสนคน กลับมาแล้วก็ไม่มีงานทำ ขณะที่ในพื้นที่เองก็มีคนตกงานอยู่แล้วราวๆ 2 แสนคน รวมเป็น 4 แสนคน และยังมีนักศึกษาจบใหม่ปีละ 25,000 คน ขณะที่ราคายางตกต่ำต่อเนื่องไม่มีแววฟื้น ที่ยังอยู่ได้เพราะรัฐอุดหนุน ฉะนั้นจึงต้องมีการลงทุนใหม่ๆ เกิดขึ้นในพื้นที่
"สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่มีเส้นทางพัฒนาพาดผ่าน ตั้งแต่ IMT-GT (สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย) ซึ่งทำกันมาต่อเนื่องหลายสิบปี เพิ่งจะเพิ่มระเบียงเศรษฐกิจที่ 6 เมื่อปี 61 โดยรวมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าไป ขณะที่มาเลเซียก็เพิ่มอีก 3 รัฐ เพื่อเชื่อมโยงการค้าระหว่างกัน ที่ผ่านมามาเลเซียมีเขตอุตสาหกรรมประกบทุกด่านชายแดนใต้ แต่ไทยไม่มีเลย เรามีนิคมอุตสาหกรรมปะนาเระ (อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี) แต่ก็ไปต่อไม่ได้ เช่นเดียวกับรับเบอร์ซิตี้ หรือเมืองยาง ก็ไปไม่ได้เช่นกัน ฉะนั้นเศรษฐกิจจะนะจึงเป็นลมหายใจของชายแดนใต้ที่จะต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดขึ้นจริงให้ได้" รองเลขาธิการ ศอ.บต.กล่าว
ในเวทีรับฟังความคิด วิทยากรยังยังยืนยันว่าจะไม่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่อย่างแน่นอน
ผู้นำท้องถิ่นขอเวทีมีส่วนร่วม - โวยโรงแยกแก๊สไร้เงาคนพื้นที่
ช่วงท้ายของเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการ ได้มีการเปิดให้ฝ่ายต่างๆ ได้แสดงความคิดเห็น โดยผู้นำท้องถิ่นใน 3 ตำบลของ อ.จะนะ ได้ผลัดกันลุกขึ้นพูดแสดงความห่วงใยปัญหาการสร้างการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ซึ่งยังมีน้อยเกินไป นอกจากนั้นยังแสดงความกังวลการเลี้ยงนกเขาชวา ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของคนจะนะ มีสนามแข่งขันนกเขาชวาระดับโลก จึงอยากให้ ศอ.บต.ดูแลและอนุรักษ์ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากนิคมอุตสาหกรรม
ขณะเดียวกันได้มีการตั้งคำถามถึงการสร้างงานให้กับคนในพื้นที่ เมื่อมีเขตอุตสาหกรรม โดยยกตัวอย่างว่าที่จะนะมีทั้งโรงแยกแก๊ส และโรงไฟฟ้า สร้างมาเกือบ 20 ปีแล้ว แต่ไม่มีคนในพื้นที่จะนะเข้าไปทำงานได้เลยแม้แต่คนเดียว ฉะนั้นหากจะมีโครงการนิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นจริง ก็ต้องมีหลักประกันให้คนพื้นที่ได้มีตำแหน่งงาน
ทั้งนี้ ประเด็นที่เป็นข้อเสนอ ข้อห่วงใย และข้อสังเกตต่างๆ จากฝ่ายต่างๆ ทาง ศอ.บต.ได้รับไปวางแผนแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการจัดเวทีสร้างการมีส่วนร่วม และการสร้างงานให้กับคนในพื้นที่อย่างแท้จริง ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องการศึกษาของเด็กในพื้นที่ไม่ได้เรียนตรงกับสาขาที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการ
"เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น" ชูป้ายประท้วง
ขณะเดียวกัน ที่บริเวณด้านหน้าโรงแรม บุรี ศรีภู มีชาวบ้านจาก อ.จะนะ ในนามของ "เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น" รวมตัวกันประมาณ 50 คน ถือป้ายคัดค้านโครงการ พร้อมออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ยกเลิกโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ เพราะไม่มีการสร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างแท้จริง
เนื้อหาของแถลงการณ์อ้างว่า โครงการนี้ถูกสร้างขึ้นจากกระบวนการเท็จตั้งแต่ต้น และกำลังกลายเป็นโครงการที่สร้างความขัดแย้งในชุมชนที่อาจจะหนักขึ้นในอนาคต และจะเป็นความอัปยศที่สุดของ ศอ.บต. โดยสังเกตได้ถึงความผิดปกติและผิดมาตรฐานในแนวทางการดำเนินของ ศอ.บต. อย่างไม่เคยมีมาก่อน อย่างเช่น
1. ศอ.บต. กำลังกลายเป็นผู้ยุยงส่งเสริมและสร้างความขัดแย้งเสียเองในพื้นที่ อ.จะนะ อันเกิดจากความคิดเห็นและความไม่เข้าใจถึงข้อเท็จจริงในโครงการอย่างครบถ้วนตั้งแต่ต้น โดยได้มีการสร้างและสนับสนุนผู้นำชาวบ้านที่เห็นด้วยจำนวนหนึ่งทำหน้าที่เสมือนเป็นเจ้าหน้าที่ของ ศอ.บต. มาดำเนินการจัดเวทีในชุมชนอย่างไม่เข้าใจกระบวนการและข้อกฎหมาย แล้วอ้างว่าสามารถจะดำเนินการตามที่ประชาชนร้องขอทุกอย่างหากโครงการนี้เกิดขึ้นได้จริง แต่กลับไม่สามารถอธิบายรายละเอียดของโครงการได้เมื่อถูกชาวบ้านทั่วไปซักถาม
2. ศอ.บต.สร้างฉากจัดเวทีเพียงรูปแบบ หวังเพียงรายชื่อและลายเซ็นชาวบ้านที่จะนำไปอ้างว่ามีผู้สนับสนุนโครงการจำนวนมากให้กับรัฐบาล แต่ไม่สนใจสร้างความเข้าใจในเชิงเนื้อหาสาระที่เป็นข้อเท็จจริง และยังใช้วิธีการล่อใจในรูปแบบต่างๆ อย่างเช่นการแจกเงินและข้าวของให้คนเข้าร่วมประชุมในแต่ละครั้ง
3. ศอ.บต.และกลุ่มทุนที่ร่วมขับเคลื่อนโครงการพยายามรวบรัดขั้นตอนกระบวนการดำเนินงานโดยไม่สนใจระเบียบปฏิบัติทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และไม่สนใจต่อสภาวะทางสังคมวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ อันรวมถึงวิกฤติด้านสุขภาพในปัจจุบัน ดังเช่นความพยายามที่จะจัดเวทีแก้ไขผังเมืองในช่วงการที่มีการถือศีลอดของพี่น้องมุสลิม และยังเป็นช่วงการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จนถูกสั่งให้ยกเลิกเวทีออกไป
4. รัฐบาลอนุมัติโครงการก่อน แต่พยายามจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นตามหลังอย่างเสียไม่ได้ ด้วยว่าโครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่มาก ซึ่งจะสร้างความเสียหายกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างมหาศาลในอนาคต และเชื่อว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนสภาพของชายหาดอย่างรุนแรง รวมถึงการทำลายระบบนิเวศโดยรวมของสัตว์น้ำ แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำทะเลทั่วทั้งจังหวัดสงขลา อันจะนำมาซึ่งความยากลำบากในการดำรงชีวิตปกติของประชาชนในชุมชนทั้ง 3 ตำบลของ อ.จะนะอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จึงควรเปิดกว้างการรับฟังความคิดเห็นคนสงขลาทั้งจังหวัดตั้งแต่ต้น ไม่ใช่กลับหัวกลับหางทำกันแบบนี้
5. โครงการนี้ดำเนินงานด้วยความรีบเร่งในช่วงปลายของรัฐบาลประยุทธ์ 1 ซึ่งถือเป็นมติครม.ฉบับสุดท้ายก่อนหมดวาระการบริหารงานของรัฐบาล เสมือนเป็นการทิ้งทวนของรัฐบาล คสช. อย่างผิดปกติ
ทางเครือข่ายฯเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้องและไม่ชอบตามหลักกระบวนการการมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ทั้งที่โครงการดังกล่าวถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่จะส่งผลกระทบกับประชาชนในวงกว้าง ศอ.บต.จึงควรให้ความสำคัญกับการดำเนินการอย่างมีมาตรฐานมากกว่าที่เป็นอยู่ ให้มีความเป็นธรรมาภิบาลที่ไม่ใช่แค่คิดจะเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนเท่านั้น เพราะท้ายที่สุดแล้วผู้ที่จะต้องแบกรับผลกระทบทั้งหมดคือชุมชนในพื้นที่ทั้ง 3 ตำบลของ อ.จะนะ และคนทั้ง จ.สงขลา
เราจึงขอเรียกร้องให้ ศอ. บต. ยกเลิกโครงการนี้ในทันที
----------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
เลเซอร์ลามชายแดนใต้? ยิงข้อความต้านนิคมฯจะนะที่ศูนย์ราชการฯ ศอ.บต.
ตั้ง 2 ประเด็น "ยิงเลเซอร์-แต่งภาพ" แฮชแท็กต้านนิคมฯจะนะบนตึก ศอ.บต.
ป่วนอีก! วางวัตถุต้องสงสัยในเมืองยะลาไม่ห่าง ศอ.บต.
ผู้การยะลาฟันธงไม่มียิงเลเซอร์ แค่ตัดต่อภาพ ชี้ฝีมือกลุุ่มต้านนิคมฯจะนะ