โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา หรือที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า "เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต" ถูกตั้งคำถามจากภาคประชาชนและเอ็นจีโอผู้คัดค้านว่า มีการชงเรื่องให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติไปก่อนแล้ว จากนั้นจึงเพิ่งมาทำเวทีสอบถามความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ก่อสร้างในภายหลัง
กลายเป็นข้อกล่าวหาว่าหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. "ลักไก่" และไม่สนใจการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงใน 3 ตำบลของ อ.จะนะ ซึ่งเป็นพื้นที่หลักของโครงการ
จากการตรวจสอบย้อนหลังของ "ทีมข่าวอิศรา" พบว่า โครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ จ.สงขลา นี้ ถูกเสนอเข้าพิจารณาใน ครม.แล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 พ.ค.2562 และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 21 ม.ค.2563
รายละเอียดของมติ ครม.จะเป็นหลักฐานที่จะตอบคำถามและข้อข้องใจทั้งหมด...
อนุมัติหลักการเมืองต้นแบบที่ 4
เริ่มจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พ.ค.2562 อยู่ในวาระที่ 14 เรื่อง การขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ จ.สงขลา "เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต" คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบดังนี้
1. "เห็นชอบในหลักการ" การขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ไปสู่ เมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ จ.สงขลา "เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต" และการจัดตั้ง คณะกรรมการบริหารเขตพื้นที่พัฒนาเฉพาะกิจเมืองต้นแบบฯ อ.จะนะ จ.สงขลา ตามที่ ศอ.บต.เสนอ
2. ให้ ศอ.บต. กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการในขั้นตอนต่อไปให้ถูกต้อง ครบถ้วน เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่ เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้รับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
สาระสาคัญของเรื่อง
ศอ.บต.ได้เสนอขออนุมัติขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" จากเดิมที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ 4 ต.ค.2559 เห็นชอบในหลักการโครงการเมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" (ปี 2560 -ปี 2563) โดยมีพื้นที่ดำเนินการนำร่องใน3 อำเภอ ได้แก่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส และ อ.เบตง จ.ยะลา โดยครั้งนี้จะขอขยายผลโครงการเมืองต้นแบบฯ ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในคราวประชุมครั้งที่1/2562 เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2562 (ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน) ได้มีมติเห็นชอบในหลักการแล้ว
ดังนั้น ศอ.บต. จึงเสนอความเห็นชอบการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบฯ และเห็นชอบกรอบแผนงานโครงการภายใต้เมืองต้นแบบฯ รวมทั้งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดาเนินการ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
4 มาตรการจูงใจเอกชน - 5 แผนพัฒนา - ตั้งกองทุนคุณภาพชีวิต
วัตถุประสงค์ : เพื่อยกระดับการพัฒนา 4 อำเภอของ จ.สงขลา (อ.จะนะ นาทวี เทพา และสะบ้าย้อย) และให้ อ.จะนะ จ.สงขลา ยกระดับการพัฒนาเชิงพื้นที่ทั้งระบบ และครบวงจร เพื่อให้มีความเข้มแข็งและเป็นกลไกสาคัญขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคใต้ตอนล่างที่สามารถเชื่อมโยงไปยังพื้นที่จังหวัดชายแดน ภาคใต้และภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ รวมทั้งเชื่อมโยงการพัฒนาเศรษฐกิจไปยังประเทศอื่นๆ โดยมุ่งเน้นการลงทุนของภาคเอกชนเป็นสำคัญ
มาตรการ : ศอ.บต.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนไปลงทุนในพื้นที่ เช่น (1) มาตรการการรักษาความปลอดภัย (2) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ภาครัฐ สนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัยส่วนต่างอย่างน้อยร้อยละ 50 (3) การให้สิทธิประโยชน์ทางการคลังและการเงินแก่ภาคธุรกิจ (4) การลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิ นิติกรรม การโอน และการจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์และห้องชุด
กรอบแผนงานโครงการของภาคเอกชน : แผนงานโครงการ พ.ศ.2562-2566 ประกอบด้วย 5 แผนงานโครงการ ได้แก่ (1) การพัฒนาท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 เป็นท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 (2) การวางแผนและลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า (พลังงานไฟฟ้าทางเลือก Energy Complex) (3) การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมจะนะ (4) การบริหารจัดการด้านน้ำและสิ่งแวดล้อม และ (5) การจัดตั้งกองทุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนโครงการ : หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยมีประเด็นที่จะต้องดำเนินการ เช่น (1) ให้กระทรวงการคลังประกาศให้พื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา เป็นคลังสินค้าทัณฑ์บนและเขตปลอดอากร รวมทั้งดำเนินการพัฒนาเป็นพื้นที่ศุลกากรเป็นระบบ (2) ให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภาค 4 ส่วนหน้า กำหนดพื้นที่ปลอดภัยในเมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ จ.สงขลา
ชงประกาศพื้นที่พัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ
นอกจากนี้ ศอ.บต.ได้เสนอขอให้ ศอ.บต.ประกาศพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ให้เป็น "พื้นที่พัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ" ตามนัยมาตรา 10 ของพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 และเสนอขอจัดตั้งคณะกรรมการบริหารเขตพื้นที่พัฒนาเฉพาะกิจเมืองต้นแบบฯ อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ และมีคณะกรรมการตามที่นายกรัฐมนตรีเห็นชอบไม่เกิน 8 คน โดยมอบหมายให้ ศอ.บต. ร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นกรรมการ และเลขานุการ
"จะนะ" ฉลุย "เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ
หลังจากนั้นในวันที่ 21 ม.ค.2563 คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเรื่องนี้อีกครั้ง โดยครั้งนี้อยู่ในวาระที่ 10 สรุปผลการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ครั้งที่ 1/2562
คณะรัฐมนตรีมีมติ "รับทราบและเห็นชอบ" ผลการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ครั้งที่ 1/2562 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เสนอดังนี้ (เฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับโครงการเมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต)
คณะรัฐมนตรี "รับทราบ" การประกาศกำหนดให้ อ.จะนะ จ.สงขลา ในฐานะเมืองต้นแบบที่ 4 "เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต" เป็นเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ
คณะรัฐมนตรี "เห็นชอบ" ในหลักการของแผนเร่งด่วนการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ จ.สงขลา เพื่อให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับแผนงานดังกล่าว ไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง : ศอ.บต.นำเสนอผลการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 31 ต.ค.2562 เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบในเรื่องต่าง ๆ เช่น การประกาศให้ อ.จะนะ จ.สงขลา ในฐานะเมืองต้นแบบที่ 4 "เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต" เป็นเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ โดยได้เสนอคณะรัฐมนตรีขอความเห็นชอบในหลักการของแผนเร่งด่วนการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ จ.สงขลา เนื่องจากเขตพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา และพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่มีนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับแรงงานในพื้นที่จำนวนมาก และมีความพร้อมด้านกายภาพจากลักษณะทางกายภาพที่เป็นพื้นที่ชายฝั่ง จึงมีความเหมาะสมที่จะดำเนินการท่าเรือน้ำลึก เพื่อให้นิคมอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นสามารถใช้ประโยชน์จากการนำเข้าและส่งออกสินค้าได้อย่างสะดวก
เดินหน้าเคลียร์ผังเมือง - ท่าเรือน้ำลึก - ถนน - ราง
โดยสาระสำคัญของแผนเร่งด่วนการลงทุนฯ ครอบคลุม 4 แผนงาน สรุปได้ดังนี้
ด้านผังเมือง : ปรับปรุงผังการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ (1) ตำบลนาทับ (2) ตำบลตลิ่งชัน และ (3) ตำบลสะกอม ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่พัฒนาโครงการ ได้รับการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นพื้นที่สีเขียวและสีเขียวคาดขาว ทำให้ไม่สามารถจัดตั้งโรงงานและการประกอบอุตสาหกรรมบางประเภท ส่งผลให้เอกชนที่สนใจไม่สามารถลงทุนในโครงการได้
- ให้ ศอ.บต. มีอำนาจปรับปรุงผังการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ 3 ตำบล และให้ประกาศใช้ผังการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ได้รับการปรับปรุงแล้วใน 12 เดือน
- ให้ ศอ.บต. สามารถดำเนินการยกเว้นกฎหมายผังเมืองในการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินของ 3 ตำบล เพื่อให้สามารถเกิดการลงทุนในพื้นที่ได้ทันที
ด้านโครงข่ายการขนส่งสินค้าทางน้ำ (ท่าเรือ) : เป็นโครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลาติดข้อจำกัดด้านงานมวลชลสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อม
- ให้ ศอ.บต เชิญชวนเอกชนที่สนใจและมีความพร้อมในการร่วมพัฒนาและเสนอโครงการให้ภาครัฐพิจารณา
ด้านโครงข่ายการขนส่งสินค้าทางบก (ถนนและราง) : ถนนส่วนใหญ่ในพื้นที่ตำบลที่อยู่ในเขตพื้นที่พัฒนาโครงการฯ เดิมมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนและการประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม ทำให้ไม่สามารถรองรับความต้องการเดินทางของบุคลากรที่เป็นแรงงานและการขนส่งสินค้า
- ให้ ศอ.บต. ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา และ/หรือสำนักงานจังหวัดสงขลา จัดทำแผนแม่บทด้านการขนส่งและจราจรจังหวัดสงขลาและส่งมอบแผนงาน/โครงการตามแผนแม่บทดังกล่าวให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งงบประมาณต่อไป
ด้านพลังงาน : การสร้างโรงไฟฟ้ามั่นคงภาคใต้ ได้แก่ โรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ ณ จ.สุราษฎร์ธานี ขนาดกำลังผลิตไฟฟ้า 930 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าที่จะสร้างใหม่ ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้า 1,700 เมกะวัตต์
- การกำหนดพื้นที่เพื่อจัดตั้งโรงไฟฟ้าที่เกี่ยวข้อง
บทสรุป
ทั้งหมดนี้คือรายละเอียดทั้งหมดที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไปแล้วเกี่ยวกับโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ รวมทั้งการประกาศเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ จ.สงขลา เพื่อเปิดทางให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับแต่ละแผนงาน ไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
ฉะนั้นหากจะบอกว่า "เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต" อ.จะนะ จ.สงขลา นับหนึ่งแล้วก็คงไม่ผิด เพียงแต่มติคณะรัฐมนตรีกำกับไว้ชัดว่าจะต้องดำเนินการไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกขั้นตอน แปลความง่ายๆ ก็คือ กฎหมายทุกข้อที่เกี่ยวกับการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ หรือ "เมกะโปรเจค" ซึ่งต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกขั้นตอนนั่นเอง!
----------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
นิคมอุตสาหกรรมจะนะ ไฟสุมขอนรอวันปะทะ?
กลุ่มต้านโผล่เวที ศอ.บต.เวิร์คชอปเอกชนขับเคลื่อนนิคมอุตฯจะนะ
อิศราถาม - ศอ.บต.ตอบ : ลักไก่ดันนิคมอุตฯจะนะ?
ขอบคุณ : ภาพทะเลจะนะจาก เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น