นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งลงมายังหน่วยงานในพื้นที่ให้ระมัดระวังการขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ จ.สงขลา ไม่ให้บานปลายกลายเป็นความขัดแย้ง พร้อมย้ำบทบาทของ ศอ.บต.ต้องไม่ล้ำเส้นจนเผชิญหน้ากับชาวบ้าน ด้านเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเดินหน้าเรียกร้องให้ยกเลิกมติ ครม.และทบทวนโครงการ
มีรายงานจากหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ว่า หลังจากการขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบทื่ 4 อ.จะนะ จ.สงขลา ในฐานะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต มีแนวโน้มบานปลายกลายเป็นความขัดแย้ง เนื่องจากกลุ่มที่ออกมาคัดค้านมีความเป็นกลุ่มก้อนชัดเจน และยังเชื่อมโยงกับกลุ่มต่อต้านโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ หรือ "เมกะโปรเจค" ในพื้นที่อื่นๆ ด้วย เช่น อ.เทพา จ.สงขลา ที่เคยมีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือ จ.สตูล ที่มีโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก
แม้จะมีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ก่อสร้างโครงการ 3 ตำบลของ อ.จะนะแล้วก็ตาม แต่ก็ยังถูกวิจารณ์ว่าเป็นเวทีที่ไม่ได้เปิดกว้างให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทั้งด้านบวกและด้านลบอย่างชัดเจนกว้างขวางนั้น
ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีคำสั่งลงมายังหน่วยงานในพื้นที่ ให้ระมัดระวังการขับเคลื่อนโครงการนี้ โดยต้องเน้นสร้างความเข้าใจทั้งประชาชนในพื้นที่โครงการ และประชาชนในพื้นที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกลุ่มที่ออกมาคัดค้าน เพื่อให้เกิดความชัดเจน โดยเฉพาะผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่หลายฝ่ายมีความกังวล โดยอาจต้องมีการเปิดเวทีอย่างเป็นทางการเพื่อให้ทั้งกลุ่มผู้สนับสนุนและกลุ่มคัดค้านได้แสดงความเห็นกันอย่างเต็มที่
มีรายงานด้วยว่า ผู้ใหญ่ในรัฐบาลกังวลกับบทบาทของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ที่แสดงท่าทีผลักดันโครงการอย่างเต็มกำลัง จนอาจเผชิญหน้ากับประชาชนในพื้นที่ได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่คัดค้าน ซึ่งหากปล่อยให้เป็นแบบนั้น จะกระทบงานด้านอื่นๆ ของ ศอ.บต. โดยเฉพาะการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อแก้ไขปัญหาความมั่นคง ดังนั้นจึงมีการส่งสัญญาณให้ ศอ.บต.ลดบทบาทลงชั่วคราว และให้หน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยกันในแง่ของการให้ข้อมูลกับประชาชนและเปิดเวทีที่เป็นทางการสำหรับให้ทั้งสองฝ่ายได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนเพื่อประกอบการตัดสินใจในการทำประชาพิจารณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไป
"ประวิตร-กพต." สั่งทุกกระทรวงช่วย ศอ.บต.
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 ก.ค.63 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กพต. ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี ศอ.บต.เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์
การประชุมมีขึ้นที่ห้องประชุมครม.ห้องเก่า อาคารสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยที่ประชุมได้เห็นชอบตามที่ ศอ.บต.เสนอเรื่องสำคัญหลายเรื่อง โดยมอบหมายให้กระทรวงต่างๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนการปฏิบัติงานโครงการที่เชื่อมโยงการพัฒนาเพื่อเสริมความมั่นคงในทุกมิติ ได้แก่ การใช้ประโยชน์ที่ดิน และการดำเนินการป่าชุมชนฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก, การบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าแบบครบวงจร, การบริหารจัดการน้ำเพื่อความยั่งยืน, การพัฒนาด่านการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย และผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อขับเคลื่อนโครงการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ จ.สงขลา
พล.อ.ประวิตร ได้เน้นย้ำถึงเรื่องการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ทุกหน่วยงานจะต้องให้ความสำคัญเร่งด่วนสูงสุด มีการบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง เพื่อประโยชน์ของประชาชนและความมั่นคงของประเทศตามเป้าหมายของรัฐบาล ที่ต้องการสร้างสันติสุข ประชาชนมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี โดยอยู่ร่วมกันได้ในสังคมพหุวัฒนธรรม สร้างเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงการพัฒนาทุกระดับ เช่น โครงการเมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" โดยเฉพาะที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน คือ อ.จะนะ จ.สงขลา โดยขอให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อไป
พล.อ.ประวิตร ยังได้สั่งการ ศอ.บต.ให้ประสานการปฏิบัติตามมติของ กพต.กับทุกภาคส่วนให้มีความคืบหน้าเป็นรูปธรรม และกำชับให้กระทรวงต่างๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องให้การสนับสนุน ศอ.บต. พร้อมทั้งร่วมกันขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ไปด้วยกัน เน้นย้ำการสร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจ โดยนำประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นตัวตั้ง เพื่อให้เกิดการพัฒนาร่วมกัน ต้องลดความเหลื่อมล้ำให้ได้ รัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนช่วยเหลือ และจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างเด็ดขาด เพื่อพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยเร็ว
"จะนะรักษ์ถิ่น" จี้เลิกมติ ครม. - ศอ.บต.ยุติบทบาท
อีกด้านหนึ่ง "เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น" ซึ่งประกาศจุดยืนคัดค้านโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ได้รวมตัวกันเมื่อวันศุกร์ที่ 17 ก.ค. และได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ ให้ยกเลิกมติ ครม.และหยุดใช้อำนาจพิเศษของ ศอ.บต.ในการขับเคลื่อนโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต เพราะกำลังทำผิดรัฐธรรมนูญ
เนื้อหาของจดหมายเปิดผนึกสรุปว่า การดำเนินโครงการน่าจะผิดขั้นตอน ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 58 เนื่องจาก ครม.ได้อนุมัติโครงการไปก่อนที่จะมีการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ไม่มีการจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน หรือ EHIA ตามที่กฎหมายกำหนดไว้
กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ ศอ.บต.อ้างถึง ว่าได้ดำเนินการมาแล้วหลายสิบเวทีในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงเวทีเมื่อวันที่ 11 ก.ค.63 ไม่ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 และไม่มีความชัดเจนว่า ศอ.บต.ได้ดำเนินกระบวนการเหล่านั้นให้อยู่ในส่วนไหนของขั้นตอนการดำเนินโครงการ
แม้ ศอ.บต.จะอ้างพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 ตามมาตรา 9 และ 10 ถึงอำนาจหน้าที่ในการดำเนินโครงการนี้ หากแต่พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวได้กำหนดให้ ศอ.บต. จัดทำระเบียบเพื่อการปฏิบัติในโครงการนั้นด้วย ซึ่งไม่เห็นว่าการดำเนินงานในช่วงเวลาที่ผ่านมาหลังคณะรัฐมนตรีอนุมัติเห็นชอบหลักการโครงการเมื่อวันที่ 7 พ.ค.62 ศอ.บต.ได้ยึดระเบียบปฏิบัติใดในการดำเนินการ และได้หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการนั้นๆ ด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะข้อปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ตลอดทั้งการแก้ไขผังเมือง
เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นและเครือข่ายภาคีภาคประชาชน 198 องค์กร มีข้อเสนอดังนี้
1. ขอให้รัฐบาลทบทวนโครงการนี้ โดยต้องยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีทั้ง 2 ครั้ง คือ มติเมื่อวันที่ 7 พ.ค.62 และมติเมื่อวันที่ 21 ม.ค.63 อีกทั้งปัจจุบัน จ.สงขลา มีนิคมอุตสาหกรรมอยู่แล้วถึง 2 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ (ฉลุง) และเขตเศรษฐกิจพิเศษสะเดา ซึ่งรัฐบาลควรจะต้องสร้างมาตรการส่งเสริมสนับสนุนและเชิญชวนให้ภาคเอกชนได้เข้าไปใช้ประโยชน์พื้นที่ทั้งสองแห่งให้เต็มพื้นที่เสียก่อน อันเป็นไปตามความต้องการของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
2. หากรัฐบาลจะเดินหน้าเพื่อพัฒนาอำเภอจะนะต่อไป ต้องมีการศึกษาการประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) และการศึกษา EHIA ตามมาตรา 58 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นข้อมูลนำมากำหนดทิศทางการพัฒนาพื้นที่ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ เพราะการพัฒนาที่ยั่งยืนไม่อาจจะเกิดจากการพัฒนาอุตสาหกรรมเพียงด้านเดียว และขอให้มีการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น โดยการสร้างกลไกอันเป็นที่ยอมรับ มีความหลากหลายของภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างสำคัญ เพื่อทำการขับเคลื่อนแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง และสร้างมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับคนในพื้นที่อย่างเท่าเทียมกัน โดยต้องศึกษาศักยภาพของพื้นที่ในทุกมิติเสียก่อน แล้วจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างแท้จริงก่อนที่จะกำหนดให้โครงการใดๆ เกิดขึ้นในพื้นที่
หากรัฐบาลไม่ทำการทบทวนตามข้อเรียกร้อง และยังปล่อยให้ ศอ.บต.ดำเนินโครงการนี้อย่างผิดระบบผิดระเบียบอีกต่อไป พวกตนจะดำเนินการในทางกฎหมายตามสิทธิหน้าที่อันบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
-----------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
นิคมอุตสาหกรรมจะนะ ไฟสุมขอนรอวันปะทะ?
กลุ่มต้านโผล่เวที ศอ.บต.เวิร์คชอปเอกชนขับเคลื่อนนิคมอุตฯจะนะ
อิศราถาม - ศอ.บต.ตอบ : ลักไก่ดันนิคมอุตฯจะนะ?
เปิด 2 มติครม."นับหนึ่ง"นิคมอุตฯจะนะ ขีดกรอบหน่วยงานรัฐทำตามกฎหมาย
ศอ.บต.อบรม "บันฑิตอาสา" ลุยขับเคลื่อนนิคมอุตฯจะนะ
ฟังเสียงคนจะนะ...เมื่อนิคมอุตสาหกรรมเคาะประตูบ้าน
ศอ.บต.เปิดเวที 11 ก.ค. ฟังคนจะนะ "รับ-ไม่รับ" นิคมอุตสาหกรรม
ศอ.บต.อ้างชาวบ้านตอบแบบสอบถาม 80% ไม่ค้านนิคมอุตฯจะนะ
ไม่เชื่อ 80% หนุนนิคมอุตฯจะนะ ชาวบ้านเผยใครร่วมเวทีได้ 500
สองกลุ่มเปิดหน้า "หนุน-ค้าน" นิคมอุตฯจะนะ อุ่นเครื่องก่อนเวทีใหญ่
ประเด็นต่อประเด็น : เทียบ 10 เหตุผลกลุ่มต้านนิคมจะนะ กับคำตอบ ศอ.บต.
ทางออกจะนะ? นักวิชาการแนะทบทวนความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ
เครียด! 72 ชม.ก่อนเวทีจะนะ ชี้นิ้วอีกฝ่ายมีผลประโยชน์ รัฐจับตา 4 กลุ่ม