"รัฐบาลอนุมัติโครงการก่อน แล้วค่อยจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นตามหลัง..."
ประเด็นนี้คือความคาใจอย่างยิ่งของกลุ่มผู้คัดค้านโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ จ.สงขลา หรือที่เรียกกันติดปากว่า "โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ" ซึ่งรวมตัวกันเป็นเครือข่ายที่ใช้ชื่อว่า "เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น"
ในแถลงการณ์ฉบับล่าสุดของเครือข่ายฯ ที่ไปประกาศระหว่างรวมตัวที่หน้าโรงแรม บุรี ศรีภู อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันเสาร์ที่ 6 มิ.ย.63 ขณะที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กำลังจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้ข้อมูลและสร้างกระบวนการรับรู้เกี่ยวกับโครงการนี้อยู่ด้านใน ก็มีระบุข้อกังขาในประเด็นนี้ไว้ในข้อ 4 จากข้อเรียกร้อง 5 ข้อในแถลงการณ์
"4. รัฐบาลอนุมัติโครงการก่อน แต่พยายามจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นตามหลังอย่างเสียไม่ได้ ด้วยว่าโครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่มาก ซึ่งจะสร้างความเสียหายกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างมหาศาลในอนาคต และเชื่อว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนสภาพของชายหาดอย่างรุนแรง รวมถึงการทำลายระบบนิเวศโดยรวมของสัตว์น้ำ แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำทะเลทั่วทั้งจังหวัดสงขลา อันจะนำมาซึ่งความยากลำบากในการดำรงชีวิตปกติของประชาชนในชุมชนทั้ง 3 ตำบลของ อ.จะนะอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จึงควรเปิดกว้างการรับฟังความคิดเห็นคนสงขลาทั้งจังหวัดตั้งแต่ต้น ไม่ใช่กลับหัวกลับหางทำกันแบบนี้"
จะบอกว่านี่คือความคาใจและคับข้องใจที่สำคัญที่สุดของชาวบ้านในกลุ่มที่คัดค้านโครงการก็ว่าได้ และส่งผลถึงการขับเคลื่อนโครงการในมิติอื่นๆ แทบทั้งหมด โดยเฉพาะการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ก่อสร้าง ซึ่งก็คือ 3 ตำบลใน อ.จะนะ คือ ต.นาทับ ต.ตลิ่งชัน และ ต.สะกอม จนต้องเลื่อนและล้มไปหลายครั้ง
และในการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ที่โรงแรม บุรี ศรีภู อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันเสาร์ที่ 6 มิ.ย. "ทีมข่าวอิศรา" ได้ไปร่วมสังเกตการณ์ทำข่าว และได้ตั้งคำถามกับตัวแทน ศอ.บต.ที่เป็นโต้โผจัดงาน คือ นายชนธัญ แสงพุ่ม หรือ "ดร.เจ๋ง" รองเลขาธิการ ศอ.บต.
คำถามของ "ทีมข่าวอิศรา" ก็คือ "ตลอดการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ได้ทราบถึงความจำเป็นในการเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ แต่เท่าที่ได้รับฟังความเห็นจากทางฝั่งชาวบ้านในพื้นที่ และกลุ่มที่ออกมาคัดค้าน เขาติดใจเรื่องการไม่เปิดพื้นที่ให้ผู้ได้รับผลกระทบได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ที่สำคัญคือเรื่องนี้ผ่าน ครม.ไปก่อนแล้ว ถึงได้มาเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ชาวบ้านมองว่าเป็นการลักไก่ จึงอยากทราบว่าข้อเท็จจริงเรื่องนี้เป็นอย่างไร"
แจง ครม.อนุมัติหลักการ - ศอ.บต.ปฏิบัติตาม กม.
นายชนธัญ ตอบคำถามนี้ว่า "น่าจะเป็นความเข้าใจผิด เพราะเมื่อเดือน พ.ค.ปี 62 (โครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ เข้าครม.เมื่อวันที่ 7 พ.ค.62) ครม.ระบุไว้ชัดเจนว่ามีการอนุมัติในหลักการเท่านั้น ในส่วนของการดำเนินการ ให้ไปดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ทีนี้การดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องมีเรื่องอะไรบ้าง ช่วงเดือน พ.ค.ถึง ธ.ค. ที่ผ่านมา สิ่งที่จะต้องดำเนินการภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ การบังคับใช้มาตรา 10 ของ พ.ร.บ.ศอ.บต. (พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553) การพัฒนาเขตเฉพาะกิจพิเศษ ก่อนจะประกาศ ศอ.บต.ต้องดำเนินการรับฟังความเห็นจากประชาชน ซึ่งเป็นไปตามกรอบการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และไม่ใช่เรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่มีเรื่องของสังคม การศึกษา วัฒนธรรม การต่างประเทศ สังคมจิตวิทยา เรื่องต่างๆ เหล่านี้ที่อยู่ในเรื่องของการพัฒนาที่เชื่อมโยงกัน ไม่ใช่หมายถึงแค่เศรษฐกิจอย่างเดียว เพราะมันส่งผลต่อประชาชน มันต้องทำหลายๆ เรื่องๆ ของการจัดทำกรอบการบริหารการพัฒนาพื้นที่
ระดมทุกหน่วยเคลียร์ปมเอกสารสิทธิ์ที่ดินชาวบ้าน
วันนี้เองหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติฯ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึง ส.ป.ก. (สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม) ได้ลงพื้นที่เพื่อไปเร่งทำเรื่องของเอกสารสิทธิ์ให้กับประชาชน เนื่องจากประชาชนไม่มีเอกสารสิทธิ์์
หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องต้องลงไปในพื้นที่ เพราะเรื่องนี้เป็นสิ่งที่สำคัญของคนใน 3 จังหวัด คนไม่มีเอกสิทธิ์กันมาก จะเห็นได้ว่าเรื่องสิทธิทำกินเป็นเรื่องแรกที่ศอ.บต.ได้ดำเนินการตามความเป็นจริงที่ผ่านมา เพราะสิ่งที่กังวลที่สุดของประชาชนข้อแรก คือเขาไม่มีเอกสารแสดงสิทธิ์ในการทำอะไรต่างๆ ฉะนั้นหากว่าในอนาคตรัฐจะเอาที่ดินทำกินของเขาด้วยวิธีการเวนคืน ชาวบ้านก็ไม่มีอำนาจในการต่อสู้
นี่คือเรื่องแรกที่ ศอ.บต. ทำภายใต้ พ.ร.บ.ศอ.บต. ควบคู่กับประกาศเรื่องเมืองต้นแบบ เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งตามมติ ครม. ถ้าเราไม่นึกถึงประชาชน เราจะทำเรื่องนี้หรือไม่
"เจ้าท่า-จัดหางาน" สนองความต้องการทุกด้าน
การจัดสรรที่ดิน ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4-5 หน่วยงานลงไปดำเนินการในปีนี้ หลังจากนั้นผู้ที่มีหน้าที่จะต้องเชิญส่วนราชการต่างๆ เข้าไปดูว่าความต้องการของประชาชนในพื้นที่มีอะไร ก็จะต้องใช้อำนาจหน้าที่ของทุกส่วนไปดำเนินการ เช่น วันนี้กรมเจ้าท่าต้องลงพื้นที่สำหรับทำท่าเรือ 3 แห่งในพื้นที่ ต้องอำนวยความสะดวกให้เรือประมงขึ้นฝั่งให้ได้ นี่เป็นเรื่องของกรมเจ้าท่าต้องควบคุม
กรมพัฒนาฝีมือแรงงานก็จะไปดูในเรื่องของการพัฒนาฝีมือแรงงานให้ตอบโจทย์กับการพัฒนาในพื้นที่ ช่างเชื่อม ช่างต่างๆ มีความจำเป็น ก็จะต้องพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีทักษะในส่วนนี้
เพราะฉะนั้นวันนี้ต้องบอกว่า ศอ.บต.ได้ดำเนินการตาม กฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ศอ.บต.เท่านั้น โดยในมาตรา 10 บอกว่าเราต้องทำงานพัฒนา ขณะเดียวกันเราต้องหาเจ้าภาพแต่ละกลุ่มมารับผิดชอบเรื่องความจำเป็นและความต้องการของประชาชน
ความสำคัญมันคือระยะต่อเนื่อง นอกจากมติ ครม. ยังมีกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ยกตัวอย่างการประชุมวันนี้ พี่น้องใน จ.สงขลา ทาง อบจ. (องค์การบริหารส่วนจังหวัด) ทำการผังเมืองจังหวัดสงขลาเป็นสีม่วง แต่พอมีมติครม.ออกมาว่าจะดูในเรื่องของการพัฒนาพื้นที่จะนะ ทำให้ อบจ.ต้องมาแก้ เขาก็ต้องรับฟังความเห็นทุกอำเภอ แต่ก็ต้องทำให้เสร็จตามระยะเวลาในระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรี
ฉะนั้นหน่วยงานไหนรับผิดชอบโครงการอะไร ก็ให้รับฟังความเห็นเฉพาะในส่วนของโครงการตัวเอง เช่น รับผิดชอบเมืองต้นแบบจะนะ ศอ.บต.ก็จะต้องเอาโครงการจะนะไปสอบถามความเห็นกับผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ต้องย้ำว่าเรามีอำนาจรับฟังความเห็น แต่ต้องเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบในทางกฎหมาย คือคนที่อยู่ในเขตพื้นที่เท่านั้น
วางไทม์ไลน์เปิดเวทีต่อเนื่อง-วอนพูดคุยอย่างสันติ
แต่ว่าเนื่องจากเรื่องนี้มันเป็นเรื่องของภูมิภาค ตรงไหนที่มีการพัฒนามันไม่ใช่เรื่องของคน 3 ตำบล แต่มันคือลมหายใจสุดท้ายของคนสงขลา ของคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ลมหายใจสุดท้ายของคนสตูล ที่จะบอกว่าเรื่องเศรษฐกิจจะพัฒนาไปอย่างไร ฉะนั้นเราจึงมีหน้าที่ไปสร้างความเข้าใจ ไปรับฟังความเห็นทุกเรื่อง อย่างวันนี้ ศอ.บต.ฟังความเห็นกับภาคธุรกิจ อาทิตย์หน้าเราจะรับฟังความเห็นจากกลุ่มนักศึกษา 5 จังหวัด อาทิตย์หน้าไปอีกเราจะรับฟังสภาเกษตรกร
ในขณะที่การรับฟังความเห็นในพื้นที่ ก็มีการออกแบบกลุ่มวิชาชีพตางๆ ทั้งประมงพื้นบ้าน และอื่นๆ รวมถึงคนที่อยู่ที่นั่น เช่น อสม. พัฒนาชุมชน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทาง ศอ.บต.ต้องฟังก็คือทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง และเมื่อเราเปิดเวทีการพูดคุย เราก็ขอให้ใช้ประโยชน์ในการพูดคุยโดยสันติ และมาคุยโดยสันติ
ชูพัฒนาควบคู่ดูแลรักษาสุขภาพชุมชน
ศอ.บต.จะเอาความต้องการของประชาชน ของเอกชน และของรัฐมาเข้าสู่แผนการพัฒนาที่เป็นแผนปฏิบัติการ เช่น แผนการพัฒนาทรัพยากร งานที่กำลังจะเกิดขึ้นทั้งหมดจึงต้องเชื่อมโยงกัน เรื่องสุขภาพอนามัยของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญมาก
เมื่อ 2 วันก่อนไปคุยกับ สสจ.สงขลา (สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา) โรงพยาบาลจะนะ โรงพยาบาลสะเดา ที่จะทำเรื่องของศูนย์กลางสาธารณสุข โดยนำโรงพยาบาลเทพา จะนะ นาทวี และโรงพยาบาลสะบ้าย้อย เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาร่วมกับโรงพยาบาล ม.อ. (โรงพยาบาลสงขลานครินทร์) ซึ่งจะะต้องทำร่วมกัน ถ้าเขตอุตสาหกรรมเกิดขึ้นแล้ว และมีปัญหาสาธารณสุขเกิดขึ้นจากเขต อุตสาหกรรมโรงพยาบาลในพื้นที่ต้องสร้างศูนย์ขึ้นมารองรับ วันนี้ต้องบอกว่าโรงพยาบาลจะนะต้องพัฒนาแพทย์เฉพาะทางทางอาชีวอนามัย สาธารณสุขชุมชนต้องเกิด
ข้อเท็จจริงที่มีในวันนี้ ประชาชนกังวลว่าถ้าอุตสาหกรรมเกิด อาชีพประมงจะหาย เราจะประกอบอาชีพอะไร ถ้ามีน้ำเสีย ประมงพื้นบ้านก็ต้องตาย เราทราบถึงข้อกังวลทั้งหมด จึงอยากให้ลองเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปีนัง ประเทศมาเลเซีย มีโรงไฟฟ้าถ่านหินด้วยซ้ำ แต่ประมงพื้นบ้านก็ยังอยู่ได้ ที่มะละกา ประมงพื้นบ้านก็ยังอยู่ทั้งที่เป็นเขตอุตสาหกรรม"
เปิด พ.ร.บ.ศอ.บต.มาตรา 10
สำหรับ พ.ร.บ.ศอ.บต. มาตรา 10 ที่นายชนธัญอ้างว่าเป็นกรอบการทำงานของ ศอ.บต.นั้น ระบุว่า "ในกรณีจําเป็นเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศอ.บต.โดยความเห็นชอบของ กพต. (คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้) อาจกําหนดให้เขตพื้นที่ใดในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ และกําหนดกรอบแนวทางการบริหารและการพัฒนาในเขตพื้นที่นั้นได้
กรอบแนวทางการบริหารและการพัฒนาตามวรรคหนึ่ง อย่างน้อยต้องมีสาระสําคัญครอบคลุมในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ศาสนา วัฒนธรรม การศึกษา สาธารณสุข ทรัพยากร เทคโนโลยี การต่างประเทศ การปฏิบัติการเชิงจิตวิทยา การบริหารจัดการ และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ต้องไม่ขัดหรือแย้งต่อนโยบายตามมาตรา 4 และยุทธศาสตร์ด้่านการพัฒนาที่ กพต. ให้ความเห็นชอบแล้ว
เมื่อ กพต. ให้ความเห็นชอบกรอบแนวทางการบริหารและการพัฒนาตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้หน่วยงานของรัฐใช้เป็นแนวทางวในการจัดทําคําเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี และให้ดําเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยไม้ชักช้า
---------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ
1 นายชนธัญ แสงพุ่ม หรือ ดร.เจ๋ง
2 แผนที่ก่อสร้างในโครงการเขตอุตสาหกรรมจะนะ
อ่านประกอบ :
นิคมอุตสาหกรรมจะนะ ไฟสุมขอนรอวันปะทะ?
กลุ่มต้านโผล่เวที ศอ.บต.เวิร์คชอปเอกชนขับเคลื่อนนิคมอุตฯจะนะ