ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) อ้างผลสำรวจความคิดเห็นเบื้องต้นของพี่น้องประชาชนใน อ.จะนะ จ.สงขลา ส่วนใหญ่ราวๆ 80% มีแนวโน้มสนับสนุนการปักเสาตั้งโรงงานเพื่อทำโครงการ "เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต"
ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ศอ.บต.เปิดปฏิบัติการเชิงรุก ส่งผู้บริหารระดับสูง นำโดย ดร.ชนธัญ แสงพุ่ม หรือ "ดร.เจ๋ง" รองเลขาธิการ ศอ.บต. ลงพื้นที่เปิดเวทีย่อยพูดคุยให้ข้อมูลกับชาวบ้านในพื้นที่ 3 ตำบลของ อ.จะนะ คือ ต.นาทับ ต.ตลิ่งชัน และ ต.สะกอม ซึ่งเป็นพื้นทื่ก่อสร้างโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ หรือ "เมืองต้นแบบที่ 4 อุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต" ตามโครงการสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และพื้นที่ต่อเนื่องที่มีปัญหาความมั่นคงอย่าง 4 อำเภอรอยต่อของ จ.สงขลา คือ อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี โดยรายละเอียดของโครงการจะมีการก่อสร้างโรงงานรองรับสายการผลิตอุตสาหกรรมหนัก โรงไฟฟ้า และท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2
ที่ผ่านมามีประชาชนบางส่วนในพื้นที่ซึ่งรวมตัวกันเป็น "เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น" และ "สมาคมรักษ์ทะเลจะนะ" รวมทั้งนักวิชาการและองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ เอ็นจีโอ ออกมาคัดค้านโครงการตั้งแต่เริ่มเปิดตัว ทว่าผลการสำรวจของ ศอ.บต.ที่ใช้กลไกการเปิดเวทีย่อยในพื้นที่ และการส่งบัณฑิตอาสาไปเคาะประตูบ้านเพื่อให้ข้อมูลและทำความเข้าใจนั้น ศอ.บต.อ้างว่าประชาชนมีแนวโน้มเห็นด้วยถึงร้อยละ 76.4 แนวโน้มไม่เห็นด้วยร้อยละ 13.1 และไม่สามารถระบุได้ ร้อยละ 10.5
เอกสารผลสำรวจของ ศอ.บต. ระบุข้อมูลสำคัญว่า "สรุปการสำรวจและให้ข้อมูลที่ถูกต้องจากการสื่อสารสร้างความเข้าใจที่ดีต่อประเด็นกระบวนการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ในฐานะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2560 เวลา 10.00 น. จำนวน 551 แบบ การประเมินท่าทีประชาชนต่อความเข้าใจและความร่วมมือตามแนวทางของโครงการเมืองต้นแบบที่ 4 แนวโน้มเห็นด้วย 76.4 เปอร์เซ็นต์ แนวโน้มไม่เห็นด้วย 13.1 เปอร์เซ็นต์ และยังไม่สามารถระบุได้ 10.5 เปอร์เซ็นต์"
นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. ให้สัมภาษณ์ขยายความกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่มีความเข้าใจมากขึ้น เพราะได้รับข้อมูลที่เป็นจริง ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พ.ค.2562 และวันที่ 21 ม.ค.2563 รวมทั้งแนวทางการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ นับตั้งแต่วันที่มีมติเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันและที่จะดำเนินการต่อไปในอนาคต
อนึ่ง มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 พ.ค.2562 เห็นชอบในหลักการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ เป็นเมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ จ.สงขลา และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายให้ครบถ้วน โดยเฉพาะรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ขณะที่มติคณะรัฐมนตรี 21 ม.ค.2563 เห็นชอบการประกาศเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ โดย ศอ.บต. และเห็นชอบแผนเร่งด่วนการลงทุน 4 ด้านในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ในฐานะพื้นที่โครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต (อ่านประกอบ : เปิด 2 มติครม."นับหนึ่ง"นิคมอุตฯจะนะ ขีดกรอบหน่วยงานรัฐทำตามกฎหมาย)
ดร.เจ๋ง กล่าวต่อว่า สำหรับปัญหาข้อห่วงใยต่างๆ นั้น เบื้องต้นประชาชนโดยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางการพัฒนา และขอให้ดำเนินการให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการกระจายอำนาจการบริหารจัดการงบประมาณกองทุนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม, การดูแลคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งในเรื่องการศึกษา สาธารณสุข, การสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการพัฒนา, งานอาชีพ งานเกษตร และประมง ซึ่งเป็นหัวใจหลักของประชาชนในพื้นที่นี้
"ทุกเวทีที่จัดพบปะกับพี่น้องประชาชนเพื่อทำความเข้าใจ จะมีการนำเสนอข้อมูลและรับฟังข้อเสนอแนะ มีทั้งหมด 32 เวทีโดยประมาณ เพื่อจะใช้ในการนำเสนอในเวทีใหญ่วันที่ 11 ก.ค.ที่จะถึงนี้ รวมทั้งข้อมูลจากความตั้งใจของน้องบัณฑิตอาสาทั้ง 3 สาย ใน 3 ตำบลที่เคาะประตูบ้านทุกครัวเรือน มีกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการประมาณ 17,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นการเก็บข้อมูลที่เยอะที่สุดเท่าที่เคยมีมา การจัดเก็บข้อมูลตั้งแต่วันอังคารที่ 23 มิ.ย.จนถึงวันที่ 28 มิ.ย. มีประชาชนประมาณ 87 เปอร์เซ็นต์เห็นด้วยกับแนวทางของโครงการเมืองต้นแบบ และมีข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะในหลายประเด็น"
"ล่าสุดผู้ใหญ่บ้านโทรมาคุย สะท้อนเรื่องเวทีของทั้ง 3 ตำบล เขาบอกว่าเขาฮึกเหิมมาก เพราะเหมือนมีพาวเวอร์ในการได้รับโอกาสจัดเวทีด้วยตัวเอง เเละที่สำคัญเเกบอกว่า จากที่ไป 2 วันที่ตลิ่งชัน ถือว่าจบแล้ว และราบรื่นดีมาก มีแต่ชาวบ้านชื่นชม โดยรวมประชาชนรู้สึกว่าการจัดเวทีครั้งนี้ประชาชนเป็นเจ้าของเวทีเองเพราะหลักการเราให้เขาจัดกันเอง ทำกันเอง และหน่วยงานเรา (ศอ.บต.) ทำหน้าที่เข้าไปให้ข้อมูลที่ถูกต้องตามที่กำหนดในมติ ครม. และตามแผนการปฏิบัติงานที่จะต้องดำเนินการ เพราะการจัดเวทีทั้งหมดไม่ใช่การแสดงว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่เป็นการรับข้อเสนอแนะ ความห่วงใย และคำแนะนำของประชาชนไปสู่การปฏิบัติ" รองเลขาธิการ ศอ.บต.กล่าว
เมื่อถามถึงผลกระทบกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ และวิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ นายชนธัญ หรือ "ดร.เจ๋ง" กล่าวว่า ในอนาคตจะมีคนมาเที่ยวเพิ่มขึ้นแน่นอน เพราะทะเลที่สัตหีบ (จ.ชลบุรี) เองก็อยู่ไม่ห่างจากมาบตาพุด (เมืองอุตสาหกรรม จ.ระยอง)
"การทำพื้นที่เป็นสวนอุตสาหกรรมไม่ได้หมายถึงทะเลจะหายไปทั้งหมด หรือแม้แต่การมีท่าเรือก็ไม่ได้ทำให้พื้นที่ท่องเที่ยวหายไป ถ้าจิตสำนึกของประชาชนยังคงรักและดูแลเอาใจใส่" รองเลขาธิการ ศอ.บต.ระบุ และว่า ในส่วนของปัญหาคนยากจนในพื้นที่ จะมีโครงการ "1 ตำบล 1 พื้นที่สาธารณะ" ขณะนี้อยู่ระหว่างให้กรมที่ดินเร่งรัด หากสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จ ก็จะนำประชาชนไปอยู่พื้นที่ตรงนั้น ก็จะมีพื้นที่ทำมาหากินด้วย
สำหรับเวทีรับฟังความคิดเห็นที่เป็นเวทีใหญ่ เปิดพื้นที่สำหรับประชาชนทั้ง 3 ตำบล จะจัดขึ้นในวันที่ 11 ก.ค.ที่จะถึงนี้ ที่ห้องประชุมโรงเรียนจะนะวิทยา (อ่านประกอบ : ศอ.บต.เปิดเวที 11 ก.ค. ฟังคนจะนะ "รับ-ไม่รับ" นิคมอุตสาหกรรม)
----------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
นิคมอุตสาหกรรมจะนะ ไฟสุมขอนรอวันปะทะ?
กลุ่มต้านโผล่เวที ศอ.บต.เวิร์คชอปเอกชนขับเคลื่อนนิคมอุตฯจะนะ
อิศราถาม - ศอ.บต.ตอบ : ลักไก่ดันนิคมอุตฯจะนะ?
เปิด 2 มติครม."นับหนึ่ง"นิคมอุตฯจะนะ ขีดกรอบหน่วยงานรัฐทำตามกฎหมาย
ศอ.บต.อบรม "บันฑิตอาสา" ลุยขับเคลื่อนนิคมอุตฯจะนะ
ฟังเสียงคนจะนะ...เมื่อนิคมอุตสาหกรรมเคาะประตูบ้าน
ศอ.บต.เปิดเวที 11 ก.ค. ฟังคนจะนะ "รับ-ไม่รับ" นิคมอุตสาหกรรม