แม้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. จะยอมถอย ด้วยการเลื่อนจัดเวทีรับฟังความเห็นประชาชนในการขับเคลื่อนโครงการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ จ.สงขลา ออกไปแบบไม่มีกำหนดก็ตาม หลังจากมีกระแสเรียกร้องจากภาคประชาชนบางส่วนในพื้นที่ ตลอดจนองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) และนักวิชาการบางกลุ่ม
แต่ก็ใช่ว่าโครงการพัฒนาระดับ "เมกะ โปรเจกต์" นี้จะถูกพับแผนหรือยกเลิกไปเสียทีเดียว เพราะการเลื่อนจัดเวทีรับฟังความเห็น น่าจะเป็นเพียงการถอยไปตั้งหลักเท่านั้น
และพลันที่ฝ่ายคัดค้านโครงการถอนตัวจากศาลากลางจังหวัดสงขลา หลังจากไปปักหลักประท้วงเรียกร้องให้ยกเลิกเวทีรับฟังความคิดเห็น ก็ปรากฏกลุ่มมวลชนของฝ่ายสนับสนุนโครงการ ไปแสดงพลังต่อทันที
บรรยากาศแบบนี้ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าอาจเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งรอบใหม่ซ้ำรอยเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้วที่มีการชุมนุมประท้วงโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซียที่ อ.จะนะ กระทั่งมีการสลายม็อบจนเลือดตกยางออก เป็นคดีความต่อเนื่องยาวนานมาอีกนับสิบปี
รัฐจะทำอะไรที่จะนะ...
โครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ จ.สงขลา เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ "สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคัง ยั่งยืน" ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ ศอ.บต.มุ่งใช้แนวทางการพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบและปัญหาเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยมีการกำหนด "เมืองต้นแบบ" สำหรับการพัฒนา 3 เมืองแรก ประกอบด้วย อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส อ.เบตง จ.ยะลา และ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ขณะที่ อ.จะนะ เป็นเมืองต้นแบบลำดับที่ 4 ในฐานะ "เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต"
แผนงานพัฒนาจะนะได้กำหนดเขตผังเมืองในพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ ต.นาทับ ต.ตลิ่งชัน และ ต.สะกอม มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่รออยู่ ทั้งโครงการก่อสร้างท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 การสร้างรางรถไฟเชื่อมโยงท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 การสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมเพื่อรองรับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เพื่อผลิตสินค้าจากทรัพยากรในท้องถิ่น รวมทั้งผลิตสินค้าที่นำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ซึ่งสามารถนำเข้าและส่งออกผ่างทางท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2
สำหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้า มีข้อเสนอทั้งโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าชีวมวล โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าพลังลม ซึ่งบางโครงการเคยมีการผลักดันมาก่อนหน้านี้และถูกประท้วงคัดค้านไปบ้างแล้ว
ภาพรวมโครงการมีเนื้อที่ 16,753 ไร่ ใช้เงินลงทุนประมาณ 18,680 ล้านบาท คาดว่าจะก่อให้เกิดการจ้างงานประมาณ 100,000 อัตรา มีกิจกรรม 6 ประเภท คือ
1. พื้นที่เขตอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมเบา จำนวน 4,253 ไร่
2. พื้นที่อุตสาหกรรมหนัก จำนวน 4,000 ไร่
3. พื้นที่เขตอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า จำนวน 4,000 ไร่ จำนวน 4 โรง กำลังผลิตรวม 3,700 เมกะวัตต์
4. พื้นที่เขตอุตสาหกรรมต่อเนื่องกับกิจกรรมหลังท่าเรือ จำนวน 2,000 ไร่
5. พื้นที่เขตอุตสาหกรรมศูนย์รวมและกระจายสินค้า จำนวน 2,000 ไร่
6. พื้นที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จและแหล่งที่พักอาศัย จำนวน 500 ไร่
เหตุผลของผู้คัดค้าน...
โครงการ "จะนะ เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต" หรือเรียกง่ายๆ ว่า "โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ" ตกเป็นข่าวเมื่อวันที่ 12 พ.ค.63 เมื่อ น.ส.ไครียะห์ ระหมันยะ ชาวบ้าน อ.จะนะ เขียนจดหมายถึง "ปู่ประยุทธ์" ซึ่งหมายถึงนายกรัฐมนตรี และปักหลักนั่งประท้วงอยู่ที่ศาลากลางจังหวัดสงขลา เพื่อรอคำตอบจากนายกรัฐมนตรีให้ยกเลิกเวทีรับฟังความคิดเห็นของ ศอ.บต. ที่กำหนดไว้ในวันที่ 14-20 พ.ค.
จดหมายน้อยถึงปู่ประยุทธ์ อธิบายความเป็นลูกหลานชาวประมงของไครียะห์ ที่เติบโต ผูกพัน และดูแลปกป้องทะเลจะนะ จึงไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ซึ่งจะทำให้สภาพพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปจากวิถีดั้งเดิม กลายเป็นเมืองอุตสาหกรรม
เนื้อหาบางตอนของจดหมายระบุว่า "ป๊ะ (พ่อ) สอนให้หนูอนุรักษ์ทะเล สอนให้ทำบ้านปลาหรือปะการังเทียมแบบธรรมชาติ พาหนูไปนั่งเล่นริมชายหาด ฟังเสียงคลื่น เสียงธรรมชาติทุกวัน ตั้งแต่เด็กเล็กจนโต ทุกๆ ปีจะมีโลมา เต่า ขึ้นมาเล่นผิวน้ำที่ทะเลหน้าบ้านของหนู หนูรู้สึกตื่นเต้น เป็นความรู้สึกพิเศษ เวลาเห็นสัตว์ที่แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของทะเล
แต่เมื่อวันที่ 7 พ.ค.62 มีมติ ครม.ให้เมืองจะนะเป็นเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมจะนะ โดยพื้นที่ 3 ตำบล นาทับ ตลิ่งชัน สะกอม รวมพื้นที่ทั้งหมด 16,753 ไร่ โดยไม่มีการถามไถ่คนจะนะมาก่อน
คุณปู่ประยุทธ์บอกว่าจะนำความเจริญและการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านโครงการเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมจะนะ หนูได้ยินข่าวว่า ศอ.บต. จะมีการรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 14-20 พ.ค.63 ในพื้นที่สร้างนิคมอุตสาหกรรม โดยไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้คนได้รับรู้ คนนอกพื้นที่ 3 ตำบลไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ ซึ่งเขาก็รับได้ผลกระทบเหมือนกัน โครงการระดับหมื่นล้านแต่ไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้คนในพื้นที่รับรู้...ขอให้ยกเลิกเวทีในลักษณะเช่นนี้ที่ไม่มีความชอบธรรม ลิดรอนสิทธิของคนในชุมชน จะมีค่าอันใดเล่าหากพัฒนาเพื่อเอาผลประโยชน์จนทำลายอนาคตของลูกหลาน จะทนได้หรือคุณปู่ประยุทธ์"
ไครียะห์ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมช่วงที่ปักหลักอยู่ที่ศาลากลางจังหวัดว่า เมื่อวันที่ 7 พ.ค.62 มีมติ ครม.ให้จะนะเป็นเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมจะนะ อยู่ดีๆ มีมติครม.ออกมาโดยที่ชาวบ้านไม่รู้เรื่องอะไรเลย และไม่มีการไถ่ถามชาวบ้านเลย และในวันที่ 14-20 พ.ค.63 ศอ.บต.จะมาเปิดเวที ก็เลยคิดว่ามติครม.ออกไปแล้ว แต่เพิ่งมาเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน แบบนี้ถือว่าชอบธรรมหรือไม่
"ที่ไม่ชอบธรรมมากกว่านั้นคือ จะมีการเปิดเวทีเฉพาะในพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ นาทับ ตลิ่งชัน สะกอม ซึ่งแต่ละตำบลห้ามคนนอกพื้นที่เข้าร่วม ทั้งที่นิคมอุตสาหกรรมเป็นนิคมที่ใหญ่มาก คนสงขลา คนหาดใหญ่ก็ได้รับผลกระทบ แต่เขาไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้" ไครียะห์ อธิบายข้อสงสัยที่ค้างคาใจ
ขณะที่ เอกชัย อิสระทะ นักพัฒนาเอกชน และเลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ตั้งข้อสังเกตว่า โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะถือเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ รัฐบาลมอบหมายให้ ศอ.บต.เป็นผู้รับผิดชอบ โดยตลอดเวลาที่ผ่านมา ศอ.บต.พยายามเร่งรัดกระบวนการดำเนินโครงการจนมีความผิดปกติในหลายขั้นตอน โดยเฉพาะการอ้างว่าโครงการนี้เป็นความต้องการของประชาชนในพื้นที่ทั้ง 3 ตำบลของ อ.จะนะ ซึ่งมีข้อโต้แย้งจากประชาชนในพื้นที่ เพราะด้วยข้อเท็จจริงแล้วต่างรับรู้กันดีว่า การรวบรวมรายชื่อประชาชนก่อนหน้านี้ไม่ถูกต้องชอบธรรมในวิธีการ โดยกลุ่มชาวบ้านได้ทำหนังสือสอบถามผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาไปแล้วในระหว่างนั้น เพื่อให้ ศอ.บต.ทบทวนวิธีการดำเนินงาน
ขณะที่ความพยายามจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของ ศอ.บต. ระหว่างงวันที่ 14–20 พ.ค.63 ก็ถือเป็นความผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำอีก แสดงถึงความไม่เข้าใจในวิถีวัฒนธรรมของอิสลาม (เป็นช่วงเดือนถือศีลอด) และไม่สนใจต่อสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาด จึงมีความสงสัยต่อวิธีการทำงานของ ศอ.บต.ว่ามีความเข้าใจต่อข้อกฎหมายและระเบียบปฏิบัติต่างๆ ที่จะต้องปฏิบัติในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการดำเนินงานโครงการขนาดใหญ่ที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพนี้หรือไม่ และยิ่งชวนสงสัยต่อไปว่าข้อมูลประกอบการตัดสินใจโครงการทั้งหมดที่ ศอ.บต.ได้นำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติโครงการไปแล้วนั้น มีความถูกต้องชอบธรรมเพียงใด
"เพราะโครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้งบประมาณและพื้นที่จำนวนมหาศาล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง ทั้งสภาพแวดล้อมและสุขภาพชุมชน ไม่ใช่แค่ชุมชน 3 ตำบลของ อ.จะนะเท่านั้น แต่รวมถึงชาวประมงพื้นบ้านและประชาชนทั่วไปอีกหลายอำเภอใน จ.สงขลาด้วย แต่ ศอ.บต.กลับไม่ได้จัดเวทีให้คนเหล่านั้นได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเลย"
เอกชัย บอกด้วยว่า ข้อเสนอของคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) คือให้รัฐบาลยุติทุกการดำเนินการของโครงการเมืองต้นแบบจะนะ และขอให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีทั้งหมดต่อเรื่องนี้ โดยต้องจัดให้มีกระบวนการตัดสินใจที่ตั้งอยู่บนหลักธรรมาภิบาลและกระบวนการการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ต้องครอบคลุมถึงกลุ่มประชาชนทุกกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบทั้ง จ.สงขลา
นอกจากนั้นยังมีการตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า โครงการนี้เป็นการเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนทำนิคมอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้า จึงไม่ใช่นิคมอุตสาหกรรมโดยรัฐ และ เป็นคนละโครงการกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาอีกด้วย
ส่วน ทนายฮานาฟี หมีนเส็น ซึ่งอยู่ในกลุ่ม #SAVE CHANA เรียกร้องให้เชิญสื่อกระแสหลักเข้าร่วมสังเกตการณ์และรายงานข่าวการเปิดเวทีรับฟังความเห็นของชาวบ้านด้วย เพื่อป้องกันหน่วยงานรัฐลักไก่ รวบรัด ปิดเกม
กองเชียร์เริ่มขยับ...
อย่างที่เกริ่นเอาไว้ในตอนต้นว่า พลันที่กลุ่มคัดค้านโครงการถอนตัวจากศาลากลางจังหวัด เพราะ ศอ.บต.ยอมเลื่อนเวทีรับฟังความคิดเห็นออกไปแบบไม่มีกำหนด ก็ปรากฏกลุ่มสนับสนุนเข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาทันที
กลุ่มมวลชนที่เดินทางไป มีประมาณ 30 คน เรียกตัวเองว่า "ตัวแทนชาวบ้านจาก 3 ตำบลใน อ.จะนะ จ.สงขลา" ขอให้เปิดเวทีฟังเสียงชาวบ้านว่าจะเดินหน้าหรือยกเลิกโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เพราะมั่นใจว่าเจ้าของพื้นที่ตัวจริงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการพัฒนา สร้างงานสร้างรายได้ในพื้นที่ ส่วนเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ขอให้ทุกฝ่ายฟังแนวทางของรัฐบาลก่อนตัดสินใจว่าจะเห็นด้วยกับโครงการหรือไม่
"ทางกลุ่มตัวแทนชาวบ้านที่มาในวันนี้ เป็นคนในพื้นที่ เป็นชาวประมงพื้นบ้านตัวจริง เราอยากเห็นการพัฒนา อยากเห็นการมีส่วนร่วมของชาวบ้านที่แท้จริง จึงอยากให้มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านก่อน โดยเฉพาะชาวบ้านที่เป็นเจ้าของพื้นที่ตัวจริงได้มีโอกาสรับฟังและแสดงความคิดเห็นบ้าง" หนึ่งในกลุ่มมวลชน กล่าว
ข้อมูลฝ่ายสนับสนุน...
ยังมีข้อมูลของฝ่ายที่สนับสนุนส่งไปยังสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ตลอดจนประชาชนในพื้นที่ โดยข้อมูลนี้มีแหล่งที่มาจากใน ศอ.บต. เป็นคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบฯ
สาระสำคัญบางส่วนอ้างถึงประเด็นที่ระบุว่า "หน่วยงานรัฐจับมือนายทุน โดยการสนับสนุนจากรัฐบาล" เพื่อดำเนินโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ยึดครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประชาชนนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะพื้นที่แม้ว่าจะเป็นสีม่วง (โซนสีม่วงตามระบบผังเมือง หมายถึงที่ดินอุตสาหกรรมและคลังสินค้า) แต่ก็เป็นสีม่วงจากอุตสาหกรรมเกษตร อาหารฮาลาลที่เชื่อมโยงกับการเกษตรของประชาชน เพื่อให้มีตลาดและรายได้ที่มั่นคง
ส่วนคำที่ว่า "ปลาและความสมบูรณ์ของอาหารจะหายไป" ก็เป็นการกล่าวหาเกินจริงที่ไม่มีเอกสารวิชาการหรืองานวิจัยใดรับรอง เพราะในความเป็นจริงจะไม่มีการทำลายองค์ประกอบทางธรรมชาติที่ดีงามของพื้นที่ ขณะเดียวกันจะเร่งสร้างพื้นที่ให้สวยขึ้นเพื่อรองรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยววิถีชุมชน และวิสาหกิจแปรรูปผลผลิต โดยเฉพาะประมง ต่อไปจะต้องเดินด้วยแนวทาง "จับน้อยแต่ได้ราคามาก" เช่นเดียวกับที่ผลักดันโครงการแปรรูปอาหารทะเลของ "โอรังปันตัย" ที่สำเร็จมาแล้ว
นอกจากนั้นยังมีแผนไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมในเรื่องการดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชน และการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนตามแนวทางและกิจกรรมที่จะเกิดขึ้น 8 เรื่อง คือ
1. กองทุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้นำผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการทางธุรกิจของภาคเอกชนในพื้นที่ อ.จะนะ มาใช้ดำเนินการเพื่อสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิต การประกอบอาชีพ และการสร้างโอกาสในชีวิตของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น ทุนการศึกษาเล่าเรียน ทุนโครงการพัฒนาของชุมชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน ทุนโครงการพัฒนาพหุสังคมที่เข้มแข็ง ทุนส่งเสริมภาคประชาสังคม กลุ่มสตรีและกลุ่มเยาวชนเพื่อขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมและการพัฒนาพื้นที่ ฯลฯ
2. ศึกษาแนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทั้งระบบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อรองรับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ มุ่งเน้นการสร้างโอกาสและงานอาชีพให้กับนักเรียน นักศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
3. เชื่อมโยงความต้องการการผลิตของภาคอุตสาหกรรมและการบริการในพื้นที่ โดยวิเคราะห์และทำข้อมูลร่วมกับภาคเกษตรกรรมทั้งระบบในพื้นที่เพื่อป้อนวัตถุดิบทางการผลิตเข้าสู้ระบบอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน
4. ยกระดับงานสาธารณสุขในพื้นที่ อ.จะนะ และพื้นที่ใกล้เคียงรองรับการขยายตัวของประชากรในพื้นที่
5. ศึกษาและวางมาตรการแนวทางการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สมดุล ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะทุกทาง ยกระดับการดำเนินการพัฒนาให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมสีเขียว หรือ Green City บริหารจัดการบนฐานความมั่นคงและความยั่งยืนของทรัพยากร
6. เพิ่มศักยภาพของด่านการค้าชายแดนทั้งทางบกและทางน้ำ โดยมีแนวทางจะทำเป็นคลังสินค้าทัณฑ์บนและเขตปลอดอากร รวมทั้งดำเนินการพัฒนาเป็นพื้นที่ศุลกากรเต็มระบบ
7. การพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมและที่เกี่ยวเนื่อง โดยการจัดทำ "หมู่บ้านเปี่ยมสุข" ซึ่งเป็นการดำเนินการเพื่อจัดหาที่พักอาศัยถาวรเพื่อชดเชยให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบเหล่านั้น
8. การสร้างและพัฒนากลไก-กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในฐานะภาคีหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ โดยอาศัยกลไกการมีส่วนร่วมออกแบบแนวทางการดำเนินงานทุกขั้นตอน การเร่งรัดติดตามและประเมินผลความสำเร็จของโครงการ ทั้งในะระยะสั้น-กลาง-ยาว
คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการฯ ยังระบุว่า ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลสำคัญที่จะเป็นการเปิดกว้างสื่อสารไปถึงประชาชนให้มีความเข้าใจแก่นแท้ของการพัฒนาที่แท้จริง เพื่อมิให้ต้องตกไปเป็นเครื่องมือของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง คนใดคนหนึ่ง ดังเสียงที่คณะทำงานฯ ทุกคนพยายามบอกเสมอว่า "เราจะเดินคู่กันไป เราจะไม่ทิ้งใครให้เดือดร้อน" โดยต่อไปเราจะจับมือเดินหน้าการพัฒนาจะนะไปสู่การพัฒนาเพื่อปากท้องและลูกหลานของชาวจะนะเอง
จากความเคลื่อนไหวที่มีแนวโน้มเผชิญหน้าในอนาคตอันใกล้ของทั้งฝ่ายคัดค้านและสนับสนุนโครงการ ทำให้คาดการณ์ได้เลยว่าการผลักดันโครงการนี้ให้สำเร็จเป็นรูปธรรมย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย และขณะเดียวกันการคัดค้านถึงขั้นให้ล้มเลิกโครงการไปเลย...ก็ดูจะยากไม่แพ้กัน!
------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพบางส่วนจากกลุ่ม #SAVE CHANA และเครือข่าย
อ่านประกอบ : 3 ปัจจัยหนุนรัฐพลิกชูพัฒนาศก.ดับไฟใต้ เปิดเบื้องลึกเลือก 3 เมืองต้นแบบพัฒนา