จากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 43 สายปัตตานี-หาดใหญ่ ถึงทางแยกเข้าตัวอำเภอจะนะ จ.สงขลา บริเวณที่มีหอนาฬิกากรงนกเขาชวา หากเลี้ยวไปอีกด้านเข้าสู่เส้นทางชายทะเลประมาณ 5 กิโลเมตร ก็จะเข้าสู่พื้นที่ 3 ตำบล "นาทับ - ตลิ่งชัน - สะกอม"
เป็น 3 ตำบลที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ประกาศเป็น "เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ" เพื่อเตรียมรองรับโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ในฐานะ "เมืองต้นแบบที่ 4" ในฐานะ "เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต" ต่อเนื่องจาก อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส อ.เบตง จ.ยะลา และ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ภายใต้นโยบาย "สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ใช้การพัฒนาแก้ไขปัญหาความไม่สงบและความยากจนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
สภาพพื้นที่ อ.จะนะ ในปัจจุบัน โดยเฉพาะ 3 ตำบลซึ่งเป็นที่ตั้งโครงการ ยังเป็นชุมชนชาวประมงที่เงียบสงบ มีเรือประมงพื้นบ้านจอดเรียงราย ส่วนที่ดินตรงข้ามชายฝั่งทะเลถูกแปรเป็นสวนยางพารา สวนกล้วย และสวนลองกอง บ้านเรือนส่วนใหญ่มีกรงนกเขาชวาแขวนไว้เป็นดั่งสัญลักษณ์ของเมืองจะนะ ขณะที่พื้นที่บางส่วนกำลังมีการก่อสร้างบังกะโลขนาดย่อมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว
บรรยากาศโดยรวมที่จะนะยังไม่มีวี่แววของโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่จะมีการก่อสร้างถึง 6 กิจกรรม ทั้งท่าเรือน้ำลึก ถนน รางรถไฟ โรงไฟฟ้า และโรงงานอุตสาหกรรมหนักนานาชนิด แต่นอกพื้นที่จะนะมีกลุ่มต่อต้านนิคมอุตสาหกรรม ในนาม "เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น" เดินสายไปชูป้ายคัดค้านตามสถานที่ต่างๆ ทั้งศาลากลางจังหวัด และโรงแรมที่มีการเวิร์คชอปสัมนาขับเคลื่อนโครงการ
รัฐได้...ชาวบ้านต้องได้ด้วย
สุทธิ์ชัย หมะเหม ผู้ใหญ่บ้าน เล่าว่า คนส่วนใหญ่ที่นี่ประกอบอาชีพประมง ที่เหลือก็ค้าขายและทำการเกษตรเกือบทั้งหมดทราบแล้วว่าจะมีนิคมอุตสาหกรรมมาลงที่จะนะ ซึ่งส่วนตัวก็เห็นว่าดี แต่สิ่งที่เป็นห่วงก็คือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชุมชน
"อยากบอกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ถ้ามีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้น รัฐได้ประโยชน์ ประชาชนก็ต้องได้ประโยชน์ด้วย ที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐเข้ามาพบปะกับผู้นำท้องถิ่น แต่ชาวบ้านส่วนมาก 70-80 เปอร์เซ็นต์ยังไม่ทราบข้อมูล ฉะนั้นจะเป็นเรื่องที่ดีมากถ้ารัฐเข้ามาให้ข้อมูล ให้ความรู้ที่แท้จริงกับชาวบ้านเพื่อสร้างความเข้าใจ ทุกวันนี้ชาวบ้านรู้ว่าจะมีโครงการเกิดขึ้น แต่ไม่รู้เลยว่าผลประโยชน์ที่ชาวบ้านจะได้รับจากโครงการมีอะไรบ้าง ส่วนผลกระทบไม่ต้องพูดถึง เพราะมันมีอยู่แล้ว ประเด็นหลักๆ คือจะต้องให้ชาวบ้านมีกินมีใช้ ต้องไม่เป็นแบบที่ผ่านมา ซึ่งเราก็มีบทเรียนอยู่แล้วที่จะนะ ถ้ารัฐได้ ชาวบ้านก็จะต้องได้ เราถึงจะอยู่กันได้"
อยากได้ข้อมูลจริง - ทำประมงไม่อดตาย
"ทีมข่าวอิศรา" ลงพื้นที่แวะเวียนพูดคุยสอบถามชาวบ้านหลายคน ทุกคนยอมรับตรงกันว่าในพื้นที่มีทั้งคนคัดค้านและสนับสนุนโครงการ แต่สิ่งที่ชาวบ้านต้องการคือข้อมูลที่ครบถ้วน แท้จริง เพราะเมื่อนิคมอุตสาหกรรมเข้ามา ชาวบ้านต้องปรับตัวใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโรงงานไปอีกนาน จึงอยากให้ ศอ.บต.เข้ามาเปิดเวที และนำเสนอข้อมูลทุกด้านให้ชาวบ้านทราบ
ซาเราะ หมัดเสม หญิงชาวประมง ตั้งคำถามว่า ท่าเรือน้ำลึกจะมีกี่แห่งกันแน่ เพราะข้อมูลไม่ชัดเจน บางคนบอกว่า 1 แห่ง บางคนบอกว่า 2 แห่ง บางคนบอกว่า 3 แห่ง ที่สำคัญถ้าต้องไปทำงานโรงงาน จะมีรายได้ดีกว่าปัจจุบันนี้ได้อย่างไร เนื่องจากทุกวันนี้ออกทะเล 6 โมงเช้า สายๆ กลับมาก็ได้แล้ว 2,000 บาท แต่ถ้ามีโรงงานอุตสาหกรรม จะรับคนอายุเยอะแบบเธอเข้าทำงานหรือไม่
"เราแค่อยากรู้ ไม่ต้องกลัวว่าชาวบ้านจะทำอะไร ขอให้มาคุยกับชาวบ้าน ชาวบ้านแค่อยากถามว่าโรงงานที่จะมาเป็นแบบไหน อย่างไร แล้วก็ท่าเรือเป็นแบบไหน เขาบอกว่าถ้าโครงการขึ้นจะพาเราไปอยู่ที่ใหม่ แต่พอถามกลับไปว่าอยู่ที่ไหน คนที่มาบอกหลับบอกว่าไม่รู้อยู่ที่ไหน เราเองก็หาข้อมูล ก็ยังไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน แล้วจะให้เราไปอยู่ได้อย่างไร เราอยากรู้ว่าเราจะสามารถทำอาชีพอะไรได้ เราจะมีที่อยู่ที่ไหน ทั้งหมดนี้เราต้องรู้ สมมุติว่าเอาเราไปปลูกผัก ก็จะบอกว่าไม่ได้ เพราะมันไม่พอกิน ถ้าปลูกผักได้ 100-200 บาท มันไม่พอ แต่ถ้าเราออกทะเลเหมือนเดิม เราสามารถส่งลูกเรียนปริญญาได้ 2 คน กำลังเรียนอีก 2 คน"
การที่หน่วยงานรัฐพยายามให้ข้อมูลว่า การมีนิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นจะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่นั้น ประเด็นนี้คนจะนะแท้ๆ อย่าง เซ็น หมัดเสม ชาวประมงใน ต.นาทับ มองต่างมุม
"ที่นี่ไม่มีใครอดตายถ้าไม่ขี้เกียจ คนขี้เกียจเท่านั้นที่บอกว่าไม่มีอะไรทำ ถ้าเราขยัน เราสามารถทำอะไรได้ทั้งบนบกและในทะเล มีทรัพยากรให้เราหามาอย่างน้อยก็กินภายในครอบครัวได้ แถมยังเหลือแจกได้อีก ไม่มีอาชีพอะไรที่ดีเหมือนอาชีพประมงแล้ว จะให้ไปทำเกษตรก็ไม่ไหว"
ใช้สมองสร้างโอกาสจากโรงงาน
คนจะนะอีกส่วนหนึ่งมองการเกิดขึ้นของนิคมอุตสาหกรรมเป็น "โอกาส" ที่จะต่อยอดอาชีพของตน อย่าง เซ็น หมานถัด อายุ 65 ปี บอกว่า ไม่ต่อต้านโครงการที่จะเกิด แต่จะหาข้อมูลเพื่อเตรียมความพร้อมที่จะอยู่กับโรงงานให้ได้
"เราต้องมีข้อมูลที่มากพอ และศึกษาทั้งข้อดีข้อเสีย เตรียมพร้อมตัวเองและครอบครัวให้สามารถปรับตัวให้ได้กับโครงการที่รัฐบอกว่าเป็นการพัฒนาเข้ามาในพื้นที่ ที่สำคัญเราจะไม่ขายที่ดินให้ใคร และจะอยู่ที่นี่ ไม่ไปไหน"
"สมมติมีโรงงานเข้ามารอบๆ ที่เราอยู่ เราก็ปลูกผัก ปลูกอะไรก็ได้ไว้ขายให้คนที่เข้ามาทำงานในโรงงาน เลี้ยงวัวไว้ป้อนเป็นอาหาร ชำแหละเนื้อขาย หรือไม่ถ้าโอกาสดีๆ เราจะร่วมสร้างโรงงานเองที่เป็นของเราเอง เราไม่ได้รวย เราไม่ได้ขัดสน แต่เราพอมี เราต้องใช้สมองของเราเท่าที่มีคิดให้ทันกับโลกยุคใหม่ให้ได้ คิดว่าที่ดินที่มีอยู่ที่เป็นของตัวเองร้อยกว่าไร่ และของลูกๆ อีกหลายร้อยไร่ เพียงพอที่เราจะสามารถหาโอกาสให้กับตัวเองและครอบครัวจากโครงการพัฒนาที่รัฐบอก"
ห่วงอากาศเสียกระทบนกเขาชวา
"จะนะ" เป็นเมืองแห่งนกเขาชวา มีฟาร์มนกนับร้อยแห่ง มีการจัดแข่งขันนกเขาชวาเสียงระดับนานาชาติทุกปี และมีสนามแข่งนกขนาดใหญ่อยู่ในพื้นที่ด้วย นอกจากนั้นการสร้างกรงนกซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ก็เป็นทั้งงานศิลปะพื้นบ้านและสร้างอาชีพให้คนจำนวนไม่น้อย
ฉะนั้นเมื่อจะนะกำลังจะแปรสภาพเป็นเขตอุตสาหกรรม ทำให้เจ้าของนก "เป๊ปซี่ทอง" ราคาตัวละ 2 ล้านบาทอย่าง จีโอ๊ะ มินหมี แสดงความกังวลเรื่องสภาพอากาศที่อาจกระทบกับนกเขาชวา แต่ก็ยอมรับว่าการมีนิคมอุตสาหกรรมเป็นเรื่องดี เพราะจะทำให้ชาวบ้านในพื้นที่มีงานทำ
"โครงการจะนะเมืองอุตสาหกรรมถือเป็นโครงการที่ดี ชาวบ้านจะได้มีงานทำ ที่ดินในเมืองจะนะจะได้มีราคาเพิ่มสูงขึ้น แต่ที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องอากาศเสีย นกเขาอาจจะมีปัญหา"
ความกังวลของจีโอ๊ะ นับว่ามีน้ำหนักพอสมควร เพราะเจ้าตัวเล่าว่ามีพ่อพันธฺุ์แม่พันธุ์นกเขาชวาราว 70-80 ตัว และที่เตรียมขายอีกราวๆ 100 ตัว ทั้งจะนะมีคนเลี้ยงนกเขาประมาณ 1,000 คน คร่าวๆ มีนกเขาหมื่นกว่าตัว สามารถทำรายได้เดือนละไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ที่นี่เป็นแหล่งนกเขาที่มีชื่อเสียงทั้งในและต่างประเทศ ดังไปไกลถึงอินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน เป็นตลาดใหญ่ของการขายนกและส่งออกนก
วอนรัฐอย่ากลัวชาวบ้าน
ความกังวลเรื่องมลพิษทางอากาศ ไม่ได้เกิดเฉพาะกับกลุ่มผู้เลี้ยงนกเขาชวาเท่านั้น แต่ชาวบ้านทั่วไปก็เป็นห่วงอยู่ไม่น้อย
อีซอ มูซอ ชาวบ้าน ต.สะกอม บอกว่า รู้อยู่ว่ายากที่จะต้านอำนาจรัฐ ฉะนั้้นจึงต้องเผื่อใจและเรียนรู้ที่จะอยู่กับปัญหาให้ได้ สิ่งที่กังวลที่สุดคือจะมีโรงงานมากมาย อากาศจะเสีย อากาศจะร้อน จะมีมลพิษ แต่ข้อมูลจริงๆ เป็นอย่างไรไม่รู้ เพราะรัฐไม่เคยเข้ามาบอกเราเลย
"อยากให้รัฐเข้ามาบอกเราว่าจะทำอะไร จะมีอะไรเกิดขึ้นที่นี่บ้าง เราสามารถที่จะอยู่อย่างไรได้ถ้ามีโรงงานเข้ามา เราจะมีอาชีพอะไร เราจะมีรายได้เพียงพอต่อรายจ่ายของเราไหม อยากให้รัฐมาบอกตรงนี้ แต่รัฐไม่ได้เข้ามาคุยกับชาวบ้าน วันที่เข้ามาก็แอบๆ เหมือนรัฐกลัวชาวบ้าน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าทำไม"
คำหวานพัฒนาช่วงชิงทรัพยากร
เป็นธรรมดาอยู่เองที่โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตดั้งเดิมของผู้คนบ้างไม่มากก็น้อย ฉะนั้นหากมองในมุมอนุรักษ์ แน่นอนว่าย่อมไม่เห็นด้วยกับการตอกเสาเข็มสร้างนิคมอุตสาหกรรมเป็นแน่
รุ่งเรือง ระหมันยะ นายกสมาคมรักษ์ทะเลจะนะ บอกว่า ชาวบ้านที่นี่อยู่กันมาหลายชั่วอายุคน เคยต่อสู้กับประมงอวนรุนที่ทำท้องทะเลเสียหายจนได้รับชัยชนะ สามารถฟื้นฟูระบบนิเวศน์ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ได้เหมือนเดิม มีการทำปะการังเทียม หรือ "อูหยำ" ด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน นำทางมะพร้าวมามัดติดกับลำไม้ไผ่และนำไปปักไว้ในทะเลเพื่อเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำขนาดเล็ก วันนี้ทะเลจะนะมีสัตว์น้ำมากกว่า 144 ชนิด โดย 94 ชนิดเป็นปลาที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ฉะนั้นทะเลแห่งนี้จึงเป็นแหล่งอาหารของทุกคน ไม่ควรที่ใครจะเอาประโยชน์ไปใช้เพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
"ถ้าคุณใช้แต่เพียงคำหวานว่าจะพัฒนาพื้นที่ ใช้คำหวานเพียงเพื่อที่จะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของคนทั้งโลก ถือว่าคุณเป็นคนที่ใช้ไม่ได้"
สำหรับการมีนิคมอุตสาหกรรมกับมิติของการจ้างงาน นายกสมาคมรักษ์ทะเลจะนะ ยอมรับว่า ในพื้นที่มีคนว่างงานเยอะจริง แต่เป็นเรื่องในอดีต เพราะวันนี้คนที่นี่ ถ้าขยันก็จะมีงานทุกคน
ดูเหมือนการเร่งทำความเข้าใจ การเปิดเผยข้อมูลอย่างครบถ้วน จริงใจ และการสร้างระบบที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าโครงการพัฒนาครั้งนี้จะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ตลอดจนวิถีชีวิตดั้งเดิมของผู้คน จะเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต
------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ภาพแรก (ซ้ายบน) ผู้ใหญ่บ้าน สุทธิ์ชัย หมะเหม (ซ้ายล่าง) รุ่งเรือง ระหมันยะ (ขวาบน) จีโอ๊ะ มินหมี (ขวาล่าง) ซาเราะ หมัดเสม
อ่านประกอบ :
นิคมอุตสาหกรรมจะนะ ไฟสุมขอนรอวันปะทะ?
กลุ่มต้านโผล่เวที ศอ.บต.เวิร์คชอปเอกชนขับเคลื่อนนิคมอุตฯจะนะ
อิศราถาม - ศอ.บต.ตอบ : ลักไก่ดันนิคมอุตฯจะนะ?
เปิด 2 มติครม."นับหนึ่ง"นิคมอุตฯจะนะ ขีดกรอบหน่วยงานรัฐทำตามกฎหมาย
ศอ.บต.อบรม "บันฑิตอาสา" ลุยขับเคลื่อนนิคมอุตฯจะนะ